x close

ไทยติดแบล็กลิสต์ฟอกเงิน ปปง.ชี้ส่งผลต่อธุรกรรมการเงิน ตปท.




ปปง.แถลงไทยไม่ติดแบล็กลิสต์ฟอกเงินแค่เสี่ยง (ไอเอ็นเอ็น)


           คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน แถลงยืนยัน ประเทศไทยไม่ติดแบล็กลิสต์ ชี้ แค่เสี่ยงและเฝ้าระวังเท่านั้น ขณะยอมรับมีผลกระทบการทำธุรกรรมทางการเงิน พร้อมขออย่าโยงกับขบวนการก่อการร้าย

           พ.ต.อ.สีหนาท ประยูรรัตน์ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) แถลงกรณีที่คณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อดำเนินมาตรการทางการเงินเกี่ยวกับการฟอกเงิน (FATF) กำหนดให้รายชื่อประเทศไทย เป็นประเทศ 1 ใน 15 ที่มีข้อบกพร่องเชิงยุทธศาสตร์การป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย ว่า ประเทศไทยไม่ได้ถูกขึ้นบัญชีดำตามที่หลายฝ่ายเข้าใจ แต่เป็นประเทศที่เสี่ยงและเฝ้าระวังเท่านั้น และยอมรับว่า มีผลกระทบต่อการทำธุรกรรมทางการเงิน และขออย่านำไปเชื่อมโยงกับขบวนการก่อการร้ายเ พราะเป็นคนละเรื่อง

             ส่วนแนวทางการแก้ไข ต้องเร่งกำหนดกฎหมายในการป้องกันและปราบปรามฟอกเงิน และกฎหมายการป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย ให้มีหลักสอดคล้องกับมาตรฐานสากล และต้องปรับปรุงโครงสร้าง และอัตรากำลังเจ้าหน้าที่ของสำนักงาน ปปง. เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล

           พร้อมกันนี้ เลขาฯปปง. กล่าวอีกว่า ได้ดำเนินการแจ้งกับภาคเอกชน เพื่อให้รวบรวมปัญหาและผลกระทบมาให้ทราบ เพื่อให้รัฐบาลนำไปดำเนินการแก้ไขต่อไป

เลขาฯปปง.แนะเร่งทำความเข้าใจ FATF

           พ.ต.อ.สีหนาท ประยูรรัตน์ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) กล่าวถึงผลกระทบกรณีที่ FATF กำหนดให้ประเทศไทย เป็นประเทศที่ต้องเฝ้าระวังทางการฟอกเงินและสนับสนุนการก่อการร้าย ว่า อาจจะต้องใช้เวลาในการทำธุรกรรมทางการเงินมากยิ่งขึ้น และมีผลกระทบต่อตลาดเงิน ตลาดทุน ซึ่งจะต้องใช้เวลาในการพิจารณา รวบรวมหลักฐานให้มากขึ้น ส่วนผลกระทบอื่น ต้องใช้เวลา 1 - 2 เดือน ขณะที่การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าขณะนี้ พยายามเร่งรัดให้ FATF ทราบว่า ประเทศไทย มีการออกกฎกระทรวงแล้ว ซึ่งคาดว่าในเดือนมิถุนายน จะมีการประชุมคณะกรรมการของ FATF ประเทศไทยอาจจะมีอำนาจในการต่อรองได้ว่า มีความคืบหน้า

           ทั้งนี้ ขั้นตอนต่างๆ ที่ยังค้างอยู่ในณะนี้ เชื่อว่า หากได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ และเอกชน ผลักดันในสิ่งต่างๆ ที่ยังเป็นข้อบกพร่องในเชิงยุทธศาสตร์ ให้ผ่านไปได้ ก็น่าจะทำให้การประชุม FATF ปลดล็อกประเทศไทย ออกจากการเป็นกลุ่มเสี่ยง

ปปง.ชี้ต้องผ่านกม.2ฉบับปลดล็อกจากFATF

           พ.ต.อ.สีหนาท ประยูรรัตน์ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) กล่าวถึงการปลดล็อกประเทศไทย ออกจากกลุ่มที่ FATF กำหนดให้เป็นประเทศที่ต้องเฝ้าระวังการฟอกเงินและสนับสนุนการก่อการร้าย ว่า ใช้ระยะเวลาในการดำเนินการไม่นาน หากมีความคืบหน้าในระดับหนึ่ง และหลักสำคัญ กฎหมาย 2 ฉบับ ต้องผ่าน แต่ต้องใช้ระยะเวลาความรอบคอบในการพิจารณาร่างกฎหมาย เพราะกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ อาจเกี่ยวข้องกับสิทธิเสรีภาพ จึงคิดว่าประเด็นนี้ น่าจะทำความเข้าใจกับ FATF ได้

           ทั้งนี้ เลขาธิการ ปปง. ย้ำอีกว่า ต้องมีความคืบหน้าในระดับที่ดีพอสมควร เพื่อที่จะรายงานให้ FATF ทราบ เพื่อดำเนินการปลดล็อก และถึงแม้ประเทศไทยไม่ได้เป็นสมาชิก FATF 1 ใน 40 ประเทศ แต่ก็ยังคงต้องดำเนินการตาม เพราะยังต้องติดต่อกับประเทศที่อยู่ในกลุ่มสมาชิก FATF อยู่






[17 กุมภาพันธ์] ไทยติดแบล็กลิสต์ฟอกเงิน ปปง.ชี้ส่งผลต่อธุรกรรมการเงิน ตปท.




