x close

เปิดแนวคิดเขื่อน 2 ชั้น ช่วยโรงงานมินิแบร์พ้นน้ำท่วม




เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

ขอขอบคุณภาพประกอบจาก youtube.com โพสต์โดย Seub2010

          คงทราบกันแล้วว่า ขณะนี้มีนิคมอุตสาหกรรมถึง 7 แห่งที่จมน้ำเสียหายระดับหมื่นล้าน โดยเฉพาะนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในจังหวัดพระนครอยุธยาที่จมน้ำเสียหายทั้งหมด แม้ว่าก่อนหน้านี้ ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เสริมคันกั้นน้ำหลายชั้นไว้อย่างแน่นหนา แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถต้านทานพลังน้ำมหาศาลไว้ได้

          แต่ใช่ว่าโรงงานในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาจะจมบาดาลเสียทั้งหมด เพราะจากการตรวจสอบพบว่า ยังมีโรงงานเอ็น เอ็ม บี มินิแบ อีก 1 แห่ง ซึ่งตั้งอยู่ไม่ไกลจากนิคมอุตสาหกรรมนวนครที่ยังไม่ถูกน้ำท่วม แม้ว่าภายนอกรอบ ๆ จะถูกปกคลุมไปผืนน้ำทั้งหมดแล้ว

          และสาเหตุที่ทำให้โรงงานเอ็น เอ็ม บี มินิแบไทย จำกัด ยังคงรอดพ้นจากน้ำท่วม เป็นเพราะทางโรงงานได้สร้างแนวป้องกันน้ำของตัวเองมานานกว่า 1 เดือนแล้ว ตั้งแต่ก่อนที่น้ำจะมาถึง โดยคันกั้นน้ำของโรงงานนั้นถูกสร้างขึ้นรอบโรงงานทั้งหมด ให้เป็นเขื่อน 2 ชั้น พร้อมกับนำดินมาถมทับกระสอบทราย จากนั้นจึงคลุมด้วยผ้าใบพลาสติกขนาดใหญ่อีกชั้นหนึ่ง เพื่อไม่ให้น้ำไหลซึมเข้าไปได้ จึงสามารถป้องกันมวลน้ำมหาศาลได้จนถึงทุกวันนี้

          ทั้งนี้ วิธีป้องกันโรงงานมินิแบร์นั้น สอดคล้องกับสูตรดันน้ำ ของคุณอภิชาติ สุทธิศิลธรรม ที่ได้เสนอแนวทางป้องกัน และจัดการน้ำท่วมกรุงเทพมหานครไว้ในคลิปที่ถูกเผยแพร่ในเว็บไซต์ยูทูปเรื่อง "แนวทางป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพฯ" รวมทั้งใน เฟซบุ๊ก mtaneewong ซึ่งอธิบายวิธีการป้องกันไม่ให้กรุงเทพมหานครจมน้ำมิดทั้งเมืองไว้ได้น่าสนใจเป็นอย่างมาก








          โดยคุณอภิชาติ อธิบายถึงกรณีที่ 1 สาเหตุที่ทำให้น้ำท่วมภายในนิคมอุตสาหกรรมนั้น เป็นเพราะเรามีความพยายามจะทำให้น้ำภายในนิคมอุตสาหกรรม ภายในโรงงานแห้ง ซึ่งมันไม่มีทางเป็นไปได้ เพราะเขื่อนที่สร้างขึ้นมา เป็นเพียงแค่คันกั้นน้ำชั่วคราว ต่างจากเขื่อนคอนกรีต ยิ่งน้ำสูง เราก็ยิ่งต่อคันกั้นน้ำให้สูงขึ้นไปเรื่อย ๆ เป็นเหตุให้แรงดันน้ำจากภายนอกที่สูงกว่าจะค่อย ๆ ดันน้ำซึมเข้ามาภายในซึ่งไม่มีน้ำเรื่อย ๆ และในที่สุด แรงดันน้ำมหาศาลก็จะดันจนคันกั้นน้ำแตก น้ำไหลทะลักเข้ามาในโรงงานอย่างรวดเร็ว นี่คือจุดอ่อนที่ทำให้นิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ ถูกน้ำท่วมสูงเสียหายหนัก

