x close

เปิดประวัติ ปลอดประสพ หนึ่งในทีม ศปภ.

ปลอดประสพ สุรัสวดี

ปลอดประสพ สุรัสวดี


เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

         ในสถานการณ์น้ำท่วมขณะนี้ ชื่อที่ชาวไทยได้ยินได้เห็นถี่ ๆ ตามสื่อต่าง ๆ คงหนีไม่พ้น ศปภ. หรือชื่อเต็ม ๆ ว่า ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย อย่างแน่นอน ซึ่งหน่วยงานนี้ทำหน้าที่ในการรายงานความคืบหน้า รวมถึงประกาศต่าง ๆ เกี่ยวกับสถานการณ์น้ำท่วมให้ประชาชนได้รับทราบ และเมื่อคืนวันที่ 12 ตุลาคม นายปลอดประสพ สุรัสวดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และรองผู้อำนวยการ ศปภ. ได้ออกมาแถลงในนามของ ศปภ. อย่างร้อนรนว่า ให้ผู้ที่อยู่ในพื้นที่รังสิต สายไหม ลำลูกกา ดอนเมืองตอนเหนือให้เก็บของขึ้นที่สูงและอพยพ เนื่องจากประตูน้ำบ้านพร้าว จ.ปทุมธานี แตก ไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ แต่หลังจากนั้นไม่นาน พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก ผู้อำนวยการ ศปภ. ได้ออกแถลงการณ์ว่า สิ่งที่นายปลอดประสพแถลง เป็นการพูดเกินจริง และทางรัฐบาลยังสามารถควบคุมการซ่อมประตูน้ำบ้านพร้าวได้

         การกระทำเช่นนี้ ทำให้ประชาชนเกิดความสับสน วิพากย์วิจารณ์การกระทำในแง่ลบว่า สร้างความแตกตื่นให้แก่ประชาชน และการที่แก้ข่าวกลับไปกลับมา ทำให้เกิดเครื่องหมายคำถามที่ว่า ความจริงคืออะไรกันแน่?  พร้อมกับมีการวิจารณ์ว่า ศปภ. หักหน้ากันเอง และงานนี้คนที่เสียคือ ปลอดประสพ ขณะที่บางคนกล่าวว่าการกระทำของ ปลอดประสพ เป็นการกระทำที่เด็ดขาด เห็นสถานการณ์ไม่ดีเลยสั่งอพยพทันที แม้ว่าสถานการณ์ไม่ได้เป็นดังที่ ปลอดประสพ ประกาศเตือน แต่ก็ทำให้ประชาชนเตรียมพร้อมรับมือกับน้ำท่วมได้ทัน และในครั้งนี้ชื่อ ปลอดประสพ สุรัสวดี ก็โด่งดังขึ้นมาทันที หลายคนอยากรู้ว่า เขาคนนี้เป็นใครมาจากไหน จบการศึกษาอะไร วันนี้เราจะตามไปรู้จักผู้ชายคนนี้กันค่ะ   

         ปลอดประสพ สุรัสวดี บุตรชายของหลวงอนุการนพกิจ กับคุณหญิงกรองทอง สุรัสวดี เกิดเมื่อวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ.2488 ปัจจุบันอายุ 66 ปี จบการศึกษาปริญญาตรีจากคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จบปริญญาโท ที่คณะประมง Oregon State University ประเทศสหรัฐอเมริกา และจบปริญญาเอกคณะนิเวศวิทยา University of Manitoba ประเทศแคนาดา นอกจากนี้นายปลอดประสพยังมีปริญญาอีก 4 ใบ ได้แก่ ปริญญาวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร ดุษฎีบัณฑิต เทคโนโลยีการประมง มหาวิทยาลัยแม่โจ้  ดุษฎีบัณฑิตประมง และการบริหารจัดการ Bangalore Institute  of Management ประเทศอินเดีย

