พบดาวเคราะห์เท่าโลกอีก 1 ดวง คาดไร้สิ่งมีชีวิต (ไอเอ็นเอ็น)
ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูล
เดวิด ชาร์บอนโน นักดาราศาสตร์ ค้นพบ ดาวเคราะห์คู่ ขนาดเท่าโลก โคจรอยู่รอบดาวฤกษ์เหมือนกับดวงอาทิตย์ แต่ไม่น่าจะมีสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อสิ่งมีชีวิต
หลังจากที่มีการค้นพบครั้งล่าสุดนี้ เกิดขึ้นหลังจากเมื่อช่วงต้นเดือนนี้ นักวิทยาศาสตร์ ค้นพบดาวเคราะห์ "ซูเปอร์-เอิร์ท" ชื่อ "เคปเลอร์-22 บี" โคจรอยู่รอบดาวแม่ในระยะทางที่เหมาะสมที่เชื่อว่าน่าจะมีน้ำอยู่บนพื้นผิว นายเดวิด ชาร์บอนโน นักดาราศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด กล่าวว่า เคปเลอร์-22 บี มีอุณหภูมิที่เหมาะสม แต่มีขนาดใหญ่เกินไป แต่ดาวเคราะห์ดวงใหม่ที่ค้นพบมีขนาดเหมาะสม แต่กลับมีอุณหภูมิที่สูงเกินไป
ดาวเคราะห์ดวงใหม่ มีชื่อว่า เคปเลอร์-20 อี และเคปเลอร์-20 เอฟ มีดาวพี่น้อง ที่อยู่ร่วมระบบอีกอย่างน้อย 3 ดวง ซึ่งนับเป็นระบบดาวเคราะห์ขนาดใหญ่แห่งหนึ่งที่พบในเวลานี้ แต่ระบบดาวเคราะห์ดังกล่าว ไม่เหมือนกับระบบสุริยจักรวาล ซึ่งมีดาวเคราะห์หินแข็ง เช่น ดาวศุกร์ โลก และดาวอังคาร เป็นกลุ่มรวมกันอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์ และมีดาวเคราะห์ที่เป็นกลุ่มก๊าซขนาดยักษ์ เช่น ดาวพฤหัส และดาวเสาร์ แยกอยู่ในส่วนนอก ระบบดาวเคราะห์ เคปเลอร์ 20อี และ 20เอฟ ประกอบด้วย ดาวเคราะห์ขนาดเท่า ดาวเนปจูน 3 ดวง ทั้งหมดอยู่กระจายกัน โคจรอยู่ใกล้กับดาวฤกษ์ ที่เป็นดาวแม่ในระยะทางใกล้กว่าดาวพุธ ซึ่งอยู่วงในสุดของสุริยจักรวาล
นายชาร์บอนโน กล่าวว่า เป็นครั้งแรกที่พบเห็นระบบดาวเคราะห์ที่มีดาวเคราะห์หินแข็งและดาวเคราะห์ ที่เป็นกลุ่มก๊าซผสมอยู่รวมกัน และด้วยลักษณะเช่นนี้ ทำให้เชื่อว่า ดาวเคปเลอร์-20อี และเคปเลอร์-20เอฟ มีอุณหภูมิร้อนเกินไปที่จะมีน้ำ และไม่น่าจะมีสิ่งชีวิตอยู่ในขณะนี้ และถ้าดาวดวงนี้ เคยมีน้ำ ก็เชื่อว่า น่าจะเกิดขึ้น เมื่อหลายพันล้านปีที่แล้ว ซึ่งอาจจะมีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ เป็นระยะเวลายาวนาน ระบบดาวเคราะห์ดังกล่าว อยู่ห่างจากโลก 1,000 ปีแสง ในบริเวณกลุ่มดาวรูปพิณ