x close

กทม.สั่งอพยพเขตเสี่ยงเพิ่มอีก 4 พื้นที่





ขอขอบคุณภาพประกอบจาก ครอบครัวข่าว 3

          ผู้ว่าฯ กทม. เผย ให้แขวงหนองค้างพลู เสนานิเวศน์ 1 อพยพ หลังน้ำสูงมาก ระบุ นายกฯ ให้ กทม.ดู การเปิด-ปิดประตูระบายน้ำคลองสามวาแล้ว

          ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ประกาศแจ้งเตือนให้ประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณแขวงทรายกองดินใต้ เขตคลองสามวา และแขวงคลองสามวาตะวันตก เฉพาะพื้นที่นอกแนวคันพระราชดำริ และที่เขตติดต่อคลองสามวา ฝั่งตะวันออก รวมถึงพื้นที่แขวงหนองค้างพลู เขตหนองแขม หมู่บ้านเสนานิเวศน์โครงการ 1 เขตลาดพร้าว เป็นพื้นที่อพยพเพิ่ม เนื่องจากพบว่าระดับน้ำนั้น มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีระดับความสูงอยู่ที่ประมาณ 20 ซ.ม. - 1.20 ม. พร้อมแจ้งเตือน ประชาชนในเขตภาษีเจริญ ด้านทิศเหนือ เป็นพื้นที่เฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด

          นอกจากนี้ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ยังกล่าวด้วยว่า เจ้าหน้าที่นั้นสามารถซ่อมแซมประตูระบายน้ำคลองสามวา บริเวณซีกซ้าย เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ขณะเดียวกันยังกล่าวด้วยว่า ขณะนี้ตนได้รับรายงานอย่างไม่เป็นทางการจากศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย หรือ ศปภ. ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้มอบให้กรุงเทพมหานครเป็นผู้ตัดสินใจเรื่องระดับการเปิด-ปิดประตูระบายน้ำคลองสามวาแล้ว ซึ่งคงจะต้องพิจารณาอีกครั้ง เนื่องจากว่า ขณะนี้ยังไม่ได้รับรายงานอย่างเป็นทางการ


  กทม.ให้บางเขนอพยพ - งัดกฎหมายคุ้มกันประตูระบายน้ำ

          ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แถลงให้ประชาชน เขตบางเขนอพยพ พร้อมงัดกฎหมายพิเศษคุ้มกันประตูระบายน้ำ รับห่วงประตูระบายน้ำคลองสามวาพัง รามคำแหง รามอินทรา จมแน่ 

          เมื่อวานนี้ (1 พฤศจิกายน) เวลา 20.35 น. ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวสรุปพื้นที่น้ำท่วมที่ประกาศให้ประชาชนอพยพทั้งเขต มี 7 เขต ประกอบด้วย เขตดอนเมือง บางพลัด สายไหม ทวีวัฒนา หลักสี่ ตลิ่งชัน และบางเขน เนื่องจากมีระดับน้ำที่เพิ่มสูงขึ้น

          ส่วนพื้นที่น้ำท่วมที่ให้อพยพเฉพาะพื้นที่ มี 4 เขต ประกอบด้วย เขตจตุจักร ในพื้นที่ริมคลอง เขตลาดพร้าว ในหมู่บ้านเสนานิเวศ โครงการ 2 และริมคลอง แขวงบางไผ่ เขตบางแค และแขวงทรายกองดินตะวันออก แขวงทรายกองดินใต้ เขตคลองสามวา


          ทั้งนี้ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มีความเป็นห่วงประตูระบายน้ำคลองสามวา ที่เกิดชำรุด และประชาชนในพื้นที่ไม่ยอมให้เจ้าหน้าที่เข้าไปทำการซ่อมแซม ซึ่งหากปล่อยให้ประตูระบายน้ำคลองสามวา ชำรุดเสียหายต่อไป ประตูระบายน้ำก็จะพังลงมา และทำให้พื้นที่รามอินทรา และรามคำแหง เกิดปัญหาน้ำท่วมหนักขึ้นได้

          ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้เอง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จึงออกคำสั่งกรุงเทพมหานคร เรื่องการรักษาความสงบเรียบร้อยประตูระบายน้ำคลองสามวา เขตคลองสามวา ตามที่นายกฯ ได้มีคำสั่งที่ 17/2554 (ลงวันที่ 20 ตุลาคม 54) กำหนดให้กทม.เป็นพื้นที่เกิดสาธารณภัยร้ายแรงตามมาตรา 31 แห่งพ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 เพื่อการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ประสบอุทกภัย การให้ความช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัย การจัดระเบียบ การจราจร การรักษาความสงบเรียบร้อย และการเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ไปอย่างรวดเร็ว มีเอกภาพและมีประสิทธิภาพ และมีใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไปดำเนินการรักษาความสงบเรียบร้อย และป้องกันมิให้ประชาชนเข้าไปทำลายประตูระบายน้ำคลองสามวา อุปกรณ์ส่วนควบ สิ่งก่อสร้าง พื้นดินและแนวกระสอบทราย

          ขณะเดียวกัน จึงมีการจัดให้เจ้าหน้าที่ตำรวจคุ้มครองและอารักขาเจ้าหน้าที่ของ กทม. เข้าไปทำการซ่อมแซมประตูระบายน้ำคลองสามวา ซึ่งตั้งอยู่บริเวณถนนหทัยมิตร แขวงสามวาตะวันตก เขตคลองสามวา โดยด่วน หากผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งหรือขัดขวางการปฏิบัติตามหน้าที่ดังกล่าว ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป





อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก







[1 พฤศจิกายน] กทม.เฝ้าระวังบางชัน หลังเปิดประตูระบายน้ำคลองสามวา
เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม


          สุขุมพันธุ์ ประกาศ แขวงบางไผ่เป็นพื้นที่อพยพ ยอมรับกรุงเทพฯ ฝั่งตะวันตกน่าเป็นห่วง มีน้ำจากนครปฐมคอยตลบหลังอยู่ พร้อมจับตาดูเขตบางชัน หลังจากเปิดประตูระบายน้ำคลองสามวาสูง 1 เมตร

          วันนี้ (1 พฤศจิกายน) ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ด้วยระดับน้ำที่ยังเพิ่มขึ้น จึงขอประกาศให้แขวงบางไผ่ เขตบางแค เป็นพื้นที่อพยพ และแขวงบางชัน เขตคลองสามวา เป็นพื้นที่เฝ้าระวัง โดยกรุงเทพฯ ทางทิศตะวันตก เป็นพื้นที่ที่น่าเป็นห่วงที่สุด เพราะยังมีมวลน้ำจากนครปฐมรอตลบหลังอยู่ โดยขณะนี้ทาง กทม. แก้ปัญหาโดยการเร่งสูบน้ำลงคลองมหาชัย

          ขณะที่การเปิดประตูระบายน้ำคลองสามวาเพิ่มเป็น 1 เมตร ทำให้เขตบางชัน ที่มีนิคมอุตสาหกรรมบางชัน เป็นพื้นที่เสี่ยงที่จะถูกน้ำท่วมต่อไป ส่วนปริมาณน้ำในคลองสอง คลองทวีวัฒนา คลองรังสิตคงตัว ส่วนคลองแสนแสบ คลองลำปลาทิวมีระดับน้ำสูงขึ้น 



อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก



ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร


[31 ตุลาคม] เตือนแขวงบางไผ่ เขตบางแค เตรียมอพยพ
เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก เฟซบุ๊ก TheBangkokGovernor

          เตือนประชาชนแขวงบางไผ่ เขตบางแค เตรียมอพยพ หลังน้ำท่วมสูง คาดน้ำถึงถนนเพชรเกษมวันที่ 1 พ.ย.นี้ พร้อมสั่งหนองแขมเฝ้าระวังต่อไป

          ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ขณะนี้ปัญหาน้ำท่วมในเขตบางแค มีน้ำท่วมสูงมาก กทม. จึงตัดสินใจประกาศให้แขวงบางไผ่ เขตบางแค เป็นพื้นที่อพยพอีกแห่งหนึ่ง อีกทั้งเกรงว่า น้ำจะเข้ามาถึงถนนเพชรเกษม เขตหนองแขม ภายในคืนนี้ (31 ต.ค.) หรือพรุ่งนี้ (1 พ.ย.) จึงต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

สำหรับพื้นที่ฝั่งตะวันตกมีความไม่แน่นอนสูงมาก สถานการณ์เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ซึ่งในเขตตลิ่งชัน น้ำยังไม่นิ่ง หากน้ำไม่มาเพิ่ม จะสามารถเข้าสู่ระบบการระบายน้ำของ กทม. คาดว่าน้ำจะลดอย่างเห็นได้ชัดใน 3 - 4 วัน และจะแห้งภายใน 1 สัปดาห์ ซึ่ง กทม. ก็ได้รับความร่วมมือจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ช่วยเร่งระบายน้ำออกแม่น้ำท่าจีน


สุขุมพันธุ์ รับหวั่นน้ำนครปฐมตลบหลัง เร่งระบายลงท่าจีน

          ผู้ว่าฯ กทม. เผยน้ำทะเลหนุนสูงผ่านไปแล้ว เจอกันอีกครั้งกลางเดือน พ.ย. แอบหวั่นน้ำจากนครปฐมตลบหลัง จึงให้ ศปภ. รีบระบายน้ำลงแม่น้ำท่าจีน ยอมรับแม้ว่าสถานการณ์จะดีขึ้น แต่ก็ถือว่ายังไม่ปลอดภัย

          ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้กล่าวถึงสถานการณ์น้ำท่วมในวันนี้ (31 ตุลาคม) ว่า สถานการณ์น้ำทะเลหนุนสูงได้ผ่านไปเรียบร้อย แล้วจะมีอีกครั้งในกลางเดือนพฤศจิกายน ขณะนี้มวลน้ำเหนือเริ่มนิ่ง ระดับน้ำในคลองสองคงที่ และระดับน้ำในคลองรังสิตลดลง แต่น้ำในเขตดอนเมืองหลักสี่สูงขึ้น ส่วนเขตบางพลัด ทวีวัฒนา ตลิ่งชัน บางแค ยังน่าเป็นห่วง เพราะน้ำจากจังหวัดนครปฐมมีโอกาสที่จะทะลักเข้าตลบหลังได้ ดังนั้นทาง กทม. จึงได้ประสานไปยัง ศปภ. เพื่อผันน้ำจาก จ.นครปฐม ไปทางแม่น้ำท่าจีน ก่อนที่จะทะลักเข้ากรุงเทพฯ

          แม้ว่าสถานการณ์น้ำจะดีขึ้น แต่ กทม. ยังไม่สามารถประกาศได้อย่างชัดเจนได้ เพราะถ้าหากเขตดอนเมือง หลักสี่ บางพลัด ทวีวัฒนายังมีปัญหา ก็ถือว่าสถานการณ์ยังน่าเป็นห่วงอยู่

กทม. เผยแผนที่เขตอพยพ-เฝ้าระวังพิเศษ


           ช่วงบ่ายของวันนี้ (31 ตุลาคม)  ทางศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย กรุงเทพมหานคร  ได้ออกประกาศให้ 2 เขต ใน กทม. เป็นพื้นที่อพยพเพิ่มเติม คือ เขตตลิ่งชัน และเขตหลักสี่ จาก 4 เขตเดิม ประกอบด้วย เขตสายไหม เขตดอนเมือง เขตบางพลัด และเขตทวีวัฒนา โดยแจกแจงรายละเอียดดังนี้

          พื้นที่อพยพ ได้แก่...

     เขตทวีวัฒนา
     ตลิ่งชัน
     บางพลัด
     หลักสี่
     ดอนเมือง
     สายไหม

          พื้นที่เฝ้าระวัง ได้แก่...


     คลองสามวา
     คันนายาว
     หนองจอก
     มีนบุรี
     ลาดกระบัง


          พื้นที่ที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ ได้แก่ ...

     บางซื่อ
     จตุจักร
     ลาดพร้าว
     บางเขน
     วังทองหลาง
  
          (ข้อมูล ณ วันที่ 30 ตค.54)


คาด 20 เขตกรุงเทพฯ พ้นน้ำท่วม


            กทม. ผนึกกำลังกับกรมชลประทาน เร่งระบายน้ำกู้วิกฤติ คาด 20 เขตพื้นที่กรุงเทพ รอดน้ำท่วม ชี้ภายใน 5 วัน น้ำที่คลอง 2 ลดแน่

            นายธีระชน มโนมัยพิบูลย์  รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า จากการรื้อถอนประตูระบายน้ำ คลอง 9 10 11 12 และ 13 รวมถึงกรมชลประทานได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มที่สถานีสูบน้ำคลองหกวาสายล่าง เพื่อเร่งระบายน้ำลงสู่แม่น้ำบางประกงวันละ 10 ล้านลูกบาศก์เมตร ทำให้สถานการณ์ที่คลอง 2 มีแนวโน้มดีขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากปริมาณน้ำทรงตัว และเชื่อว่าการแก้ปัญหาด้วยวิธีนี้ เป็นวิธีที่ถูกต้อง ซึ่งคาดว่าภายใน 5 วัน ระดับน้ำคลองหกวาจะลดลงเหลือ 2 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง จากเดิม 2.88 เมตร

            และจากแนวทางดังกล่าว คาดว่า จะทำให้พื้นที่เศรษฐกิจและพื้นที่ไม่ติดกับริมคลอง ในเขตกรุงเทพ มีแนวโน้มว่าจะน้ำไม่ท่วม 80 เปอร์เซ็นต์นั้นก็ได้แก่ ดินแดง พญาไท บึ่งกุ่ม บางซื่อ สะพานสูง วัฒนา ประเวศ บางกะปิ สาทร ทุ่งครุ ราชเทวี

            นอกจากนี้ นายธีระชน  ยังกล่าวถึงความคืบหน้าการประสานงานของ กทม. กับ กรมชลประทานว่า หลังจากได้หารือร่วมกันนั้น ล่าสุด ทั้ง 2 หน่วยงานมีความเข้าใจมากขึ้น ทำให้ด้านข้อมูล และการปฏิบัติการในพื้นที่ โดยเฉพาะเรื่องการระบายน้ำนั้นเป็นไปได้ด้วยดี และคาดว่าเบื้องต้นจะมีพื้นที่ 20 เขตของกรุงเทพจะไม่ถูกน้ำท่วม

            นายธีระชน ยังกล่าวอีกว่า ส่วนนิคมอุตสาหกรรมที่อยู่ในพื้นที่กรุงเทพ และจังหวัดสมุทธปราการทั้งหมดจะรอดจากน้ำท่วมอย่างแน่นอน ส่วนกรณีแนวทำไซฟ่อนหรือกาลักน้ำ เพื่อเร่งระบายน้ำเหนือลงพื้นที่ตะวันออก ที่ทาง ศปภ. และ กทม. ตั้งใจจะทำก่อนหน้านี้นั้น ขณะนี้ไม่จำเป็นต้องทำแล้ว เพราะทางกทม. ได้ตัดสินใจรื้อถอนประตูระบายน้ำคลอง 9 , 10 , 11 , 12 และ 13 ออก ทำให้มวลน้ำไหลได้สะดวกขึ้น

อย่างไรก็ตาม พื้นที่ที่ กทม.ได้ประกาศเป็นพื้นที่เฝ้าระวังขณะนี้มีทั้งหมด 14 เขต ได้แก่...

            1.มีนบุรี
            2.หนองจอก
            3.ลาดกระบัง
            4.คลองสามวา
            5.ดอนเมือง
            6.หลักสี่
            7.สายไหม
            8.บางซื่อ
            9.จตุจักร
            10.บางพลัด
            11.คันนายาว
            12.บางเขน
            13.ลาดพร้าว
            14.วังทองหลาง

และอีก 3 แขวง ในพื้นที่เขตตลิ่งชัน ได้แก่...

            1.แขวงฉิมพลี
            2.แขวงตลิ่งชัน
            3.แขวงบางละมาด

ส่วนในพื้นที่ ให้เฝ้าระวังเป็นพิเศษ และเตรียมอพยพพร้อม ได้แก่ ...

            1.บริเวณริมคลองเปรมประชากรทั้งสองฝั่ง ในเขตดอนเมือง หลักสี่ และจตุจักร
            2.ริมคลองลาดพร้าว ในเขตจตุจักร ลาดพร้าว ห้วยขวาง และวังทองหลาง
            3.ริมคลองสอง ในเขตสายไหม และบางเขน
            4.คลองถนน ในเขตบางเขน และหลักสี่
            5.คลองบางบัว ในเขตบางเขน หลักสี่ และจตุจักร

ส่วนด้านศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย กทม.  สรุปสถานการณ์น้ำประจำวันปริมาณน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยา และบริเวณพระรามหก ขณะนี้มีปริมาณน้ำ 3,281 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ลดลงจากเมื่อวาน 28 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

ภาพรวมสถานการณ์น้ำ ในคลองต่าง ๆ

            ระดับน้ำคลองหกวาสายล่าง วัดระดับน้ำที่ประตูระบายน้ำคลองสอง เขตสายไหม ใน 6 ชั่วโมงที่ผ่านมา ระดับน้ำทรงตัว
            ระดับฝั่งธนบุรี ระดับน้ำที่ประตูระบายน้ำทวีวัฒนา (คลองมหาสวัสดิ์ ศาลายา) 6 ชั่วโมงที่ผ่านมา ระดับน้ำเพิ่มขึ้น 1 เซนติเมตร
            ระดับน้ำคลองเปรมประชากร ช่วงสน.ดอนเมือง (ตรงข้ามทางเข้าฐานทัพอากาศ) ระดับสูงล้นตลิ่ง ระดับน้ำทรงตัว
            ระดับน้ำคลองเปรมประชากร ช่วงวัดเทวสุนทร ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 26 เซนติเมตร  คลองบางซื่อ ช่วงถนนพหลโยธิน ระดับวิกฤติ (ระดับเท่ากับตลิ่ง)
            คลองบางพรหม ช่วงถนนกาญจนาภิเษก ระดับวิกฤติ (ระดับน้ำล้นตลิ่ง) คลองบางพรหม ช่วงถนนพุทธมณฑล สาย 3 ระดับวิกฤติ (ระดับน้ำเท่ากับตลิ่ง)
            คลองบางแวก ช่วงพุทธมณฑล สาย 1 เขตบางแค ระดับเตือนภัย (ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 16 เซนติเมตร )
            คลองลาดพร้าว ช่วงวัดลาดพร้าว เขตลาดพร้าว ระดับวิกฤติ (ระดับน้ำเท่ากับตลิ่ง)
            คลองรังสิตประยูรศักดิ์ ช่วงคลองสาม สูงขึ้น 0.7 เซนติเมตร

สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมขังในพื้นที่กรุงเทพฯ ได้แก่ ...