         ชีวิตการทำงานของ ปลอดประสพ สุรัสวดี เริ่มต้นรับราชการในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ก่อนที่จะก้าวมาตำแหน่งอธิบดีกรมประมง ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายและฟื้นฟูทะเลไทย เป็นรองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นเลขาธิการสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (สปก.) และเป็นอธิบดีกรมป่าไม้ ต่อมา ปลอดประสพ ได้รับตำแหน่งปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และก่อนเกษียณอายุราชการเพียงแค่ 1 ปี ปลอดประสพ ก็ถูกไล่ออกจากราชการ เมื่อวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2548  

         หลังจากนั้น ปลอดประสพ ก็ได้เข้ามาดำรงตำแหน่งทางการการเมืองครั้งแรกในปี 2548 เป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำ สำนักนายกรัฐมนตรี และปี 2549 ก็ย้ายไปเป็นผู้ช่วยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงวัฒนธรรม  ต่อจากนั้น ปลอดประสพ ก็ได้ลงสมัครเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคพลังประชาชน และได้รับการแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ในสมัยของนายสมัคร สุนทรเวช  ต่อมาในยุครัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ชื่อของ ปลอดประสพ ก็ติดหนึ่งในทีมรัฐบาล โดยรั้งตำแหน่งรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง

         กระทั่งภายหลังที่พลังประชาชนถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้ยุบพรรค ทำให้ ส.ส. พรรคพลังประชาชนบางส่วนมาตั้งพรรคใหม่เมื่อ พ.ศ. 2552 ในนามพรรคเพื่อไทย โดยมีนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ เป็นหัวหน้าพรรค ขณะที่ นายปลอดประสพ ได้รับโอกาสดำรงตำแหน่งรองหัวหน้าพรรค และ ในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2554 ปลอดประสพ ก็ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ พร้อมกับได้ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในรัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2554

         นอกจากนี้ ชีวิตการทำงานของผู้ชายที่ชื่อ ปลอดประสพ ยังเคยได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้อำนวยการเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี และผู้อำนวยการศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ อีกด้วย และล่าสุดในรัฐบาลของ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นอกจากจะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแล้ว ปลอดประสพ ยังได้มาดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการ ศปภ. ในช่วงเกิดวิกฤติน้ำท่วมด้วย
        
         สำหรับชีวิตครอบครัวนั้น ปลอดประสพ สมรสกับ นางธัญญา สุรัสวดี (สกุลเดิม ประชาศรัยสรเดช) และมีบุตรด้วยกัน 2 คน คือ นายปิ่นชาย สุรัสวดี และนายปิ่นสักก์ สุรัสวดี

         นี่คือประวัติและผลงานของ ปลอดประสพ สุรัสวดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 

ปลอดประสพ สุรัสวดี
ปลอดประสพ สุรัสวดี

ประวัติ และผลงาน ดร. ปลอดประสพ สุรัสวดี รัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี    

1. การศึกษา

    - พ.ศ. 2511  ปริญญาตรี การประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

    - พ.ศ. 2513  ปริญญาโท การบริหารการประมง Oregon State University สหรัฐอเมริกา

    - พ.ศ. 2518  Post Graduate การบริหารจัดการ Bangalore Institute  of Management ประเทศอินเดีย

    - พ.ศ. 2519  ปริญญาเอก นิเวศวิทยา University of Manitoba ประเทศแคนาดา

    - พ.ศ. 2533  ปริญญา วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร

    - พ.ศ. 2534  ปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์เทคโนโลยีการประมง มหาวิทยาลัยแม่โจ้

    - พ.ศ. 2535  ปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

2. ประวัติการรับราชการ

     - เม.ย. 2532  - มิ.ย. 2540   ตำแหน่ง   อธิบดีกรมประมง    กรมประมง

     - มิ.ย.  2540  - ต.ค. 2540   ตำแหน่ง   รองปลัดกระทรวง   กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

     - ต.ค.  2540  - เม.ย. 2541  ตำแหน่ง   เลขาธิการ           สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม

     - เม.ย. 2541  -  ต.ค. 2545  ตำแหน่ง   อธิบดีกรมป่าไม้     กรมป่าไม้

     - ต.ค. 2545   -  เม.ย. 2547 ตำแหน่ง   ปลัดกระทรวง       ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

