x close

สรุป 26 จังหวัดจมบาดาล 112 ชีวิตสังเวยน้ำท่วม













เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก ครอบครัวข่าว 3

          น้ำท่วมยังวิกฤติ! ศอส. สรุป 26 จังหวัดจมบาดาล 112 ชีวิตสังเวยน้ำท่วม  ด้านย่านเศรษฐกิจพิษณุโลก เสียหายกว่า 100 ล้าน ขณะที่ เจ้าของฟาร์มจระเข้อุทัยธานี เร่งขนย้ายด่วน หลังน้ำเพิ่มระดับสูงกว่า 1 เมตร ด้าน กทม.สั่งเฝ้าระวัง 27 ชุมชนนอกแนวเขื่อนกั้นน้ำ


สรุปน้ำท่วม เสียชีวิตแล้ว 112 ราย 26 จังหวัด จมบาดาล

          ศอส. แถลงสรุปความเสียหายจากน้ำท่วม ล่าสุด มีทั้งสิ้น 26 จังหวัด เสียชีวิตแล้ว 112 ราย พื้นที่เกษตรเสียหายกว่า 4 ล้านไร่

          นายฉัตรป้อง ฉัตรภูติ รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะรองผู้อำนวยการศูนย์สนับสนุนการอำนวยการบริหารสถานการณ์ อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศอส.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์อุทกภัย 26 จังหวัด 165 อำเภอ 1,095 ตำบล 6,915 หมู่บ้าน ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 408,783 ครัวเรือน 1,412,357 คน ผู้เสียชีวิต 112 ราย สูญหาย 2 ราย พื้นที่การเกษตร 4,043,993 ไร่

          สำหรับสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำน่าน ลุ่มน้ำป่าสัก ลุ่มน้ำมูล ลุ่มน้ำชี ลุ่มน้ำโขง ลุ่มน้ำสะแกกรัง และลุ่มน้ำท่าจีน ยังต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ส่วนลุ่มน้ำปิง ลุ่มน้ำยม ลุ่มน้ำปราจีนบุรี ยังมีน้ำมาก และอยู่ในระดับทรงตัว ในขณะที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีปริมาณน้ำไหลผ่าน จ.นครสวรรค์ 3,884 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เขื่อนเจ้าพระยาปริมาณน้ำไหลผ่าน 3,706 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ส่งผลให้มีน้ำล้นตลิ่งในพื้นที่ลุ่ม ต่ำบริเวณ 8 จังหวัด ได้แก่ จ.อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี และ นนทบุรี ในส่วนของสถานการณ์น้ำในเขื่อนต่างๆ อยู่ในเกณฑ์ที่ต้องเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ โดยเฉพาะเขื่อนขนาดใหญ่ ต้องปล่อยน้ำออกจากเขื่อนอย่างต่อเนื่อง เพื่อเร่งระบายน้ำ ส่งผลให้พื้นที่ท้ายเขื่อนและชุมชนริมฝั่งแม่น้ำ ได้รับกระทบจากระดับน้ำที่เพิ่มสูงขึ้น จึงขอให้ประชาชนที่อาศัยบริเวณพื้นที่ดังกล่าว ให้ขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูง และเสริมแนวกระสอบทรายกั้นน้ำ

          ส่วนกรุงเทพมหานคร พื้นที่ด้านตะวันออกนอกคันกั้นน้ำ บริเวณเขตมีนบุรี หนองจอก และเขตลาดกระบัง ยังคงมีน้ำท่วมในบางพื้นที่ ระดับน้ำมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง 





กทม.เฝ้าระวัง 27 ชุมชน รับน้ำก้อนใหญ่จากภาคกลาง

           เมื่อวันที่ 19 กันยายน นายสัญญา ชีนิมิตร ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงการเตรียมรับมือมวลน้ำก้อนใหญ่จากภาคกลางที่จะไหลมายังกรุงเทพมหานคร ว่า มวลน้ำก้อนใหญ่ที่ไหลมาตามลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา จากจังหวัดสิงห์บุรี และจังหวัดอ่างทอง จะไหลมายังกรุงเทพมหานครในวันนี้ ซึ่งจะต้องจับตาดูในช่วง 20.00 น. ของวันนี้ที่ระดับน้ำจะขึ้นเต็มที่

