x close

เปิดนโยบายทำทันที ค่าแรง-น้ำมัน-จำนำข้าว



นโยบายเพื่อไทยพ่นพิษ! โรงแรมจ่อขายกิจการให้ต่างชาติ



ประชานิยมสุดขั้วถึงมือ "ปู" 30 รมต.พท. หารือก่อนครม. (ไทยโพสต์)

           เพื่อไทย นัดแจง 30 รมต. ก่อนเข้า ครม. ฟุ้งทำทันที "ค่าแรง-น้ำมัน-จำนำข้าว" นักวิชาการแนะไม่ควรลดเบนซินตูมเดียว และควรทำแค่ 6 เดือน "พาณิชย์" ชง กิตติรัตน์ ตัดสินใจขึ้นราคา 4 สินค้า จับตาข้าวถุงราคาอ่อนไหวพิเศษ

           วานนี้ (14 สิงหาคม) มีรายงานข่าวจากพรรคเพื่อไทย (พท.) แจ้งว่า พรรคได้ส่งข้อความสั้นผ่านโทรศัพท์มือถือ (เอสเอ็มเอส) ถึง 30 รัฐมนตรีของพรรค ให้มารับฟังรายละเอียดแนวนโยบายของรัฐบาลที่เตรียมแถลงต่อรัฐสภาในวันที่ 15 ส.ค. ก่อนนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในช่วงเช้าวันที่ 16 ส.ค.นี้ และจะชี้แจงต่อที่ประชุม ส.ส.พรรคในช่วงบ่ายวันเดียวกัน

           นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้รับผิดชอบยกร่างนโยบายรัฐบาล กล่าวว่า นโยบายเสร็จเรียบร้อยแล้ว และจะนำเข้าที่ประชุม ครม.พรรควันที่ 15 ส.ค.นี้ ก่อนเข้า ครม.ต่อไป

           นายคณวัฒน์ วศินสังวร รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะทีมเศรษฐกิจพรรค ระบุว่า วันที่ 15 ส.ค. เวลา 13.30 น. พรรคจะประชุมทีมเศรษฐกิจ, คณะรัฐมนตรีพรรค และ ส.ส.พรรค เพื่อรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะครั้งสุดท้าย ในการจัดทำกรอบนโยบายรัฐบาล โดยร่างได้ส่งให้กับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเรียบร้อยแล้ว เนื่องจากได้จัดทำมาตลอดตั้งแต่เลือกตั้งวันที่ 3 ก.ค.

           วันเดียวกัน ที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ครม.เศรษฐกิจของพรรคเพื่อไทย ซึ่งนำโดยนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ ได้เชิญนายชุมพล ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีและ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา มาร่วมประชุมในการเสนอนโยบายของรัฐบาล ที่เตรียมแถลงต่อรัฐสภาเพิ่มเติม แม้ภาพรวมจะทำเสร็จหมดแล้ว โดยเหลือเพียงขัดเกลาถ้อยคำ และปรับแนวนโยบายให้เข้ากับพรรคร่วมรัฐบาลเท่านั้น โดยนโยบายเร่งด่วนที่จะทำหลังแถลงนโยบาย คือ การชะลอจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน,  นโยบายรับจำนำข้าว, นโยบายขึ้นค่าแรง 300 บาทต่อวัน และเงินเดือนผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรีเริ่มต้นที่เดือนละ 15,000 บาท

           นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รมว.แรงงาน เปิดเผยว่า ได้สั่งให้ปลัดกระทรวงแรงงานเร่งสำรวจตัวเลขผู้ใช้แรงงาน พร้อมรายได้แรงงานอย่างละเอียดทั่วประเทศ เพื่อนำมาเป็นฐานข้อมูลผลักดันค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน และปริญญาตรี 15,000 บาทต่อเดือน รวมทั้งจะเรียกประชุมพูดคุยกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งนายจ้าง, ลูกจ้าง และภาครัฐ ซึ่งยืนยันว่าหากมีฝ่ายไม่เห็นด้วยก็จะไม่ใช้วิธีการบังคับ แต่จะพูดคุยกันด้วยเหตุผล

           นายมนูญ ศิริวรรณ นักวิชาการอิสระด้านพลังงาน กล่าวถึงนโยบายลดการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันว่า ไม่ควรลดกลุ่มเบนซินทั้งหมดทันที เพราะจะส่งผลต่อพฤติกรรมผู้ใช้ที่จะไม่ประหยัด และทำให้เบนซินราคาต่ำกว่าแก๊สโซฮอล์ ทำให้การหันกลับมาส่งเสริมพลังงานทดแทนภายหลังจะทำยาก และควรกำหนดเวลาไม่เกิน 6 เดือน