3. การดำรงตำแหน่งทางการเมือง

     - มี.ค. 2548               ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำ สำนักนายกรัฐมนตรี

     - พ.ศ. 2549               ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

     - พ.ศ. 2549               ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงวัฒนธรรม

     - พ.ศ. 2551               ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เลขาธิการนายกรัฐมนตรี (ฝ่ายการเมือง)

     - พ.ศ. 2552               รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย

     - พ.ศ. 2554               สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

     - พ.ศ. 2554               รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

4. การดำรงตำแหน่งกรรมการสภามหาวิทยาลัย

    4.1 กรรมการสภามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  5 ก.ย. 2532  - 4 ก.ย. 2534

    4.2 กรรมการสภาผู้ทรงคุณวุฒิ มหาวิทยาลัยบูรพา พ.ศ 2538 – 2540

    4.3 กรรมการสภามหาวิทยาลัยแม่โจ้ 15 ส.ค. 2546 -31 ก.ค. 2550

    4.4 กรรมการสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พ.ศ. 2535- 2549

5. อาจารย์พิเศษ

          อาจารย์ผู้บรรยายพิเศษในวิชาที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การประมง การป่าไม้ การปฏิรูปที่ดิน และการท่องเที่ยวให้แก่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาลัยแม่โจ้ เป็นต้น

6 การได้รับยกย่องจากผลการทำงาน

     6.1 ได้รับรางวัลครุฑทองคำ รางวัลสังข์เงิน และรับพระราชทานรางวัลหน่วยราชการดีเด่นของชาติ (กรมประมง)

     6.2  อธิบดีกรมประมง 8 ปี ซึ่งถือว่ายาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ และเป็นยุคที่ประเทศไทยส่งออกผลิตภัณฑ์ประมงได้เกิน 100,000 ล้านบาท ทำให้ประเทศไทย เป็นผู้ส่งผลิตภัณฑ์ประมงเป็นลำดับที่ 1 ของโลก เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์

     6.3 เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เป็นยุคที่ได้ที่ดินคืนจากป่าวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา และเป็นช่วงที่พิจารณากรณีที่ดินที่จังหวัดภูเก็ต

     6.4 อธิบดีกรมป่าไม้ 5ปี เป็นช่วงที่ประเทศไทยมีพื้นที่ป่า (Forest cover) มากที่สุดในประวัติศาสตร์ 100ปี

     6.5 ได้รับมอบหมายให้ก่อตั้งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และดำรงตำแหน่งเป็นปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมคนแรก

7. เครื่องราชอิสริยาภรณ์

    - พ.ศ. 2533 มหาวชิรมงกุฎ

    - พ.ศ. 2534 เหรียญรัตนาภรณ์ ชั้น 3

    - พ.ศ. 2536 ทุติยจุลจอมเกล้า

    - พ.ศ. 2538 มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก
  
8. งานกิจการพิเศษ

     8.1 เป็นผู้ก่อตั้งศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ และเป็นผู้อำนวยการศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติคนแรก และเป็นผู้รับผิดชอบแผนการฟื้นฟูการท่องเที่ยวทางทะเลของประเทศไทยหลังจากเกิดภัยพิบัติคลื่นสึนามิ

     8.2 เป็นผู้ก่อตั้งองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) โดยดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการ และดำรงตำแหน่งประธานบอร์ดคนแรก

     8.3 เป็นผู้ก่อตั้งเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งจัดเป็นไนท์ซาฟารีแห่งแรกของประเทศไทย และเป็นลำดับที่สามของโลกต่อจากสิงคโปร์และกวางโจว เป็นแหล่งดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศที่มีชื่อเสียง




อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
- รัฐสภาไทย
- กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เปิดประวัติ ปลอดประสพ หนึ่งในทีม ศปภ. อัปเดตล่าสุด 20 ตุลาคม 2554 เวลา 15:36:10 50,469 อ่าน
TOP