            น้ำท่วมขัง ในพื้นที่เขตดอนเมือง เนื่องจากมีปริมาณน้ำไหลเข้าสู่คลองเปรมประชากร ทำให้ระดับน้ำในคลองเปรมประชากรสูงจนล้นตลิ่ง และมีน้ำล้นแนวคันกั้นน้ำจากคลองรังสิตด้านถนนพหลโยธิน
            น้ำท่วมขัง ในพื้นที่เขตสายไหม เนื่องจากมีปริมาณน้ำไหลเข้าสู่คลองสอง (คลองถนน) และคลองพระยาสุเรนทร์ ทำให้ระดับน้ำในคลองสูงจนล้นตลิ่ง
            น้ำท่วมขัง ในพื้นที่เขตบางพลัด เนื่องจากมีน้ำล้นจาก อ.บางกรวย จ.นนทบุรี และมีปัญหาแนวคันกั้นน้ำของเอกชนริมแม่น้ำเจ้าพระยา ชำรุดเสียหาย (ดำเนินการแก้ไขแล้ว)
            น้ำท่วมขัง ในพื้นที่เขตทวีวัฒนา เนื่องจากแนวป้องกันน้ำท่วมชั่วคราว (กระสอบทราย) บริเวณวัดปุรณวาส และคันกั้นน้ำคลองมหาสวัสดิ์ ช่วงคลองขุนศรีบุรีรักษ์ ซึ่งเป็นของเอกชนชำรุดเสียหาย อยู่ระหว่างการดำเนินการแก้ไข
            น้ำท่วมขัง ถ.พหลโยธิน ตั้งแต่อนุสรณ์สถาน-สะพานใหม่ ทั้งสองฝั่ง
            น้ำท่วมขัง ถ.วิภาวดี ช่วงรังสิต-แยกหลักสี่ ทั้งสองฝั่ง
            น้ำท่วมขัง ถ.สรงประภา ตลอดสาย ทั้งสองฝั่ง
            น้ำท่วมขัง ถ.กำแพงเพชร 6 (โลคัลโรด) ตั้งแต่แฟลตทุ่งสองห้อง - เมืองเอก ทั้งสองฝั่ง
            น้ำท่วมขัง ถ.สายไหม ตั้งแต่วัดหนองใหญ่ ถึง ซ.เพิ่มสิน
            น้ำท่วมขัง ถ.สุขาภิบาล 5 เขตสายไหม ตลอดสาย
            น้ำท่วมขัง ถ.แจ้งวัฒนะ เป็นช่วง ๆ ใกล้คลองประปา
            น้ำท่วมขัง ถ.สิรินธร ช่วงหน้าหน่วยงานกรมทางหลวง - ปากซอยรุ่งประชา เต็มผิวจราจร
            น้ำท่วมขัง เชิงสะพานปิ่นเกล้า - หน้าห้างพาต้า เต็มผิวจราจร
            น้ำท่วมขัง ถ.อรุณอัมรินทร์ จากแยกอรุณอัมรินทร์-แยกศิริราช
            น้ำท่วมขัง ถนนจรัญสนิทวงศ์ ช่วงซอยจรัญสนิทวงศ์ 41 - 45 เต็มผิวจราจร
            น้ำท่วมขัง ถ.บรมราชชนนี แยกพุทธมณฑลสาย 3 ถึงตลาดพุทธมณฑล สูง 10 ซม.
            น้ำท่วมขัง ถ.บรมราชชนนี แยกพุทธมณฑลสาย 2 ถึงแยกพุทธมณฑลสาย 3 สูง 50 ซม.
            น้ำท่วมขัง ถ.ศาลาธรรมสพน์ หมู่บ้านอมรชัย ถึงแยกพุทธมณฑลสาย 3 สูง 50 ซม.
            น้ำท่วมขัง อุโมงค์บางพลัด ปิดการจราจรแล้ว
            น้ำท่วมขัง ถ.ทรงวาด ตลอดสาย
            กรณีแนวคันกั้นน้ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา ในซ.จรัญสนิทวงศ์ 80 ของเอกชนที่ชำรุด เจ้าหน้าที่สำนักการระบายน้ำ ดำเนินการซ่อมแก้ไขแนวป้องกันเสร็จเรียบร้อยแล้ว
            กรณีแนวกำแพงบ้านเรือนประชาชนริมคลองพระโขนงบริเวณสมาคมหิมะทองคำ เจ้าหน้าที่สำนักการระบายน้ำ ดำเนินการซ่อมแก้ไขเสร็จเรียบร้อยแล้ว
            กรณีแนวป้องกันน้ำท่วมริมคลองมหาสวัสดิ์ชำรุดเสียหาย อยู่ระหว่างการดำเนินการแก้ไข


  ผู้ว่าฯ กทม. ย้ำเร่งผันขอ 50 เขต ไม่ประมาท


           ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร รับ 2 วันที่ผ่านมา น้ำสูง สถานการณ์เปลี่ยนแปลงได้ตลอดเป็นไปได้น้ำเหนือหมดแล้ว ย้ำเร่งระบายน้ำทั้งตะวันออก-ตะวันตก ขอทหารคุ้มกัน ซ่อมประตูน้ำริมถนนพหลโยธิน จ.ปทุมธานี

           ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยในรายการเปิดข่าวเด่นเจาะประเด็นดัง FM 102.75 MHz สถานการณ์น้ำกรุงเทพมหานครว่า ในช่วง 2 วันที่ผ่านมา ปริมาณน้ำสูงสถานการณ์น้ำอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา และปริมาณน้ำได้แผ่เข้ามาในกรุงเทพมหานครเป็นบริเวณกว้าง ขณะที่มองว่า ภาพรวมมีความเป็นไปได้ที่น้ำทางเหนือใกล้หมดแล้ว ดูจากน้ำขณะนี้มาในลักษณะแผ่แบบนิ่งไม่ใช่การทะลัก เหมือนช่วงต้นสัปดาห์ แต่ 50 เขต ไม่ประมาท ยังคงเตรียมความพร้อม ส่วนการระบายน้ำของกรุงเทพมหานคร มีการเปิดประตูระบายน้ำ และสถานีสูบน้ำอยู่ตลอดเวลา อาทิโรงสูบน้ำบางเขน และยังมีการระบายออกตามธรรมชาติ ทั้งทางตะวันออกและตะวันตก

           ส่วนปัญหาความขัดแย้งของมวลชนเรื่องคันกั้นน้ำ ได้มีพยายามในการเจรจาอยู่ตลอด รวมถึงการซ่อมแซมคันกั้นน้ำที่ไม่อยู่ในความรับผิดชอบของกรุงเทพมหานคร ทั้งนี้หากต้องการให้ กทม.เข้าไปซ่อมแซมประตูน้ำริมถนนพหลโยธิน จ.ปทุมธานี จะต้องขอให้หน่วยงานด้านความมั่นคงเข้ามาดูแล



อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
,
ศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย กรุงเทพมหานคร




น้ำท่วมกรุงเทพ 2554



[30 ตุลาคม] ผู้ว่าฯ กทม.แถลงเตือนตลิ่งชันหลักสี่อพยพ

          ผู้ว่าฯ กทม. ประกาศ ตลิ่งชัน - หลักสี่ ยกเขต เป็นพื้นที่ต้องอพยพ พร้อมแจงสถานการณ์น้ำเริ่มนิ่ง แสดงว่าพลังน้ำเหนือลดลง

          ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แถลงถึงสถานการณ์น้ำท่วม ว่า ได้ประกาศให้ประชาชนทั้งหมดในเขตตลิ่งชัน และเขตหลักสี่ เคลื่อนย้ายไปศูนย์พักพิงเพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน พร้อมทั้งให้คนริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา และคลองมหาสวัสดิ์ ติดตามน้ำอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ ในเวลาต่อไป ปริมาณน้ำจะมีมากขึ้น และขยายตัวไปในพื้นที่อื่นอีก แต่จะนิ่งกว่าเดิม ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีว่า พลังน้ำเหนือลดลง

กทม.เร่งระบายน้ำฝั่งตะวันออกลงสู่ทะเล

          กทม.เตรียมรื้อประตูระบายตามคลองในเขตหนองจอกเพิ่มขึ้น เพื่อระบายน้ำจากฝั่งตะวันออกของ กทม. ได้มากกว่า วันละ 10 ล้าน ลบ.ม.

          นายธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงแนวทางการระบายน้ำในพื้นที่กทม.ว่า หลังจากวานนี้ กทม.ได้มีการรื้อประตูระบายน้ำคลอง10, 11 และ 12 ที่อยู่ในเขตพื้นที่หนองจอกเพื่อให้น้ำที่ไหลมาจากคลองรังสิต จ.ปทุมธานี ในพื้นที่ฝั่งตะวันออกไหลลงสู่ทะเลได้เร็วขึ้น โดยมีความร่วมมือกับทางกทม.และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งกรมชลประทาน ได้นำเครื่องสูบน้ำมาติดตั้งเพิ่มเติมที่บริเวณคลองหกวาเป็น 14 เครื่อง

          ล่าสุด เตรียมที่จะรื้อประตูระบายน้ำเพิ่มที่คลอง 9, 13 และ 14 เพิ่มเติม นอกจากนี้ยังได้เพิ่มเครื่องสูบน้ำที่คลองหกวาอีก 3 เครื่อง โดยน้ำที่ระบายลงสู่คลองแสนแสบเข้าสู่ระบบสูบน้ำของกทม. ระบายออกสู่แม่น้ำบางปะกงในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถผันน้ำได้มากกว่าวันละ 10 ล้านลูกบากศ์เมตร และหากน้ำจากฝั่งตะวันออกลดลงในระดับที่น่าพอใจ กทม.ก็มีแนวคิดที่จะผันน้ำจากทางด้านเหนือของกทม. ให้ไหลลงสู่ทางด้านฝั่งตะวันออกด้วย

น้ำคลองประปาทะลักเข้าท่วมสี่แยกพงษ์เพชร 

          คลองประปาล้นทะลักท่วมสี่แยกพงษ์เพชร ไหลเข้าหมู่บ้านจัดสรรหลายแห่ง ปิดการจราจรไปแล้ว 2 เลน

          ขณะนี้ น้ำในคลองประปาล้นทะลักออกมาท่วมบริเวณสี่แยกพงษ์เพชร ส่งผลให้ ถ.งามวงศ์วานขาเข้าจากแยกพงษ์เพชร ซอยชินเขต ถึงสะพานข้ามคลองพัดโบก น้ำท่วมสูง 2 เลนซ้าย ผ่านได้แค่เลนขวา และน้ำได้ไหลเข้าไปในหมู่บ้านจัดสรรหลายแห่งแล้ว ไม่ว่าจะเป็น หมู่บ้านพงษ์เพชร หมู่บ้านชินเขต

          ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่การประปานครหลวง (กปน.) ได้ดำเนินการเจาะพนังคอนกรีตบริเวณริมคลองประปา ช่วงตัดกับคลองบางเขน ใกล้กับแยกพงษ์เพชร ให้แตกออก เพื่อระบายน้ำจากคลองประปาลงสู่คลองบางเขน อีกทั้งเจ้าหน้าที่ได้ติดตั้งท่อพีวีซีเพื่อระบายน้ำด้วย ซึ่งหากน้ำต่ำกว่าพนังคอนกรีตที่เจาะ ก็จะใช้ท่อสูบน้ำออกจากคลองประปา เพื่อให้ปริมาณน้ำในคลองประปาลดลงเร็วที่สุด

น้ำท่วมถ.แจ้งวัฒนะน่าห่วง-จราจรติดขัด 

          สถานการณ์น้ำท่วมบริเวณถนนแจ้งวัฒนะ ขณะนี้ยังน่าเป็นห่วง ขณะการจราจรยังคงติดขัด

          สถานการณ์น้ำท่วมบริเวณถนนแจ้งวัฒนะ ขณะนี้ยังน่าเป็นห่วง ภายหลังเกิดปัญหาประชาชนรื้อคันกั้นน้ำบริเวณวัดนาวง ดอนเมือง ส่งผลให้น้ำได้ทะลักเข้ามาในคลองประปา ล้นออกสู่ถนนแจ้งวัฒนะ จนทำให้มีน้ำท่วมตั้งแต่บริเวณสี่แยกสะพานข้ามคลองประปาต่อเนื่องถึงด้านหน้าโรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ โดยน้ำที่เข้าท่วมขังสูงประมาณ 70 เซนติเมตร ขณะที่ซอยแจ้งวัฒนะ 14 บริเวณหน้าปากซอยก็มีน้ำท่วมขังสูง 70 เซนติเมตรเช่นกัน โดยรถเล็กสามารถวิ่งได้เพียงเลนเดียว

          ในขณะฝั่งกองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ และถนนแจ้งวัฒนะ ตั้งแต่แยกคลองประปาถึงหน้าศูนย์ราชการ ก็มีน้ำท่วมสูงกว่า 50 เซนติเมตร บางจุดน้ำทะลักขึ้นจากท่อระบายน้ำ ส่วนถนนเลียบคลองประปา ชจากถนนแจ้งวัฒนะมุ่งหน้าถนนงามวงศ์วาน รถยังสามารถสัญจรได้

          ส่วนการจราจรบนถนนแจ้งวัฒนะในช่วงสะพานข้ามศูนย์ราชการและสะพานข้ามคลองประปายังคงติดขัด เนื่องจากประชาชนได้นำรถยนต์ส่วนตัวไปจอดบนสะพานข้ามแยกศูนย์ราชการ และสะพานข้ามแยกคลองประปา 2 ช่องจราจร ทำให้รถใช้ได้เพียง 1 ช่องจราจรเท่านั้น

บางระมาด น้ำเข้าท่วมพื้นที่ 100 % แล้ว

         ประธานตลาดน้ำคลองลัดมะยม ระบุน้ำเข้าท่วมแขวงบางระมาด หนึ่งในพื้นที่ที่กทม. เตือนให้อพยพแล้วเกือบ 100 %

          นายชวน ชูจันทร์ ประธานประชาคมตลาดน้ำคลองลัดมะยม แขวงบางระมาด เขตตลิ่งชัน เปิดเผยสำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น. ว่า ขณะนี้ น้ำจากคลองมหาสวัสดิ์ ที่ล้นคั้นกั้นน้ำ ไหลทะลักมาทางคลองทวีวัฒนา ได้ไหลเข้าท่วมพื้นที่ในแขวงบางระมาด เกือบ 100 % แล้ว โดยมีความสูงของน้ำประมาณ 30 เซนติเมตร และปริมาณน้ำยังคงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในส่วนของตลาดน้ำคลองลัดมะยม หนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของเขตตลิ่งชั่น ได้ปิดการให้บริการลงชั่วคราวแล้ว เพราะรถไม่สามารถสัญจรได้ และคาดว่าน่าจะใช้เวลาประมาณ10 วัน น้ำจะลด ทำให้สถานการณ์ถึงกลับมาสู่ภาวะปคติ

          ส่วนกรณีที่ทาง กทม. ประกาศให้ แขวงบางระมาด เป็นหนึ่งในพื้นที่เตรียมอพยพนั้น นายชวน ระบุว่า ชาวบ้านชายคลองส่วนมากจะไม่มีใครอพยพ เพราะคุ้นเคยกับภาวะน้ำท่วมเป็นประจำอยู่ทุกปีอยู่แล้ว แต่ประชาชนที่อยู่นอกเหนือริมคลอง หรืออยู่หมู่บ้านจัดสรร ก็มีการเตรียมการในการอพยพยบางส่วนแล้ว

น้ำท่วม

กทม.ให้ชาวบ้านตลิ่งชัน ฉิมพลี บางระมาด พร้อมอพยพ
เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

          ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เผยน้ำเจ้าพระยาทุบสถิติสูงสุด 2.53 เมตร ริมสองฝั่งได้รับผลกระทบน้ำเอ่อล้น เตือนประชาชนแขวงตลิ่งชัน ฉิมพลี บางระมาด พร้อมอพยพ ประสาน ศปภ. สกัดน้ำคลองรังสิต

          ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แถลงความคืบหน้าล่าสุด โดยระบุว่า ขณะนี้ระดับน้ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา สูงกว่าทุกวันที่ผ่านมา ที่ระดับ 2.53 เมตร ริมสองฝั่งได้รับผลกระทบน้ำเอ่อล้น และยังต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด โดยล่าสุดได้มีการประกาศให้ประชาชนในแขวงฉิมพลี แขวงตลิ่งชัน แขวงบางระมาด เขตตลิ่งชัน เตรียมความพร้อม ที่จะอพยพเนื่องจากระดับน้ำท่วมสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

          โดย กทม. ขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่แขวงฉิมพลี ถ.สวนผัก ตั้งแต่ริมทางรถไฟ ถึง ถ.กาญจนาภิเษก ด้าน ถ.บรมราชชนนีฝั่งขาเข้า จำนวน 2 ชุมชน ได้แก่ ชุมชนหมู่บ้าน 2521 และชุมชนหมู่บ้านพัฒนา หมู่ 7 ฉิมพลี

          อีกทั้งแขวงตลิ่งชัน ตั้งแต่ ถ.สวนผัก ซ.36 ถึงริมทางรถไฟ และชุมชนหลังวัดไก่เตี้ย รวมถึงแขวงบางระมาด เฉพาะชุมชนวัดมะกอก เขตตลิ่งชัน ขนย้ายสิ่งของทรัพย์สินมีค่า รถยนต์ ปลั๊กไฟฟ้าขึ้นที่สูง และให้ผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่จะก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สิน เคลื่อนย้ายไปยังศูนย์พักพิงที่ กทม. จัดเตรียมไว้ หรือสถานที่ที่มีความปลอดภัย โดยให้เคลื่อนย้ายผู้ป่วย เด็ก สตรีมีครรภ์ และคนชรา เป็นลำดับแรก พร้อมกันนี้ ขอให้ประชาชนเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์จาก กทม. อย่างใกล้ชิด

          นอกจากนี้ ประชาชนที่อาศัยอยู่ริมคลองลาดพร้าว จตุจักร บางเขน หลักสี่ คลองเปรม ทั้ง 2 ฝั่ง ให้เฝ้าระวังและเตรียมพร้อมอพยพออกจากพื้นที่ ส่วนแนวทางการแก้ไขปัญหา เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำท่วม กทม. ชั้นในเพิ่มไปอีกนั้น ทาง กทม. ได้ทำหนังสือไปยัง ศปภ. ให้สกัดกั้นน้ำที่ไหลมาจากคลองรังสิตประยูรศักดิ์ ที่ถนนพหลโยธิน ตัดคลองรังสิต โดยในส่วนของ กทม. พร้อมสนับสนุนในส่วนของบุคลากรและเครื่องมือย่างเต็มที่

          อย่างไรก็ตาม ในส่วนของปัญหาที่พบจากน้ำท่วมขัง มี 2 ปัญหาหลัก คือ

          1. เรื่องขยะ ซึ่ง กทม. พยายามเก็บให้ดีที่สุด แต่เข้าไปในพื้นที่ได้ไม่หมด โดยเมื่อวานได้ส่งรถไปเขตบางพลัด ปรากฏว่ารถเสียไป 4 คัน ต้องใช้เรือ แต่ก็มีข้อจำกัดในการใช้เรือเก็บขยะ

          2. เรื่องน้ำเสีย กทม. จะใช้จุลินทรีย์ อีเอ็ม ไปทิ้งที่บริเวณต้นน้ำก่อนเข้ามา กทม. ในจุดที่มีน้ำท่วมขังมานาน เช่น บางพลัด และดอนเมือง

          นอกจากนี้ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ กล่าวว่า น้ำทะเลหนุนสูงสุดเวลา 10.21 น. ที่ระดับ 1.30 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ขณะที่ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่ปากคลองตลาด จะสูงสุดที่ระดับ 2.53 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ทำให้พื้นที่ทรงวาด และสามเสน 21 และ 23 ได้รับผลกระทบจากระดับน้ำเจ้าพระยา

          ส่วนปริมาณน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยา และพระราม 6 รวม 3,254 ลบ.ม.ต่อวินาที ลดลงจากเมื่อวาน 27 ลบ.ม.ต่อวินาที ขณะที่ปริมาณน้ำผ่าน อ.บางไทร ไม่สามารถตรวจวัดได้ เนื่องจากระดับน้ำสูงเกินค่าตลิ่ง โดยระดับน้ำที่ อ.บางไทร สูง 4.11 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ลดลงจากเมื่อวาน 3 เซนติเมตร ขณะที่ระดับน้ำในคลองหกวาสายล่าง และระดับน้ำที่ประตูระบายน้ำคลองทวีวัฒนา สูงเพิ่มขึ้นอีก 8 เซนติเมตร ส่วนคลองเปรมประชากรในพื้นที่เขตจตุจักร เพิ่มขึ้นอีก 10 เซนติเมตร

กทม.เตือนชาวบ้านริม 5 คลองชั้นใน เฝ้าระวังพิเศษ

           กทม.เตือนชาวบ้านที่อยู่ติดริมคลอง 5 แห่งในกรุงเทพฯ ชั้นใน เฝ้าระวังน้ำล้นจากคลอง

           เมื่อเวลา 21.30 น. ของวันที่ 29 ตุลาคม ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้แถลงสรุปสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพมหานครว่า ขอให้ประชาชนที่พักอาศัยอยู่ริมคลองต่าง ๆ เฝ้าระวังระดับน้ำที่จะสูงขึ้น โดยสถานการณ์ยังค่อนข้างน่าเป็นห่วง

