x close

ศิษย์หลวงตาบัวบุกคลัง ค้านกองทุนมั่งคั่ง






เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก เฟซบุ๊ก Thirachai Phuvanatnaranubala


           วานนี้ (5 กันยายน) คณะลูกศิษย์ของหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน ทั้งคณะสงฆ์และฆราวาส กว่า 100 คน ได้เดินทางมายังกระทรวงการคลัง เพื่อขอเข้าพบนายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รมว.คลัง  เพื่อหารือถึงความกังวลเรื่องการจัดตั้งกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ และการชำระหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินจะรบกวนคลังหลวง

           โดยพระครูอรรถกิจนันทคุณ (พระอาจารย์นพดล) เจ้าอาวาสวัดป่าดอยลับงา จ.กำแพงเพชร กล่าวว่า คณะลูกศิษย์หลวงตามหาบัวได้ติดตามข่าวการจัดตั้งกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ และเกิดความสับสนเกี่ยวกับคำให้สัมภาษณ์ของ รมว.คลัง  รวมถึงจากข้อความที่ รมว.คลัง โพสต์ลงในเฟซบุ๊กที่ทางคณะลูกศิษย์ได้ติดตามว่าจะเกี่ยวข้องกับคลังหลวงหรือไม่ จึงได้เดินทางมาพบเพื่อสอบถามว่าจะดำเนินการอย่างไรแน่

           ทั้งนี้ กระทรวงการคลังได้มอบหมายให้นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) มาหารือ และได้รับปากว่าจะไม่มีการไปแตะในส่วนทุนสำรองเงินตรา

           พระอาจารย์นพดลกล่าวว่า คลังหลวงของหลวงตามหาบัวไม่ได้หมายถึงแค่ทองคำกับเงินบริจาคเท่านั้น แต่รวมทั้ง 3 บัญชีของฝ่ายออกบัตรด้วย ซึ่งไม่ใช่แค่ทองคำกับเงินบริจาค แต่หมายถึงสปิริต ที่ต้องมีทุนสำรองเอาไว้ใช้เวลาฉุกเฉิน ไม่ใช่เอาไปลงทุน เหมือนกับการออมเงินเอาไว้ใช้เวลาเจ็บป่วยหรือลูกเข้าโรงเรียน จะเอาไปซื้อหวยไม่ได้

           ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล ประธานคณะกรรมการ ธนาคารแห่งประเทศไทย  (ธปท.) กล่าวว่า โดยหลักการแล้วตนเห็นด้วยกับแนวคิดของรัฐบาลในการจัดตั้งกองทุนความมั่งคั่ง แห่งชาติ และเคยเสนอแนวทางให้รัฐบาลชุดก่อนพิจารณาแล้ว ซึ่งการแก้ไขทำได้ไม่ยาก คือแก้ไขพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่เขียนไว้ว่าห้ามซื้อตราสารทุน หรือใช้วิธีออกพระราชกำหนดใหม่ทั้งฉบับ

           เขามองว่าการตั้งกองทุนมั่งคั่งต้องชัดเจนว่าจะนำเงินไปทำอะไร และต้องคำนึงว่าเงินทุนสำรองระหว่างประเทศไม่ใช่ของ ธปท. หรือผู้ชนะการเลือกตั้ง  แต่เป็นของคนทั้งประเทศ ซึ่งหากจะนำไปลงทุนก็ทำได้ เพียงแต่ต้องให้หลายฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมตัดสินใจ ในฐานะเป็นตัวแทนของประเทศ ไม่ใช่ตัวแทนของการเมือง ดังนั้นจึงต้องมีภาคประชาชน มีองค์การมหาชนต่างๆ เข้ามาร่วมด้วย

           ขณะที่นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ อดีตรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ และ สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ เขียนข้อความบนเฟซบุ๊กว่า ไม่มีความเร่งด่วนใด ๆ ที่รัฐบาล ที่รัฐมนตรีจะไปวุ่นวายกับงานของธนาคารแห่งประเทศไทย โดยเฉพาะเรื่องของการบริหารเงินสำรองที่เป็นเงินตราต่างประเทศ จังหวะเวลาและความเหมาะสมไม่มีด้วยประการทั้งปวง

