
เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก New Mandala
นับตั้งแต่เกิดวิกฤติน้ำท่วมหนักในประเทศไทยตลอดช่วงเดือนที่ผ่านมา ในหน้าสื่อมวลชนไทยทุกประเภทล้วนปรากฎแต่ภาพสถานการณ์น้ำท่วมและความเดือดร้อนของประชาชนจนแทบไม่มีพื้นที่ให้กับข่าวสารอื่น ๆ และดูเหมือนว่าตอนนี้จะไม่ใช่เพียงแค่สื่อมวลชนไทยเท่านั้น แต่สื่อมวลชนต่างประเทศก็ให้ความสนใจกับสถานการณ์น้ำท่วมหนักในประเทศไทยเช่นกัน และยังให้ความสำคัญถึงขนาดเกาะติดสถานการณ์เป็นรายวัน ขณะที่นักวิชาการหลายชาติต่างออกมาวิพากษ์วิจารณ์สาเหตุและความน่าจะเป็นเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำท่วมในไทยครั้งนี้
แต่ในขณะที่ประเด็นที่สื่อมวลชนต่างชาตินำมาพูดถึง เน้นไปในเรื่องของการจัดการน้ำไม่เป็นและการบกพร่องทางภาวะผู้นำของนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร นั้น นายแอนดรูว์ วอล์คเกอร์ นักวิชาการด้านมนุษยวิทยาจากมหาวิทยาลัยออสเตรเลีย ได้ออกมานำเสนอประเด็นที่ต่างออกไป โดยวิเคราะห์จากสถานการณ์น้ำฝน พร้อมระบุว่า ในปีนี้มีปริมาณฝนมาก จึงทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมหนักตามมาอย่างที่เป็น
โดยนายแอนดรูว์ วอล์คเกอร์ ได้เปิดเผยแผนภูมิแสดงปริมาณฝนเฉลี่ยใน 5 จังหวัดภาคเหนือ ตั้งแต่เดือนมกราคม ถึงกันยายนของปีนี้ เปรียบเทียบกับปริมาณฝนในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ซึ่งจากแผนภูมิแสดงให้เห็นว่า ปริมาณฝนที่ตกใน 5 จังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง อุตรดิตถ์ และพิษณุโลก นั้น สูงกว่าค่าเฉลี่ยในรอบ 30 ปีที่ผ่านมา และทำให้ปริมาณน้ำในเขื่อนสูงกว่าทุก ๆ ปี ต้องปล่อยน้ำออกมาในปริมาณที่สูง ทำให้เกิดน้ำท่วมหนักกว่าทุก ๆ ปีที่ผ่านมา

.jpg)



จากแผนภูมิระบุว่า ปริมาณน้ำฝนในจังหวัดเชียงใหม่ในปีนี้ คิดเป็น 140 เปอร์เซ็นต์ของค่าเฉลี่ย จังหวัดลำพูน คิดเป็น 196 เปอร์เซ็นต์ของค่าเฉลี่ย จังหวัดลำปาง คิดเป็น 177 เปอร์เซ็นต์ของค่าเฉลี่ย จังหวัดอุตรดิตถ์ คิดเป็น 153 เปอร์เซ็นต์ของค่าเฉลี่ย และพิษณุโลก คิดเป็น 146 เปอร์เซ็นต์ของค่าเฉลี่ย
ทั้งนี้ นายแอนดรูว์ วอล์คเกอร์ ได้เปิดเผยว่า แม้ว่าข้อมูลปริมาณน้ำฝนดังกล่าว จะเป็นสถิติที่มาจากเพียง 5 จังหวัดเท่านั้น แต่การที่ทั้ง 5 จังหวัดมีปริมาณน้ำฝนมากขึ้นอย่างน่าตกใจเหมือน ๆ กัน ก็เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นแล้วว่า ในปีนี้ ประเทศไทยมีฝนตกชุกมากเป็นพิเศษ และน้ำเหล่านี้ก็ไหลลงมาสู่พื้นที่รับน้ำด้านล่าง บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาในที่สุด