           ทั้งนี้ นายสัญญา มั่นใจว่า น้ำจะไม่ท่วมกรุงเทพมหานครอย่างแน่นอน เพราะได้เตรียมอุปกรณ์และเจ้าหน้าที่ประจำประตูระบายน้ำกว่า 200 จุด พร้อมกับจัดเจ้าหน้าที่หน่วยเบสท์ (BEST) ไว้รับมือกับสถานการณ์ และอำนวยความสะดวกกับประชาชนตลอด 24 ชั่วโมงแล้ว อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่ายังมีจุดที่น่าเป็นห่วงและต้องเฝ้าระวัง คือ 27 ชุมชนที่อยู่นอกแนวเขื่อนกั้นน้ำ เพราะในช่วงที่ผ่านมาน้ำได้เอ่อท่วมทางเดินเข้ามาแล้ว


  พิษณุโลก : วิกฤติหนัก! ย่านเศรษฐกิจเสียหายร่วมร้อยล้าน

          สถานการณ์น้ำท่วมในจังหวัดพิษณุโลก ขณะนี้ย่านเศรษฐกิจ ศูนย์ราชการ ธุรกิจร้านค้าต่าง ๆ ต้องหยุดดำเนินการ  ธุรกิจโรงพิมพ์น้ำทะลักเข้าท่วมจนแท่นพิมพ์เสียหาย ขณะที่ร้านค้ารายย่อยหลายร้าน ขนของหนีน้ำท่วมแทบไม่ทัน ส่งผลให้ย่านเศรษฐกิจในบริการดังกล่าว สูญเสียรายได้ไม่ต่ำกว่าร้อยล้านบาท 

          ทางด้านองค์การบริหารส่วนตำบลหัวรอ ได้นำกำลังจากหลายหน่วยงาน มาช่วยทำคันกั้นน้ำบริเวณริมฝั่งแม่น้ำน่าน รวมไปถึงตั้งเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ ระดมสูบน้ำออกจากพื้นที่ แต่ปริมาณน้ำก็ยังท่วมอยู่ในระดับสูง ทำให้รถที่ต้องการสัญจร  ขับขี่ด้วยความยากลำบาก 

          ขณะที่ นายแพทย์วรงค์ เดชกิจวิกรม ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ เขต 1 พิษณุโลก ได้ออกมาแจกจ่ายน้ำดื่ม และอาหารให้กับประชาชนดังกล่าว พร้อมให้กำลังใจแก่ผู้ประสบภัยน้ำท่วม  อีกทั้งยังได้ต่อว่าการทำงานของรัฐบาลว่าแก้ปัญหาน้ำท่วมเป็นไปอย่างล่าช้า ไม่มีแผนงานรองรับ มีแต่การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น ทางที่ดีควรจะช่วยแก้ไขปัญหานี้เป็นลำดับแรก ก่อนที่จะนึกถึงการเตะฟุตบอลกระชับมิตรที่กัมพูชา 







  ลพบุรี : พบศพผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 1 เร่งหาทางระบายน้ำออก 

          พื้นที่ราบต่ำฝั่งตะวันออก อ.บ้านหมี่ และ อ.เมืองลพบุรี ระดับน้ำท่วมสูง นานกว่า 1 สัปดาห์ ยังไม่มีทีท่าว่าจะลดลงเนื่องจากยังหาทางระบายน้ำลงสู่คอลงชลประทานชัยนาท - ป่าสัก ไม่ได้ อีกทั้งน้ำที่ขังเป็นเวลานานเริ่มส่งกลิ่นเน่าเหม็นแล้ว

          นอกจากนี้ ยังพบผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 1 ราย เป็นคุณตาอายุ 76 ปี ชื่อนายพรหม เนียมงาม อยู่บ้านเลขที่ 80/8 หมู่ 1 ตำบลป่าตาล อำเภอเมืองลพบุรี โดยเพื่อนบ้านเล่าว่า ทุกวันคุณตาจะต้องพายเรือออกมารับน้ำดื่ม และข้าวกล่องที่เจ้าหน้าที่นำมามอบให้ แต่วันนี้ไม่เห็นคุณตาออกมา จึงได้บอกให้เจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบ ปรากฏว่า พบคุณตาจมน้ำเสียชีวิตอยู่ภายในบ้าน ซึ่งนับเป็นผู้เสียชีวิตรายที่ 2 ของจังหวัดลพบุรีแล้ว