           พร้อมกันนี้ ผู้ว่าฯ กทม. ยังได้ประกาศเตือนประชาชนที่อยู่ริมคลอง 5 แห่งต่อไปนี้ ให้เฝ้าระวังเป็นพิเศษ โดยให้ยกข้าวของขึ้นที่สูง และเตรียมตัวให้พร้อมอพยพออกไปยังศูนย์พักพิง นอกจากนี้ยังต้องเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยพื้นที่ริมคลองทั้ง 5 แห่ง ประกอบด้วย

             1.คลองสอง บริเวณเขตสายไหม/บางเขน
             2.คลองถนน บริเวณเขตบางเขน/หลักสี่
             3.คลองบางบัว บริเวณเขตบางเขน/หลักสี่/จตุจักร
             4. คลองลาดพร้าว บริเวณเขตจตุจักร/ลาดพร้าว/ห้วยขวาง/วังทองหลาง
             5. คลองเปรมประชากร บริเวณเขตดอนเมือง/หลักสี่/จตุจักร

           ทั้งนี้ ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ ยังย้ำว่า การประกาศดังกล่าวหมายถึง "เฉพาะพื้นที่ที่ติดริมคลองเท่านั้น" ไม่ใช่ทั้งเขตแต่อย่างใด พร้อมกับขอให้ประชาชนติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด


อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก



น้ำท่วม





[29 ตุลาคม] เผยชื่อ 7 คลองเฝ้าระวัง น้ำจ่อล้นตลิ่ง

สรุปประเด็นข่าวโดยกระปุกดอทคอม

          น้ำจากคลองลาดพร้าว เอ่อขึ้นมาบริเวณ จุดกลับรถเกษตรนวมินทร์ ระดับ 15 ซ.ม. ยาว 30 ม. ขณะบางเขน ระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วน ออเงิน สายไหม ระดับน้ำท่วม 40 ซ.ม. เผย 7 คลองเฝ้าระวัง

          เมื่อเวลา 00.15 น. นายบพิธ แสงแก้ว ผู้อำนวยการสำนักงานเขตลาดพร้าว กล่าวถึงสถานการณ์ล่าสุด กรณีน้ำจากคลองลาดพร้าว ได้เอ่อล้นตลิ่งเป็นที่สนใจของประชาชนที่อยู่ในบริเวณดังกล่าว ว่า ขณะนี้ น้ำจากคลองลาดพร้าว ได้เอ่อขึ้นมาบริเวณจุดกลับรถ เกษตรนวมินทร์ ระดับน้ำอยู่ที่ 15 เซนติเมตร ความยาว 30 เมตร ส่วนระดับน้ำภายในคลองลาดพร้าวนั้น จากการรายงานพบว่า เพิ่มขึ้นจากเมื่อช่วงเย็น 20 เซนติเมตร ซึ่งก็จะต้องมีการเฝ้าระวังอย่างเต็มที่ โดยที่ผ่านมาทางสำนักงานเขต ก็ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ออกตรวจระดับน้ำทั้งกลางวันและกลางคืนอยู่ตลอดเวลา

          ขณะที่สถานการณ์น้ำท่วมที่บริเวณถนนพหลโยธิน ฝั่งขาเข้า เขตบางเขน ขณะนี้ น้ำได้ไหลเข้าใกล้ยังบริเวณหน้าอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญแล้ว โดยระดับน้ำอยู่ที่ 50-60 เซนติเมตร ส่วนสถานการณ์น้ำท่วมที่แขวงท่าแร้งนั้น พบว่า ถนนมีน้ำท่วมขังอยู่ประมาณ 60-70% โดยบางหมู่บ้านในพื้นที่ก็ถูกน้ำท่วมบ้างแล้ว เนื่องจากระดับพื้นดินต่างกันกับพื้นถนน ขณะที่บริเวณโดยรอบมหาวิทยาลัยเกษตรศาตร์นั้น ก็มีน้ำท่วมขังเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ระดับน้ำได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประชาชนในเขตบางเขน ต่างออกมาเฝ้าดูสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง

          ส่วนสถานการณ์น้ำ บริเวณถนนวัชรพล ถนนออเงิน ไปถนนสายไหม และถนนสุขาภิบาล 5 น้ำท่วมตลอดเส้นทาง ระดับ 20-40 เซนติเมตร ส่วนถนนสายไหมนั้นมีน้ำท่วมบางจุด รถเล็กไม่ควรผ่าน ขณะที่ซอยอรุณอัมรินทร์ 53 น้ำท่วมสูงระดับหัวเข่า ชุมชนด้านใน น้ำได้ไหลทะลักเข้าท่วม และเริ่มปริ่มเข้าพระราม 8 ทางด้านหลังแล้ว

          ขณะที่สำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร เปิดเผยข้อมูลระดับน้ำในคลองกรุงเทพมหานคร วัดระดับเช้าวันนี้พบว่า มี 7 คลองที่ระดับน้ำไม่ปกติ อยู่ในสถานะเฝ้าระวัง ได้แก่

          คลองบางพรหม ถนนกาญจนาภิเษก น้ำท่วมตลิ่งทั้ง 2 ฝั่ง
          คลองบางพรหม ถนนพุทธมณฑล สาย 3 น้ำท่วมตลิ่งขวา
          คลองบางซื่อ ถนนพหลโยธิน น้ำท่วมตลิ่งขวา
          คลองบางแวก ถนนพุทธมณฑล สาย 1 วัดไชยฉิมพลี น้ำท่วมตลิ่ง
          คลองเปรมประชากร ทั้งดอนเมือง และวัดเทวสุนทร น้ำท่วมตลิ่ง ทั้ง 2 ฝั่ง
          คลองลาดพร้าว วัดลาดพร้าว น้ำท่วมตลิ่งขวา


  เตือน วังทองหลาง จตุจักร ลาดพร้าวเฝ้าระวังพิเศษ

          ผู้ว่าฯ กทม. สรุปสถานการณ์น้ำ เจ้าพระยาสูง 2.48 ม. ประกาศเตือน วังทองหลาง-ลาดพร้าว- จตุจักร เฝ้าระวังพิเศษ ส่วน บางพลัด น้ำยังสูงขึ้นต่อเนื่อง

          ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวสรุปสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ว่า เมื่อช่วงเช้าน้ำทะเลหนุนสูง ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา สูงถึง 2.48 ม. ซึ่งจากการที่น้ำทะเลหนุนสูงดังกล่าว ยังไม่ส่งผลกระทบในพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มเติม

          ส่วนปัญหาน้ำท่วมในเขตบางเขน ส่วนใหญ่ยังคงทรงตัว ขณะนี้ เริ่มมีสัญญาณเตือนว่าในพื้นที่เขตลาดพร้าว จตุจักร วังทองหลาง กำลังจะมีปัญหาน้ำเริ่มเข้ามาในพื้นที่ ซึ่งใน 3 เขต ดังกล่าว กรุงเทพมานคร ได้ประกาศให้เป็นพื้นที่เฝ้าระวังเป็นพิเศษแล้ว

          ส่วนพื้นที่เขตบางพลัด วันนี้ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นจำนวนมาก ประชาชนในพื้นที่มีความกังวลเรื่องขยะกองใหญ่ ทางกรุงเทพมหานคร จึงได้สั่งการให้สำนักสิ่งแวดล้อมร่วมกับสำนักงานเขตบางพลัด เร่งเข้าไปดำเนินการเก็บขยะโดยทางเรือ ซึ่งจะพยายามเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จในวันนี้ (29 ตุลาคม)











[28 ตุลาคม] กทม.แถลงน้ำเหนือเข้าบางเขน-ทวีวัฒนาจับตา

กทม.แถลงน้ำเหนือเข้าบางเขน-ทวีวัฒนาจับตา (ไอเอ็นเอ็น)
 
 
           ผู้ว่าฯ กทม. เผยยังไม่ประกาศอพยพ เขตทวีวัฒนา แต่ให้ประชาชน เตรียมพร้อมตลอดเวลา ระบุ ยังไม่มีการประสาน ศปภ. เรื่องเจาะถนน แนะคิดให้รอบคอบ

           วันนี้ (28 ตุลาคม) ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงสถานการณ์น้ำในพื้นที่ว่า ขณะนี้มวลน้ำเหนือเข้ามาถึงพื้นที่ เขตบางเขนแล้ว ซึ่งทางกรุงเทพมหานคร จะเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพราะเขตบางเขน เป็น 1 ใน 7 เขตเฝ้าระวังเป็นพิเศษ ส่วนในพื้นที่แขวงทวีวัฒนา เขตทวีวัฒนา ทางผู้บริหารกรุงเทพมหานคร มีการประชุมหารือกันได้ข้อสรุปว่า วันนี้จะยังไม่มีการประกาศให้เป็นพื้นที่อพยพ เพราะขอรอกู้พื้นที่บริเวณวัดปุรณาวาส ซึ่งเป็นพื้นที่ฟันหลอ โดยการนำแผ่นชีทไพล์ (Sheet Pile) ยาว 12 เมตร จำนวน 180 แผ่น เข้าไปอุดพื้นที่ฟันหลอดังกล่าว แต่ก็ขอให้ประชาชนในพื้นที่เฝ้าระวังเป็นพิเศษ และเตรียมพร้อมอพยพได้ทุกเมื่อ

           ส่วนกรณีที่ ศปภ. จะเจาะถนนเพื่อระบายน้ำลงสู่ทะเล ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ระบุว่า ยังไม่มีการประสานมาทางกรุงเทพมหานคร แต่แนะนำว่า หากจะทำอะไรกับกรุงเทพมหานคร ควรจะแจ้งเจ้าของพื้นที่ได้รับทราบบ้างก็ดี และหากทำอะไร ก็ควรมองให้รอบคอบ ไม่สร้างความเดือดร้อน ซ้ำเติมประชาชนในพื้นที่ประสบอุทกภัยเพิ่มเข้าไปอีก






 ศปภ.ขอปชช.เตรียมพร้อมอพยพ 

          โฆษก ศปภ. แถลงวางแผนเตรียมพร้อมสูงสุด อพยพ คน กทม. เพื่อไม่ประมาท คาดน้ำอาจสูงสุดถึง 1.50 เมตร


          นายธงทอง จันทราศุ โฆษกศูนย์ปฏิบัติช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย หรือ ศปภ. แถลงผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ ว่า กรณีที่นักวิชาการตั้งสมมุติฐานที่รุนแรงที่สุดคือ น้ำอาจท่วม กทม.สูงสุด 1.50 เมตร และท่วมขังอยู่นานนั้น ทาง ศปภ. เตรียมความพร้อมสูงสุด รองรับสถานการณ์เพื่อความไม่ประมาท โดยประสานทุกหน่วยงาน และกองทัพไทยให้เตรียมการอพยพประชาชนไปต่างจังหวัด 9 จังหวัด อาทิ กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ ฯลฯ โดยที่จะอยู่ในค่ายทหาร ส่วนราชการ และสถานศึกษา สำหรับขั้นตอนการอพยพนั้น ให้ชุมชนประชุมหารือกำหนดจุดรวมพลที่ริมถนนใหญ่ สังเกตง่าย ทั้งนี้ในกรณีใกล้เวลาคับขัน ราชการจะแจ้งเตือนให้เฝ้าระวังพิเศษผ่านสื่อสาธารณะ โดยจะได้ประมาณการระยะเวลาที่น้ำอาจท่วมขังใน กทม. ซึ่งกรณีเลวร้ายที่สุด คือ 15 วัน ถึง 1 เดือน

          โฆษก ศปภ.ยังกล่าวถึงสถานการณ์น้ำใน กทม.วันนี้ว่า ใกล้เคียงกับเมื่อวาน แต่สูงขึ้นเล็กน้อยที่ริมเจ้าพระยา ทั้งในฝั่งพระนคร และธนบุรี รวมถึงตามแนวถนนวิภาวดีรังสิต และถนนพหลโยธิน สำหรับถนนวิภาวดีรังสิต น้ำถึง แยกหลักสี่ ส่วนพหลโยธิน มาถึงบริเวณบิ๊กซีสะพานใหม่ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังดำเนินการอย่างเต็มที่ ระบายน้ำลงอ่าวไทยให้เร็วและมากที่สุด ใช้ทั้งเส้นทางทั้งตะวันออก และตะวันตก แต่เพราะน้ำทะเลหนุน จึงยังไม่ได้ผลรวดเร็วตามที่คาด โดยจะเร่งรัดเข้มงวดให้มากขึ้น








[27 ตุลาคม] กทม.ทำแนวกระสอบทราย ถ.นิมิตรใหม่


น้ำท่วม



         ผกก.สน.นิมิตรใหม่ เผย กทม. เร่งก่อกำแพง ถ.นิมิตรใหม่ ป้องกทม. แนวคันกั้นน้ำเต็มที่ ด้าน ผอ.คลองสามวา รับมีปัญหนักแน่

         พ.ต.อ.สมควร พึ่งทรัพย์ ผกก.สน.นิมิตรใหม่ เปิดเผย ไอ.เอ็น.เอ็น.ว่า ขณะนี้ทาง กทม. ได้เร่งทำคันกั้นน้ำตามแนวถนนนิมิตรใหม่เกือบทั้งเส้นทาง ตั้งแต่สามแยกหทัยราษฎร์ ไปจนถึงถนนสุวินทวงศ์ เพื่อทำคันกั้นน้ำที่ไหลมาจากเขตองลำลูกกา และธัญบุรี ซึ่งคาดว่าจะมาถึงเร็ว ๆ นี้ และป้องกันไม่ให้เข้าเขตคันกั้นน้ำของ กทม. ซึ่งขณะนี้มีประชาชนที่อาศัยในละแวกนั้น นำรถยนต์มาจอดหนีน้ำ ริมถนนนิมิตรใหม่ เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งทางตำรวจจะผ่อนผันให้จอดได้ แต่ขอให้ประชาชนล็อกรถให้ดี หลังมีโจรขโมยรถยนต์มามากขึ้น

         ส่วน นายนราธิป ภัทรวิมล ผอ.เขตคลองสามวา กล่าวสั้น ๆ ว่า สถานการณ์น้ำในพื้นที่ขณะนี้ถือว่าหนักมาก กำลังเร่งแก้ปัญหาในพื้นที่อยู่







เจ้าพระยาระดับน้ำสูงระนาบเดียวกับคันกั้นน้ำ (ไอเอ็นเอ็น)
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก ครอบครัวข่าว 3

           ระดับน้ำเจ้าพระยา ฝั่งธนฯ ยังสูงเป็นแนวเดียวกับคันกั้นน้ำ - ใต้สะพานพระปิ่นเกล้า ทำให้เอ่อล้นท่วมถนน รถเล็กไม่สามารถสัญจรผ่านได้

           สถานการณ์ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ในช่วงเช้าวันนี้ (27 ตุลาคม) ระดับน้ำยังคงอยู่ในระดับสูง โดยในส่วนของฝั่งธนบุรี ระดับน้ำยังทรง สูงเป็นแนวเดียวกับคันกั้นน้ำ ทำให้เอ่อเข้าท่วมถนนใกล้สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า รถขนาดเล็กไม่สามารถสัญจรได้ ซึ่งระดับน้ำที่เข้าท่วมถนนนั้น ทุกส่วนมีระดับน้ำที่เพิ่มสูงขึ้นจากเมื่อวานที่ผ่านมา

           ขณะที่ระดับน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาที่ไหลผ่านบริเวณสะพานพุทธ สูงกว่า 2.55 เมตร ดังนั้นจึงมีการแจ้งเตือนประชาชนริมแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณสะพานพุทธ ต้องเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง

          นอกจากนี้ แรงดันน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้พื้นตลาดยอดพิมาน ในส่วนอาคารเก่าติดแม่น้ำ เกิดปริแตกเป็นทางยาวและมีน้ำรั่วซึมขึ้นมา ซึ่งพ่อค้าแม่ค้ากังวลว่า หากแม่น้ำเจ้าพระยาอยู่ในระดับสูงกว่านี้อาจทำให้พื้นระเบิดออก และสร้างความเสียหายให้กับชาวยอดพิมานได้


ตลาดยอดพิมาน สะพานพุทธ


          ขณะที่แผงค้าผัก ที่อยู่ไม่ไกลจากรอยร้าวนี้ เจ้าหน้าที่ของตลาดได้ทำคันกระสอบทรายไว้เพื่อป้องกันน้ำท่วมสไลด์ลงมา ทำให้น้ำเจ้าพระยาพุ่งขึ้นมาท่วมพื้นที่ตลาด ขณะนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจนครบาล 6, เจ้าหน้าที่ตลาด และเจ้าหน้าที่สำนักระบายน้ำของ กทม. ต้องช่วยกันซ่อมแซมคันกระสอบทราย แล้วค่อยใช้เครื่องสูบน้ำสูบลงแม่น้ำเจ้าพระยาอีกครั้ง

          ส่วนตามพื้นที่รอบนอกของตลาด บริเวณทางเข้า ก็มีรอยรั่วจากพื้นและมีน้ำพุ่งขึ้นมาหลายจุด เช่นกัน ประกอบกับน้ำที่มาจากท่อระบายน้ำเอ่อล้นออกมา ทำให้พื้นที่รอบตลาดแห่งนี้มีน้ำท่วมขังสูงราว 30 เซนติเมตร อย่างไรก็ตามการค้าขายในตลาดยอดพิมานและปากคลองตลาด ยังคงดำเนินไปตามปกติ





อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก


[26 ตุลาคม] ศปภ.แนะคนกรุง ออกต่างจังหวัดเพื่อความปลอดภัย


ธงทอง จันทรางสุ



เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณข้อมูลจาก ทวิตเตอร์ ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร

          เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2554 ศปภ.ได้แถลงเตือนประชาชน เตรียมพร้อมรับมือน้ำเหนือ แนะใช้วันหยุดยาวเดินทางออกไปต่างจังหวัดเพื่อความปลอดภัย ย้ำเร่งสร้างศูนย์พักพิงเพื่อช่วยเหลือผู้เดือดร้อน

          ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทุกภัย หรือ ศปภ. แถลงข่าวสรุปภาพรวมของสถานการณ์น้ำท่วมในต่างจังหวัดที่ค่อย ๆ ทยอยดีขึ้น อาทิ นครสวรรค์ ที่ประชาชนบางส่วนเริ่มกลับเข้าไปทำความสะอาดบ้านเรือนแล้ว แต่ในส่วนของกรุงเทพฯ ยังก็มีการเตือนให้ประชาชน เตรียมพร้อมรับมือ และแนะนำให้ใช้โอกาสที่รัฐบาลประกาศเป็นวันหยุดราชการเดินทางออกต่างจังหวัด ไปพักกับญาติตามสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ ที่มีความปลอดภัยก่อน เพราะหวั่นเกรงในปริมาณน้ำเหนือที่จะมาสมทบ ประกอบกับน้ำทะเลหนุนสูงในวันที่ 28 - 31 ตุลาคมนี้ด้วย

          อย่างไรก็ตาม ในการแถลงของศปภ.ครั้งนี้ ยืนยันว่าได้มีการพยายามที่จะเตรียมจัดตั้งศูนย์พักพิงเพื่อช่วยเหลือ และอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนอย่างทั่วถึงด้วย


ผู้ว่าฯ กทม.แนะนำชาวดอนเมือง-บางพลัดอพยพด่วน

น้ำท่วม


          วันเดียวกัน เวลา 20.30 น. ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม. ได้ออกแถลงการณ์ เนื้อหาดังนี้

          "ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาวันนี้สูงสุด 2.38 ม. น้ำทะเลยังหนุนสูง ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาและคลองต่อเนื่อง ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ"

          "ระดับน้ำคลองสองสูงขึ้น อาจมีผลต่อเขตสายไหม และอาจมีผลต่อเนื่องถึงเขตลาดพร้าว และวังทองหลาง"

          "คืนนี้ กทม.มีเขตที่น่าเป็นห่วง 2 เขต คือ ดอนเมืองและบางพลัด ขอให้ประชาชนอพยพไปยังศูนย์พักพิงทันที เขตเฝ้าระวังเพิ่มคือ ลาดพร้าวและวังทองหลาง"

