x close

ทีมกรุ๊ป ประเมินพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมกรุงเทพฯ ฉบับที่ 4



เกริ่นนำโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณข้อมูลและภากประกอบจาก TEAM Group

          ทีมกรุ๊ป (TEAM Group) ออกคำเตือนฉบับที่ 4 เผยมีน้ำค้างทุ่งกว่า 1.2 หมื่นล้านลบ.ม. คาดใช้เวลาระบายออก 45 วัน พร้อมประเมินพื้นที่เสี่ยงล่าสุดในกรุงเทพทุกเขต

          ถือเป็นอีก 1 แหล่งข่าวที่กำลังได้รับความสนใจในช่วงน้ำท่วมกรุงเทพ 2554 นี้ สำหรับ บริษัททีมกรุ๊ป (TEAM Group) ผู้จัดทำแผนที่น้ำท่วมกรุงเทพ 2554 ออกมาได้อย่างค่อนข้างแม่นยำและน่าเชื่อถือ ล่าสุด ทีมกรุ๊ป ได้ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 4 ล่าสุด ลงวันที่ 27 ตุลาคม เตือนถึงความรุนแรงของน้ำท่วมและการเตรียมพร้อมรับมือ โดยระบุว่า

          1. สถานการณ์น้ำท่วมยังไม่ดีขึ้น แม้ปริมาณน้ำไหลเข้าสู่ทุ่งเจ้าพระยาจะลดลงจนน้อยกว่าปริมาณน้ำที่ระบายลงสู่ทะเลแล้ว แต่ปริมาณน้ำในทุ่งดังกล่าวยังมีมากกว่า 12,000 ล้านลูกบาศก์เมตร จึงจะต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 45 วันในการระบายน้ำออกสู่ทะเล หากไม่สามารถเพิ่มช่องทางการระบายน้ำลงสู่ทะเลให้มากขึ้นกว่าในปัจจุบันได้

          2. พนังกั้นน้ำบนคันคลองรังสิตประยูรศักดิ์ด้านตะวันตกของประตูน้ำจุฬาลงกรณ์ยังรั่วอยู่ และพนังกั้นน้ำบนคันคลองรังสิตประยูรศักดิ์ใกล้ตลาดรังสิตยังมีน้ำไหลล้นจำนวนมาก ดังนั้นผู้ที่อยู่ใกล้คลองเปรมประชากร คลองประปา ถนนวิภาวดีรังสิต ถนนพหลโยธิน และผู้ที่อยู่สะพานใหม่ บางบัว บางเขน เกษตร ลาดพร้าว โชคชัยสี่ สายไหม เฉพาะที่อยู่ในที่ลุ่มใกล้คลองถนน คลองบางบัว คลองลาดพร้าว และคลองสาขาที่เคยเกิดน้ำท่วมขัง ให้เก็บของขึ้นที่สูง ระดับน้ำท่วมจะทรงตัวอยู่จนถึงวันที่ 15 พฤศจิกายน

          3. ผู้ที่อยู่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาเหนือคลองบางกอกน้อย และเหนือทางรถไฟสายใต้และบริเวณด้านตะวันออกของคลองบางกอกใหญ่ และผู้ที่อยู่ในอำเภอพุทธมณฑล นครชัยศรี สามพราน กระทุ่มแบน และเมืองสมุทรสาคร ที่อยู่ในบริเวณด้านตะวันตกของถนนพุทธมณฑลสาย 4 และถนนสาย 3310 รวมถึงผู้ที่อยู่ใกล้แม่น้ำท่าจีน คลองมหาชัย คลองสนามชัย คลองจินดา คลองดำเนินสะดวก และคลองสุนัขหอน ที่อยู่ทางตะวันออก ของถนนสาย 3097 ขอให้ย้ายของขึ้นที่สูงมากกว่า 1.5 เมตร และให้เอารถไปจอดไว้ที่สูง ระดับน้ำจะสูงขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงหลังวันที่ 5 พฤศจิกายน แล้วทรงตัวอยู่ถึงกลางเดือนพฤศจิกายน หลังจากนั้นจึงจะเริ่มลดลง

          4. ผู้ที่อยู่ใกล้แม่น้ำเจ้าพระยา น้ำทะเลจะหนุนสูงขึ้นอีกอย่างน้อย 15 เซนติเมตร พนังกั้นน้ำมีโอกาสจะพัง จะทำให้น้ำไหลเข้าท่วมแรงและเร็วมาก ขอให้เพิ่มความแข็งแรงและเสริมคันกั้นน้ำให้สูงขึ้น และเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ป้องกันไม่ให้พนังกั้นน้ำพัง ให้ระวังจนถึงวันที่ 2 พฤศจิกายน 2554 ส่วนพื้นที่อื่น ๆ น้ำจะทรงอยู่จนถึง 15 พฤศจิกายน 2554 ขอให้ติดตามข่าวอย่างใกล้ชิด


