เรียบเรียงข้อมูลโดยประปุกดอทคอม
ผู้ว่าฯกทม. แถลงข่าว รับ อดีตผู้ว่าฯ "อภิรักษ์" จัดซื้อกล้องหลอก อ้าง เป็นไปตามนโยบายรัฐ ช่วงคุมสถานการณ์ความไม่สงบ ยืนยัน โปร่งใส เตรียมเผยสัญญาจัดซื้อ
ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯกทม. แถลงข่าวชี้แจงข้อเท็จจริง กรณีการวิพากษ์วิจารณ์ ติดตั้งกล้อง CCTV เปล่าในพื้นที่ กทม.โดยกล่าวยอมรับว่า มีการจัดซื้อกล่องดัมมี่ หรือ กล้องหลอก สมัยที่ นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ดำรงตำแหน่ง ผู้ว่าฯกทม. แต่เป็นการจัดซื้อที่ไม่อยู่ในนโยบายของรัฐบาล ในช่วงที่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้น ซึ่งในครั้งนั้นมีการซื้อกล้องจริงถึง 2,046 ตัว จะมีกล้องดัมมี่ หรือ กล้องหลอก 1,325 ตัว ภายในงบประมาณที่จำกัด 330 ล้านบาท และในสมัยที่ตนมาดำรงตำแหน่ง ผู้ว่าฯกทม.นั้น ได้มีการติดตั้งกล้องจริงทุกตัว จำนวน 10,000 ตัว และจะติดตั้งอีก 10,000 ตัว ภายในปี 2555 ส่วนกล้องดัมมี่นั้น ยังเหลืออยู่ในพื้นที่ กทม. อีก 500 ตัว ทั้งนี้ ยังกล่าวด้วยว่า ยินดีรับฟังคำวิพากษ์วิจารณ์ ว่าเหมาะสมหรือไม่ แต่ไม่อยากให้ด่วนสรุปว่าเป็นการทุจริตคอร์รัปชั่น เนื่องจากมีการจัดซื้ออย่างโปร่งใส
อย่างไรก็ตาม ผู้ว่าฯกทม. ยังกล่าวด้วยว่า หลังจากนี้ตนได้มอบหมายให้ ปลัด กทม. เปิดเผยสัญญาการซื้อขายทุกฉบับ รวมถึง ให้ตั้งคณะกรรมการ ขึ้นมาตรวจสอบข้อเท็จจริง นอกจากนี้ ยังอนุญาตให้มีการนำพิกัดของกล้อง CCTV เปิดเผย ผ่านทางเว็บไซต์ ยกเว้น เขตพระราชฐาน หรือ สถานที่ความมั่นคงของประเทศ ส่วนกรณีที่ พรรคเพื่อไทย จะตั้งคณะกรรมการ ขึ้นมาตรวจสอบข้อเท็จจริงนั้น ตนก็ยินดี
ขณะที่ นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ในฐานะอดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้ออกมาชี้แจงกรณีที่มีข่าวว่า กทม.ติดตั้งกล้องหลอกหรือกล้องดัมมี่จำนวน 500 ตัวนั้น เป็นการจัดซื้อโครงการงบประมาณสมัยปี 2550 ของนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน และกรณีที่นายธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่า ฯ กทม.ระบุว่ามีการติดตั้งกล้องหลอก หรือกล้องดัมมี่ แทนการติดตั้งกล้องจริงในช่วงต้นปี 2552 เพื่อรองรับการชุมนุม ว่า เวลาดังกล่าว (ปี 2552) เป็นช่วงที่ตนพ้นจากตำแหน่งผู้ว่า ฯ กทม.แล้ว และไม่ได้ติดตั้งกล้องดัมมี่ช่วงปี 2552 แน่นอน
