
UN จี้รื้อกม.หมิ่นฯ แถลงอัดไทยละเมิดพันธะ (ไทยโพสต์)
เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม นางแคธรีน แอชตัน ผู้แทนระดับสูงสภายุโรป ได้ออกแถลงการณ์เนื่องในวันสิทธิมนุษยชนสากล ซึ่งตรงกับวันที่ 10 ธันวาคมว่า ไทยเป็นกลุ่มประเทศแรกในโลกที่รับรองปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนเมื่อวันที่ 10 ธ.ค.2491 และไทยมีพัฒนาการดีมาตลอดหลายทศวรรษ แต่ยังมีความท้าทายอีกมาก โดยสหภาพยุโรปสนับสนุนไทยในการส่งเสริมและสนับสนุนสิทธิมนุษยชนทั่วประเทศ รวมทั้งเสรีภาพในการแสดงออกและการใช้สื่อสังคมออนไลน์
ช่วงค่ำ สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า สำนักงานข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติได้แถลงเรียกร้องที่นครเจนีวาเรียกร้องให้ไทยแก้ไขกฎหมายว่าด้วยการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ พร้อมทั้งวิจารณ์ว่า การที่ไทยมีการลงโทษประชาชนด้วยข้อกล่าวหาเรื่องการดูหมิ่นสถาบันกษัตริย์ นับเป็นการละเมิดพันธกรณีระหว่างประเทศ
"เราวิตกกังวลเกี่ยวกับการไต่สวนคดีและการลงโทษอย่างรุนแรงที่กำลังเกิดขึ้นกับประชาชนที่ได้ถูกพิพากษาว่ามีความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในประเทศไทย และผลของเรื่องนี้ที่มีต่อเสรีภาพในการแสดงออกในประเทศไทย" โฆษกหญิงของข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เนวี พิลเลย์ แถลงกับผู้สื่อข่าว
โฆษกอีกผู้หนึ่ง ราวีนา ชัมดาซานี กล่าวเสริมว่า "การลงโทษทางอาญาอย่างรุนแรงเช่นนี้ ทั้งไม่จำเป็น และเกินกว่าเหตุ รวมทั้งละเมิดพันธกรณีระหว่างประเทศเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน" และว่า สำนักงานข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนของยูเอ็นในไทยกำลังหยิบยกประเด็นนี้ขึ้นหารือกับเจ้าหน้าที่ของไทย ทั้งนี้ ชัมดาซานียังกล่าวด้วยว่า "เราขอเรียกร้องให้ทางการไทยแก้ไขกฎหมายว่าด้วยการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ" ขณะเดียวกัน รัฐบาลไทยควรสั่งให้ตำรวจและอัยการยุติการจับกุมและตั้งข้อหาประชาชนด้วย "กฎหมายที่เขียนด้วยถ้อยคำที่คลุมเครือ" นี้
"นอกจากศาลได้ตัดสินจำคุกด้วยระยะเวลานานเกินกว่าเหตุแล้ว เรายังวิตกด้วยว่า บุคคลที่ถูกกล่าวหาในคดีเช่นนี้ต้องถูกควบคุมตัวก่อนการไต่สวนคดีเป็นเวลานาน" โฆษกของสหประชาชาติผู้นี้กล่าว
รอยเตอร์รายงานว่า ถ้อยแถลงดังกล่าวมีขึ้นหนึ่งวันหลังจากศาลไทยได้ตัดสินจำคุกพลเมืองสหรัฐซึ่งเกิดในไทย นายโจ กอร์ดอน หรือนายเลอพงษ์ วิไชยคำมาตย์ อายุ 55 ปี เป็นเวลา 2 ปีครึ่ง หลังจากเขาได้สารภาพว่าได้เผยแพร่ข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตในบล็อกของเขาในสหรัฐ ซึ่งมีเนื้อความหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
ก่อนหน้านี้ คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ได้เผยแพร่รายงานผลการดำเนินงานรอบ 6 เดือน ครั้งที่ 2 โดยตอนท้ายรายงานมีข้อเสนอแนะที่ส่งถึงรัฐบาลและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง คือ ความกังวลต่อสถานการณ์เกี่ยวกับการดำเนินคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตามมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา และตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ซึ่งมีปริมาณเพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จนส่งผลกระทบในทางการเมือง และกลายเป็นประเด็นที่สหประชาชาติ องค์การระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน และนานาประเทศให้ความสนใจติดตามอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