          "ขอให้ติดตามข่าวสารและเฝ้าระวังเป็นพิเศษ และเตรียมความพร้อมเคลื่อนย้าย กรณีเกิดเหตุการณ์"

          "เวลานี้ควรทำจิตใจให้มั่นคง ร่วมมือกันแก้ปัญหา หากมีข้อเสนอสามารถคุยกับเจ้าหน้าที่ของรัฐได้ ขออย่ารื้อแนวคันกั้นน้ำโดยพลการ"

          "ย้ำไม่ได้แจ้งว่าจะเกิดผลกระทบทั้ง 50 เขต เพียงให้เจ้าหน้าที่เตรียมความพร้อมทั้ง 50 เขต เพื่อเตรียมรับสถานการณ์"


เขตวังทองหลางชี้ 5 ชุมชนริมคลองเสี่ยง

         ผู้อำนวยการเขตวังทองหลาง เผยน้ำในคลองลาดพร้าวยังต่ำกว่าตลิ่ง ระบุหากน้ำล้นเตือนประชาชนอพยพทันที ชี้ 5 ชุมชนริมคลองเสี่ยงสูง

         นายประเสริฐ อินทุโสมา ผอ.เขตวังทองหลาง เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในพื้นที่ว่า ขณะนี้สถานการณ์ยังปกติระดับในคลองลาดพร้าว ในส่วนรับผิดชอบของเขตวังทองหลาง ยังต่ำกว่าตลิ่งถึง 1 เมตร ส่วน คลองแสนแสบ ต่ำกว่าตลิ่ง 50 ซ.ม. ส่วนกรณี ผู้ว่าฯ กทม. ให้เฝ้าระวังเป็นพิเศษในคืนนี้นั้น ได้มีการจัดเจ้าหน้าที่ให้เฝ้าสังเกตสถานการณ์น้ำทั้ง 2 คลอง อย่างใกล้ชิดแล้ว ซึ่งหากพบว่ามีน้ำเอ่อขึ้นมาในปริมาณมาก ก็จะดำเนินการแจ้งเตือนประชาชนทันที สำหรับจุดเสี่ยงในพื้นที่นั้น มีทั้งหมด 5 ชุมชน ซึ่งตั้งอยู่บริเวณริมคลองลาดพร้าว ทั้งนี้ในเบื้องต้นได้มีการเตรียมศูนย์อพยพไว้ 5 จุด และหากเกิดเหตุฉุกเฉินจริง ก็มีความพร้อมในการอพยพ โดยได้มีการระดม รถ เรือ และประสานรถจีเอ็มซี ของทหารไว้แล้ว

         อย่างไรก็ตาม ทางชุมชนเอง ก็มีการเตรียมความพร้อมในส่วนหนึ่งแล้ว โดยผู้นำชุมชน ได้มีการสำรวจ คนแก่ คนป่วย และคนพิการในพื้นที่ไว้แล้วอย่างชัดเจน

 
ผู้ว่าฯ กทม.สั่ง 50 เขต เตรียมรับน้ำเหนือค่ำนี้ (26 ต.ค.)

           ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แถลง ห่วงระดับน้ำเจ้าพระยาที่เพิ่มสูงขึ้น สั่งทั้ง 50 เขตเฝ้าระวังน้ำเหนือเข้ากรุงคืนนี้ (26 ต.ค.)

           ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แถลงสถานการณ์น้ำในขณะนี้น่าเป็นห่วงที่สุด คือ ระดับในแม่น้ำเจ้าพระยา ทั้งนี้จาก 3 วันที่ผ่านมา พบว่า มีระดับมวลน้ำเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้น กทม. ขอเตือนผู้อาศัยอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาทั้ง 2 ฝั่ง ให้เฝ้าระวังเป็นพิเศษ ส่วนพื้นที่เขตบางพลัด ที่มีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ส่วนหนึ่งเกิดจากปัญหาเขื่อนที่มีอายุการใช้งานนาน ทำให้เกิดปัญหารั่วซึม รวมถึงเป็นพื้นที่ของผู้ประกอบการร้านอาหาร และบ้านเรือนเอกชนที่ไม่มีคันกั้นน้ำ ขณะคลองสำคัญต่าง ๆ ยังมีระดับน้ำเพิ่มอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ คลองสองเพิ่มระดับที่ 5 ซ.ม. และคลองทวีวัฒนาเพิ่ม 7 ซ.ม.

           ทั้งนี้ ข้อมูลมวลน้ำจากพื้นที่ในแต่ละจังหวัดมีปริมาณลดลง แต่ก็ยังไม่สามารถไว้วางใจได้ เนื่องจากมวลน้ำอาจจะกระจายไปตามทิศทางต่างๆ อย่างไรก็ตาม กทม. ยังคงเฝ้าติดตามสถานการณ์ตั้งแต่วันที่ 28 - 31 ตุลาคมนี้ เป็นพิเศษ เนื่องจากบางพื้นที่อาจถึงขั้นวิกฤติได้

           จากนั้นเมื่อช่วงบ่ายที่ผ่านมา ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้กล่าวอีกครั้งว่า ได้สั่งการให้ 50 เขต เตรียมพร้อมรับมือน้ำเหนือที่จะเดินทางถึงกรุงเทพฯ ช่วงค่ำวันนี้แล้ว และเตรียมจะประเมินอีกครั้งว่า จะต้องประกาศเตือนภัยในเขตใดของกรุงเทพมหานครอีกหรือไม่


  ผู้ว่าฯ กทม. ดูแลสถานทูตริมเจ้าพระยา

           ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แถลง ดูแลสถานทูต ที่ตั้งริมฝั่งเจ้าพระยา เตรียมประชุมภาคเอกชนรับมือน้ำท่วม ขอบคุณกรมชลฯ เปิดประตูระบายฝั่งตะวันออกน้ำให้

           ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า กทม. ได้ประสานงานไปยังกระทรวงการต่างประเทศเพื่อเข้าไปดูแลสถานทูตต่าง ๆ ที่ตั้งอยู่ใกล้เคียงริมแม่น้ำจ้ำระยา โดยเฉพาะสถานทูตฝรั่งเศส และ โปรตุเกส นอกจากนี้ ศปภ. ได้มอบหมายให้ กทม. เป็นผู้ดูแลพื้นที่เศรษฐกิจและสถานที่สำคัญภาคเอกชน ดังนั้นในวันพรุ่งนี้ทาง กทม. จะเชิญตัวแทนภาคเอชน อาทิ หอการค้าทั้งไทยและต่างประเทศ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์กว่า 500 คน เข้าร่วมหารือ เพื่อรับมือสถานการณ์น้ำในช่วงบ่าย พร้อมจะเชิญตัวแทนจาก ศปภ. เข้าร่วมในครั้งนี้ด้วย

           ส่วนกรณีที่กรมชลประทาน ออกมาระบุว่า ได้เปิดประตูระบายน้ำหมดทุกจุดแล้วนั้น ผู้ว่าฯกทม. กล่าวว่า กรมชลประทานเพิ่งจะดำเนินการไปเมื่อวานนี้ (25 ตุลาคม) แต่ยังเปิดไม่เต็มที่ แต่ก็ต้องขอขอบคุณที่ดำเนินการให้ จึงส่งผลให้ทางฝั่งตะวันออก ของกรุงเทพฯ มีปริมาณน้ำลดลง


  กทม.คาดริมเจ้าพระยาน้ำหนุนเกินคัน 2.60 เมตร

          ผู้ว่าฯ กทม. แถลง ห่วงปลายเดือนนี้ น้ำหนุนสูงทุกจุด คาดน้ำเจ้าพระยาเกินคัน 2.60 เมตรแน่ ขอให้เฝ้าระวัง ชี้ ต้องใช้กระสอบทราย 10 ล้านใบ

          ช่วงบ่ายวันนี้ (25 ตุลาคม) ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แถลงสถานการณ์น้ำในพื้นที่ กทม. เริ่มมีความน่าเป็นห่วงในหลายพื้นที่ เนื่องจากสัปดาห์นี้คาดการณ์ว่า จะมีปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาสูงถึง 2.60 เมตร เป็นผลมาจากน้ำเหนือ บวกกับน้ำทะเลหนุนสูง ดังนั้นจึงขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำพระยา ทั้งในและนอกคันกั้นน้ำรวม 13 เขต เฝ้าระวังเป็นพิเศษ เพราะหากทาง กทม. จำเป็นต้องเสริมแนวกระสอบทรายบริเวณริมฝั่งเจ้าพระยา ซึ่งมีความยาว 80 กิโลเมตร กทม. จะต้องใช้กระสอบทรายถึง 10 ล้านใบ


น้ำคลองประปาเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว

          ส่วนสถานการณ์น้ำในคลองประปาขณะนี้ เข้าถึงภาวะปกติแล้ว ส่งผลให้บางพื้นที่ของเขตหลักสี่ ระดับน้ำเริ่มลดลง ขณะที่น้ำในคลองทวีวัฒนา แม้ว่าจะมีการเปิดประตูระบายน้ำกว้างที่สุดแล้ว แต่มวลน้ำก็ยังคงเพิ่มสูงขึ้น สำหรับที่
คลองสอง และคลองหกวาสายล่าง ปริมาณน้ำยังคงเพิ่มสูงขึ้นถึง 11 ซม.

          อย่างไรก็ตาม กทม. จะเร่งทำการเสริมถนน ด้วยการยกระดับถนนตั้งแต่คลองสอง ถึงถนนวิภาวดี รวมระยะทาง 3 กิโลเมตร พร้อมทั้งยกผิวถนนบริเวณช่วงหน้าที่ทำการ ศปภ. สนามบินดอนเมือง ส่วนด้านฝั่งตะวันออก จะมีการเสริมคันกั้นน้ำระยะทางรวม 39 กิโลเมตร เพื่อป้องกันพื้นที่สำคัญด้วย


  กทม.ระบุน้ำเจ้าพระยาทุบสถิติปี 2538

          ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แถลงสรุปสถานการณ์น้ำในขณะนี้ว่า สถานการณ์น้ำโดยทั่วไปในพื้นที่ กทม. มีมวลน้ำใหญ่ได้เข้ามาในพื้นที่ กทม.แล้ว โดยระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ในบ่ายวันนี้ (25 ตุลาคม) มีระดับน้ำสูงสุดถึง 2.30 เมตร ซึ่งทำลายสถิติเมื่อปี 2538 ที่ระดับ 2.27 เมตร ซึ่งทาง กทม.ได้ประกาศเตือนให้ประชาชน 2 ฝั่งริมแม่น้ำเจ้าพระยา นอกแนวเขื่อนคันกั้นน้ำ ให้อพยพออกจากพื้นที่ทันที ส่วนในแนวเขื่อนให้ติดตามสถานการณ์และให้เฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ส่วนระดับน้ำในคลองเปรมประชากร มีระดับน้ำสูงมาก กทม.จึงได้ขอย้ำเตือนให้ประชาชนให้เฝ้าติดตามสถานการณ์ตลอด 24 ชม.

          อย่างไรก็ตาม กทม. ยังได้เสนอให้รัฐบาลประกาศให้ วันศุกร์ที่ 28 และวันจันทร์ที่ 31 ต.ค. 54 นี้ เป็นวันหยุดราชการเนื่องจากในช่วงดังกล่าว เป็นช่วงที่มีน้ำหนุน และน้ำเหนือเข้ามาในพื้นที่ กทม.











[24 ตุลาคม] กทม.จ่อเสนอ 26 ต.ค. เป็นวันหยุด เหตุน้ำจ่อทะลัก


ข่าวน้ำท่วม


            สุขุมพันธุ์ แถลง 6 เขต น่าเป็นห่วง พร้อมยันประตูระบายน้ำ และอุโมงค์ยักษ์พระราม 9 มีประสิทธิภาพในการระบายน้ำ เล็งเสนอ ศปภ.ประกาศหยุด 26 ต.ค. เหตุน้ำก้อนใหญ่จ่อ ระบายไม่ทัน ส่วนข้อเสนอใช้ถนนวิภาวดีรับน้ำนั้น ต้องหารือก่อน

            วันนี้ (24 ตุลาคม) ม.ร.ว. สุขุมพันธ์ บริพัฒน์ กล่าวถึงข้อเสนอของนักวิชาการที่ให้ใช้ถนนวิภาวดีรังสิตรับน้ำเพื่อเร่งระบายลงสถานีสูบน้ำของ กทม.ออกอุโมงค์ยักษ์พระโขนงลงแม่น้ำเจ้าพระยา ว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ ต้องมีการหารือกับทาง ศปภ.ก่อนตัดสินใจ เพราะจะทำให้น้ำจะท่วมกรุงเทพชั้นใน

          พร้อมกันนี้ ผู้ว่าฯ กทม. เผยด้วยว่า เตรียมจะเสนอให้ ศปภ.ประกาศให้วันที่ 26 ต.ค.นี้ เป็นวันหยุดราชการ เนื่องจากน้ำเหนือกว่า 4,000 ล้านลูกบาศก์เมตรจะถึง กทม.และน้ำทะเลหนุนสูง แต่ กทม.มีขีดความสามารถระบายได้วันละ 30 ล้านลูกบาศก์เมตรเท่านั้น ดังนั้น จึงต้องหาวิธีระบายน้ำให้ได้วันละ 500 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อบริหารน้ำก้อนใหญ่ที่จะมาถึง


ผู้ว่าฯ กทม.ยันอุโมงค์ยักษ์ คุณภาพดีเยี่ยม

            ส่วนมาตรการในการเร่งระบายน้ำในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยานั้น ผู้ว่าฯ กทม. ระบุว่า สถานีสูบน้ำอุโมงค์พระโขนง จะทำการสูบน้ำจากคลองลาดพร้าว คลองแสนแสบ และ คลองประเวศ ลงสู่คลองพระโขนง ก่อนจะผันน้ำลงสู่แม่น้ำเจ้ำพระยา ซึ่งอุโมงค์และประตูระบายน้ำพระโขนง มีประสิทธิภาพในการระบายน้ำออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยาถึง 210 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยผันน้ำจากคลองต่างๆ ผ่านอุโมงค์เข้าที่สถานีสูบน้ำ แล้วสูบออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ได้ทำการเปิดเครื่องสูบน้ำอย่างเต็มกำลังความสามารถ โดยตลอดเพื่อเร่งระบายน้ำในพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร โดยเร็วที่สุด


นายกฯ ชมระบบระบายน้ำ กทม.ดี

            นายกรัฐมนตรี ชมระบบการระบายน้ำ กทม. ดี พร้อมกำชับให้สำรวจแนวคันกั้นน้ำเจ้าพระยา ด้าน ผู้ว่าฯ กทม. ยืนยัน มีระบบป้องกันน้ำท่วมดี ไม่ท่วมพร้อมกัน 50 เขต แน่นอน

            ช่วงบ่าย วันเดียวกัน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังลงตรวจประสิทธิภาพการระบายน้ำของอุโมงค์ยักษ์พระราม 9 พร้อมกล่าวชื่นชมระบบระบายน้ำของ กทม. ว่า มีประสิทธิภาพในการระบายน้ำได้ดี และให้ทาง กทม. ประสานความร่วมมือกับทางกองทัพ ในการบริหารการจัดการน้ำร่วมกัน ทั้งให้ทาง กทม. สำรวจแนวคันกั้นน้ำทั้ง 2 ฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา เริ่มตั้งแต่ที่ จ.นนทบุรี ไปจนถึงพื้นที่ของกรุงเทพมหานครชั้นใน ให้มีประสิทธิภาพในการป้องกันน้ำ ซึ่ง ผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานคร กล่าวถึงสถานการณ์น้ำในพื้นที่ว่า หากมีปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ชั้นใน ทาง กทม.เอง ก็มีระบบป้องกันเป็นอย่างดี และคงจะไม่ท่วมพร้อมกันทีเดียวถึง 50 เขต

          
ผู้ว่าฯ กทม.รับ 6 เขตน่าห่วง น้ำส่อขั้นวิกฤติ

           เมื่อเวลาประมาณ 10.30 น. ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แถลงข่าวว่า ขณะนี้ระดับน้ำในคลองประปามี จำนวนเยอะมาก และคลองเปรมประชากร ระดับน้ำได้ล้นตลิ่งจนมาถึงที่บริเวณดอนเมืองแล้ว โดยเบื้องต้นได้สั่งกำชับให้เจ้าหน้าที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ดูแล เขตพระราชฐานและศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย หรือ ศปภ. อย่างดีที่สุด โดยเฉพาะการเดินทางเข้าและออก โดยจะลงพื้นที่ตรวจสอบสถานการณ์ล่าสุดด้วยตนเอง ภายหลังจบการแถลงข่าวแล้ว

           พร้อมกันนี้ ผู้ว่าฯ กทม. ยังกล่าวด้วยว่า ในส่วนของ 6 เขต ที่ได้มี่การประกาศเตือนให้ประชาชนระมัดระวัง และออกจากพื้นที่ตั้งแต่เมื่อคืนที่ผ่านมา ประกอบด้วย เขตดอนเมือง เขตหลักสี่ เขตบางเขน เขตจตุจักร เขตบางซื่อ และเขตสายไหม สถานการณ์ยังคงน่าเป็นห่วง เนื่องจากระดับน้ำได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ยืนยัน จะแก้ไขปัญหาและระบายน้ำออกจากพื้นที่ชั้นใน ของกรุงเทพมหานครให้ดีที่สุด และกระทำอย่างเหมาะสม อย่างไรก็ตาม หากมีสถานการณ์น่าห่วง ทาง กทม. จะแจ้งภายใน 24 ชม.


ผู้ว่าฯ กทม.แถลงด่วน สั่ง 6 เขต รับมือน้ำท่วม

          ผู้ว่าฯ กทม. แถลงด่วน สั่งอพยพ 6 เขต ดอนเมือง หลักสี่ บางเขน บางซื่อ จตุจักร สายไหม ให้ยกสิ่งของขึ้นที่สูง หรือเคลื่อนย้ายไปยังศูนย์พักพิง ภายใน 24 ชม. ด้าน ผอ.ศปภ.ออกประกาศตามหลัง ยันพร้อมช่วยเหลือและสนับสนุน กทม.