อย่างไรก็ตาม นายอภิรักษ์ได้ยอมรับว่า ได้ติดตั้งกล้องดัมมี่จริง แต่เป็นช่วงต้นปี 2550 ที่ตนยังเป็นผู้ว่า ฯ กทม.และได้เกิดสถานการณ์ระเบิดทั่วพื้นที่กทม. จึงมีกระแสเรียกร้องให้ติดกล้องวงจรปิด (ซีซีทีวี) เนื่องจากในช่วงนั้นมีกล้องวงจรปิดน้อยมาก ส่วนใหญ่มีแต่กล้องจราจรเท่านั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงได้เสนอให้ติดตั้งเพื่อความปลอดภัย แต่ช่วงนั้นถือเป็นสถานการณ์เร่งด่วนและงบประมาณมีกำจัด จึงไม่สามารถดำเนินการติดตั้งกล้องวงจรปิดได้ครบทุกจุด เพราะในขณะนั้น กล้องตัวหนึ่งมีราคาเกือบ 3 แสนบาท ซึ่งถือว่าราคาสูงมาก จึงต้องการดำเนินการเช่นเดียวกับประเทศอังกฤษและเม็กซิโก ใการติดกล้องดัมมี่เพื่อขู่ และป้องกันการชุมนุม โดยทำการสำรวจจุดและติดตั้งกล้องเปล่าไว้ก่อน จากนั้นจะทำการตั้งงบประมาณเพื่อตามติดตั้งกล้องจริงให้ครบถ้วนทั้งหมด ส่วนรายละเอียดเกี่ยวกับงบประมาณการจัดซื้อเป็นเรื่องที่สำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) เป็นผู้ชี้แจง
ต่อมาเมื่อ มรว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่า ฯ กทม. เข้ามาดำรงตำแหน่ง สำนักการจราจรและขนส่ง กทม.ได้เสนอให้เดินหน้าโครงการอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเป็นงบประมาณผูกพันตามโครงการเดิม มาตั้งแต่ปี 2549-2550 ที่รัฐบาลอุดหนุนให้กทม.ดำเนินการ ซึ่งตามรายงานแจ้งว่า หลังจากนี้ กทม.จะดำเนินการตามนโยบายโครงการประชาวิวัฒน์ โดยจะนำกล้องที่ใช้งานได้จริง มาติดตั้งในจุดที่เป็นกล้องดัมมี่ให้ครบทั้งหมด
นอกจากนี้ ในโครงการติดตั้งกล้อง 2 หมื่นจุดทั่วกทม.นั้น กทม.ยืนยันจะดำเนินการติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิดตัวจริงทั้งหมดต่อไป
สำหรับเรื่องนี้ มรว.สุขุมพันธุ์ ได้ออกมากล่าวว่า ตนไม่ได้รู้สึกเครียดอะไร แต่คนที่เครียดคือนายอภิรักษ์ เพราะเรื่องนี้เกิดขึ้นในสมัยนายอภิรักษ์ ซึ่งในช่วงนั้นกล้องโทรทัศน์วงจรปิดมีราคาสูงมาก แต่ปัจจุบันมีราคาถูกลงประมาณตัวละ 10,000-40,000 บาทเท่านั้น ดังนั้น กทม.จึงไม่จำเป็นต้องติดตั้งกล้องดัมมี่อีกต่อไป ทั้งนี้ มรว.สุขุมพันธุ์ จะออกมาแถลงข่าวชี้แจงเรื่องทั้งหมดด้วยตนเองที่ศาลาว่าการ กทม. ในวันที่ 21 กันยายนนี้
[20 กันยายน] กทม.แจงติดกล้องวงจรปิดหลอก ขู่ผู้ชุมนุม เผยงบไม่พอ
กทม.แจงอุตลุด กรณีติดตั้งกล้องวงจรปิดหลอก 500 ตัว ในเขตกรุงเทพฯ ชั้นใน เผยช่วงนั้นงบไม่พอ จึงต้องติดเอาไว้ขู่ชุมนุมการทางเมืองไปก่อน ลั่นจะติดเพิ่มให้ทันก่อนหมดวาระ
หลังจากที่ชาวเน็ตจากเว็บไซต์พันทิปได้ถ่ายรูปกล้องวงจรปิดบริเวณแยกสาทร โดยในรูปภาพดังกล่าวปรากฎภาพกล้องวงจรปิดที่มีเพียงแต่กล่อง แต่ไม่มีกล้องอยู่ภายใน และไม่ใช่เพียงแค่กล่องเดียว เพราะจากการตรวจสอบแล้วยังมีอีกหลายกล่องที่ไม่มีกล้องดังกล่าว ทั้ง ๆ ที่ใต้กล่องของกล้องวงจรปิดมีป้าย "CCTV ครบแล้ว 10,000 ตัว" จากเรื่องนี้ก็กลายเป็นหัวข้อวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง ไม่ว่าจะเป็น กล้องหายไปได้อย่างไร และการกระทำเช่นนี้ถือว่าเป็นการหลอกลวงประชาชนหรือไม่ แล้วต่อไปนี้ใครจะรับรองความปลอดภัยของประชาชน เป็นต้น
