x close

พล.ต.อ.ประชา เร่งฎีกา-เฉลิม ชี้หนีคดีก็มีสิทธิ์อภัยโทษ





สรุปประเด็นข่าวโดยกระปุกดอทคอม

         ส่อแววป่วน "ประชา" ลั่นใครก็ยับยั้งการทูลเกล้าฯ ฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษไม่ได้ ย้อนประชาธิปัตย์ดองไว้ 2 ปี ทำไมถึงไม่รีบจบ

         วานนี้ (5 กันยายน) พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าว่า ขณะนี้ยังไม่ได้ความเห็นจากกรมราชทัณฑ์ และอยู่ระหว่างการติดตามว่าฎีกาดังกล่าวอยู่ที่ใด  ซึ่งการขอพระราชทานอภัยโทษถือเป็นพระราชอำนาจ ที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญทั้งปี พ.ศ.2540 และ 2550 โดยได้บัญญัติไว้ชัดเจนว่าพระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการอภัยโทษ

         อีกทั้งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิ. อาญา.) ภาค 7 พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจลดโทษและอภัยโทษได้ โดยระบุถึงผู้มีสิทธิ์ขอพระราชทานอภัยโทษเฉพาะรายว่ามี 3 สถานะ คือ ผู้ต้องคำพิพากษา, ผู้มีประโยชน์เกี่ยวข้อง และ รมว.ยุติธรรม กรณีไม่มีผู้ถวายเรื่องแล้ว รมว.ยุติธรรม เห็นสมควร

         พล.ต.อ.ประชา บอกว่า เมื่อยังไม่เห็นเรื่องจึงขอพิจารณารายละเอียดให้รอบคอบก่อน ไม่ทราบว่าความเห็นของกรมราชทัณฑ์ถูกส่งไปในช่วงการดำรงตำแหน่งของนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รมว.ยุติธรรม หรือไม่ สำหรับขั้นตอนหากได้รับเรื่องแล้วก็จะตั้งคณะทำงาน ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญทั้งนิติศาสตร์ และรัฐศาสตร์ขึ้นมาเป็นผู้พิจารณาโดยตรง แต่ตามหลักปฏิบัติแล้วไม่มีใครสามารถยับยั้งการทูลเกล้าฯ ถวายเรื่องได้ กระบวนการต้องดำเนินต่อไป ส่วนการเสนอความเห็นเรื่องการทูลเกล้าฯ ถวายเรื่องเฉพาะรายเป็นหน้าที่ของ รมว.ยุติธรรมต้องนำเสนอความเห็น

         ผู้สื่อข่าวถามว่า รัฐบาลชุดที่ผ่านมาตรวจสอบรายละเอียดในฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษนานกว่า 2 ปียังไม่แล้วเสร็จ แต่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยเข้ามาไม่นานกลับตรวจสอบได้เสร็จทันที พล.ต.อ.ประชา กล่าวว่า ตนมีโอกาสได้อ่านความเห็นในเฟซบุ๊กของอดีต รมว.ยุติธรรม ซึ่งให้รายละเอียดไว้เยอะมาก แต่ไม่เข้าใจว่าทำไมเรื่องถึงทำไม่จบ

         "ผมเห็นเฟซบุ๊กของอดีตรัฐมนตรียุติธรรม ต้องขอบคุณมากที่ให้ความห่วงใย แต่อยากเรียนว่าไม่ต้องห่วงใยผม ไม่ต้องมากังวลเรื่องความจงรักภักดีของผม ซึ่งผมได้ถวายความจงรักภักดีตลอดชีวิตรับราชการมาตลอดชีพร่วม 40 ปี ผมมีจุดยืนของผม จะยึดหลักกฎหมายเป็นสำคัญ”

         พล.ต.อ.ประชา ตั้งข้อสงสัยว่า เรื่องนี้ผ่านมากว่า 2 ปีควรจะเสร็จสิ้นไปนานแล้ว ทำไมถึงไม่จบอย่างไรก็ตามหลังได้รับเรื่องจะเร่งทำงานให้เร็วที่สุด

         รมว.ยุติธรรม ยังกล่าวถึงความคืบหน้า การตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเยียวยาและฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ทางการเมืองและปัญหาชายแดนภาคใต้ว่า ในส่วนของกระทรวงได้ตั้งงบประมาณการช่วยเหลือไว้แล้วจำนวน 8,000 ล้านบาท แต่วงเงินดังกล่าวยังไม่ได้ขออนุมัติ

