x close

ดาบพิเชษฐ กับภารกิจหมอตำแย (จำเป็น) บนท้องถนน



ด.ต.พิเชษฐ วิเศษโชค
ด.ต.พิเชษฐ วิเศษโชค


เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก นิตยสาร BE
 
           ภาพของตำรวจในเครื่องแบบที่มือหนึ่งถือวิทยุสื่อสาร มือหนึ่งถือนกหวีด คอยโบกรถราให้เราในยามเช้า-เย็น คงเป็นภาพที่คนเมืองวัยทำงานเห็นกันจนชินตาในทุก ๆ วัน...แต่หากใครได้มีโอกาสผ่านไปยังอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ คุณจะได้พบภาพของตำรวจจราจรนายหนึ่งที่แปลกตาไปจากนายตำรวจคนอื่น ๆ เพราะนอกจากวิทยุสื่อสาร และนกหวีดแล้ว เขายังมีกระเป๋ายาเป็นอาวุธประจำกาย และเขาผู้นั้นก็คือ "ด.ต.พิเชษฐ วิเศษโชค"
 
           ด้วยความใฝ่ฝันครั้งวัยเยาว์ที่อยากเป็นตำรวจ และสามารถเดินตามความฝันได้สำเร็จ ทำให้วันนี้ ด.ต.พิเชษฐ วิเศษโชค ได้เป็นตำรวจสมใจ ในฐานะผู้บังคับหมู่งานปฏิบัติการจราจรตามโครงการพระราชดำริ 1 กองกำกับการกรมกองบังคับการตำรวจจราจร แต่ไม่ใช่ว่า ดาบเชษฐ จะมีภารกิจเพียงแค่อำนวยความสะดวกในด้านการจราจรบนท้องถนนเท่านั้น เพราะเขายังมีหน้าที่พิเศษ คือ การปฐมพยาบาลเบื้องต้นให้กับคนเจ็บป่วย จนคนทั่วไปเรียกเขาว่า "ตำรวจหมอถนน"
 
           จุดเริ่มต้นของการทำหน้าที่ "ตำรวจหมอถนน" นี้ ต้องย้อนกลับไปตั้งแต่ปี พ.ศ.2540 ที่ดาบเชษฐ ได้ขอย้ายตัวเองเข้าไปทำงานในโครงการพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และได้เรียนรู้วิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้น เพื่อจะได้ช่วยเหลือคนเจ็บป่วย หากประสบกับเหตุการณ์นาทีเป็นนาทีตายบนท้องถนน โดยเฉพาะเรื่องการทำคลอดฉุกเฉินที่เป็นสิ่งที่พบได้บนท้องถนนที่คับคั่งไปด้วยรถยนต์ในยามเช้า
 
           "ตอนนั้นผมยังไม่มีความรู้เกี่ยวกับการปฐมพยาบาลเบื้องต้น จึงเข้ามาอบรมการช่วยเหลือคลอดฉุกเฉินให้กับหญิงท้องแก่ที่ไปโรงพยาบาลไม่ทัน ตอนที่ผมไปอบรม เด็กก็เป็นตุ๊กตา ช่องคลอดก็เป็นหุ่น แต่เมื่อได้มาสัมผัสภาคสนามจริง เป็นเรื่องที่ตื่นเต้นมาก แต่ต้องระวังเพราะเราไม่ใช่แพทย์เฉพาะทาง ฉะนั้น เราต้องระมัดระวังความปลอดภัยให้มากที่สุด" ดาบเชษฐ บอก
 
           และภารกิจ "หมอตำแย" ครั้งแรกของดาบเชษฐ ก็เริ่มต้นขึ้นขณะที่กำลังปฏิบัติหน้าที่อยู่ใต้ทางด่วนดินแดง เมื่อได้รับแจ้งให้ไปช่วยทำคลอดหญิงทำงานก่อสร้างในห้องน้ำแถวซอยเสือใหญ่อุทิศ ดาบเชษฐ รีบตั้งสติและตรงไปยังจุดที่แจ้งมาทันที