          วานนี้ (23 ตุลาคม) เวลาประมาณ 23.15 น. ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แถลงสรุปสถานการณ์น้ำท่วม โดยระบุว่า จากการประเมินสถานการณ์ สรุปได้ว่า ปัญหาค่อนข้างรุนแรง เนื่องจากน้ำเหนือมาเร็วเกินคาด ขณะนี้อยู่ที่บริเวณคลองรังสิต ดอนเมือง และถนนพหลโยธิน จึงขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เขตดอนเมือง หลักสี่ บางเขน บางซื่อ จตุจักร และสายไหม เคลื่อนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูง และเคลื่อนย้ายไปยังศูนย์พักพิง หากใครที่คิดว่าไม่สามารถรับมือกับสถานการณ์ได้ภายใน 24 ชม. ซึ่งในวันนี้ (24 ตุลาคม) จะมีการประเมินสถานการณ์ว่า จะต้องมีการเตือนพื้นที่ใดอีกบ้าง ทั้งนี้ ย้ำว่าสถานการณ์ขณะนี้อาจนำไปสู่ขั้นวิกฤติ

          นอกจากนี้ ยังกล่าวอีกว่า ทาง กทม. ได้มีการประสานไปยังกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อแจ้งเตือนไปยังสถานเอกอัครราชทูต ตลอดจนคณะทูตานุทูตที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยง ให้ระมัดระวังและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

          ต่อมา เมื่อเวลา 00.50 น. พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมว.ยุติธรรม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย(ศปภ.) ได้ออกประกาศทางโทรทัศน์ว่า ศปภ.พร้อมให้ความช่วยเหลือและสนับสนุน กทม.ในการดำเนินการรับมือสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ 6 เขต อย่างเต็มที่่และใกล้ชิด โดยทาง กทม.สามารถประสานงานกับ ศปภ.ได้ตลอด24 ชั่วโมง


อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก




[23 ตุลาคม] กทม.ห่วงหลักหกคลองประปาทะลักเขตชั้นใน






กทม.ห่วงหลักหกคลองประปาทะลักเขตชั้นใน (ไอเอ็นเอ็น)

         ผู้ว่าฯกทม. เผย คลองเปรมฯ น้ำยังสูง สั่งเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงต่อเนื่อง รับห่วงจุดอ่อนช่วงคลองรังสิต ตัดพหลโยธิน ที่ชาวบ้านต้านทำแนวกั้น

         ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แถลงถึง สถานการณ์และการเตรียมป้องกันน้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า ขณะนี้ระดับน้ำคลองเปรมประชากร บริเวณหน้า สน.ดอนเมือง ยังอยู่ในระดับสูงใกล้ขอบตลิ่ง ส่วนคลองอื่น ๆ ยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ แต่ทาง กทม. ยังคงต้องเฝ้าระวัง เขตดอนเมือง หลักสี่ บางเขน สายไหม คันนายาว มีนบุรี คลองสามวา และหนองจอก

         ส่วนระดับน้ำในคลองสามเสน ช่วงเชื่อมต่อคลองประปาระดับต่ำกว่าสันเขื่อนอยู่ที่ 1.84 เมตร อีกทั้งน้ำในคลองประปายังไหลลงสู่คลองสามเสนในอัตราที่ต่ำกว่าคาด พร้อมกันนี้ยอมรับว่ายังเป็นห่วงในจุดอ่อนของ กทม.คือช่วงคลองรังสิตตัดถนนพหลโยธิน ซึ่งมีประชาชนในพื้นที่ต่อต้านภารกิจการเสริมพนังป้องกัน รวมถึงที่คลองหลักหก และคลองประปา ซึ่งหากยังมีระดับน้ำสูงขึ้น จะส่งผลต่อคลองเปรมประชากร ซึ่งจะมีผลต่อการป้องกันน้ำทะลักเข้าท่วมกรุงเทพฯ ชั้นใน ทันที

         อย่างไรก็ตาม ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ปฏิเสธข่าวที่เจ้าหน้าที่ กทม. เสียชีวิตจากการโหมงานหนัก ภายหลังบรรจุกระสอบทราย เพื่อทำงานแนวคันกั้นน้ำท่วมกรุงเทพฯ













[22 ตุลาคม] ผู้ว่าฯ กทม. ห่วง คลองรังสิต - คลองหกวา - คลองมหาสวัสดิ์
เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

         ผู้ว่าฯ กทม. ยันพร้อมทำตามคำสั่งรัฐบาล เผย เป็นห่วง 3 จุด คลองรังสิต-คลองหกวา-คลองมหาสวัสดิ์ – ด้าน ผอ.ศปภ.ชี้แจงจุดเสี่ยง อีก 2 จุด เมืองเอก-คลองสามวา

         ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า ได้ทราบว่ารัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย 2550 แล้ว ซึ่งตามมาตรา 31 จะทำให้การสั่งการหน่วยงานต่าง ๆ ทำได้ง่ายขึ้น หากรัฐบาลสั่งมา กทม. ก็พร้อมดำเนินการ แต่หากสิ่งไหนที่ไม่เห็นด้วยก็พร้อมจะคัดค้านอย่างมีเหตุผล

         นอกจากนี้ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ได้สั่งการให้เปิดประตูกว้างขึ้นในพื้นที่ที่สามารถเปิดได้ ยืนยันว่าได้ร่วมมือเต็มที่กับรัฐบาล ส่วนประตูระบายน้ำฝั่งตะวันออกที่ยังไม่ได้เปิด ไม่ได้เป็นของ กทม. แต่เป็นของกรมชลประทาน

         อย่างไรก็ตาม ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์กล่าวว่า ขณะนี้มีจุดที่น่าเป็นห่วง 3 จุด คือ

         1. คลองรังสิตตัดถนนพหลโยธิน เพราะยังไม่มีหน่วยงานรัฐเข้าไปดูแล และระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นจนท่วมถนนหน้าห้างเซียร์รังสิตแล้ว ซึ่งนายพระนาย สุวรรณรัฐ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้ประสานมายัง กทม.ว่าจะส่งบุคลากร 1,000 นาย เข้าไปดูแลจุดนี้ แต่หากไม่สามารถป้องกันได้ น้ำจะทะลักเข้าคลองเปรมประชากร

         2. คลองสองและคลองหกวา กทม.จะสร้างแนวป้องกันน้ำท่วมให้แล้วเสร็จอย่างช้าสุด วันที่ 22 ตุลาคมนี้

         3. พื้นที่ฝั่งตะวันตกของ กทม.และคลองมหาสวัสดิ์ ซึ่งมีระดับน้ำสูงถึง 2 เมตร หากปริมาณน้ำสูงถึง 2.5 เมตร จะมีปัญหาได้ เพราะเกรงว่าปริมาณน้ำจะโอบล้อมเข้าท่วมพื้นที่

         ขณะที่ทางด้าน พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก ผอ.ศปภ. ได้ชี้แจงจุดเสี่ยง กทม. อีก 2 จุดเช่นกัน คือ เมืองเอก และบริเวณคลองสามวา โดยขณะนี้ทางศปภ.จะทำกำแพงคอนกรีตเพื่อป้องกันน้ำเข้ามากทม. หากควบคุมพื้นที่ทั้งสองจุดนี้ได้กทม.ก็น่าจะปลอดภัย แต่ยังจะต้องเฝ้าระวังฝนช่วงวันที่ 28-30 ตุลาคม ซึ่งจะเป็นช่วงที่มีน้ำทะเลหนุนสูง และหากผ่านช่วงนี้ได้น้ำก็จะไม่ท่วม กทม.







อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก











กทม. เผยหลายจุดระดับน้ำสูงต้องเฝ้าระวัง (ไอเอ็นเอ็น)


          กรุงเทพมหานคร สรุปสถานการณ์น้ำรอบวัน หลายจุดยังมีระดับน้ำท่วมสูง ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ขณะที่น้ำท้ายเขื่อนมีปริมาณลดลง

          สำนักการระบายน้ำ รายงานสถานการณ์น้ำ ประจำวันที่ 22 ตุลาคม โดยปริมาณน้ำฝน สูงสุด 6 ช.ม. ที่ผ่านมาไม่มีปริมาณน้ำฝนรวม ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-22ต.ค. รวม 2,193 มากกว่าค่าเฉลี่ยร้อยละ 44.4 ส่วนมวลอากาศเย็น อยู่ที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางตอนบน น้ำเหนือไหลผ่านแม่น้ำเจ้าพระยา ปริมาณน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยา และพระราม 6 รวม 4,100 ลบ.ม.ต่อวินาที ลดลง 34 ลบ.ม.ต่อวินาที ปริมาณน้ำผ่าน อ.บางไทร 3,448 ลบ.ม.ต่อวิาที ลดลงจากเมื่อวาน 169 ลบ.ม.ต่อวินาที น้ำทะเลหนุนสูงสุดวันนี้ เวลา 15.48 นาที ระดับ +0.97 ม. รทก. น้ำทุ่งไหลลงคลองหกวาสายล่าง ตลอด 24 ช.ม. ที่ผ่านมา ระดับน้ำเพิ่มขึ้น 9 ซ.ม. ระดับน้ำคลองเปรมประชากร หน้า สน.ดอนเมือง ขึ้นสูงใกล้ขอบตลิ่ง

          อย่างไรก็ตาม สำหรับภาพรวมสถานการณ์น้ำใน กทม. ต้องเฝ้าระวังน้ำทุ่งเป็นระยะ พื้นที่เฝ้าระวังประกอบด้วย ดอนเมือง หลักสี่ บางเขน สายไหม ลาดกระบัง คันนายาว มีนบุรี คลองสามวา หนองจอก ระดับน้ำคลองสามเสน ช่วงต่อเชื่อมคลองประปา ระดับต่ำกว่าสันเขื่อน 1.84 ม. น้ำในคลองประปาไหลสู่คลองสามเสน ในอัตราที่ต่ำกว่าที่คาด กรณีน้ำรั่วซึมจากคลองประปา เกิดน้ำท่วมถนนแจ้งวัฒนะ จากคลองประปา ถึงบิ๊กซี ระดับน้ำ 40-50 ซ.ม. ทั้ง 2 ฝั่ง ถนนเลียบคลองประปาจากแยกพงษ์เพชร ถึงถนนแจ้งวัฒนะ ระดับน้ำ 5 ซ.ม. จากถนนแจ้งวัฒนะ ถึงศรีสมาน ระดับ น้ำท่วมเป็นช่วงๆ ประมาณ 20 ซ.ม. หมู่บ้านเวฬุ วัดไผ่เขียว ระดับน้ำ 50 ซ.ม.ถนนแจ้งวัฒนะ หน้ากรมทหาร ระดับน้ำ 40-50 ซ.ม. ซ.แจ้งวัฒนะ 14 ระดับน้ำ 40-50 ซ.ม.


น้ำจ่อทะลักกรุงฯ หน้าเซียร์รังสิต 40 ซ.ม. แล้ว

          สถานการณ์น้ำท่วมล่าสุด บริเวณย่านรังสิตใน ขณะนี้ทางด้านเซียร์รังสิต ได้มีการปิดถนนเส้นที่จะมุ่งหน้าสู่ถนนพหลโยธินสายเหนือ - อีสาน โดยห้ามรถเล็กวิ่งผ่าน ซึ่งระดับน้ำสูงประมาณ 30 - 40 ซ.ม. ประชาชนเร่งสร้างคันกระสอบทรายรวมถึงเจ้าหน้าที่มาอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนและควบคุมการจาราจร โดยการจรจรในขณะนี้ ได้เปิดเส้นทางให้รถวิ่งสวนกันบนถนนวิภาวดี - รังสิต ขาออกเลี่ยงเส้นทาง ที่ปริมาณน้ำท่วมสูงมาก ส่วนทางด้านบริเวณหมู่บ้านเมืองเอก จนถึงสะพานข้างแยกรังสิตถนนวิภาวดี - รังสิต ขาออกไปปทุมธานี - นวนคร ปริมาณน้ำสูงขึ้นอีกประมาณ 50 ซ.ม.

          ส่วนทางด้านตลาดรังสิต โรงพยาบาลปทุมเวชและหมู่บ้านรัตนโกสินทร์ 200 ปี ประชาชนต้องนำเรือออกมาใช้เดินทาง เนื่องจากระดับน้ำสูงกว่า 1 เมตร ทั้งนี้ ห้างสรรพสินค้าย่านนี้ เมเจอร์รังสิต ฟิวเจอร์พาร์ครังสิต และโลตัสรังสิต ปิดให้บริหารทั้งหมด รวมถึงท่ารถต่างจังหวัดในขณะนี้ ไม่มีรถให้บริการแล้ว





[21 ตุลาคม] ผู้ว่าฯ กทม.เสนอ ศปภ.ปิดไซฟ่อนรังสิต กันท่วม ถ.วิภาวดี

ผู้ว่าฯ กทม.
 


เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

ขอขอบคุณภาพประกอบจาก ครอบครัวข่าว 3

          ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ รับสถานการณ์น้ำคลองประปาน่าห่วง เสนอ ศปภ. ปิดไซฟ่อนรังสิต ลดระดับน้ำ หวั่นไหลลงคลองเปรมประชากรแล้วเอ่อท่วม ถ.วิภาวดี

          ช่วงบ่ายวันนี้ (21 ตุลาคม) ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงสถานการณ์น้ำในคลองประปา ว่า ยังน่าเป็นห่วง เพราะระดับน้ำสูงขึ้นต่อเนื่อง และอาจไหลลงคลองเปรมประชากรได้ ซึ่งขณะนี้น้ำในคลองเปรมประชากร อยู่ที่ 1 เมตร ถ้ามีน้ำไหลเข้ามาเพิ่มก็จะเป็น 1.30-1.50 เมตร ส่งผลให้น้ำท่วมเอ่อท่วม ถนนวิภาวดี และพื้นที่ใกล้เคียงทันที

          ผู้ว่าฯ กทม. ระบุว่า จากสถานการณ์ดังกล่าว จึงได้เสนอไปยัง ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) ให้ปิดไซฟ่อนรังสิต และซ่อมแบริเออร์ หรือแนวคันกั้นน้ำในคลองประปาทั้งหมดโดยเร็วที่สุด เพื่อจะได้ระบายน้ำใน 2 ส่วน ได้แก่ คลองประปาแยกซ้าย ลอดอุโมงค์มักกะสัน ลงบึงมักกะสัน และน้ำจากคลองประปาแยกขวา ระบายลงสถานีสูบน้ำสามเสน ทั้งนี้ก็เพื่อลดระดับน้ำในคลองประปา

          นอกจากนี้ ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ ยังกล่าวด้วยว่า จุดที่ต้องเฝ้าระวังอีกจุดคือบริเวณคลอง 2 เนื่องจากมีน้ำเหนือไหลเข้ามาเพิ่มแล้ว ทางกรุงเทพมหานครจึงได้สั่งการให้เปิดประตูระบายน้ำทุกประตูให้กว้างที่สุดเท่าที่จะทำได้


ผู้ว่าฯ กทม.เผยสั่งเปิดประตูระบายน้ำทุกบานแล้ว

          ผู้ว่าฯ กทม.เผยสั่งเปิดประตูระบายน้ำทุกบานแล้ว เพื่อให้น้ำไหลผ่านโดยเร็ว

          หลังจากเมื่อวานนี้ (20 ตุลาคม) นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี สั่งการให้กรุงเทพมหานคร เปิดประตูระบายน้ำทุกจุด เพื่อช่วยระบายน้ำเหนือ ที่จะไหลมาในปริมาณ 8-10 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน

          ล่าสุด ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม. เปิดเผยว่า ขณะนี้ประตูระบายน้ำของ กทม.ได้เปิดทุกประตูแล้ว โดยที่ประตูระบายน้ำคลอง 2 ได้เปิดแล้ว 1 เมตร เพื่อระบายน้ำที่ไหลมาจากนวนคร แต่คงต้องมีการลดระดับประตูระบายน้ำลง ส่วนที่ประตูระบายน้ำทวีวัฒนาคลองมหาสวัสดิ์ก็ได้เปิดขึ้นไปแล้ว 80 เซนติเมตร ซึ่งปริมาณน้ำก็ไหลผ่านได้ดี

          ขณะที่เจ้าหน้าที่การประปานครหลวงและกรุงเทพมหานคร ได้ร่วมกันเปิดประตูกั้นคลองประปากับคลองสามเสนแล้ว เพื่อระบายน้ำที่เอ่อล้นมาจากคลองเชียงราก และคลองบางพูน ให้ไหลเข้าคลองสามเสนและบึงพระราม 9 ก่อนจะระบายออกแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อไม่ให้น้ำท่วมใจกลางกรุงเทพมหานคร


อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก




น้ำท่วม


[20 ตุลาคม] ผู้ว่าฯ กทม. ยันฉุกเฉินจะไม่จุดพลุเตือน แต่ให้เขตแจ้งเตือน

          คลองรังสิตเตรียมรับน้ำเหนือก้อนใหญ่ คาดมาถึงคืนนี้ (20 ต.ค.) หากแนวกั้นน้ำต้านไม่ไหว น้ำทะลักเขตสายไหม บางเขน ดอนเมือง แน่ ด้าน ผู้ว่าฯ กทม.เผยสถานการณ์น้ำยังไม่วิกฤติ ปัดข่าวคันกั้นน้ำคลองหกวาแตก เผยหากเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน ให้ ผอ.เขต เป็นผู้แจ้งเหตุ ยันไม่ใช้พลุส่งสัญญาณ 

          หลังจากที่เมื่อช่วงเย็นของวันที่ 19 ตุลาคม ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้แถลงข่าวว่า สถานการณ์น้ำขณะนี้น่าเป็นห่วง เนื่องจากน้ำที่มาจากตอนเหนือของกรุงเทพมหานครเคลื่อนตัวมาเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ จึงคาดการณ์ว่า น้ำจากนิคมอุตสาหกรรมนวนคร และจากคลองระพีพัฒน์ จะไหลลงมาถึงคลองรังสิตในคืนวันนี้ (20 ต.ค.) และลงมาถึงคลองสอง และคลองหกวา ในวันศุกร์นี้ (21 ต.ค.) พร้อมกับเตือนให้ประชาชนในพื้นที่ 7 เขต คือ ลาดกระบัง หนองจอก มีนบุรี คลองสามวา สายไหม คันนายาว และบางเขน ยกข้าวของขึ้นที่สูงนั้น

          พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รมว.กลาโหม ได้กล่าวหลังจากร่วมประชุมกับนายกรัฐมนตรี และผู้ที่เกี่ยวข้องว่า ขณะนี้กำลังรอมวลน้ำจากคลองระพีพัฒน์ซึ่งแตกแล้วจะเข้ามาที่คลองรังสิต กทม.ภายใน 24 ชั่วโมงนี้ ซึ่งต้องรอดูว่าจะยันไว้ได้หรือไม่ หากสามารถป้องกันได้ หลังจากนี้จะไม่มีปัญหา และเชื่อว่า น้ำจะไม่ทะลักเข้า กทม.ชั้นใน เพราะได้สร้างแนวกั้นน้ำเป็นแนวป้องกันที่คลองรังสิตไปถึงคลองแปดเพื่อดันน้ำออกไปข้างล่างถึงคลองหกวา และดันออกสู่แม่น้ำบางปะกง

          ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ได้กล่าวภายหลังการประชุมว่า ทหารได้เร่งช่วยเหลือต้านทานน้ำที่ กทม.รอบนอกแล้ว พร้อมกับเสริมคันกั้นน้ำแนวคลองรังสิต คลองระพีพัฒน์และคลองหกวา ตามคำสั่งของ ศปภ. แต่อย่างไรก็ตาม หากแนวกั้นน้ำไม่สามารถต้านทานได้อยู่ ก็ต้องเตรียมแผนอพยพให้ชัดเจน เพื่อไม่ให้เกิดความตื่นตระหนก เพราะที่ผ่านมาได้มีการสร้างคันกั้นน้ำซึ่งเป็นแนวดิน แต่ต้องยอมรับว่า แนวดินไม่สามารถต้านทานน้ำนานได้ เนื่องจากหากกั้นน้ำไปนาน ๆ ผนังก็ยุ่ย จึงทำได้แค่ซื้อเวลาให้ระบายน้ำไปทางตะวันออกโดยเร็วเท่านั้น หากซื้อเวลาไม่ได้ น้ำก็ทะลุได้

          อย่างไรก็ตาม มีแหล่งข่าวจาก ศปภ. ระบุว่า ได้มีการประเมินสถานการณ์ดังกล่าวแล้ว โดยคาดว่า น้ำที่ไหลมาจากจังหวัดปทุมธานีจะเข้าสู่พื้นที่ กทม.อย่างเร็วที่สุดคือภายในคืนนี้ ซึ่งทาง ศปภ.ประเมินว่า มวลน้ำนั้นจะเข้ามามีความสูงไม่เกิน 3.5 เมตรจากระดับน้ำทะเล จึงได้สั่งให้ทำคันกั้นน้ำสูงที่ระดับดังกล่าว แต่หากว่าคันกั้นดังกล่าวไม่สามารถต้านน้ำไว้ได้ น้ำจะทะลักเข้าสู่เขตสายไหม บางเขน และดอนเมืองได้

          ทั้งนี้ แหล่งข่าวยังระบุด้วยว่า หากให้ประเมินสถานการณ์ขั้นเลวร้ายที่สุด ก็เป็นไปได้ที่ในเขตสายไหม และดอนเมืองจะมีน้ำท่วมสูงประมาณ 1 เดือน และน้ำจะท่วมขังอยู่นานอย่างน้อยประมาณ 1 เดือน แต่นี่เป็นการประเมินขั้นร้ายแรงที่สุดเท่านั้น แต่สนามบินดอนเมืองจะไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เพราะเป็นพื้นที่สูง