          คุณอภิชาติ ระบุว่า วิธีที่จะช่วยป้องกันสภาวะนี้ได้ก็คือ การสร้าง "เขื่อน 2 ชั้น" คือ ยอมนำน้ำบางส่วนเข้ามาอยู่ในเขื่อนเลย แล้วกั้นน้ำข้างนอกที่มีระดับสูงกว่าไว้ เพื่อให้น้ำภายในเขื่อนกับภายนอกเขื่อนดันกันเอง ทีนี้แรงดันภายนอกจะลดลง น้ำภายนอกจะซึมเข้ามาน้อยลง และคันกั้นน้ำก็จะไม่พัง ส่วนน้ำที่อยู่ในเขื่อนตรงกลางอาจจะมีซึมเข้ามาถึงเขื่อนชั้นในสุดบ้าง แต่ตรงนี้เราสามารถสูบน้ำกลับออกไปได้ จึงไม่เป็นปัญหาแต่อย่างใด และเขื่อนก็จะไม่พังแน่นอน

          "หัวใจคือทำอย่างไรไม่ให้เขื่อนพัง เพราะถ้าเขื่อนพังแล้ว มวลน้ำข้างนอกจำนวนมหาศาลจะไหลเข้าท่วมข้างในระดับเดียวกันทั้งหมด ดังนั้นต้องใช้น้ำดันน้ำกันเอง น้ำจะซึมได้น้อยลง อย่างน้ำที่ไหลท่วมนิคมนวนคร นครสวรรค์ ชัยนาท อ่างทอง อยุธยา เพราะมีเขื่อนชั้นเดียวที่เอาน้ำระดับ 2-3 เมตรไม่อยู่" นักวิชาการ กล่าว





           มาดูกรณีที่ 2 กันบ้าง ซึ่งเป็นกรณีที่กำลังเกิดขึ้นกับโรงงาน และมหาวิทยาลัยที่อยู่นอกเมือง เช่น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต มหาวิทยาลัยกรุงเทพ โดยคุณอภิชาติ อธิบายว่า หากอยากจะสามารถต้านทานน้ำไว้ได้ ต้องสร้างเป็น "เขื่อน 2 ชั้น" เหมือนกับกรณีที่ 1 คือ สร้างคันกั้นน้ำขนาดใหญ่ไว้หน้าประตูทางเข้าอาคาร เพื่อกั้นน้ำภายนอก แต่ต้องปล่อยให้น้ำส่วนหนึ่ง (ประมาณครึ่งหนึ่งของความสูงของน้ำภายนอก) เข้ามาอยู่ระหว่างหลังคันกั้นน้ำขนาดใหญ่กับประตูทางเข้าด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้เขื่อนพังเช่นกัน และที่บริเวณประตูทางเข้าอาคารควรก่ออิฐขึ้นมากั้น พร้อมกับเสริมกระสอบทรายไว้อีกชั้นด้วย เพื่อป้องกันน้ำที่จะไหลซึมเข้ามา วิธีนี้จะช่วยรักษาภายในตัวอาคารไว้ได้ เพราะแรงดันของน้ำจะลดลงมาก ส่วนเขื่อนตรงกลางที่เรายอมปล่อยให้น้ำท่วมบ้างก็จะเสียหายไม่มากเมื่อเทียบกับเขื่อนพังแล้วน้ำทะลักเข้าตัวอาคารทั้งหมด

          "เราอย่าไปเอาชนะน้ำ ต้องยอมแพ้มัน ให้น้ำไหลเข้ามาครึ่งเดียว เพื่อมารักษากำแพงกั้นน้ำภายนอกไว้" นักวิชาการ กล่าว


น้ำท่วม


          มาถึงกรณีที่ 3 ที่จะช่วยป้องกันกรุงเทพมหานครไว้ได้ ด้วยการสร้าง "เขื่อน 2 ชั้น" เช่นกัน โดยคุณอภิชาติ ได้อธิบายว่า ตอนนี้ กทม.สร้างเขื่อนกั้นไว้ที่คลองหกวา ซึ่งในที่สุดน้ำจะเซาะใต้เขื่อนจนเขื่อนพังเช่นกัน และระดับน้ำในกรุงเทพมหานครจะสูงเป็น 2-3 เมตร เช่นเดียวกับระดับน้ำภายนอกที่จะไหลมา