           "ควรลดเก็บเงินเข้ากองทุนกลุ่มเบนซิน 91 แก๊สโซฮอล์ 91 และแก๊สโซฮอล์ 95 ลง 2.40 บาทต่อลิตร ส่วนดีเซลไม่ต้องทำอะไรจนถึง ก.ย. เพื่อสะสมเงินกองทุนไว้เมื่อถึงเวลาต้องขึ้นภาษีกลับมาที่ 5.80 บาทต่อลิตร และไม่ควรขยายเวลาตรึงราคาไปอีก" นายมนูญกล่าว

           นายเทียนไชย จงพีร์เพียร นักวิชาการอิสระด้านพลังงาน กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับการตรึงราคาพลังงานทุกแนวทาง แต่หากจะทำก็ควรมีเวลาเพียง 6 เดือนเท่านั้น เพราะที่ผ่านมาการตรึงดีเซลทำให้ปริมาณการใช้เพิ่มมากถึง 54 ล้านลิตรต่อวัน จากเดิม 48 ล้านลิตร ซึ่งราคาที่ต่ำทำให้มีการใช้อย่างไม่ประหยัด

           "หากลดเก็บเงินเข้ากองทุน น้ำมันกลุ่มเบนซินทั้งหมดทันที ก็จะทำให้เงินที่เหลืออยู่ทางบัญชี 1.4 หมื่นล้านบาทหมดลงใน 6 เดือน แต่การชำระหนี้จริงยังมีอยู่ ดังนั้นคงไม่มีทางเลือก นอกเหนือจากการเลื่อนชำระหนี้ผู้ค้า ซึ่งรายใหญ่คือ ปตท. และหลังจากนั้นต้องดูว่าจะหาเงินจากที่ใด" นายเทียนไชยกล่าว

           ด้าน นางวัชรี วิมุกตายน อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า กรมจะเสนอรายการสินค้าที่ขอปรับขึ้นราคาเข้ามา ได้แก่ เหล็ก, ยางรถยนต์, สายไฟฟ้า และแบตเตอรี่ ให้นายกิตติรัตน์พิจารณาว่าจะดูแลอย่างไร หลังจากกรมฯ ได้ชะลอการปรับขึ้นราคาสินค้ากลุ่มดังกล่าวมาเป็นเวลากว่า 2-3 เดือนแล้ว รวมทั้งจะเสนอแผนการดูแลราคาสินค้าภาพรวมทั้งหมดให้รับทราบด้วย โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าที่มีปัญหา เช่น สินค้าเกษตรและวัตถุดิบจากต่างประเทศ

           "หากต้นทุนสูงขึ้นจนแบกรับภาระไม่ไหว รัฐบาลอาจต้องช่วยเหลือเรื่องการจัดสรรงบเข้ามาชดเชยต้นทุนที่ปรับสูงขึ้น หรือมีวิธีการอย่างไรจะลดต้นทุน ซึ่งต้องรอรัฐบาลตัดสินใจ" นางวัชรีระบุ

           รายงาน ข่าวจากกระทรวงพาณิชย์แจ้งว่า การจัดอันดับบัญชีสินค้าในการติดตามดูแลของกรมภายในเดือน ส.ค. จำนวน 205 รายการ มี 10 สินค้าที่อยู่ในบัญชีอ่อนไหวพิเศษ จากเดือนก่อนที่มี 9 รายการ คือ ข้าวสารบรรจุถุง, น้ำมันเบนซิน, น้ำมันดีเซล, ก๊าซหุงต้ม, เหล็กแผ่น (รีดร้อนรีดเย็น และสเตนเลส), เหล็กเส้น, เหล็กโครงสร้างรูปพรรณ, สายไฟฟ้า, ปุ๋ยเคมี และอาหารสัตว์ โดยรายการที่เพิ่มขึ้นคือข้าวสารบรรจุถุง



ขอขอบคุณข้อมูลจาก









เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เปิดนโยบายทำทันที ค่าแรง-น้ำมัน-จำนำข้าว อัปเดตล่าสุด 15 สิงหาคม 2554 เวลา 15:57:22 31,478 อ่าน
TOP