          ด้านนายภูมิพัฒน์ ดำรงเกียรติศักดิ์ ผู้อำนวยการเขตดอนเมือง กล่าวถึงสถานการณ์บริเวณคลองหลักหก ว่า มีความมั่นใจอย่างมากว่าคันกั้นกระสอบทรายที่ทำไว้จะสามารถรับมือกับสถานการณ์น้ำได้อย่างแน่นอน เนื่องจากดำเนินการสร้างมาเป็นเวลาหลายเดือน และมีการซ่อมแซมอยู่ตลอดเวลา

          อย่างไรก็ตาม เขตดอนเมืองนั้น ไม่ได้อยู่ใน 7 เขต ที่ทางกรุงเทพมหานครประกาศให้เป็นพื้นที่เสี่ยง แต่ก็มีความพร้อมหากเกิดเหตุฉุกเฉิน โดยมีการเตรียมศูนย์อพยพและประสานทหารในการเข้าขนย้ายประชาชนแล้ว

          ส่วนในเขตสายไหม ได้มีประชาชนเดินทางมายังโรงเรียนฤทธิยะวรรณาลัย 2 ที่ถูกใช้เป็นสำนักงานชั่วคราว เพื่อบรรจุกระสอบทรายเป็นจำนวนมาก โดยนำทรายมาจากสำนักการโยธา ซึ่งนายสุรเกียรติ ลิ้มเจริญ รองผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรุงเทพมหานคร ระบุว่าในขณะนี้จะต้องเพิ่มความสูงของแนวกั้นอีก 50 ซ.ม. เพื่อให้เป็น 3.50 เมตร ส่วนความกว้างนั้น ต้องเสริมขึ้นอีก 1 ชั้น และต้องเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันนี้

          อย่างไรก็ตามล่าสุด  ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ได้ย้ำว่า  มาตรการในการเตือนภัยของ กทม. จะได้มอบหมายให้สำนักงานเขต เป็นผู้แจ้งเหตุ และยืนยันจะไม่ใช้พลุในการแจ้งเตือนเด็ดขาด 

 
 
 






          ขณะที่ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้แถลงสรุปสถานการณ์น้ำในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เมื่อช่วงเช้าวันนี้ (20 ตุลาคม) ว่า ขณะนี้ถือว่ายังไม่วิกฤติ แต่ยังคงต้องเฝ้าระวังติดตามอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้มวลน้ำที่ไหลลงมาจะเริ่มมีผลกระทบต่อชาวกรุงเทพมหานคร ในวันพรุ่งนี้ (21 ตุลาคม) โดยทาง กทม. จะเร่งภารกิจเสริมแนวคันกั้นน้ำเลียบคลองหกวา ตามเป้าหมายเดิมที่ได้วางไว้ ซึ่งจะแล้วเสร็จภายใน 24.00 น. พร้อมกันนี้ของให้รัฐบาลช่วยดูแลจุดอ่อน 3 จุดที่อยู่นอกเหนือพื้นที่ กทม. ด้วยคือ หลักหก จ.ปทุมธานี พื้นที่การประปาเชื่อมแนวคันกั้นน้ำของ กทม. และถนนพหลโยธินช่วงตัดคลองรังสิต ในความรับผิดของกรมทางหลวงชนบท

          อย่างไรก็ตามเมื่อคืนที่ผ่านมา ที่มีข่าวระบุว่า แนวคันกั้นน้ำเลียบคลองหกวาแตกเสียหาย จนทำให้มีน้ำทะลักเข้ามาในพื้นที่เขตสายไหมนั้น ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ได้ปฏิเสธเรื่องดังกล่าว และระบุว่า หากเกิดสถานการณ์คันกั้นน้ำมีปัญหา ทาง กทม. ก็มีแผนมาตรการรองรับทุกแห่งอยู่แล้ว






อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก




ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร


[19 ตุลาคม] ระทึก! น้ำเหนือมาเร็ว ถึงคลองรังสิตคืนพฤหัสนี้

           ระทึก! น้ำเหนือมาเร็วกว่าที่คาด ชี้น่าจะถึงคลองรังสิตคืนวันพฤหัสบดีนี้ ก่อนลงคลองหกวาศุกร์นี้ พร้อมประกาศอพยพประชาชนริมคลอง 6 ใน 24 ชั่วโมงคาดปริมาณน้ำสูง หลังก่อนหน้านี้ ประกาศ 7 เขต เสี่ยงน้ำท่วม

            เมื่อเวลา 15.30 น. วันนี้ (19 ตุลาคม) ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม. ได้ออกแถลงรอบ 2 โดยประกาศให้อพยพประชาชน 200 ครัวเรือน บริเวณริมคลอง 6 นอกคันกั้นน้ำ ย้ายไปยังศูนย์พักพิงที่โรงเรียนฤทธิยะวรรณาลัย และโรงเรียนสายไหม ภายใน 24 ชั่วโมง เนื่องจากเป็นจุดเสี่ยงที่คาดว่าจะมีปริมาณน้ำมาก  ภายใน 24 ชม. 

            โดยก่อนหน้านี้ ทางผู้ว่าฯ กทม. ได้ออกแถลงว่า สถานการณ์น้ำท่วมในประเทศไทยมีแนวโน้มจ่อทะลักเข้าเขตพื้นที่กรุงเทพฯ มากขึ้นเรื่อย ๆ ล่าสุดพบว่าการระบายน้ำคลอง 3-6 จ.ปทุมธานี มีปัญหา ทำให้กรุงเทพมหานคร (กทม.) ประกาศเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ ตอนเหนือและตะวันออกรวม 7 เขต ได้แก่ สายไหม คลองสามวา บางเขน หนองจอก มีนบุรี ลาดกระบัง และคันนายาว ให้ขนของขึ้นที่สูงและเตรียมแผนอพยพอย่างรอบคอบ

            ทั้งนี้ กทม. ระบุว่า ถ้าหากประเมินแล้วพบว่าเหตุการณ์ไม่ปลอดภัยจะแจ้งเตือนประชาชนล่วงหน้า 12 ชั่วโมง และจะติดตามสถานการณ์ในพื้นที่ทุก ๆ 3 ชั่วโมง
 
           ต่อมา ในเวลา 16.30 น. ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการ กทม. ได้แถลงข่าวเป็นครั้งที่ 3 ระบุว่า ขณะนี้น้ำจากทางตอนเหนือของ กทม.เคลื่อนตัวลงมาเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งมีทั้งน้ำจากนิคมอุตสาหกรรมนวนคร และน้ำจากคลองระพีพัฒน์ โดยคาดว่าน้ำจะมาถึงคลองรังสิตในคืนวันพรุ่งนี้ (20 ต.ค.) และจะไหลลงมายังคลองสอง และคลองหกวา ในคืนวันศุกร์นี้ (21 ต.ค.)

           ด้วยเหตุนี้ ผู้ว่าฯ กทม.จึงสั่งเร่งเสริมคันกั้นน้ำที่เลียบคลองหกวาโดยด่วน โดยเพิ่มความสูงจากเป็น 3.5 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง จากเดิมกั้นที่ระดับ 2.5 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง พร้อมกับเพิ่มความหนาของกระสอบให้เป็นสามกระสอบด้วย คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จในวันพรุ่งนี้




อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
 




[18 ตุลาคม] พื้นที่ กทม.23 แห่งที่คาดว่าเสี่ยงน้ำท่วม


ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ บริพัตร

         ศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต ระบุว่าจะมีน้ำท่วมเพิ่มใน 23 แห่งของกทม.ภายใต้เงื่อนไขที่ว่า คันกั้นน้ำแตก พร้อมให้เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วม กทม.จนถึงปลายเดือนนี้


         แบบจำลองสถานการณ์น้ำท่วมของศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต แสดงให้เห็นว่ามวลน้ำขนาดใหญ่ที่กำลังไหลอยู่ทางตอนเหนือของ กทม. ที่อาจจะเข้าท่วมพื้นที่กทม.เพิ่มขึ้นอีก 23 แห่ง ภายใต้เงื่อนไขที่ว่าคันกั้นน้ำหรือพนังกันน้ำไม่สามารถกั้นน้ำ หรือคันกันน้ำแตก แต่เครื่องสูบน้ำทุกแห่ง ต้องทำงานได้จริง 

         โดย ฝั่งพระนครคาดว่าจะมีน้ำท่วม 6 แห่ง ได้แก่ ดอนเมือง หลักสี่ สายไหม บางคอแหลม ยานนาวา ยานนาวา และสาธร เนื่องจากเป็นพื้นที่ต่ำ น้ำท่วมขังได้ สูงประมาณ 1-2 เมตร ส่วนใหญ่ต่ำกว่า 1 เมตร
  
 

 

 




         ส่วนฝั่งธนบุรี คาดว่าจะมีน้ำท่วม 17 แห่ง ได้แก่ ตลิ่งชัน อรุณอัมรินทร์ บางพลัด บางขุนนนท์ บางขุนศรี จอมทอง บางประกอกในเขตราษฎร์บูรณะ บางขุนเทียน บางกอกใหญ่ บางกอกน้อย ธนบุรี บางแวกในเขตภาษีเจริญ หลักสอง บางแคและบางแคเหนือ และบางบอน เนื่องจากน้ำจากจังหวัดนครปฐม จังหวัดนนทบุรี อาจจะไหลบ่าล้นคันกั้นน้ำลงมาและไหลเข้าท่วมพื้นที่ได้
 


         ทั้งนี้ทีมข่าวไทยพีบีเอสลงพื้นที่เขตบางคอแหลม พบว่า ประชาชน ที่อาศัยอยู่ระหว่างแนวถนนเจริญกรุงกับแม่น้ำเจ้าพระยา ได้นำกระสอบทรายทำเป็นคันกั้นน้ำ ขณะที่บางคนก่อคันคอนกรีตถาวรไว้ป้องกันน้ำท่วม แม้ว่าชุมชนวัดลาดบัวขาวจะอยู่ในแนวคันกั้นน้ำถาวร แต่พบปัญหาว่ามีน้ำเอ่อล้นมาตามท่อระบายน้ำ และเข้าท่วมในบางจุดของชุมชนแห่งนี้ ซึ่งชาวชุมชนที่นี่ยังมองว่าเป็นเรื่องปกติเพราะเป็นสภาพที่เกิดขึ้นทุกปี แต่ไม่ประมาท และติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด

         ขณะ ที่เขตสาทรเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่ถูกคาดการณ์ว่าจะเกิดน้ำท่วม เนื่องจากมีพื้นที่ที่ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา ระยะทาง 945 เมตร ซึ่งมีบางพื้นที่ไม่มีแนวคันกั้นน้ำ จึงเป็นจุดเสี่ยงน้ำท่วม ซึ่งกระสอบทรายที่วางเป็นคันกั้นน้ำชั่วคราวซึ่งระดับเดียวกันกับคันกั้นน้ำ ถาวรของ กทม. เป็นแนวทางที่สำนักงานเขตสาทร มั่นใจว่าจะป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ได้ ขณะที่ปัจจัยของปริมาณน้ำฝน ก็เป็นสิ่งที่ทางสำนักงานเขตเป็นห่วง เพราะหากฝนตกหนักก็จะทำให้น้ำท่วมขังได้ แต่ น.ส.พรรณทิพา งามญาณ ผู้อำนวยการเขตสาทร ได้ทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่รวมถึงเตรียมแผนในการอพยพไว้แล้ว



ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก




ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ บริพัตร


เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก กองประชาสัมพันธ์กรุงเทพมหานคร

          ผู้ว่าฯ กทม. แถลง 3 แนวทางป้องกันน้ำท่วมเขตดอนเมืองและสายไหม หลังจากที่ไม่สามารถคุมปริมาณน้ำบริเวณคลอง 8 และ 9 ได้

          เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม เวลา 21.30 น. ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แถลงข่าวเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำท่วมว่า ขณะนี้ กทม. เตรียมดำเนินงาน เพื่อป้องกันพื้นที่ด้านเหนือของกรุงเทพฯ ได้แก่ เขตดอนเมืองและสายไหม ภายในเวลา 48 ชั่วโมง หลังจากที่พบว่าไม่สามารถควบคุมปริมาณน้ำบริเวณคลอง 8 ถึง คลอง 9 จ.ปทุมธานีได้ จึงส่งผลกระทบต่อคลองที่เชื่อมโยง ทำให้มีปริมาณน้ำสูงกว่า 3 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ซึ่งแผนการป้องกันจะดำเนินการ 3 แนวทาง ดังนี้

          1. เสริมแนวคันกั้นน้ำที่คลองหกวา จากเดิม 2.5 เมตร เป็น 3 เมตร ระยะทาง 6 กิโลเมตร โดยคาดว่าน่าจะใช้กระสอบทรายจำนวน 1.2 ล้านใบ

          2. สร้างแนวคันกั้นน้ำใหม่ ความสูง 3 เมตร ตามถนนประชาสำราญจากคลอง 8 ถึงคลอง 12 รวมระยะทาง 15 กิโลเมตร

          3. เดินทางไปตรวจสถานการณ์ที่ถนนพหลโยธิน ช่วงริมคลองรังสิตด้วยตัวเอง เพราะคิดว่าน่าจะมีน้ำท่วมตรงบริเวณนี้ โดยจะร่วมมือกับกรมทางหลวงชนบทในการปิดจุดอ่อน


          ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ กล่าวว่า ในภาวะเช่นนี้ไม่อยากให้ประชาชนตื่นตระหนก ถ้าหากมีความคืบหน้าทาง กทม. จะแจ้งให้ประชาชนรับทราบในทันที และขอให้ผู้อาศัยในเขตดอนเมืองและสายไหม นำของมีค่าขึ้นที่สูงไว้ก่อน







อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
    








[17 ตุลาคม] สุขุมพันธุ์ รับ กทม.ยังไม่ปลอดภัย-เขตสายไหมเสี่ยง
เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

 
         ผู้ว่าฯ กทม. เผยสถานการณ์น้ำในกรุงเทพมหานคร ยังไม่วิกฤติ แต่รับว่ายังไม่ปลอดภัย โดยเฉพาะเขตสายไหม บางจุด เตรียมเสริมแนวป้องกันเพิ่ม
 
         วันนี้ (17 ตุลาคม) ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวสรุปสถานการณ์น้ำท่วมว่า ขณะนี้สถานการณ์น้ำใน กทม.ยังถือว่าไม่วิกฤต แต่ก็ยอมรับว่ายังไม่ปลอดภัย โดยเขตที่น่าเป็นห่วงที่สุด คือ เขตสายไหม ที่ต้องเฝ้าระวังและประเมินสถานการณ์แบบวันต่อวัน เนื่องจากระดับน้ำในคลองสามวาและคลองหกวา เขตสายไหม มีปริมาณน้ำเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงได้สั่งการให้เพิ่มความสูงของแนวกระสอบทรายริมคลองหกวา อีก 50 เซนติเมตร รวมความสูงทั้งหมด 1.50 เมตร และเพิ่มระยะทางทั้งหมดรวมเป็น 7 กิโลเมตร

         พร้อมกันนี้ ผู้ว่าฯ กทม. ยังได้สั่งกรมโยธาฯ ยกระดับถนนสายไหม 85 เพิ่มอีก 30 เซนติเมตร ในระยะทาง 1 กิโลเมตร และถนนเลียบคลอง 2 สูงขึ้นอีก 30 เซนติเมตร ระยะทาง 1.25 กิโลเมตร เพื่อเป็นแนวคันกันน้ำ แทนการเรียงกระสอบทราย เพื่อลดปัญหาความขัดแย้งของประชาชนในพื้นที่เรื่องกระสอบทราย
 
         ด้านปัญหาพื้นที่น้ำท่วม กทม.ฝั่งตะวันออก ขณะนี้ได้เพิ่มกระสอบทราย 600,000 ใบ กระจายไปยังพื้นที่ต่าง ๆ โดยประชาชนสามารถร่วมบริจาคทรายได้ที่ศูนย์รับบริจาคของ กทม. หรือสำนักงานเขตทุกเขตแล้ว
 
         ส่วนสถานการณ์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา วัดที่ปากคลองตลาดในช่วงเช้าวันนี้ อยู่ที่ 1.56 เมตร ซึ่งต่ำกว่าคันกั้นน้ำ 1.24 เมตร  ส่วนปริมาณน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาและเขื่อนพระราม 6 อยู่ที่ 4,238 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งลดลงจากเมื่อวานนี้ (16 ตุลาคม)



 
http://www.krobkruakao.com/store/news/46104/1318745446.jpg



[16 ตุลาคม] ธีระ แถลงมวลน้ำก้อนใหญ่ไหลผ่าน กทม. ไปแล้ว

           รมว.เกษตรและสหกรณ์ นำทีมแถลงยันน้ำจากนครสวรรค์ก้อนใหญ่ไหลผ่าน กทม. ลงทะเลแล้ว สถานการณ์น้ำจากนี้จะเริ่มทรงตัว ก่อนมีน้ำทะเลหนุนสูงสุดอีกครั้งวันที่ 28-30 ตุลาคมนี้

           วันนี้ (16 ตุลาคม) ที่ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย หรือ (ศปภ.) นายธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แถลงถึง สถานการณ์น้ำในขณะนี้ว่า มวลน้ำสูงสุดจาก จ.นครสวรรค์ ได้ไหลผ่านกรุงเทพมหานครลงสู่ทะเลเรียบร้อยแล้ว ส่วนที่ต้องเฝ้าระวังของ จ.นครสวรรค์ คือ อ.บรรพตพิสัย และ อ.ชุมแสง แต่ระดับน้ำมีปริมาณลดลงเรื่อย ๆ

           ด้าน นายชลิต ดำรงศักดิ์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ระดับน้ำจากนี้ไปจะทรงตัว แต่ระหว่างวันที่ 28 ถึง 30  ตุลาคมนี้ จะมีน้ำทะเลหนุนสูงสุดอีกครั้ง จึงขอให้ประชาชนอย่าทำลายแนวคันกั้นน้ำ ส่วนคันกั้นน้ำที่อ่อนขอให้เสริมให้มีความแข็งแรงมากขึ้น

            ขณะ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ แสดงความมั่นใจว่า น้ำจะไม่ท่วมกรุงเทพฯ ค่อนข้างแน่นอน พร้อมกล่าวถึงการดำเนินงานของรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า เป็นไปตามแผนการที่วางไว้ และยืนยันว่า ศปภ. จะดำเนินการเพื่อช่วยเหลืออย่างเต็มกำลัง และจะชี้แจ้งข้อเท็จจริงให้ประชาชนทราบต่อไป



อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
 




[15 ตุลาคม] ปภ.ประกาศมีนบุรีเป็นเขตภัยพิบัติฉุกเฉินเฉพาะหน้า


น้ำท่วมมีนบุรี 

          ผอ.เขตมีนบุรี สรุปตัวเลขผู้ประสบอุทกภัย 35 ชุมชน 4,000 กว่าครัวเรือน ขณะที่ ปภ.ประกาศให้เป็นพื้นที่ภัยพิบัติฉุกเฉินเฉพาะหน้าแล้ว

          นายอรุณ พ่วงสมบัติ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตมีนบุรี สรุปถึงผลกระทบสถานการณ์น้ำท่วมในเขตมีนบุรี ว่า ขณะนี้มีชุมชนที่ได้รับผลกระทบ 35 ชุมชน รวมจำนวนทั้งสิ้น 4,636 ครอบครัว รวมถึงพื้นที่เกษตรกรรม ได้รับความเสียหายแล้ว จำนวน 1,390 ไร่ จากเกษตรกร 194 ราย ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ การเดินทาง ได้รับความเดือดร้อน

          ทั้งนี้ ทางสำนักงานเขตมีนบุรี ก็ได้มีการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยการแจกถุงยังชีพ ยาเวชภัณฑ์ ทราย กระสอบทราย ทำสะพานไม้ชั่วคราว เพื่อช่วยในการบรรเทาทุกข์ของประชาชน นอกจากนี้ทางกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ประกาศให้เขตมีนบุรีเป็นพื้นที่ภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินเฉพาะหน้าอีกด้วย