          ดังนั้นต้องรีบแก้ไขจุดอ่อนนี้ โดยสร้างเขื่อนไว้รอบ ๆ กรุงเทพมหานครชั้นนอก ไม่ว่าจะเป็นเขตสายไหม ดอนเมือง ฯลฯ แล้วยอมปล่อยให้น้ำนอกคันกั้นน้ำบางส่วนเข้ามาภายในเขื่อนที่บริเวณกรุงเทพมหานครชั้นนอก เพื่อรักษากรุงเทพมหานครชั้นในเอาไว้ เพราะแรงดันน้ำภายนอกกับในกรุงเทพมหานครชั้นในจะช่วยดันกันไว้ ไม่ให้กรุงเทพมหานครชั้นกลางกับชั้นในได้รับผลกระทบมากนัก



          ทั้งนี้ ก่อนที่จะปล่อยน้ำเข้ามาในกรุงเทพมหานครชั้นนอก ต้องรีบแจ้งให้ประชาชนรับทราบจะได้มีเวลาเตรียมการขนย้าย และป้องกันตัวเอง โดยน้ำอาจจะขังอยู่นานหลายวัน หรือเป็นเดือน และในพื้นที่ชั้นนอกอาจจะท่วม 1.50-2 เมตร เพราะมวลน้ำจากภาคกลางมหาศาลมาก ส่วนพื้นที่สูงหน่อยอาจจะท่วมแค่ 50 เซนติเมตร หากซึมเข้ามามากก็ปั๊มออกได้

          "มันต้องมีคนยอมเสีย มันต้องมีคนกล้าถูกด่า ผมยอมถูกด่า ต้องปล่อยให้น้ำเข้ามา ต้องทำให้ประชาชนเชื่อว่าคันกั้นน้ำมันพังแน่ มันท่วมแน่ เพราะที่ผ่านมามันพังมาหมดแล้ว และไม่สามารถอุดได้ด้วย กว่าจะอุดได้ น้ำก็ไหลเข้ามาหมดแล้ว ต้องรีบตัดสินใจทำภายในวันสองวันนี้เลย ถ้าบอกว่าไม่อยากให้ท่วมเลยสักคน มันก็จะท่วมทุกคนแน่นอน แล้วใครจะมาช่วยเรา..."

          คุณอภิชาติ ยังเสนอแนวคิดด้วยว่า หากกรุงเทพมหานครทำตามวิธีการเขื่อน 2 ชั้น รัฐบาล หรือผู้ว่าฯ กทม. ต้องประกาศเก็บภาษีคนชั้นในที่ถูกไม่น้ำท่วมเพิ่มขึ้น เพื่อมาช่วยคนกรุงเทพมหานครชั้นนอกที่ยอมถูกน้ำท่วม เพราะคนชั้นนอกได้รับความเสียหาย ต้องได้รับการชดเชยจากคนชั้นในอย่างน้อย 70-80% ของความเสียหายที่เกิดขึ้น พร้อมกับขอให้รัฐบาลต้องกล้าตัดสินใจโดยเร็ว

          ทั้งนี้ คุณอภิชาติ ยังได้ยกตัวอย่างโรงงานมินิแบร์ ซึ่งเป็นโรงงานเดียวในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาที่ยังไม่ถูกน้ำท่วมด้วยว่า เป็นเพราะทางโรงงานทำคันกั้นน้ำไว้ 2 ชั้นเช่นกัน แม้ว่าจะหมดเงินกับการป้องกันครั้งนี้ไปถึง 100 ล้านบาท แต่ก็สามารถป้องกันกิจการภายในไม่ให้ต้องสูญเสียไปกว่า 50,000 ล้านบาทได้สำเร็จ และที่อื่น ๆ ควรนำแนวคิดนี้ไปทำเป็นตัวอย่าง

          สำหรับใครที่สนใจติดตามการวิเคราะห์เรื่องอุทกภัยของ คุณอภิชาติ สุทธิศิลธรรม สามารถเข้าไปติดตามได้ใน  เฟซบุ๊ก mtaneewong ซึ่งคุณอภิชาติได้เขียนบทความวิเคราะห์ไว้อย่างน่าสนใจหลายเรื่องเลยทีเดียวค่ะ เพื่อจะได้ช่วยกันรับมืออุทกภัยครั้งนี้ได้ทันท่วงที




คลิป แนวทางป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพฯ ของคุณอภิชาติ สุทธิศิลธรรม




 ข่าวน้ำท่วม บริจาคผู้ประสบภัยน้ำท่วม คลิกเลยค่ะ 





เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เปิดแนวคิดเขื่อน 2 ชั้น ช่วยโรงงานมินิแบร์พ้นน้ำท่วม อัปเดตล่าสุด 24 ตุลาคม 2554 เวลา 14:43:11 66,477 อ่าน
TOP