           "ผมจึงกล้าฟันธงได้ เลยว่าประชาชนเจ้าของเงินส่วนใหญ่ไม่ต้องการให้ท่านรัฐมนตรีเร่งดำเนินการ จัดตั้งกองทุนมั่งคั่งโดยเร็วอย่างแน่นอน เพราะอะไรครับ ตอบง่ายๆ ว่า ประชาชนเขายังมองไม่ออกว่าเขาจะได้อะไรจากงานเร่งด่วนชิ้นนี้" นายกอร์ปศักดิ์ระบุ

           นายประสาร มฤคพิทักษ์ อดีต ส.ว.สรรหา กล่าวว่า ขอสนับสนุนจุดยืนของ  ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าฯ ธปท.ที่ไม่เห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าว เพราะระบอบทักษิณกำลังรุกคืบเข้าสู่พื้นที่การเงินการคลังของประเทศ เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ชื่อก็บอกแล้วว่าเป็นเงิน "สำรอง" ไม่ใช่ "งบประมาณรายจ่าย" แปลว่าเงินนี้มีกฎหมายรองรับให้ใช้จ่ายในกรณีประเทศชาติมีความจำเป็นเท่านั้น


 




[5 กันยายน] ธีระชัย แจงเฟซบุ๊ก 4 ข้อ ปมตั้งกองทุนมั่งคั่ง

             ขุนคลังโพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ไขข้อข้องใจปมตั้งกองทุนมั่งคั่งแห่งชาติ ยันช่วยแก้ปัญหาแบงก์ชาติขาดทุน 4 แสนล้าน แต่ไม่ได้แทรกแซง ลั่นไม่แตะทองคำของหลวงตามหาบัวแน่

             กลายเป็นประเด็นร้อนทางเศรษฐกิจในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เมื่อนายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ออกมาเปิดเผยว่า เตรียมจะนำเงินทุนสำรองระหว่างประเทศบางส่วนออกมาตั้งกองทุนความมั่งคั่งของประเทศ เพื่อสร้างโอกาสในการลงทุนได้มากขึ้น แต่แนวคิดดังกล่าวกลับถูกคัดค้านจากหลายฝ่าย ทั้งสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ธนาคารแห่งประเทศไทย นายกรณ์ จาติกวณิช อดีต รมว.คลัง และเหล่าศิษยานุศิษย์ของหลวงตามหาบัว ที่เกรงว่า รมว.คลัง จะเข้าไปยุ่งกับเงินบริจาค และทองคำช่วยชาติที่หลวงตามหาบัวมอบไว้ให้เป็นทุนสำรองประเทศ

             ล่าสุด เมื่อวันที่ 3 กันยายนที่ผ่านมา นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล ได้เขียนชี้แจง และตอบคำถาม 4 ข้อ เกี่ยวกับการตั้งกองทุนมั่งคั่งแห่งชาติ ผ่านเฟซบุ๊ก Thirachai Phuvanatnaranubala  ในหัวข้อ "ตอบคำถามบางเรื่องเกี่ยวกับกองทุนมั่งคั่งแห่งชาติ" โดยมีเนื้อหาดังนี้

1.การนำเงินทุนสำรองไปลงทุนแบบกองทุนมั่งคั่งของชาติจะมีความเสี่ยงหรือไม่

             ต้องยอมรับว่าการลงทุนทุกรูปแบบมีความเสี่ยงทั้งนั้น เช่นสมมติ ให้กู้แก่โครงการรถไฟความเร็วสูงในเอเชีย ลักษณะความเสี่ยงก็อาจเกิดจากจำนวนผู้โดยสารมีน้อยกว่าที่คาดไว้ แต่ก็น่าจะเป็นความเสี่ยงที่ยอมรับได้ เนื่องจากเอเชียเป็นประเทศกำลังพัฒนา การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจจะอยู่ในระดับที่สูง ดังนั้น โครงการใดที่สนองความจำเป็นพื้นฐานถึงแม้หากจะบังเอิญมีปัญหาระยะสั้น แต่ในระยะยาวก็จะมีโอกาสฟื้นได้แน่นอน

             แต่อย่าเข้าใจผิดว่าการที่ ธปท. นำเงินทุนสำรองไปลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐและยุโรปดังที่ปฏิบัติอยู่ขณะนี้ไม่มีความเสี่ยงนะครับ เพราะที่แท้จริงมีความเสี่ยงทั้งในด้านราคาที่ขึ้น ๆ ลง ๆ และในด้านค่าเงินต่างประเทศที่อ่อนตัวเพราะมีการพิมพ์เงินออกมามากเกินไป