คนเมืองตื่นแห่ โทร 191 ถามน้ำทะลักกรุง





           ประชาชนตื่นตระหนกน้ำทะลักกรุง โทรสายด่วน 191 ถามสถานการณ์ ขณะสายโทรป่วนลดลง

           พ.ต.อ.ณภัทร จุลละบุษปะ รองผู้บังคับการกองบังคับสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ (191) เปิดเผยถึงข้อมูลเบอร์สายด่วน 191 ในช่วงสถานการณ์น้ำท่วม ตั้งแต่วันที่ 9 ตุลาคม ที่ผ่านมา มีประชาชนโทรเข้ามาสอบถาม แจ้งข่าวสาร ข้อมูล เกี่ยวกับสถานการณ์น้ำท่วมแล้วกว่า 700 ราย โดยส่วนใหญ่เป็นการโทรแจ้งเรื่องน้ำท่วม โดยเฉพาะในพื้นที่ชุมชนที่เดือดร้อน 28 ชุมชน รวม 14 เขต ซึ่งทั้งหมดอยู่ในพื้นที่นอกแนวคันกั้นน้ำของ กทม. ทั้งนี้ จะเป็นการสอบถามเรื่องทั่ว ๆ ไป ส่วนใหญ่สอบถามว่าน้ำจะท่วมกรุงเทพหรือไม่ เส้นทางที่น้ำท่วม หรือสอบถามว่าเมื่อไหร่น้ำจะลด ซึ่งสายที่โทรสอบถาม ส่วนหนึ่งจะมีความตื่นตระหนก จากการบริโภคข่าวสารของประชาชน แต่ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี ว่าพี่น้องประชาชนมีการเตรียมความพร้อม เรื่องการขนย้ายสิ่งของหนีน้ำ หรือสถานที่ ที่จอดรถหากเกิดน้ำท่วม

           นอกจากนี้ พ.ต.อ.ณภัทร ระบุว่า ในช่วงที่มีสถานการณ์น้ำท่วมเกิดขึ้น พบว่า สายก่อกวนโทรแจ้งเท็จยังมีอยู่ถึง 2 พันกว่ารายต่อวัน แต่ถือว่าเป็นสถิติที่น้อยลงกว่าเดิม ส่วนสาเหตุนั้น คาดว่า สายที่โทรก่อกวนอาจจะมีจิตสำนึกมากขึ้น หลังจากที่เห็นว่าพี่น้องประชาชนคนไทยส่วนใหญ่ ต้องประสบกับความเดือดร้อนจากอุทกภัย

           ขณะที่สายแจ้งปัญหาอาชญากรรมนั้นลดลง จะมีก็เพียงการจี้ ชิง ปล้นธรรมดา ๆ เท่านั้น และ จนถึงขณะนี้ ยังไม่มีสายการแจ้งการถูกโจรกรรมซ้ำเติมของชาวบ้านที่ถูกน้ำท่วม แต่อย่างใด

           อย่างไรก็ตาม ต้องวอนเรียนพี่น้องประชาชน ให้ช่วยแจ้งเบาะแสเรื่องน้ำท่วม เช่น หากพบคันกั้นน้ำชำรุด ก็ให้แจ้ง 191 ได้ทันที เนื่องจากเจ้าหน้าที่อาจจะดูแลได้ไม่ทั่วถึง และช่วยสอดส่องปัญหาอาชญากรรมในช่วงดังกล่าวด้วย อีกทั้งในส่วนของ 191 เอง ก็ได้ตั้งศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือน้ำท่วม และจัดหน่วยเคลื่อนที่เร็ว พร้อมกันนี้ยังพร้อมให้การช่วยเหลือบริการรถเสียจากน้ำท่วม อีกด้วย








 [ 14 ตุลาคม] น้ำทะเลหนุนสูงสุดพรุ่งนี้ กทม. รับมือได้

           รองผู้ว่าฯ กทม. เผย วันพรุ่งนี้น้ำทะเลหนุนสูงสุด 2.20-2.30 เมตร ถือว่าเป็นระดับฉุกเฉินปานกลาง ยันรับมือได้

          วันนี้ (14 ตุลาคม) นายพรเทพ เตชะไพบูลย์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ในวันพรุ่งนี้ (15 ตุลาคม) น้ำทะเลจะหนุนสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 2.20-2.30 เมตร ขณะนี้สถานการณ์ถือว่าอยู่ระดับฉุกเฉินปานกลาง

          ทั้งนี้ กรุงเทพมหานคร ได้เตรียมเจ้าหน้าที่ 5 พันคน ในการเร่งระบายน้ำไว้แล้ว และหากผ่านช่วงวันที่ 15-17 ตุลาคมนี้ ที่น้ำทะเลหนุนสูงไปได้ สถานการณ์จะคลี่คลาย ส่วนที่มีการประกาศพื้นที่ภัยพิบัติฉุกเฉินเฉพาะหน้า 17 เขตใน กทม. เป็นเพียงจุดที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษเท่านั้น
 






น้ำท่วมกรุงเทพ
 


[13 ตุลาคม] ผอ.สำนักระบายน้ำกทม.ยันน้ำกทม.ยังปกติ (ไอเอ็นเอ็น)

          ผอ.สำนักการระบายน้ำ กทม. ชี้ กทม. ยังปลอดภัยดี แต่ยอมรับ หากฝนตกหนักช่วงที่น้ำเหนือ และน้ำทะเลหนุนสูง 14-18 ต.ค. อาจส่งผลให้ กทม. เสี่ยงน้ำท่วมสูง

          นายสัญญา ชีนิมิตร ผอ.สำนักการะบายน้ำ กล่าวยืนยันว่า ขณะนี้ กรุงเทพมหานคร สถานการณ์ยังอยู่ในภาวะปกติ พื้นที่ของ กทม. ไม่มีปัญหา นอกจาก ชุมชนแนวคันกั้นน้ำที่ได้รับผลกระทบ อีกทั้ง กรมชลประทาน ได้ดูแลและระบายน้ำลงคลองแสนแสบ คลองประเวศ และพยายามกระจายน้ำออกไป ส่วนต่าง ๆ ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าว พยายามสอบถามว่า ตอนนี้ กทม. เสี่ยงน้ำท่วมหรือไม่ ผอ.การระบายน้ำ ยืนยันว่า ตอนนี้กรุงเทพมหานคร ยังปลอดภัยดี แม้จะมีความเสี่ยงจากน้ำฝน แต่ระบบการระบายน้ำก็ทำได้ดี ขณะที่ แนวคันกั้นน้ำที่ กทม. ได้ดำเนินการก่อสร้างและมีความยาวกว่า 77 กม. ความสูง 2.50 ซ.ม. ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ก็ยังมีระดับสูงกว่า

          อย่างไรก็ตาม สำหรับมวลน้ำก้อนใหญ่ ประกอบกับน้ำทะเลหนุนสูง ระหว่างวันที่ 14-18 ต.ค.นี้นั้น จะส่งผลกระทบต่อกรุงเทพชั้นในหรือไม่นั้น จำเป็นต้องดูว่า น้ำฝนมีจำนวนมากน้อยเพียงใด ซึ่งปริมาณน้ำเหนือนั้น ก็ได้มีการประสานกับทางกรมชลประทาน เพื่อให้ทราบจำนวนที่ถูกต้องมาโดยตลอด ทั้งนี้ ยอมรับว่า หากฝนตกลงมามากเท่าใด ย่อมมีความเสี่ยงมาก





[12 ตุลาคม] ผู้ว่าฯ รับ กทม.เสี่ยงท่วมทุกจุด เตือนเฝ้าระวัง 24 ชม.





เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
  
        ผู้ว่าฯ กทม. ยอมรับทุกพื้นที่ของ กทม. เสี่ยงท่วมทุกจุด เตือนให้เฝ้าระวังตลอด 24 ชั่วโมง

        วันนี้ (12 ตุลาคม) ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมอย่างใกล้ชิด โดยได้ลงพื้นที่เขตทวีวัฒนา ที่น้ำได้เข้าท่วมที่อยู่อาศัยประชาชนเป็นบางส่วนแล้ว ซึ่งคลองทวีวัฒนานั้น สามารถรองรับน้ำได้อีกเพียง 50 เซนติเมตรเท่านั้น และขณะนี้กำลังเร่งระบายออกสู่คลองมหาสวัสดิ์

         ทั้งนี้ หลังการร่วมประชุมกับนายกรัฐมนตรี ได้มีมติให้เพิ่มการระบายน้ำในคลองทวีวัฒนา เพื่อรองรับน้ำจาก จ.นนทบุรี และ จ. ปทุมธานี เพิ่มเติม รวมไปถึงสั่งการให้กองทัพเรือ และกองทัพบก เสริมกระสอบทรายเพิ่มอีก 50 เซนติเมตร ตั้งแต่แนวคันกั้นน้ำคลองทวีวัฒนา จนถึงคลองมหาสวัสดิ์

       ขณะเดียวกัน ทางกรุงเทพมหานคร ก็ได้เร่งระบายน้ำในคลองแสนแสบ และคลองประเวศโดยผ่านอุโมงค์ระบายน้ำพระโขนง เพื่อระบายลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา และออกสู่ทะเลต่อไป ทั้งนี้เพื่อรองรับน้ำฝนที่จะตกเพิ่มอีกในช่วง 16-18 ตุลาคมนี้

        อย่างไรก็ตาม ทางผู้ว่าฯ กทม. ออกมายอมรับว่า ทุกพื้นที่ของกรุงเทพฯ มีความเสี่ยงต่อน้ำท่วมทุกจุด เพื่อความไม่ประมาท ให้ประชาชนติดตามข่าว และเฝ้าระวังตลอด 24 ชั่วโมง

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก



[11 ตุลาคม] กรุงเทพฯ เตรียมแผนอพยพประชาชน 9 เขต





เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก ครอบครัวข่าว 3

          จากสถานการณ์น้ำท่วมทั่วทั้งภาคกลาง ทำให้หลายฝ่ายวิตกกังวล เพราะเกรงว่าน้ำจะไหลทะลักเข้ามาท่วมกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นพื้นที่ตอนปลายของแม่น้ำเจ้าพระยา ก่อนจะไหลลงสู่อ่าวไทย อีกทั้งระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่ไหลจากภาคเหนือและภาคกลางตอนบนมายัง กรุงเทพฯ ก็มีปริมาณสูงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ นั้น

          เกี่ยวกับเรื่องนี้ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้กล่าวว่า กรุงเทพฯ ยังสามารถรับมือกับน้ำได้อยู่ ถึงแม้ว่าปริมาณน้ำในคลองจะสูงขึ้น แต่ยังอยู่ในระดับปกติ จึงอยากขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนก และทางกรุงเทพฯ ก็ไม่ประมาท โดยได้สั่งการทุกสำนักงานเขตเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เนื่องจากน้ำเหนือที่ระบายลงมา น้ำทะเลหนุนสูงสุด และปริมาณน้ำฝน จึงต้องจับตาใกล้ชิด โดยเฉพาะช่วง 16 - 18 ตุลาคมนี้

          พร้อมกันนี้ ทางกรุงเทพฯ ต้องจับตาเฝ้าระวังจุดเสี่ยง 27 ชุมชน นอกแนวเขื่อนกั้นน้ำ และพื้นที่ฝั่งตะวันออกของกรุงเทพฯ พร้อมเตรียมแผนอพยพประชาชนไปยังโรงเรียนฝึกอาชีพของกรุงเทพฯ ทั้ง 10 แห่ง อีกทั้งยังเปิดศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจแก้ไขปัญหาและช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ในพื้นที่กรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออก โดยเร่งให้วางระบบรับมือต่าง ๆ

          อย่างไรก็ตาม ล่าสุดวันนี้ (11 ตุลาคม) ทางกรุงเทพฯ เตรียมแผนอพยพประชาชน 9 เขตแล้ว เนื่องจากคาดว่าอาจจะเกิดน้ำท่วมได้ ดังนี้

          1. เขตคลองสามวา
          2. เขตหนองจอก
          3. เขตคันนายาว
          4. เขตบึงกุ่ม
          5. เขตบางกะปิ
          6. เขตสะพานสูง
          7. เขตประเวศ
          8. เขตลาดกระบัง
          9. เขตมีนบุรี


          ส่วนพื้นที่ในกรุงเทพฯ ที่น้ำเข้าท่วมบางส่วนใน 11 เขตเตือนภัยของ กทม.แล้ว ได้แก่

          1. เขตบางแค
          2. เขตคลองสามวา
          3. เขตภาษีเจริญ
          4. เขตทวีวัฒนา
          5. เขตสายไหม
          6. เขตบางเขน
          7. เขตมีนบุรี
          8. เขตหนองจอก
          9. เขตตลิ่งชัน
          10. เขตคันนายาว
          11. เขตลาดกระบัง

          โดยบริเวณชุมชนตลาดมีนบุรี บ้านเรือนของประชาชนที่อยู่อาศัยบริเวณริมคลอง ระหว่างคลองสามวาและคลองแสนแสบนั้น ขณะนี้น้ำล้นตลิ่ง เอ่อเข้าท่วมจนถึงหน้าบ้านแล้ว ทำให้ชาวบ้านต้องนำกระสอบทรายที่ได้รับแจกจากสำนักงานเขต ทำเป็นที่กั้นน้ำไว้ แต่เนื่องจากกระสอบทรายที่เขตมีนบุรีแจกจ่ายไปให้พี่น้องประชาชน ครัวเรือนละ 25 ถุง ไม่เพียงพอ ขณะนี้เหลือเพียง 10 เซนติเมตรเท่านั้น น้ำก็จะเข้าไปภายในตัวบ้านแล้ว



อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
รายการเรื่องเล่าเช้านี้ ช่อง 3




[9 ตุลาคม] กทม. สั่งจับตาปริมาณน้ำเหนือ 15-18 นี้ 





กทม. สั่งจับตาปริมาณน้ำเหนือ 15-18 นี้ (ไอเอ็นเอ็น)


          กรุงเทพมหานคร จับตาปริมาณน้ำเหนือ 15-18 ต.ค.นี้ พร้อมเตรียมอพยพประชาชนในพื้นที่เสี่ยง หากเกิดวิกฤติน้ำท่วมกรุง โดย สนง.พัฒนาสังคม เตรียมสถานที่พักไว้พร้อมแล้ว

          ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังการประชุมเพื่อติดตามสถานการณ์น้ำ และได้เตรียมแผนป้องกันอพยพผู้ประสบภัยน้ำท่วมฉับพลันในพื้นที่เสี่ยงของกรุงเทพมหานคร โดยได้ให้สำนักงานเขตเฝ้าระวังตรวจสอบกระสอบทรายที่เป็นแนวเสริมคันกั้นน้ำ ความยาว 86 กิโลเมตร ทั้งแบบถาวรและชั่วคราว ให้อยู่ในสภาพที่แข็งแรง สามารถรับกับน้ำที่จะเพิ่มปริมาณสูงขึ้น

          โดยสำนักการระบายน้ำ คาดการณ์ว่า สัปดาห์หน้าจะมีปริมาณน้ำเหนือมวลใหญ่เข้าสู่พื้นที่กรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 15-18 ตุลาคมนี้ อาจทำให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาและคลองต่าง ๆ เพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับกรมอุตุนิยมวิทยาได้มีการคาดการณ์ว่าจะมีร่องความกดอากาศต่ำยังคงอยู่ในพื้นที่ กทม. ซึ่งจะทำให้มีฝนตกปริมาณมากช่วง 2-3 วันนี้ จึงต้องเฝ้าระวังพื้นที่นอกคันกั้นน้ำ 27 ชุมชน ใน 13 เขต รวมถึงพื้นที่ฝั่งตะวันออกของ กทม. และถนนสายหลักที่เป็นจุดอ่อนน้ำท่วม เช่น ถนนวิภาวดีรังสิต รามอินทรา บางกะปิ รวมถึงพื้นที่ทางฝั่งตะวันออกทั้งหมด โดยเบื้องต้น ให้สำรองโรงเรียนในสังกัดเป็นที่รองรับ เนื่องจากขณะนี้อยู่ในช่วงปิดเทอม โดยสำนักพัฒนาสังคมกทม. ได้มีการเตรียมสถานที่พัก เครื่องนอน อาหาร และอุปกรณ์ ยารักษาโรค ห้องน้ำ และอุปกรณ์ดำรงชีพไว้พร้อมแล้ว

          ส่วนพื้นที่ฝั่งเหนือของ กทม. ที่ติดกับ จ.ปทุมธานี ขณะนี้ได้มีการเสริมกระสอบทรายเพิ่มขึ้น พร้อมส่งเจ้าหน้าที่เข้าร่วมประสานงานกับท้องถิ่นในจังหวัดปทุมธานี เพื่อช่วยป้องกันน้ำในคลองเอ่อล้นในพื้นที่ จ.ปทุมธานี และไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่เขตดอนเมือง หลักสี่ และสายไหม






[8 ตุลาคม] เตือน!!! 15 พื้นที่่กรุงเทพฯ เสี่ยงน้ำท่วมหนัก











เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม


          เตือน! พื้นที่่ กทม.ชั้นใน  15 จุด เสี่ยงน้ำท่วม ทั้ง สาทร ลาดพร้าว ดินแดง ยันบางแค

          สถานการณ์น้ำท่วมในหลายจังหวัดยังน่าเป็นห่วง ขณะที่ กรุงเทพฯ ยังคงต้องจับตาดูกันอย่างใกล้ชิด เนื่องจากว่ามีฝนตกหนักตลอดทั้งคืนที่ผ่านมา (7 ตุลาคม) ประกอบกับน้ำจากทางภาคเหนือจะไหลบ่าทะลักลงมากรุงเทพฯ และน้ำทะเลหนุนสูง ในช่วง 2-3 วันนี้ จึงอาจจะทำให้พื้นที่เมืองหลวงของประเทศไทยจมอยู่ใต้บาดาล!!! 