          ทางด้าน นายธีรศักดิ์ ทรัพย์ศิริ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดลพบุรี เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำท่วมใน จ.ลพบุรี ขณะนี้ได้รับผลกระทบทั้งจังหวัด 11 อำเภอ ซึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดน้ำท่วมในขณะนี้ เนื่องจากมีฝนตกหนักต่อเนื่องในช่วง 2 - 3 วันที่ผ่านมา และระดับน้ำเจ้าพระยาที่เพิ่มขึ้น ส่วนเหตุการณ์น้ำทะลักท่วมที่ อ.ท่าวุ้ง ทาง ผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี พร้อมกับ สนง.ปภ. ได้ลงพื้นที่สำรวจความเสียหาย พร้อมระดมเจ้าหน้าที่ขุดดินทำแนวกั้น เพื่อไม่ให้กระทบพื้นที่การเกษตรของชาวบ้าน และได้ให้การช่วยเหลือประชาชนในเบื้องต้น โดยมอบถุงยังชีพ ระดมกระสอบทรายทำแนวกั้น

          ส่วนสถานการณ์โดยรวมของ จ.ลพบุรี ถือว่ายังวิกฤติ ข้อมูลล่าสุดพบว่า ประชาชนได้รับผลกระทบแล้วกว่า 27,000 ครัวเรือน ทางผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี ได้กำชับให้ดูแลพื้นที่ อ.ท่าวุ้ง และ อ.บ้านหมี่ เป็นพิเศษ เนื่องจากเป็นที่ลุ่ม

          ทั้งนี้ ยังไม่สามารถคาดเดาสถานการณ์ล่วงหน้าได้ ซึ่งทั้งหมดขึ้นอยู่กับระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ว่าเพิ่มขึ้นหรือลดลงอย่างไร 

          ทางด้านนายฉัตรชัย พรหมเลิศ ผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี เปิดเผยว่า ขณะนี้ในจังหวัดมีพื้นที่ ที่ได้รับผลกระทบจำนวน 11 อำเภอ 100 ตำบล 799 หมู่บ้าน ซึ่งในหลายพื้นที่ได้เร่งให้การช่วยเหลือแล้ว แต่ที่น่าเป็นห่วงมากที่สุด คือ เรื่องการเกษตร เนื่องจากน้ำได้ไหลเข้าท่วมเสียหายหลายหมื่นไร่ โดยเฉพาะข้าว ซึ่งยอมรับว่า ชาวบ้านแทบไม่เหลือข้าวไปจำนำ จึงอยากเรียกร้องให้รัฐบาลให้ความช่วยเหลือด้วยการเพิ่มเงินชดเชย จากเดิมที่ 2,222 บาท เห็นว่าควรเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 60 หรือ ประมาณ 5,380 บาท โดยทางจังหวัดจะรวบรวมข้อมูล เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป










  อุทัยธานี : เจ้าหน้าที่เร่งย้ายจระเข้ออกจากฟาร์ม 

          บริเวณริมแม่นน้ำสะแกกรัง ต.สะแกกรัง อ.เมือง จ.อุทัยธานี มีฟาร์มเลี้ยงและเพาะพันธุ์จระเข้ จำนวนกว่า 3,000 ตัว ซึ่งขณะนี้น้ำได้เข้าท่วมบ่อเลี้ยงจระเข้ สูงจากบ่อกว่า 1 เมตรแล้ว ทางเจ้าหน้าที่จึงเร่งขนย้ายจระเข้ที่อยู่ในฟาร์มออกมาอย่างเร่งด่วน เพราะเกรงว่าถ้าระดับน้ำสูงขึ้นจระเข้อาจจะหลุดออกมาได้ ทั้งนี้ ทางเจ้าของฟาร์มกำลังเร่งจับและย้ายจระเข้ออกจากฟาร์มไปยังฟาร์มสำรองที่เจ้าของได้เตรียมไว้ 






  ชัยภูมิ : น้ำป่าทะลักเข้าท่วมเทศบาลเมืองแล้ว

          น้ำป่าทะลักเข้าท่วมเทศบาลเมืองชัยภูมิแล้ว โดยมีระดับน้ำสูงประมาณ 30 - 40 เซนติเมตร ชาวบ้านต้องช่วยกันขนของไปไว้บนที่สูง ขณะที่ถนนสายหลักระหว่าง ชัยภูมิ-สีคิ้ว ถูกน้ำท่วมสูงรถขนาดเล็กไม่สามารถผ่านได้ ยกเว้นรถขนาดใหญ่ยังสามารถผ่านไปมาได้