         ด้านผู้เชี่ยวชาญกฎหมายเกี่ยวกับสำนักพระราชวัง เผยว่า การทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ต้องยึดตามพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2550 ซึ่งมีความชัดเจนตามมาตรา 4 ที่ระบุว่า ผู้ซึ่งจะได้รับพระราชทานอภัยโทษตามพระราชกฤษฎีกานี้ ต้องมีตัวตนอยู่ในความควบคุมของทางราชการ หรือถูกกักขังไว้ในสถานที่ หรือที่อาศัยที่ศาลหรือทางราชการกำหนด

         ทั้งนี้ การถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษให้กับผู้ใด ต้องดำเนินการตามขั้นตอนและยึดกฎหมายวิธีการพิจารณาคดีความอาญาเป็นบรรทัด ฐานอยู่แล้ว กรณีนี้ก็เช่นเดียวกัน ซึ่งตามหลักการหากพิจารณาแล้วเห็นว่าไม่เป็นไปตามกฎหมาย ก็ไม่ควรที่จะเสนอมา ขณะเดียวกันกฎหมายยังกำหนดคุณสมบัติด้วยว่า ต้องเป็นบุตร ภรรยา หรือญาติสนิทรวมอยู่ด้วย

         สำหรับความคืบหน้าขณะนี้ ได้ผ่านการตรวจสอบจากกรมราชทัณฑ์แล้ว โดยส่งเรื่องให้ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมว.ยุติธรรม พิจารณาทำความเห็นเสนอ ซึ่งจากการตรวจสอบพบมีผู้เข้าชื่อ 3 คน นามสกุล "ชินวัตร" แต่ไม่ใช่ บุตร-ภรรยา และหนึ่งในจำนวนนั้นคือ นายพายัพ ชินวัตร น้องชาย พ.ต.ท.ทักษิณ แต่ในสมัยที่นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เป็น รมว.ยุติธรรม ได้ทำหนังสือให้นายพายัพมาแสดงตัวยืนยัน แต่นายพายัพไม่ติดต่อกลับมา

         ด้าน ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง  เมื่อถูกถามว่า สังคมมองว่ามีการขยับเรื่องนี้เร็ว ซึ่งดูเหมือนเป็นการช่วย พ.ต.ท.ทักษิณให้กลับประเทศ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไม่ใช่ อย่าไปใช้คำพูดอย่างนั้น เพราะเป็นพระราชอำนาจ และทำไมกรมราชทัณฑ์เพิ่งจะมาขยันตอนนี้ สองปีกว่าไปทำอะไร ต้องมีความเป็นธรรมบนพื้นฐานความถูกต้อง ตนอธิบายได้ทุกช็อตทุกเม็ด
 
         และเมื่อถามว่า ตามหลักเกณฑ์ต้องมีการรับโทษก่อนหรือไม่ รองนายกฯ กล่าวว่า กฎหมายไม่ได้เขียนอย่างนั้น พวกที่พูดคือคนรู้ไม่จริง แต่ตนไม่ขอลงรายละเอียด ไว้ให้ถึงวันเวลาก่อน ไม่มีกฎหมายอะไรบังคับว่าต้องเป็นอย่างหนึ่งอย่างใด เป็นพระราชอำนาจโดยแท้จริง ซึ่งหลักการนี้หมายถึงทุกคน ไม่ใช่เฉพาะแค่ พ.ต.ท.ทักษิณ

         ผู้สื่อข่าวถามว่า เคยมีคนที่หนีคดีแล้วได้รับพระราชทานอภัยโทษหรือไม่ ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า ตนไม่พูดอย่างนั้น พูดแต่เพียงว่ากฎหมายไม่ได้ห้าม ต้องยึดหลักนิติรัฐนิติธรรม

         "อย่าเอาตัวบุคคลที่พวกคุณไม่ชอบมาเป็นข้ออ้าง ผมจะทำอะไรนอกกฎเกณฑ์กฎหมายได้อย่างไร และไม่มีใครก้าวล่วงพระราชอำนาจได้"



อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
พล.ต.อ.ประชา เร่งฎีกา-เฉลิม ชี้หนีคดีก็มีสิทธิ์อภัยโทษ อัปเดตล่าสุด 6 กันยายน 2554 เวลา 10:06:09 21,587 อ่าน
TOP