             ทั้งนี้ ท่านทราบหรือไม่ว่าปี 2553 ธปท. มีผลขาดทุนจากดอกเบี้ยและอัตราแลกเปลี่ยนสูงถึง 117,473 ล้านบาท และยังมีขาดทุนจากการตีราคาหลักทรัพย์อีก 260,211 ล้านบาท จำนวนเงินที่สูงมหาศาลเช่นนี้คือปัญหาที่ควรจะต้องแก้ไขครับ

2.การนำเงินทุนสำรองไปลงทุนแบบกองทุนมั่งคั่งของชาติเป็นการแทรกแซง ธปท. หรือไม่

             ไม่เป็นการแทรกแซง ธปท. ครับ แต่เป็นการช่วยกันคิดเพื่อแก้ปัญหา เพราะ ณ สิ้นปี 2553 ธปท. มีส่วนของทุนติดลบเป็นจำนวนเงินมหาศาล สูงถึง ติดลบ 431,829 ล้านบาท ถ้าเป็นธุรกิจเอกชนก็จะต้องปิดกิจการไปแล้ว นี่ไม่ใช่สี่แสนบาทนะครับ แต่เป็นสี่แสนล้านบาท

             ถึงแม้ ธปท. ไม่ได้ขอให้รัฐบาลช่วยตั้งงบประมาณมาช่วยแก้ไขขาดทุนของ ธปท. แต่ทรัพย์สินของ ธปท. ก็เป็นทรัพย์สินของชาติ ซึ่งควรมีการบริหารจัดการให้ดีที่สุด นอกจากนี้ การที่ ธปท. ขาดทุนจำนวนมหาศาลเช่นนี้ ก็ทำให้ ธปท. ไม่สามารถช่วยแบ่งเบาภาระหนี้กองทุนฟื้นฟูซึ่งมีอยู่กว่าหนึ่งล้านล้านบาทได้ ทำให้รัฐบาลมีภาระต้องจ่ายดอกเบี้ยเพื่อกองทุนฟื้นฟูแต่ละปี 50-60,000 ล้านบาท และขณะนี้ ธปท. ก็ได้ขึ้นดอกเบี้ยไปอยู่ในระดับสูง ทำให้ภาระดอกเบี้ยที่รัฐบาลต้องจ่ายให้แก่กองทุนฟื้นฟูต้องสูงขึ้นไปด้วยทุกวัน จึงเป็นภาระต่อนโยบายทางการคลังอย่างมากครับ

3.จำนวนที่จะกันไปเป็นกองทุนมั่งคั่งของชาติควรจะมาจากบัญชีใดใน ธปท.

             ผมได้ให้ ธปท. ไปศึกษา โดยในหลักการ จะไม่แตะต้องทองคำและเงินบริจาคของหลวงตา และจะไม่แตะต้องจำนวนที่ต้องใช้หนุนหลังการออกธนบัตร

4.ธปท. จำเป็นต้องกันทุนสำรองสภาพคล่องเอาไว้เท่ากับเงินที่ต่างชาติได้นำมาซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์และพันธบัตรหรือไม่ เพื่อรองรับในกรณีที่ต่างชาติอาจจะขายและนำเงินกลับออกไป

             ไม่จำเป็นครับ ต่างชาติที่หากจะรุมกันขายหุ้น ก็จะทำให้ราคาหุ้นลดลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งเมื่อถึงจุดหนึ่ง ก็จะทำให้ต่างชาติชะลอการขายกันเอง ส่วนคนไทยก็ไม่ต้องไปตื่นเต้นกับเขาและคอยรอรับซื้อเมื่อราคาลงต่ำก็พอ

             นอกจากนี้ หากต่างชาติรุมกันนำเงินกลับออกไป เงินบาทก็จะอ่อนตัวลงอย่างรวดเร็ว ธปท. ก็ไม่ควรจะไปฝืนสภาพตลาด ธปท. ควรจะปล่อยให้ค่าเงินปรับลดลงตามธรรมชาติ ไม่จำเป็นต้องทุ่มเงินทุนสำรองเข้าไปรองรับเอาไว้ดังเช่นในปี 2540

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก

, เฟซบุ๊ก Thirachai Phuvanatnaranubala



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ศิษย์หลวงตาบัวบุกคลัง ค้านกองทุนมั่งคั่ง อัปเดตล่าสุด 6 กันยายน 2554 เวลา 09:05:45 16,176 อ่าน
TOP