x close

AP ชื่นชมพระอัจฉริยภาพในหลวง ทรงแก้น้ำท่วม





เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
 
          เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน สำนักข่าวเอพี รายงานว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นห่วงปัญหาน้ำท่วมและทอดพระเนตรสถานการณ์น้ำ ในแม่น้ำเจ้าพระยา จากชั้นที่ 16 ของอาคารโรงพยาบาลศิริราช โดยตลอดเวลาที่ผ่านมา พระองค์ทรงพยายามอย่างหนัก ในการหาวิธีป้องกันน้ำท่วม ขณะที่ประเทศไทยมีการพัฒนาอย่างเกินขอบเขต

          แต่ที่ผ่านมารัฐบาลชุดต่าง ๆ กลับไม่ได้น้อมนำเอาแนวพระราชดำริ ไปดำเนินการแก้ไขปัญหาให้เป็นรูปธรรม จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งร้ายแรงขึ้นในปีนี้ และจนถึงขณะนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานคำแนะนำแนวทางที่ดีที่สุดในการผลักดันน้ำเหนือให้ลงสู่ทะเล แต่ต้องเจอกับอุปสรรคของระบบราชการที่ไร้ประสิทธิภาพ

          สำหรับโครงการตามพระราชดำริเกี่ยวกับน้ำแห่งแรก อยู่ที่อำเภอหัวหิน เป็นโครงการเขื่อนกักเก็บน้ำจืด และป้องกันน้ำทะเลหนุน จัดสร้างขึ้น เมื่อปี 2506 จนถึงปัจจุบันมีโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริมากกว่า 4,300 โครงการ ซึ่งในจำนวนนี้ราวร้อยละ 40 เป็นโครงการที่เกี่ยวกับทรัพยากรน้ำ




พระราชดำรัส ในหลวง ปี 2538 ทรงแนะสร้างฟลัดเวย์ (4 พฤศจิกายน)

          เผยพระราชดำรัสในหลวง 19 กันยายน 2538 ทรงแนะให้เวนคืนที่ดินกรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออก เพื่อสร้างฟลัดเวย์ ป้องกันการเกิดน้ำท่วมกรุงเทพฯ
 
          วานนี้ (3 พฤศจิกายน) รายการข่าวของสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ได้อัญเชิญเทปบันทึกภาพและเสียงพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งพระราชทานไว้ในวันที่ 19 กันยายน 2538 หลังจากที่พายุดีเปรสชั่นไรอันพัดเข้ามาจนทำให้ฝนตกหนัก ทำให้น้ำเหนือจ่อเข้าท่วมกรุงเทพฯ โดยพระองค์ได้พระราชทานคำแนะนำว่า การแก้ปัญหาอุทกภัยควรจะมีการระบายน้ำทางฝั่งตะวันออกของกรุงเทพฯ คือ ทางน้ำผ่านหรือเรียกว่า ฟลัดเวย์ เพื่อไม่ให้กรุงเทพฯ ฝั่งพระนครรับภาระหนักจนเกินไป แต่ฟลัดเวย์ด้านตะวันออกของกรุงเทพฯ นี้ จะต้องมีเครื่องเร่งน้ำใกล้คันกั้นน้ำด้วย เพราะคลองแสนแสบ คลองลาดพร้าว คลองประเวศ คลองบางนา คลองสำโรง ไม่สามารถรับน้ำเหนือที่มาจาก จ.พระนครศรีอยุธยา ได้ ต้องเร่งระบายน้ำให้ไวที่สุด ไม่เหมือนกับเขตพระนครที่ทางกรุงเทพมหานคร (กทม.) สามารถรับมือได้ เนื่องจากฝนตก (วันที่ 18 กันยายน 2538) แล้วแห้งเร็ว
 
          ในสมัยรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 มีพื้นที่สาธารณะร่วม 5 หมื่นไร่ แต่ขณะนี้ดูแล้วเหลือเพียง 3 พันไร่เท่านั้น ดังนั้นก็ต้องกล้าที่จะแก้ปัญหาโดยการเวนคืนที่ดินฟลัดเวย์ ถ้าไม่ทำเช่นนี้ หากเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมซ้ำเท่ากับหายนะแน่
 
          อีกปัญหาหนึ่งคือ การช่วยเหลือประชาชนจากน้ำท่วมโดยการให้เงินเพื่อฟื้นตัว จะทำให้ประชาชนขวัญเสีย เพราะคิดว่าท่วมแน่ ๆ อีกทั้งการช่วยของระบบราชการคงใช้เวลาร่วมปีถึงจะเสร็จ ดังนั้นการสร้างฟลัดเวย์จะเป็นการป้องกันปัญหาไม่ให้เกิด และควรจะทำกรีนเบลต์ แปลว่า แนวเขียว ในสมัย 15 ปีก่อน ทว่าตอนนี้คงทำได้ลำบากแล้ว เพราะโรงงานสร้างขวางช่องทางน้ำหมด แต่ว่าถ้าสร้างแบบมีทางน้ำแคบ ๆ แล้วใส่เครื่องเร่งน้ำลงไป ก็น่าจะทำได้อยู่
 


อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
     


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
AP ชื่นชมพระอัจฉริยภาพในหลวง ทรงแก้น้ำท่วม อัปเดตล่าสุด 6 พฤศจิกายน 2554 เวลา 09:47:08 91,802 อ่าน
TOP