x close

ชินวัฒน์ ชง คมนาคม ลดค่าแท็กซี่ ดันคนเรียกเพิ่มขึ้น


แท็กซี่


เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

          ชินวัฒน์ หาบุญพาด เล็งเสนอคมนาคมให้ลดราคาแท็กซี่แทน เชื่อช่วยให้คนใช้บริการมากขึ้น และทำให้แท็กซี่ไม่ต้องวิ่งรถเปล่า เปลืองเชื้อเพลิง-ต้นทุน

          ผู้สื่อข่าวรายงานเมื่อวันที่ 12 มีนาคมว่า หลังจากกรมขนส่งทางบก และกระทรวงคมนาคม อนุมัติขึ้นค่าโดยสารรถแท็กซี่ และเตรียมหาข้อสรุปร่วมกันต่อไปว่าจะขึ้นค่าโดยสารเป็นเท่าใดนั้น ก็ทำให้กลุ่มคนขับแท็กซี่ส่วนใหญ่รู้สึกเห็นด้วยกับการที่จะได้ปรับขึ้นค่ามิเตอร์

          โดยนายศักดิ์สยาม อินธิศักดิ์ คนขับรถแท็กซี่ กล่าวว่า ควรเริ่มต้นที่ 35 บาทเหมือนเดิม แล้วปรับค่ามิเตอร์เพิ่มตามระยะทาง ซึ่งเชื่อว่าผู้โดยสารจะไม่ลดลง เพราะคนกรุงยังรักความสะดวกสบาย โดยเฉพาะในเวลาเร่งด่วน

          ด้านนายสัมพันธ์ ฟูวงศ์ คนขับแท็กซี่ของสหกรณ์สหมิตร ก็เห็นด้วยกับการปรับขึ้นค่ามิเตอร์ตามระยะทาง เพื่อที่ผู้โดยสารในระยะทางใกล้ ๆ จะไม่ต้องรับผลกระทบมากนัก อย่างไรก็ตาม นายสัมพันธ์ มองว่า การขึ้นค่าก๊าซไม่ได้ส่งผลกระทบกับตัวเองมากนัก เพราะปัญหาสำคัญที่ทำให้คนขับแท็กซี่มีรายได้น้อยลงก็คือมีผู้ใช้บริการน้อยลงมากกว่า

          อย่างไรก็ตาม แม้คนขับแท็กซี่จะเห็นด้วยกับการปรับขึ้นราคามิเตอร์ แต่นายชินวัฒน์ หาบุญพาด ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กลับมีความเห็นต่างออกไป โดยนายชินวัฒน์ ระบุว่า ราคาก๊าซที่ปรับสูงขึ้น ไม่ได้ทำให้ต้นทุนของผู้ขับแท็กซี่สูงขึ้น แต่เป็นเพราะในปัจจุบันมีรถแท็กซี่ออกมาวิ่งให้บริการในเขตกรุงเทพมหานครและ ปริมณฑลมากถึง 6.5 หมื่นคัน ซึ่งเป็นปริมาณที่สูงมาก ทำให้รถแท็กซี่ส่วนใหญ่ต้องวิ่งรถเปล่า เพราะไม่มีผู้โดยสาร

          นายชินวัฒน์ กล่าวต่อว่า การวิ่งรถเปล่าทำให้ต้องสูญเสียต้นทุนเชื้อเพลิงมากขึ้น อย่างเช่น ในระยะทาง 100 กิโลเมตร จะมีผู้โดยสารเพียง 20-30 กิโลเมตรเท่านั้น ส่วนที่เหลือ 70 กิโลเมตร แท็กซี่ต้องวิ่งรถเปล่า ทำให้แท็กซี่อยู่ไม่ได้ ซึ่งการจะแก้ปัญหาดังกล่าวนั้น ต้องควบคุมปริมาณรถแท็กซี่ให้มีราว ๆ 3-3.5 หมื่นคัน และต้องควบคุมค่าเช่าของอู่แท็กซี่ เพื่อให้คนขับแท็กซี่อยู่ได้

          ขณะเดียวกัน ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ยังเตรียมจะเสนอต่อนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และอธิบดีกรมการขนส่งทางบก ให้พิจารณาปรับลดราคาแท็กซี่ลง เพราะเห็นว่า หากราคารถแท็กซี่ถูกลง จะจูงใจให้คนใช้บริการเพิ่มขึ้นกว่าการจะปรับราคาแท็กซี่ให้สูงขึ้น เพื่อให้คนขับแท็กซี่อยู่ได้



อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก



[11 มีนาคม] คมนาคมไฟเขียวแล้ว! ปรับขึ้นค่าโดยสารแท็กซี่



เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

          คมนาคมไฟเขียวเตรียมปรับขึ้นราคาค่าโดยสารแท็กซี่เมษายนนี้ ส่วนเรื่องราคาปรับเท่าใด ยังไม่ชัวร์ ด้านชินวัฒน์เล็งเสนอคมนาคมให้ลดราคาแท็กซี่แทน เชื่อช่วยให้คนใช้บริการมากขึ้น และทำให้แท็กซี่ไม่ต้องวิ่งรถเปล่า เปลืองเชื้อเพลิง
 
          เมื่อวานนี้ (10 มีนาคม) นายเกษมสันต์ ชมภูแดง ผู้จัดการสหกรณ์แท็กซี่ภูมิพลัง กล่าวว่า กรมขนส่งทางบก (ขบ.) และกระทรวงคมนาคม ได้อนุมัติขึ้นค่าโดยสารรถแท็กซี่แล้ว คาดว่าน่าจะได้ข้อสรุปทั้งหมดก่อนวันที่ 16 เมษายนนี้ สาเหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะว่า ต้องมีการหารือกันหลายฝ่าย สืบหาต้นทุนที่แท้จริง คือ กรมขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม ผู้ประกอบการแท็กซี่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และกระทรวงพลังงาน เกี่ยวกับประเด็นรูปแบบการขึ้นราคาว่าจะขึ้นแบบใด ได้แก่
 
          1. คิดค่าบริการเริ่มต้น 35 บาทเท่าเดิม แต่ปรับตรงส่วนเพิ่มของระยะทาง

          2. คิดค่าบริการเริ่มต้น 40 บาท

          3. คิดค่าบริการเริ่มต้น 45 บาท

          4. คิดค่าบริการเริมต้น 50 บาท
 
          นายเกษมสันต์ กล่าวว่า การปรับราคาค่าโดยสารแท็กซี่ครั้งนี้ ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม เพราะว่าวันที่ 16 เมษายนนี้ ปตท. จะหมดสัญญาช่วยเหลือค่าก๊าซเอ็นจีวีกับแท็กซี่ ในอัตราลิตรละ 2 บาทแล้ว
 
          ด้านนายศิลปชัย จารุเกษมรัตนะ รักษาราชการแทนปลัดคมนาคม เปิดเผยว่า ช่วงนี้กรมขนส่งทางบกกำลังศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับการปรับราคาค่าโดยสารแท็กซี่อยู่ ซึ่งถ้าได้ข้อสรุปแบบใด ก็จะส่งเรื่องมาที่กระทรวงคมนาคม จากนั้นก็จะเรียกผู้ประกอบการแท็กซี่ พูดคุยถึงเรื่องราคาที่เหมาะสมต่อไป แต่ตนคิดว่า การปรับราคาต้องทำอย่างรอบคอบ และเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย โดยที่ไม่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้รับความเดือดร้อนมากเกินไป
 



อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก



[16 มกราคม] รมว.พลังงาน รับเล็งปรับขึ้นราคามิเตอร์แท็กซี่

แทกซี่


เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
 
          รมว.พลังงาน ชี้แจงขึ้นราคาเอ็นจีวี-แอลพีจี เหมาะสมแล้ว เพราะขณะนี้ ปตท.ขาดทุนกว่าหมื่นล้านบาท หากขยายเอ็นจีวีเพิ่มขึ้นแต่ในราคาเท่าเดิม ก็จะยิ่งขาดทุนมากขึ้น เล็งปรับขึ้นราคามิเตอร์แท๊กซี่
 
          วันนี้ (16 มกราคม) ในการประชุมรัฐสภา ครั้งที่ 3 สมัยสามัญนิติบัญญัติ ได้พิจารณากระทู้ถามด่วนของนายสุรเดช จิรัฐิติเจริญ ส.ว.ปราจีนบุรี เรื่องการปรับโครงสร้างพลังงาน ที่ถามว่า หลังจากที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) มีมติเห็นชอบให้ปรับราคาพลังงานทั้งระบบเริ่มตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2555 ซึ่งประกอบไปด้วย
 
          1. ก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (เอ็นจีวี) ปัจจุบันราคา 8.50 บาทต่อกิโลกรัม ปรับขึ้นเดือนละ 0.5 บาท/กก. 12 ครั้ง หรือราคารวม 6 บาท ดังนั้น ราคา ณ ปลายปี พ.ศ.2555 อยู่ที่ 14.50 บาท

          2. ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (แอลพีจี) ภาคขนส่ง ปัจจุบันราคา 18.13 บาท/กก. ปรับขึ้นเดือนละ 0.75 บาท/กก. 12 ครั้ง หรือราคาปรับขึ้นรวม 9 บาท ดังนั้น ราคา ณ ปลายปี พ.ศ.2555 อยู่ที่ กก.ละ 27.13 บาท
         