          โดยเกี่ยวกับเรื่องนี้  นายสัญญา ชีนิมิตร ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้ออกมาเปิดเผยว่า จาก การที่ฝนตกหนัก น้ำเหนือ และน้ำทะเลหนุน จะทำให้กรุงเทพฯ พื้นที่ชั้นใน 15 แห่งเป็นจุดที่เสี่ยงต่อน้ำท่วมมากที่สุด ซึ่งทั้ง 15 จุดเสี่ยงได้แก่

          1. เขตสาทร ย่านถนนจันทร์ เซนต์หลุยส์ สาธุประดิษฐ์
          2. เขตพญาไท ถนนพหลโยธิน ช่วงคลองสามเสน-คลองบางซื่อ
          3. เขตพระโขนง ถนนสุขุมวิท จากคลองพระโขนง-ซอยลาซาล
          4. เขตวัฒนา ซอยสุขุมวิท 39 และ 49
          5. เขตวังทองหลาง ถนนลาดพร้าว จากคลองลาดพร้าว-ห้างเดอะมอลล์
          6. เขตบึงกุ่ม ถนนนวมินทร์ จากคลองดอนอีกา-แยกถนนประเสริฐมนูกิจทั้งสองฝั่ง
          7. เขตดินแดง ถนนรัชดาภิเษก หน้าห้างโรบินสัน
          8. เขตจตุจักร ถนนรัชดาภิเษก แยกลาดพร้าว
          9. เขตราชเทวี ถนนเพชรบุรี จากถนนบรรทัดทอง-แยกราชเทวี
          10. เขตราชเทวี ถนนนิคมมักกะสัน
          11. เขตราชเทวี ถนนพระรามที่ 6 หน้าตลาดประแจจีน
          12. เขตบางแค ถนนเพชรเกษม ซอย 63 (ซอยวัดม่วง)
          13. เขตยานนาวา ถนนเย็นอากาศ จากถนนนางลิ้นจี่- ซอยศรีบำเพ็ญ
          14. เขตประเวศ ถนน ศรีนครินทร์ ช่วงคลองตาสาด-คลองตาช้าง
          15. เขตพระนคร ถนนสนามไชยและถนนมหาราช











ฝนตกหนัก กทม.น้ำขังหลายจุด (ไอเอ็นเอ็น)

          ฝนตกหนัก ตลอดทั้งคืน ส่งผลให้ หลายพื้นที่ กรุงเทพฯ มีน้ำท่วมขัง เจ้าหน้าที่ เร่งระบายน้ำ

          เมื่อคืนวันที่่ 7 ตุลาคมที่ผ่านมา มีฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งคืน ส่งผลให้ในหลายพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร เกิดน้ำท่วมขังและยังไม่สามารถระบายได้ทัน อาทิ ถ.รัชดาภิเษก ตัด ถ.ลาดพร้าว ต่อเนื่องหน้าศาลอาญา ระดับน้ำท่วมสูงเกินกว่าริมฟุตบาท ถ.ประชาสงเคราะห์ ถ.ประดิษฐ์มนูธรรม ถ.งามวงศ์วาน ช่วงแยกพงษ์เพชร มีน้ำท่วมขังสูง และมีรถยนต์จอดเสียหลายคัน และรถเล็กไม่สามารถผ่านได้ ถ.ลาดพร้าว ทั้งขาเข้าและขาออก ช่วง ซ.ลาดพร้าว 71 น้ำท่วมระดับฟุตปาธ ถ.รามคำแหง 43/1 มีน้ำท่วมขัง ท่วมระดับล้อรถเก๋ง จาก 5 แยกลาดพร้าว มุ่งหน้า แยกรัชโยธิน มีน้ำท่วมขังถึงริมฟุตปาธ รถวิ่งได้เลนขวาเลนเดียว ถ.นวมินทร์ ช่วงหน้า ร.ร.บ้านบางกะปิ น้ำท่วมสูงระดับฟุตปาธ บริเวณเมืองทองธานี มีน้ำท่วมขังสูงประมาณ 30-50 ซ.ม. ถ.พหลโยธิน ช่วงแยกเกษตร น้ำท่วมฟุตปาธ มองไม่เห็นทางเดินแล้ว

          ด้าน นายสัญญา ชีนิมิตร ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ กล่าวถึง การเร่งระบายน้ำในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ว่า เจ้าหน้าที่ ได้นำเครื่องสูบน้ำไปติดตั้งในพื้นที่ ที่มีน้ำท่วมขังแล้ว แต่เนื่องจาก ฝนยังคงตกลงมาอย่างต่อเนื่อง น้ำจึงยังไม่สามารถระบายได้ทัน ขณะที่ เรือในคลองแสนแสบ ยังเดินเรือตามปกติ แต่จะช้ามาก เพราะระดับน้ำเพิ่มสูง ไม่สามารถใช้ความเร็วได้มากนัก








จับตา! น้ำท่วมกรุงเทพ วันนี้พร้อมรับมือหรือยัง?


[7 ตุลาคม]จับตา! น้ำท่วมกรุงเทพ วันนี้พร้อมรับมือหรือยัง?

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก facebook ศูนย์ป้องกันน้ำท่วม กรุงเทพมหานคร, ครอบครัวข่าว3

          จากข่าวอุทกภัยที่เกิดขึ้น ก็ทำให้ชาวกรุงเทพมหานครที่อยู่ในพื้นที่ตอนปลายของแม่น้ำเจ้าพระยาอดอกสั่น ขวัญแขวนไปไม่ได้ เพราะขณะนี้มวลน้ำเหนือปริมาณมหาศาลกำลังเดินทางมารวมกันที่แม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อจะไหลลงสู่อ่าวไทย ซึ่งก็ทำให้ทุกวันนี้ ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่ไหลผ่านในเขตกรุงเทพมหานครเพิ่มสูงขึ้นอย่าง มาก จนไหลท่วมทะลักในชุมชนบางแห่งที่อยู่นอกคันกั้นน้ำแล้ว โดยเฉพาะที่เขตลาดกระบัง หนองจอก และมีนบุรี

          ขณะที่ในพื้นที่ที่อยู่ติดริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เจ้าหน้าที่และชาวบ้านต่างก็เร่งเสริมกระสอบทรายกั้นน้ำอย่างรีบเร่ง เนื่องจากกรมชลประทานออกมาคาดการณ์ว่า ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาจะเพิ่มสูงขึ้นกว่านี้อีก จากมวลน้ำเหนือซึ่งคาดว่าจะไหลลงมาสู่แม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ในช่วงวันที่ 16-17 ตุลาคมนี้ และเป็นเวลาเดียวกับที่น้ำทะเลหนุนสูงที่สุดในรอบปีพอดิบพอดี (13-18 ตุลาคม) ซึ่งจะทำให้สถานการณ์อุทกภัยในกรุงเทพมหานคร ปทุมธานี และนนทบุรี น่าวิตกกว่าปัจจุบัน

          และที่ยิ่งทำให้คนกรุงหายใจไม่ทั่วท้อง ก็เพราะมีข้อมูลภาพแสดงระดับพื้นดินของกรุงเทพมหานคร เปรียบเทียบกับระดับน้ำเจ้าพระยา ถูกเผยแพร่ในเฟซบุ๊กของ "ศูนย์ป้องกันน้ำท่วม กรุงเทพมหานคร" ซึ่งแสดงให้เห็นว่า พื้นดินหลายจุดของกรุงเทพมหานครทรุดต่ำกว่าระดับน้ำแล้วกว่า 2 เมตร แต่ที่น้ำยังไม่ท่วมเพราะมีคันกันน้ำในพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ หัว กั้นไว้อยู่ทางพื้นที่ฝั่งตะวันออกของกรุงเทพมหานคร คนกรุงในพื้นที่ชั้นในจึงยังอยู่รอดปลอดภัยมาถึงทุกวันนี้

          คำถามที่เกิดขึ้นก็คือ แล้วกรุงเทพมหานครจะสามารถรับมือกับน้ำท่วมได้มากเพียงใด? เพราะเพียงแค่พายุฝนที่ถล่มหนักในช่วงค่ำของวันที่ 5 ตุลาคมที่ผ่านมา ก็ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมขังสูงบริเวณถนนวิภาวดี-รังสิต ฝั่งขาเข้า จนการจราจรเป็นอัมพาตนานกว่า 7 ชั่วโมงแล้ว แสดงให้เห็นว่า การระบายน้ำในพื้นที่กรุงเทพมหานครมีปัญหา และยิ่งได้ฟังข่าวอุทกภัยทุกวัน ๆ ก็ทราบดีว่า น้ำท่วมปีนี้มีปริมาณมากกว่าปีที่ผ่าน ๆ มา 

          แล้วจะเกิดอะไรขึ้น? หากระบบการป้องกัน และการระบายน้ำยังไม่สามารถทำงานได้ดีพอ ในวันที่น้ำหลากมาถึง!!!

          อย่างไรก็ตาม เมื่อตรวจสอบจากข้อมูลปริมาณน้ำที่ไหลเข้าสู่พื้นที่กรุงเทพมหานคร ณ วันที่ 6 ตุลาคม จะพบว่า ขณะนี้มีน้ำไหลเข้าสู่แม่น้ำเจ้าพระยาในกรุงเทพมหานคร เฉลี่ย 4,300 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และมีระดับน้ำสูงอยู่ที่ 1.8 เมตรจากระดับน้ำทะเล ซึ่งทางกรุงเทพมหานครก็ได้เร่งระบายน้ำออกไปทางจังหวัดสมุทรปราการแล้ว

          โดยทางศูนย์ป้องกันน้ำท่วมก็มั่นใจว่า หากน้ำไหลเข้าสู่พื้นที่กรุงเทพมหานครถึง 5,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ก็ยังสามารถรับมือได้ แม้จะทำให้ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นเป็น 2.30 เมตรจากระดับน้ำทะเล แต่ก็ยังไม่เกินแนวคันกั้นน้ำที่กรุงเทพมหานครเตรียมพร้อมรับมือไว้อย่างแน่ นอน

          จากสภาพการณ์ดังกล่าวสามารถประเมินได้ว่า พื้นที่นอกแนวคันกั้นน้ำของกรุงเทพมหานครคงไม่แคล้วที่จะต้องเผชิญกับ สถานการณ์อุทกภัยครั้งรุนแรงเป็นแน่ ดังนั้น ผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวต้องติดตามฟังข่าวอย่างใกล้ชิด เพื่อจะได้เตรียมรับมือทัน ส่วนพื้นที่ชั้นในกรุงเทพมหานครนั้น คงต้องมาจับตาดูกันว่า มาตรการการป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพมหานครในปีที่มีน้ำปริมาณมหาศาลเช่นนี้ จะช่วยป้องกันไม่ให้เขตเมืองหลวงจมน้ำได้มากน้อยแค่ไหน




อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
, , , สำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร



[1 ตุลาคม] ผู้ว่าฯ กทม.รับห่วงน้ำท่วม แต่มั่นใจรับมือได้

น้ำท่วม


เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก ครอบครัวข่าว 3

          ผู้ว่าฯ กทม. รับห่วงน้ำท่วม กทม. เหตุฝนตกหนัก น้ำในเขื่อนหลักเกินความจุแล้ว แต่เตรีมยพร้อมรับมือไว้แล้ว ขอประชาชนอย่าตื่นตระหนก

          เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม. ได้เดินทางมายังโรงเรียนเจริญวิทยาศึกษา ริมสะพานข้ามคลองเปรมประชา เขตดอนเมือง เพื่อตรวจแผนมาตรการรับมือน้ำท่วม ภายหลังเกิดข่าวลือว่าเขตดอนเมืองได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำท่วม โดยมีชาวบ้านเข้ามารับฟังและรับแจกถุงยังชีพ

          ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมามีคำเตือนจากหลายหน่วยงานโดยระบุว่า กทม.จะเกิดน้ำท่วม ซึ่งตนก็พร้อมรับฟังข้อคิดเห็น แต่ กทม.ได้เตรียมพร้อมมาโดยตลอด โดยสั่งให้เจ้าหน้าที่เฝ้าระวังสถานการณ์ตลอด 24 ชั่วโมง ถึงแม้อาจจะมีฝนตกหรือน้ำเหนือเข้ามาก็ขอให้คน กทม.อย่าตื่นตระหนก โดยเฉพาะคนที่อยู่ดอนเมือง เพราะ กทม.ยังควบคุมสถานการณ์ได้ แต่หากเกิดสภาวะมีปริมาณน้ำฝนและน้ำทะเลหนุน กทม.ก็จะมีสิทธิถูกน้ำท่วมได้เช่นกัน เพราะต้องยอมรับว่า กทม.เป็นพื้นที่ราบลุ่ม แต่ทาง กทม.ก็จะเร่งผันน้ำลงทะเลโดยเร็วที่สุด

          อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้ปริมาณน้ำในเขื่อนหลักมากกว่าทุกปี และเกินความจุไปแล้ว เช่น เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ทาง กทม. จึงต้องเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิดตลอดเดือนตุลาคมนี้ เพราะยังเป็นช่วงของฤดูฝน ประกอบกันในช่วงวันที่ 4-5 ตุลาคมนี้จะมีพายุดีเปรสชั่นเข้ามาอีก
         
          ทั้งนี้ เมื่อช่วงเช้าวันที่ 1 ต.ค.ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลทำให้น้ำเอ่อเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนในพื้นที่ริมคลองรังสิตประยูรศักดิ์ บริเวณ ต.หลักหก ต.บ้านใหม่ ต.บางพูน อ.เมืองฯ จ.ปทุมธานี ซึ่งเป็นคลองรอยต่อกับแม่น้ำเจ้าพระยา โดยเฉพาะที่ประตูระบายน้ำจุฬาลงกรณ์ ตลาดรังสิต ต.ประชาธิปัตย์ อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี ระดับน้ำบริเวณประตูระบายน้ำเพิ่มสูงขึ้นจนปริ่มแนวคันกั้นเดิม

          เจ้าหน้าที่เทศบาลนครรังสิตต้องประกาศรวมกำลังชาวบ้านในพื้นที่เร่งช่วยกันกรอกกระสอบทราย เพื่อนำไปเสริมแนวคันกั้นบริเวณรอบประตูระบายน้ำจุฬาลงกรณ์อย่างเร่งด่วน เสริมสูงเพิ่มอีกประมาณ 30-50 ซม. เพื่อจะได้สามารถรับน้ำที่เพิ่มสูงขึ้นไม่ให้เข้าท่วมเมืองเศรษฐกิจย่านรังสิต


อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก




[1 ตุลาคม] แจงภาพน้ำท่วมรังสิต ที่แท้อุทกภัยนิวออร์ลีนส์ ปี 2005

อุทกภัยนิวออร์ลีนส์

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก en.wikipedia.org

          ชาวเน็ตส่งต่อภาพน้ำท่วมรังสิต ที่แท้อุทกภัยครั้งประวัติศาสตร์ของเมืองนิวออร์ลีนส์ ปี 2005 หลังพายุเฮอริเคนแคทรีนาพัดถล่ม

          หลังจากเมื่อวานที่ 29 กันยายน มีข่าวน้ำจากคลองรังสิตทะลักเข้าคลองเปรมเปรมประชากร ท่วมถนนโลคัลโรด จนทางเทศกิจเขตดอนเมือง ต้องส่งเจ้าหน้าที่มาช่วยจำนวน 40 นาย และทหารจาก ปตอ.พัน 7 จำนวน 60 นาย มาช่วยป้องกันน้ำเข้าท่วมในเขตกรุงเทพฯ ทำให้มีการส่งต่อรูปภาพน้ำท่วมรังสิตกันไปในโลกของโซเชียลเน็ตเวิร์ค ทั้งเฟซบุ๊ก และทวิตเตอร์ เพื่อส่งข่าวบอกเพื่อนพ้องให้เตรียมรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วมที่อาจมาเยือน กทม. ในเร็ววัน

          แต่ทว่า ภาพน้ำท่วมรังสิตบางภาพที่ถูกส่งต่อกันนั้น กลับเป็นความเข้าใจผิด เมื่อภาพที่ปรากฏอยู่นี้ เป็นภาพเหตุการณ์น้ำท่วมที่เมืองนิวออร์ลีนส์ ในรัฐลุยเซียนา เมื่อปี 2005 หลังจากพายุเฮอร์ริเคนแคทรีนาพัดถล่มครั้งร้ายแรง หรือนับได้ว่าเป็นอุทกภัยครั้งประวัติศาสตร์ของสหรัฐอเมริกาเลยทีเดียว



[29 กันยายน] เผย 13 พื้นที่ กทม.เสี่ยงน้ำท่วม-น้ำทะลักเข้าคลองเปรมฯ แล้ว



น้ำคลองรังสิต ทะลักท่วมเขตดอนเมือง

น้ำคลองรังสิต ทะลักท่วมเขตดอนเมือง

น้ำคลองรังสิต ทะลักท่วมเขตดอนเมือง

น้ำคลองรังสิต ทะลักท่วมเขตดอนเมือง

น้ำคลองรังสิต ทะลักท่วมเขตดอนเมือง


เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก ครอบครัวข่าว 3

          สทอภ.ชี้ 13 พื้นที่ กทม. เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน ขณะที่น้ำจากคลองรังสิตทะลักเข้าคลองเปรมประชากร เขตดอนเมืองแล้ว ทหารเข้าช่วยเหลือเร่งด่วน ส่วนที่ปทุมฯ น้ำท่วมถนน ทำรถติดยาวหลายกิโล

          วานนี้ (28 กันยายน) ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ สทอภ. (GISTDA) หน่วยงานในสังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า ทาง สทอภ.ได้ร่วมกับองค์การสำรวจอวกาศแห่งประเทศญี่ปุ่น หรือแจ็กซ่า ส่งเครื่องบินติดอุปกรณ์ถ่ายภาพระบบเรดาร์ ไปบินสำรวจสถานการณ์อุทกภัยในภาคกลางของประเทศไทย พร้อมถ่ายภาพเพื่อช่วยให้การประเมินพื้นที่ที่เสียหายจากน้ำท่วมเป็นไปได้แม่นยำขึ้น

          ทั้งนี้ สทอภ. ยังได้เผยภาพถ่ายจากดาวเทียม แสดงให้เห็นพื้นที่เสี่ยงภัยจะเกิดน้ำท่วมฉับพลันใน 3-5 วันนี้ ในพื้นที่เขตกรุงเทพมหานคร ซึ่งประกอบไปด้วย 13 เขต ได้แก่ หนองค้างพลู, ทุ่งสองห้อง, สายไหม, คลองถนน, อนุสาวรีย์, จระเข้บัว, ลาดพร้าว, คลองกุ่ม, คลองจั่น, หัวหมาก, สะพานสูง, คลองสองต้นนุ่น และลาดกระบัง รวมทั้งพื้นที่ส่วนปริมณฑล ได้แก่ จังหวัดนนทบุรี จังหวัดนครปฐม จังหวัดสมุทรปราการ และจังหวัดฉะเชิงเทรา เพื่อเตือนให้ประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวเตรียมตัวรับมือ และติดตามข่าวสถานการณ์น้ำท่วมอย่างใกล้ชิด เพื่อจะสามารถลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นได้

          สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑลนั้น ขณะนี้มีรายงานว่า ตรงจุดประตูน้ำคลองเปรมประชากร น้ำได้ข้ามกระสอบทรายเข้าพื้นที่ริมถนนโลคัลโรดแล้ว ทำให้เจ้าหน้าที่เทศกิจเขตดอนเมือง ต้องส่งเจ้าหน้าที่มาช่วยจำนวน 40 นาย และทหารจาก ปตอ.พัน 7 จำนวน 60 นาย มาช่วยป้องกันน้ำเข้าท่วมในเขตกรุงเทพฯ

          เช่นเดียวกับที่จังหวัดปทุมธานี ระดับน้ำในคลองรังสิตประยูรศักดิ์ได้เอ่อล้นท่วมบ้านเรือนประชาชน และถนนสายซ่อมสร้างในหมู่ 5 ตำบลบางพูน อำเภอเมือง จังหวัดปทุมธานี ซึ่งเป็นถนนเชื่อมต่อระหว่างถนนรังสิต-ปทุมธานี และถนนติวานนท์ ส่งผลให้การจราจรติดขัดหลายกิโลเมตร เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงต้องปิดถนนขาออกจากรังสิต และให้รถวิ่งสวนทางในฝั่งขาเข้าแทน ซึ่งก็ส่งผลให้การจราจรในฝั่งขาเข้าติดขัดยาวหลายกิโลเมตรเช่นกัน

          โดยนายสมพงษ์ ศรีอนันท์ นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลหลักหก จ.ปทุมธานี พร้อมด้วย นายทวีวิทย์ พันธชาติ ปลัดเทศบาลตำบลหลักหก และพนักงานเจ้าหน้าที่ตำบลหลักหก ได้ตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกัน และแก้ไขปัญหาอุทกภัยน้ำท่วมฉับพลันในพื้นที่ประจำปี 2554 บริเวณทางเข้าหมู่ที่ 5 ต.หลักหก จ.ปทุมธานี โดยได้ออกแก้ไขปัญหาอุทกภัยน้ำท่วมฉับพลันในพื้นที่หมู่ที่ 4 และหมู่ที่ 5 ต.หลักหก ถนนเลียบคลองรังสิต หรือซอยผู้ใหญ่เลี้ยง ด้วยการระดมพนักงานเจ้าหน้าที่ของเทศบาลตำบลหลักหกมาทำคันกั้นกระสอบทรายยาว 1,600 เมตร ในพื้นที่หมู่ที่ 5 และแนวกั้นยาว 2,400 เมตร พื้นที่หมู่ที่ 4 เพื่อให้ประชาชนสามารถสัญจรไปมาในการใช้ชีวิตประจำวันได้สะดวกขึ้น

          นอกจากนี้ ทางเทศบาลตำบลหลักหกได้ให้การช่วยเหลือเบื้องต้นในขณะนี้ โดยส่งอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านไปดูแลคนชราในพื้นที่ และแจกถุงยังชีพจำนวน 460 ชุด เฉพาะประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนน้ำท่วมบ้านที่อยู่อาศัย จำนวนประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน 1,200 คน





อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก





เรื่องที่คุณอาจสนใจ
กทม.สั่งอพยพเขตเสี่ยงเพิ่มอีก 4 พื้นที่ อัปเดตล่าสุด 2 พฤศจิกายน 2554 เวลา 19:31:24 2,132,239 อ่าน
TOP