ด.ต.พิเชษฐ วิเศษโชค
ด.ต.พิเชษฐ วิเศษโชค
 
           "วันแรกสวมถุงมือยังใส่ไม่ถูกเลย ถุงมือมี 5 นิ้ว ผมเอาไปรวมอยู่ในนิ้วเดียวกัน อะไรที่เป็นครั้งแรกคนเราก็ต้องตื่นเต้น เราช่วยเฉพาะกรณีที่ไปโรงพยาบาลไม่ทันจริง ๆ เป็นเคสที่ศีรษะของเด็กผ่านช่องคลอดมาแล้วเท่านั้น ถ้าเอาเท้าคลอดออกมา เราดำเนินการไม่ได้ ต้องรีบเคลียร์ทางแล้วส่งโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด" ดาบเชษฐ เล่าถึงวินาทีที่รับบทเป็นหมอตำแยจำเป็นในครั้งแรก และเขาก็ทำภารกิจแรกได้สำเร็จลุล่วง ก่อนจะมีงานที่สอง ที่สาม ที่สี่ ต่อมาเรื่อย ๆ
 
           เมื่อถามดาบเชษฐว่า อะไรคืออุปสรรคในการทำคลอด นายดาบก็บอกว่า อุปสรรคที่พบบ่อย ๆ เลยก็คือ "ไทยมุง" ที่ส่วนใหญ่จะมามุงดูทะเบียนรถที่ถูกใช้เป็นสถานี่ทำคลอดเอาไปซื้อหวย!!! แถมยังมีบางคนพยายามถ่ายคลิปจะเอาไปลงอินเทอร์เน็ต ซึ่งดาบเชษฐ มองว่า นี่เป็นการลิดรอนสิทธิของแม่และเด็ก และเป็นหน้าที่ที่เขาจะต้องปกป้องสองแม่ลูก ส่วนเรื่องที่หญิงใกล้คลอด หรือญาติ ๆ ไม่ยอมให้ตำรวจจราจรช่วยเหลือนั้น เขายังไม่เคยเจอ เพราะในวินาทีนั้นคือความเป็นความตายของ "ชีวิต" สองแม่ลูก
 
           "ผมจะแนะนำเขาไปว่าเราเป็นตำรวจในโครงการพระราชดำริ เป็นตำรวจของในหลวงที่ดูแลตรงนี้โดยตรง ผ่านการอบรมมาแล้ว เราสามารถช่วยคุณได้ ซึ่งพอเราทำคลอดเสร็จ ประชาชนที่คอยลุ้นให้กำลังใจก็ปรบมือ เราดีใจ ในความคิดของผมตอนแรกคือ ผมทำได้แล้ว ผมทำได้จริง ๆ หลายคนถามเราตกลงจะเป็นหมอ หรือตำรวจ ผมก็เป็นตำรวจเหมือนเดิม เป็นตำรวจที่ช่วยเหลือประชาชน" ดาบเชษฐ ยืนยันในอุดมการณ์หนักแน่น
 
           แม้ว่าหน้าที่ในการทำคลอดของดาบเชษฐ จะสิ้นสุดลงเมื่อเด็กตัวเล็ก ๆ ออกมาลืมตาดูโลอย่างปลอดภัย แต่ดูเหมือนว่า ภารกิจของเขายังไม่จบเพียงแค่นั้น เพราะทุกครั้ง ดาบเชษฐ จะให้เบอร์โทรศัพท์ของเขากับคนที่เขาช่วยทำคลอดไว้ เพื่อว่ามีปัญหาอะไร ให้เขายินดีจะเข้าไปช่วยเหลือ ซึ่งบ่อยครั้งที่ดาบเชษฐจะกลายเป็นผู้ไปยืนยันกับสำนักงานเขตว่า เป็นผู้ทำคลอดเด็กกับมือ เพื่อที่เขตจะได้ออกสูติบัตรให้เด็ก ๆ เหล่านั้น
 