          3. ก๊าซแอลพีจี ภาคครัวเรือน ปัจจุบันราคา 18.13 บาท/กก. ยืนราคาตามเดิมไปจนถึงปลายปี พ.ศ.2555
 
          โดยนายสุรเดช ถามว่า จากการปรับโครงสร้างราคาพลังงานดังกล่าว ได้เกิดผลกระทบต่อประชาชนเป็นอย่างมาก ดังนั้นจึงต้องการตรวจสอบถามรัฐบาลว่า รัฐบาลได้ศึกษารายละเอียดของต้นทุนราคาพลังงานที่แท้จริง และดูแล้วว่ามีความเหมาะสม ตลอดจนศึกษาหามาตรการรองรับช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบหรือไม่
 
          ด้านนายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ชี้แจงว่า สำหรับราคาเอ็นจีวีนั้น แม้ประเทศไทยจะผลิตได้เองก็จริง แต่ก็มีการนำเข้าพลังงานปีละกว่า 1.2 ล้านล้านบาท ซึ่งหากกำหนดราคา เอ็นจีวีอยู่ที่ 8.50 บาท/กก.นั้น ไม่สามารถทำได้แล้ว เพราะเป็นราคาที่ใช้มากว่า 10 ปีแล้ว อีกทั้งราคาพลังงานในโลกได้ปรับเพิ่มขึ้นสูงมากตลอด 10 ปีที่ผ่านมา และอีกประการหนึ่งคือ ในราคาเอ็นจีวี 8.50 บาทนี้ มีถึง 2 บาทที่กองทุนน้ำมันจ่ายชดเชยให้อยู่ ซึ่งเงินที่เอามาอุดหนุนเอ็นจีวีก็มาจากเงินของผู้ใช้ดีเซลและเบนซิน
 
          นายพิชัย กล่าวต่อว่า ขณะนี้ปตท.ยังขาดทุนสะสมถึง 4 หมื่นล้านบาท ถ้าหากขยายเอ็นจีวีเพิ่มขึ้นแต่ในราคาเท่าเดิม ก็จะยิ่งขาดทุนมากขึ้น อยากให้เอ็นจีวีเป็นพลังงานหลัก แต่จะให้เอ็นจีวีขายขาดทุนตลอดคงทำไม่ได้ โดยในระยะสั้น รัฐบาลช่วยเหลือประชาชนจากการชะลอเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันก็จริง แต่ในระยะยาวก็ต้องกลับมาเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาพลังงาน
 
          ส่วนราคาแอลพีจี เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน จะเห็นว่าไทยยังมีราคาถูกกว่า เช่น เวียดนาม 46 บาท กัมพูชา 44 บาท ลาว 44 บาท พม่า 36 บาท ส่วนของไทย 18 บาท ถ้าถามขึ้นราคาแอลพีจีตรงนี้เหมาะสมหรือไม่ นายพิชัย กล่าวว่า ก็เหมาะสม เพราะต่อไปจะรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในอีกไม่กี่ปีหน้า ถ้าไม่ปรับราคาให้มีระยะห่างน้อยลงจะเป็นปัญหาได้
 
          นอกจากนี้ นายพิชัย กล่าวว่า ในอนาคตจะมีการปรับขึ้นราคาแท็กซี่ เพราะมิเตอร์แท็กซี่ไม่ได้ขึ้นมาตั้งแต่ปี 2551 แล้วโดยจะพิจารณาหลังจากเมื่อมีการปรับราคาพลังงานและดัชนีเงินเฟ้อ ทั้งนี้ นายพิชัยกล่าวว่า การดำเนินการเช่นนี้อาจขัดใจประชาชน แต่ก็ต้องมองถึงผลกระทบในระยะยาวด้วย อย่างเรื่องกองทุนน้ำมัน เมื่อชะลอการเก็บเงินช่วยประชาชนแล้ว แต่จะให้รัฐบาลเข้าไปอุดหนุนราคาพลังงานตลอดไปคงไม่สามารถทำได้ แต่จะทำโครงสร้างพลังงานของประเทศให้ถูกต้อง เพราะเราต้องดูผลประโยชน์ในระยะยาวที่ต้องรักษาเสถียรภาพของกองทุนน้ำมัน
 

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก






เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ชินวัฒน์ ชง คมนาคม ลดค่าแท็กซี่ ดันคนเรียกเพิ่มขึ้น อัปเดตล่าสุด 12 มีนาคม 2555 เวลา 14:01:35 42,343 อ่าน
TOP