          ทางด้าน นายสุวิชา อุชาดี รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ โรงเรียนเมืองพญาแลวิทยา ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำจังหวัด กล่าวว่า ตั้งแต่ก่อตั้งโรงเรียนมา ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่น้ำท่วมสูงขนาดนี้ ทั้งนี้ทางคณะครูนักเรียนได้ช่วยกันเก็บอุปกรณ์การเรียนการสอนเท่าที่ทำได้ขนย้ายไปยังที่สูง และจำเป็นที่ต้องกำหนดปิดการเรียนการสอนออกไปก่อนอย่างไม่มีกำหนด 





  ชัยนาท : วิกฤติหนัก! สั่งอพยพ 4 อำเภอ - ดับแล้ว 3 ราย

          น้ำท่วมชัยนาท หนักสุดเป็นประวัติการณ์ สั่งอพยพชาวบ้าน 4 อำเภอ พื้นที่เสี่ยงริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา วิกฤติทั้งจังหวัด เสียชีวิตแล้ว 2 ราย

          นายปรีชา ทองคำ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดชัยนาท เปิดเผยว่า ขณะนี้ น้ำได้ทะลักท่วมทุกอำเภอใน จ.ชัยนาท ส่วนพื้นที่วิกฤติอยู่ที่ 4 อำเภอ ติดแม่น้ำเจ้าพระยา ทั้งหมด ได้แก่ อ.เมืองชัยนาท อ.มโนรมย์ อ.วัดสิงห์ อ.สรรพยา ในปีนี้ ปริมาณน้ำมากกว่าทุกปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วมใหญ่ปี 2538 สถานการณ์ขณะนี้ ถือว่าระดับน้ำเพิ่มสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และส่งผลกระทบมากที่สุด ข้อมูลล่าสุดพบว่า มีผู้เสียชีวิตแล้ว 2 ราย ซึ่งน้ำได้ทะลักท่วมทุกพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นเขตเศรษฐกิจ หรือ พื้นที่ตั้งของหน่วยราชการ ไร่นาเกษตรกร ในขณะเดียวกัน ปริมาณน้ำยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทั้งนี้พบว่า มีน้ำอีกมวลที่จะไหลจาก จ.นครสวรรค์ เข้ามาสมทบอีกระลอก โดยหากไหลหลากมาสมทบ จะทำให้ระดับน้ำใน จ.ชัยนาท เพิ่มสูงขึ้นอีก 20 ซ.ม. ขณะนี้ ทาง ปภ. มีภารกิจหลัก คือ อพยพประชาชนและช่วยชีวิตประชาชน

          หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดชัยนาท ยังกล่าวอีกว่า วิกฤติน้ำท่วมครั้งนี้ ถือได้ว่าเป็นวิกฤติที่หนักที่สุด ซึ่งหนักกว่าน้ำท่วมใหญ่ปี 2538 

อ่างทอง ประกาศพื้นที่ประสบภัยทั้งจังหวัด

          นายวิศว ศะศิสมิต ผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง เปิดเผยสำนักข่าวไอ.เอ็น.เอ็น. ผ่านรายการ "เปิดข่าวเด่น เจาะประเด็นดัง" ถึงสถานการณ์น้ำท่วมในจังหวัดอ่างทองว่า ขณะนี้ทั้งจังหวัดได้ประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยทั้งจังหวัดแล้ว ประชาชนได้รับความเดือนร้อนเป็นจำนวนมาก น้ำได้ไหลเข้าท่วมทั้งสถานที่ราชการสำคัญ ตลาดสด รวมถึงพื้นที่การเกษตร

          ทั้งนี้ ทางจังหวัดได้เรียกร้องและขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานภาครัฐ โดยเฉพาะน้ำดื่ม ห้องน้ำแบบสำเร็จรูป เรือที่ต้องใช้สัญจร ซึ่งขณะนี้มีเพียง 200 ลำเท่านั้น และหาซื้อยากมาก อีกทั้งราคาก็แพงขึ้นจากปีที่ผ่านมา โดยมีราคาต่อลำอยู่ที่ 4,500 บาท







อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
         




เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สรุป 26 จังหวัดจมบาดาล 112 ชีวิตสังเวยน้ำท่วม อัปเดตล่าสุด 20 กันยายน 2554 เวลา 08:15:28 34,647 อ่าน
TOP