
ผวากทม.ตัดเหี้ยน ไม้ใหญ่สวนรถไฟ (ไทยโพสต์)
คนรักสวนรถไฟโวย กทม.งุบงิบปรับภูมิทัศน์ รื้อต้นไม้ทำสวนดอกไม้ พบมีเจ้าหน้าที่เข้ามาตอกเบอร์ติดต้นไม้นับได้ถึง 1,153 ต้น ไม่รู้ชะตากรรมว่าถูกตัดทิ้งหรือย้ายไปปลูกที่อื่น สำรวจพบหลายต้นมีอายุมากกว่า 40 ปี ขนาดสองคนโอบก็มี จี้ กทม.เปิดเวทีให้ประชาชนมีส่วนร่วมรับรู้ข้อมูล เตรียมทำใบปลิวคัดค้านแจกผู้ใช้สวนรถไฟในสุดสัปดาห์นี้
เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ นายปรีชา จิตตวานิช ประธานชมรมคนรักสวนรถไฟ หรือสวนวชิรเบญจทัศ เปิดเผยว่า ตนมาออกกำลังกายที่สวนรถไฟเป็นประจำทุกวัน เมื่อวันที่ 4-5 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ได้เห็นเจ้าหน้าที่เข้ามารังวัดพื้นที่และสำรวจจำนวนต้นไม้ โดยมีการตอกเบอร์ใส่แผ่นสังกะสีติดตามลำต้น แต่ไม่มีการติดป้ายประกาศแจ้งให้ประชาชนรู้ว่าจะทำโครงการอะไร มีการตัดต้นไม้หรือขุดย้ายไปไว้ที่ไหนอย่างไร กทม.ไม่เปิดเผยข้อมูล ทำให้ผู้มาใช้บริการสวนรถไฟเกิดความกังวลใจว่าจะมีการตัดไม้ใหญ่หรือไม่ ดังนั้นตนจึงได้จัดทำใบปลิวแจกเพื่อเชิญชวนให้ประชาชนร่วมตรวจสอบการปรับเปลี่ยนภูมิทัศน์พื้นที่ภายในสวนสาธารณะในช่วงวันเสาร์-อาทิตย์นี้ และเรียกร้องให้ กทม.ชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการตอกเบอร์ต้นไม้ดังกล่าว
นายปรีชากล่าวว่า จากการเดินดูจำนวนเบอร์ที่ตอกติดต้นไม้พบว่ามีถึง 1,153 ต้นแล้ว ซึ่งคาดว่าจะมีจำนวนมากกว่านี้ เท่าที่สำรวจในเบื้องต้นมีต้นไม้อายุมากกว่า 40 ปีเป็นจำนวนมาก หลายต้นมีขนาด 2-3 คนโอบ เพราะสวนรถไฟมีอายุประมาณ 60 ปี ในอดีตเคยเป็นสนามกอล์ฟ และแปรสภาพเป็นสวนสาธารณะที่อยู่ในความรับผิดชอบของ กทม.มาได้ 16-17 ปี ชนิดต้นไม้ที่พบว่าติดเบอร์ส่วนใหญ่เป็นต้นจามจุรี ต้นสน หางนกยูง ข่อย และมะฮอกกานี เป็นต้น
"สวนรถไฟเป็นสวนสาธารณะที่ได้รับความนิยมจากประชาชนมากกว่าสวนจตุจักรและสวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ ในวันธรรมดามีคนเข้าสวนรถไฟเฉลี่ย 5,000 คนต่อวัน ส่วนวันเสาร์-อาทิตย์มีคนใช้บริการนับหมื่นคน ทุกคนชอบความร่มรื่นของสวนแห่งนี้ และไม่อยากให้มีการตัดต้นไม้ หรือถ้าหากย้ายไปที่อื่นก็เกรงว่าจะทำให้ต้นไม้ตาย" ประธานชมรมคนรักสวนรถไฟกล่าว และว่า เจ้าหน้าที่บอกว่าจะมีการปรับปรุงภูมิทัศน์เพื่อทำสวนดอกไม้เป็นสัญลักษณ์ของสวนรถไฟ
เขาบอกว่า กทม.ควรเปิดเวทีประชาพิจารณ์ให้ประชาชนได้รับรู้ข้อมูลและมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น ว่าต้องการให้ทำหรือไม่ อย่างไร เนื่องจากเป็นสวนสาธารณะของประชาชน ไม่ใช่ของหน่วยงานภาครัฐ กทม.ที่จะใช้งบประมาณมาตัดหรือย้ายต้นไม้โดยไม่ฟังเสียงประชาชน ที่ผ่านมา กทม.ไม่เคยมาปรับปรุงระบบสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น ห้องน้ำ ให้มีจำนวนเพียงพอต่อความต้องการ
ก่อนหน้านี้เมื่อปี 2553 กทม.มีแนวคิดดำเนินโครงการรวมสวนจตุจักร สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ และสวนวชิรเบญจทัศ เพื่อจัดทำเป็นอุทยานสวนจตุจักร พื้นที่ 727 ไร่ ด้วยงบประมาณ 595 ล้านบาท แต่ปรากฏว่าได้มีประชาชนร้องเรียนเรื่องการตัดต้นไม้ กทม.จึงชะลอโครงการไว้ก่อนเพื่อนำกลับมาทบทวนรายละเอียดโครงการอีกครั้ง
สำหรับนายปรีชา จิตตวานิช ประธานชมรมคนรักสวนรถไฟ เป็นคนที่ใช้ชีวิตอยู่ในสวนสาธารณะยาวนานกว่า 30 ปี จากสวนจตุจักรจนมาถึงสวนรถไฟ ออกกำลังกายโดยวิ่งในสวนมาตั้งแต่เป็นผู้บริหารธุรกิจเอกชน จนเกษียณไปแล้วก็ยังอยู่ในสวนสาธารณะ ความผูกพันระหว่างเขากับต้นไม้ในสวน ทำให้เขาต้องออกมาเคลื่อนไหวในนามคนรักสวนรถไฟตลอดมา
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