          5. พื้นที่ที่มีความเสี่ยงมากขึ้นที่จะถูกน้ำท่วม เพิ่มเติมจาก TEAM Group เตือนภัยน้ำท่วม ฉบับก่อนนี้ ได้แก่

          5.1 พื้นที่ด้านเหนือของถนนบรมราชชนนี จากคลองบางกอกน้อย ถึงถนนวงแหวนรอบนอก

          5.2 พื้นที่ด้านตะวันออกของคลองบางกอกใหญ่ถึงแม่น้ำเจ้าพระยา

          5.3 พื้นที่เหนือถนนแจ้งวัฒนะทั้งหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ด้านเหนือถนนสรงประภา เป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงมากต่อการท่วมฉับพลัน น้ำไหลแรงและเร็ว หากมีการพังของพนังกั้นน้ำบนคลองรังสิตประยูรศักดิ์ บริเวณด้านตะวันตกของประตูน้ำจุฬาลงกรณ์

          5.4 พื้นที่เหนือถนนงามวงศ์วานทั้งหมด

          5.5 พื้นที่เหนือคลองบางเขนทั้งหมดและพื้นที่ที่อยู่ใกล้กับคลองบางเขน

          5.6 พื้นที่เหนือคลองบางซื่อตั้งแต่คลองเปรมประชากร ถึงคลองลาดพร้าว และพื้นที่ใกล้คลองลาดพร้าวและคลองสาขา

          5.7 พื้นที่เหนือถนนรามอินทราทั้งหมดจากที่ทำการเขตบางเขนไปจนถึงเขตมีนบุรี รวมถึงพื้นที่ด้านตะวันออกของถนนวงแหวนรอบนอกที่อยู่เหนือคลองแสนแสบ


          6. การเตรียมการรับสถานการณ์น้ำท่วม ขอให้ทุกท่านร่วมกันปฏิบัติดังนี้

          6.1 ตรวจตราพนังกั้นน้ำในแต่ละพื้นที่ให้มีความมั่นคงแข็งแรง และให้มีระดับเพียงพอที่จะกั้นน้ำได้ หากพบรอยรั่วให้ช่วยกันวางกระสอบทรายซ่อมแซม หรือพบว่ามีน้ำรั่วลอดใต้พนังกั้นน้ำให้ใช้กระสอบทรายกั้นเป็นคอกล้อมไว้ โดยให้กระสอบทรายมีระดับสูงกว่าระดับน้ำ ขอให้จัดเวรยามคอยตรวจตราเฝ้าระวังพนังกั้นน้ำอย่างเข้มแข็งอย่างน้อย จนถึงวันที่ 15 พฤศจิกายน 2554

          6.2 ขอให้ดูแลระบบไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์ รวมทั้งอุปกรณ์สื่อสารต่าง ๆ ไม่ให้ถูกน้ำท่วม ขอให้สร้างพนังกั้นน้ำที่แข็งแรงและสูงเพียงพอกั้นล้อมรอบอุปกรณ์ที่สำคัญ รวมทั้งระบบไฟสำรองที่อยู่ในระดับต่ำ และ จัดเวรยามดูแลอย่างใกล้ชิด

          6.3 ขอให้แต่ละชุมชนจัดเวรยามผลัดเปลี่ยนดูแลทรัพย์สินของแต่ละชุมชน อย่าให้มีการลักขโมยทรัพย์สิน

          6.4 ขอให้เตรียมยาอย่างน้อยตามที่ นพ.พรชัย มูลพฤกษ์ ได้แนะนามาดังนี้

            (1) ยารักษาโรคที่ใช้ประจำ

            (2) ยาสามัญประจาบ้าน เช่น Paracetamol เกลือแร่

            (3) ยาทาแผล Betadine solution

            (4) พลาสเตอร์ปิดแผล

          6.5 ขอให้ระวังสัตว์มีพิษต่าง ๆ เช่น งู ตะขาบ เป็นต้น ที่อาจจะเข้ามาอาศัยอยู่ในบ้าน

          6.6 สำรองอาหารและน้ำดื่มให้เพียงพอประมาณ 3 วัน


          7. รายละเอียดระดับความสูงของพื้นที่สามารถตรวจสอบได้ที่ teamgroup.co.th และ เฟซบุ๊ก TEAMGroupConsulting และขอให้ติดตามข้อมูลต่าง ๆ อย่างสม่ำเสมอ

          8. ในส่วนของน้ำท่วมในแต่ละพื้นที่เมื่อใด ระดับเท่าใด ขอให้รับฟังประกาศของทางราชการ และติดตามข่าว SMS เตือนภัยจากพนักงานของกลุ่มบริษัททีม (TEAM Group) อย่างใกล้ชิด





เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ทีมกรุ๊ป ประเมินพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมกรุงเทพฯ ฉบับที่ 4 อัปเดตล่าสุด 9 พฤศจิกายน 2554 เวลา 14:03:01 99,564 อ่าน
TOP