           ดาบเชษฐ บอกต่ออีกว่า สิ่งที่ทำให้เขาซาบซึ้งและประทับใจมากที่สุด คือ การที่เขาได้พบกับบุคคลที่เขาเคยทำคลอดให้ และคน ๆ นั้น ได้มาบอกกับเขาว่า "ถ้าไม่มีตำรวจ ลูกของฉันอาจไม่มีโอกาสลืมตาดูโลกเหมือนลูกคนอื่นที่ได้คลอดกับแพทย์ในโรงพยาบาล และตัวฉันเองอาจไม่มีโอกาสรอด ฉันซาบซึ้งพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นที่ในหลวงทรงพระราชทานโครงการฯ นี้" นายดาบผู้ทำคลอดมาแล้ว 28 ชีวิตบอกด้วยความประทับใจ
 
           และเชื่อไหมว่า นอกจากหน้าที่ตำรวจ และหมอแล้ว นายดาบคนนี้ยังทำหน้าที่ "ครูจราจร" ในฐานะหัวหน้าชุดโครงการครูจราจรบาทวิถี ซึ่งมีหน้าที่ให้ความรู้นักเรียน-นักศึกษาเกี่ยวกับกฎหมายจราจร รวมทั้งให้ความรู้กับบุคคลทั่วไปตามบริษัท และหน่วยรักษาความปลอดภัยตามลานจอดรถ พร้อมกับสอนการปฐมพยาบาลโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ซึ่งงานทั้งหมดนี้ ดาบเชษฐ น้อมนำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ว่า "แสวงหาความร่วมมือให้ประชาชนเคารพกฎจราจรและมีมารยาท" มาประยุกต์ใช้นั่นเอง และทุกงานก็เป็นงานที่เขารักและสุขใจที่จะทำเพื่อประชาชน
 
ด.ต.พิเชษฐ วิเศษโชค
ด.ต.พิเชษฐ วิเศษโชค

           "ทุกกระทรวง ทบวง กรม คนดีก็มาก คนไม่ดีก็มาก แต่เมื่อคุณทำงานรับใช้ประชาชนแล้ว ไม่ว่าจะอยู่ฝ่ายใด ต้องคำนึงถึงประชาชนเป็นหลัก" ...นายดาบพิเชษฐ กล่าว
 
           ท้ายนี้ ดาบเชษฐ ยังบอกด้วยว่า หากใครเห็นตำรวจที่มีปลอกแขนสีขาวขลิบน้ำเงิน กำลังนำแท็กซี่เปิดไฟหน้ากะพริบ ขอให้เปิดเส้นทางให้ด้วย เพราะนั่นคือนายตำรวจที่กำลังจะไปช่วยทำคลอดให้กับหญิงท้องแก่ หรือนำคนป่วยไปส่งโรงพยาบาล โดยหวังจะให้ผู้ป่วยถึงมือแพทย์โดยเร็วที่สุด
 
           "สังคมเรานิยมวัตถุกันเยอะ ต้องหันมาพัฒนาจิตใจกันบ้าง เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ซึ่งกัน คนที่เขาตกทุกข์เขาต้องการความเร่งด่วนที่จะไปถึงโรงพยาบาล บางครั้งคุณไปทำงานสายนิดหน่อยเพื่อช่วยคนอื่น เจ้านายคงไม่ว่า" นายดาบเชษฐ ทิ้งท้ายอย่างให้แง่คิด
 
           คำว่า "ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์" ไม่จำเป็นว่าต้องมีหน้าที่ตามจับคนร้ายเสมอไป เพราะการบำบัดทุกข์ให้ประชาชนได้รับความปลอดภัย ทั้งด้านสุขภาพ ร่างกาย และจิตใจ นั่นก็คือความหมายที่แท้จริงของ "ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์" ซึ่งก็เป็นหน้าที่ของ "ตำรวจไทย" ด้วย จริงไหม?
 
 
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
นิตยสาร BE ฉบับที่ 30
 


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ดาบพิเชษฐ กับภารกิจหมอตำแย (จำเป็น) บนท้องถนน อัปเดตล่าสุด 27 ธันวาคม 2554 เวลา 08:06:55 26,836 อ่าน
TOP