เรียบเรียงข้อมูลโดย กระปุกดอทคอม

          ปปง.ชี้ หากประเทศไทยถูกขึ้นบัญชีดำในฐานะประเทศที่ไม่ปฏิบัติตามมาตรการทางการเงินเกี่ยวกับการฟอกเงิน (เอฟเอทีเอฟ) จะส่งผลกับการทำธุรกรรมระหว่างประเทศเป็นอย่างมาก และล่าสุดประเทศไทยได้ถูกขึ้นบัญชีดำแล้ว

          วันนี้ (17 กุมภาพันธ์) พันตำรวจเอกสีหนนาท ประยูรรัตน์ รักษาราชการเลขาธิการ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ออกมากล่าวว่า ระหว่างวันที่ 13-20 กุมภาพันธ์ ตนจะเดินทางไปร่วมประชุมกับคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อดำเนินมาตรการทางการเงินเกี่ยวกับการฟอกเงิน (เอฟเอทีเอฟ) ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศสเนื่องจากประเทศไทยมีแนวโน้มจะถูกขึ้นบัญชีเป็นประเทศเฝ้าระวังการฟอกเงิน อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการประชุมเกี่ยวกับวิกฤตเศรษฐกิจโลก ในกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ 20 ประเทศ หรือ ที่เรียกว่า จี20 ได้ออกมาเรียกร้องให้ประเทศต่าง ๆ เพิ่มมาตราการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินรวมทั้งต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่ผู้ก่อการร้าย และได้มีการประเมินความเสี่ยงด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและต่อต้านการก่อการร้ายขึ้น และปรากฏว่าผลการประเมินในปี 2552 ประเทศไทยมีข้อบกพร่องด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย

          แม้ว่าจะมีการแก้ไขข้อบกพร่องตามผลการประเมินแล้ว แต่ที่ผ่านมาประเทศไทยเผชิญกับปัญหาภาวะน้ำท่วมและความขัดแย้งทางการเมือง จึงทำได้เพียงการยกร่างแต่ไม่มีการผลักดันเป็นกฏหมาย ทั้งนี้ทางประธานเอฟเอทีเอฟจึงได้ส่งหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ประเทศไทยยังคงบกพร่องเชิงยุทธศาสตร์บางประการ และขอให้ประเทศไทยดำเนินการแก้ไข 3 เรื่อง คือ

          1. เรื่องการแก้ไขกฎหมายกำหนดให้การสนับสนุนทางเงินแก่การการก่อการร้ายเป็นความผิดอาญาอย่างครบถ้วน

          2. เรื่องการดำเนินมาตรการในการตรวจสอบและอายัดทรัพย์สินของผู้ก่อการร้าย

          3. เรื่องการปรับปรุงการกำกับดูแลสถาบันการเงินและธุรกิจต่าง ๆ เกี่ยวกับด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายให้มีประสิทธิภาพ

          ซึ่งแนวทางแก้ไขที่จะสามารถทำให้ประเทศไทย พ้นจากการถูกปรับลดไปอยู่ในกลุ่มประเทศที่ถูกขึ้นบัญชีเป็นประเทศที่ต้องเฝ้าระวังในการทำธุรกรรมทางการเงิน คือ การเร่งผลักดันให้รัฐสภาผ่านร่างกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และ กฎหมายว่าด้วยการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายอย่างเร่งด่วน เพราะ หากไทยถูกปรับลดความน่าเชื่อถือเมื่อไหร่จะส่งผลกระทบหลายด้าน โดยเฉพาะกับสถาบันการเงิน ภาคธุรกิจ และภาคประชาชนในการทำธุรกรรมระหว่างประเทศ ซึ่งการเดินทางไปประชุมครั้งนี้จนจะพยายามชี้แจ้งทำความเข้าใจเพื่อไม่ให้ประเทศไทยถูกขึ้นบัญชี

          แต่ล่าสุดมีรายงานจากสำนักข่าวต่างประเทศแล้วว่า ประเทศไทยได้ถูกเพิ่มชื่ออยู่ในบัญชีในฐานะประเทศที่ไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานระหว่างประเทศว่าด้วยการสกัดกั้นการฟอกเงิน ร่วมกับอีก 5 ประเทศ ได้แก่ ปากีสถาน อินโดนีเซีย กานา และแทนซาเนีย นอกจากนั้นยังมีอีก 12 ประเทศที่อยู่ในบัญชีดำเดิมได้แก่ โบลิเวีย, คิวบา, เอธิโอเปีย, อิหร่าน, เคนยา, พม่า, ไนจีเรีย, เกาหลีเหนือ, เซา โตเม แอนด์ ปรินซิเป, ศรีลังกา, ซีเรีย และตุรกี

          ส่วนประเทศที่อยู่ในบัญชีเทา ประกอบไปได้ด้วยประเทศ  แอลจีเรีย, แองโกลา, แอนติกวา แอนด์ บาร์บูดา, อาร์เจนตินา, บังกลาเทศ, บรูไน, กัมพูชา, เอกวาดอร์, เคอร์กิซสถาน, มองโกเลีย, โมร็อกโก, นามิเบีย, นิการากัว, ฟิลิปปินส์, ซูดาน, ทาจิคิสถาน, ตรินิแดด แอนด์ โตเบโก, เติร์กเมนิสถาน, เวเนซุเอลา, เวียดนาม, เยเมน และซิมบับเว


อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ไทยติดแบล็กลิสต์ฟอกเงิน ปปง.ชี้ส่งผลต่อธุรกรรมการเงิน ตปท. อัปเดตล่าสุด 21 กุมภาพันธ์ 2555 เวลา 07:55:08 16,410 อ่าน
TOP