วานนี้ (19 กันยายน) นายธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่าฯ กทม. ได้กล่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า โครงการที่ว่านี่คือ "โครงการที่ กทม.ติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (ซีซีทีวี) 10,000 ตัว ทั่วกรุงเทพฯ เพื่อลดอาชญากรรม" ซึ่งเป็นโครงการที่เกิดขึ้นตั้งแต่สมัย นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน เป็นผู้ว่าฯ กทม. โดยได้สั่งให้สำนักการจราจรและขนส่ง ติดตั้งกล้องวงจรปิดเพื่อดูแลพื้นที่ กทม. โดยเฉพาะช่วงที่มีการชุมนุมทางการเมือง เมื่อเดือนเมษายน 2552 เป็นต้นมา
แต่เนื่องจากในช่วงนั้น งบประมาณอุดหนุนจากรัฐบาลไม่เพียงพอ จึงจำเป็นต้องติดตั้งกล้องวงจรปิดหลอก ๆ ขึ้นมาเพื่อป้องกันเหตุการชุมนุมทางการเมือง โดยในกล่องนั้นมีเพียงกล่องเปล่า ๆ หรือบอดี้ แต่ไม่มีกล้องจริงที่ถ่ายหรือบันทึกภาพได้ ซึ่งมีจำนวน 500 ตัว และได้ติดตั้งในเขตพื้นที่ชั้นในของ กทม. ที่เป็นจุดชุมนุม อาทิ เขตพระนคร ดุสิต สาทร เป็นต้น
รองผู้ว่าฯ กทม. ยังกล่าวอีกว่า จากการประชุมผู้บริหาร กทม. ครั้งล่าสุด ทางผู้ประชุมก็ประหลาดใจว่า ทำไมต้องมีการติดกล้องหลอก ซึ่งก็ได้มีการชี้แจงกันแล้วว่า งบประมาณในรัฐบาลช่วงนั้นไม่เพียงพอที่จะติดตั้งกล้องจริง จึงได้ติดตั้งกล้องปลอมไว้ ทั้งนี้ การติดตั้งกล้องปลอมก็ได้ผลเพราะผู้ชุมนุมบางคนได้นำผ้ามาคลุมกล้องปลอมดังกล่าวด้วย ส่วนงบประมาณในการติดตั้ง CCTV มีเพียงพอแล้ว ซึ่งจะติดตั้งเพิ่มอีก 10,000 ตัว และ ติดกล้องจริงเข้าไปแทนที่กล่องเปล่าด้วย โดยตั้งเป้าไว้ว่าจะติดตั้งให้ทันในสมัยผู้ว่าฯ กทม.ท่านนี้ ก่อนที่จะหมดวาระ
ทางด้าน ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัฒน์ ผู้ว่าฯ กทม. ได้ชี้แจงผ่านเฟซบุ๊ก The Bangkok Governor เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวว่า "ผมขออธิบายอีกครั้งนะครับว่าไม่ใช่เป็นเรื่องการโกงกิน หรือการโกหกผลงาน แต่เดิมนั้นได้มีการติดตั้งกล้องเปล่าในบ้างจุดเพื่อความปลอดภัย พอมาสมัยผม ผมได้ผลักดันตามคำสัญญาของผมว่าผมจะทำให้กล้อง CCTV ในกรุงเทพฯ มีให้ครบ 10,000 ตัว ซึ่งผมก็ได้ทำตามนั้นแล้ว คือมีกล้อง CCTV จริง ทำงานได้จริงครบ 10,000 ตัว"
นอกจากนี้ ผู้ว่าฯ กทม. ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับนโยบายติดตั้ง CCTV นั้น เป็นประโยชน์ทั้งด้านความปลอดภัย หลักฐานการสืบค้น และจราจร ทางกทม.จึงผลักดันให้มีการติดกล้อง CCTV ให้ถึง 20,000 ตัวก่อนจะหมดวาระตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม.ในอีก 14 เดือนข้างหน้า ซึ่งในขณะนี้ทางกทม. กำลัง ซึ่งจนถึงวันนี้ ทาง กทม. ได้ไล่ติดกล้องเข้าไปในกล่องเปล่า และเพิ่มในจุดต่าง ๆ จากงบประมาณที่ได้
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
เฟซบุ๊ก The Bangkok Governor