x close

สนข. เผยจะนำเสาโฮปเวลล์มาทำรถไฟสายสีแดง



นางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์

ทางเชื่อมโฮปเวลล์ถล่ม


สนข. เผยจะนำเสาโฮปเวลล์มาทำรถไฟสายสีแดง (ไอเอ็นเอ็น)
 
          ผู้อำนวยการ สนข. เผย จะนำเสาโฮปเวลล์มาทำรถไฟสายสีแดง และระบบขนส่งมวลชนเชื่อมต่อกัน ขณะที่บางส่วนจะทุบทิ้ง แล้วสร้างเป็นรูปแบบที่ทันสมัย คาดจะแล้วเสร็จในปี 2557

          วันนี้ (7 มีนาคม) นางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยถึงโครงสร้างโครงการโฮปเวลล์ ที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) จะนำบางส่วนมาใช้ประโยชน์ในโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ - รังสิต ว่า ปัจจุบันมีโครงสร้างเสาปูนของโครงการโฮปเวลล์อยู่ประมาณ 500 ต้น โดยจะนำมาใช้เป็นโครงสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงประมาณ 50 % และจะนำมาใช้เป็นส่วนต่อขยายโครงการระบบขนส่งทางรถไฟเชื่อมท่าอากาศยาน สุวรรณภูมิ และสถานีรับส่งผู้โดยสารอากาศยานในเมือง หรือ แอร์พอร์ตลิงค์ ส่วนต่อขยายจากพญาไท บางซื่อ ดอนเมือง ประมาณ 60 % อีกทั้งจะมีการทุบต่อม่อทิ้ง และสร้างเป็นรูปแบบที่ทันสมัย โดยคาดว่าน่าจะดำเนินการแล้วเสร็จก่อนปี 2557

          อย่างไรก็ตาม นางสร้อยทิพย์ กล่าวเสริมว่า ส่วนต่อขยายดอนเมือง ที่ยังไม่ผ่านคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (EIA) นั้น จะมีการเสนอแผนงานดังกล่าวอีกครั้ง เพื่อจะได้เริ่มแผนการดำเนินงานขั้นต่อไป ซึ่งการเสนอแผนงานในครั้งนี้ เป็นการเสนอครั้งที่ 4







[5 มีนาคม] สั่งรื้อโฮปเวลล์ถล่มทันที - ตอม่อไร้ปัญหา


โฮปเวลล์

โฮปเวลล์



จนท.กั้นโฮปเวลล์ รอประเมินหวั่นถล่มซ้ำ (ไอเอ็นเอ็น)

          เจ้าหน้าที่ล้อมปิดพื้นที่โฮปเวลล์ถล่ม - วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย สั่งรื้อโฮปเวลล์ถล่มทันที คาดแล้วเสร็จ 1 สัปดาห์ สาเหตุเนื่องจากโครงสร้างอ่อนตัว

           จากกรณีเกิดเหตุแผ่นคอนกรีตของชานชาลา โฮปเวลล์ ถล่มลงมาทับรางรถไฟ บริเวณถนนกำแพงเพชร 6 เลยวัดเสมียนนารี ประมาณ 200 เมตร เมื่อวันที่ 1 มีนาคม ที่ผ่านมานั้น ขณะนี้ เจ้าหน้าที่ ก็ได้อยู่ระหว่างการนำสังกะสี มาล้อมปิดพื้นที่ พร้อมกับนำผ้าใบมาล้อมรอบบริเวณที่เกิดเหตุ เพื่อห้ามมิให้ผู้ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง เข้าไปในบริเวณดังกล่าวอย่างเด็ดขาด เนื่องจากเกรงว่าจะได้รับอันตราย ขณะเดียวกัน ในเวลา 09.00 น. วันนี้ เจ้าหน้าที่วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ของกทม. และการรถไฟแห่งประเทศไทย จะได้ร่วมกันทำการตรวจสอบในบริเวณที่เกิดเหตุอย่างละเอียดอีกครั้ง รวมไปถึงโครงสร้างชานชาลาโฮปเวลล์ ที่เป็นจุดเสี่ยงในบริเวณใกล้เคียงด้วย เพื่อประเมินว่าโครงสร้างดังกล่าวนั้น จะมีโอกาสเสี่ยงที่จะพังลงมาอีกหรือไม่

          ล่าสุด นายสุวัฒน์ เชาว์ปรีชา นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ได้สั่งการให้รื้อถอนโครงสร้างที่พังลงมาทั้งหมดแล้ว โดยกล่าวว่า การรื้อถอนจะมีการใช้รถแบ็คโฮตัดแบ่งแผ่นคอนกรีตออกเป็นก้อนๆ ก้อนละ 10 ตารางเมตร จากนั้นใช้เครนยกลงมา ซึ่งคาดว่า จะใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์ จึงจะแล้วเสร็จ นอกจากนี้ ยังกำชับไปยังเจ้าหน้าที่ให้ดำเนินการตามขั้นตอนอย่างระมัดระวังเนื่องจากในบริเวณดังกล่าวนั้นมีท่อส่งก๊าซอยู่ด้วย ซึ่งหากแผ่นคอนกรีตหล่นลงมาในจุดดังกล่าว ก็อาจทำให้เกิดอันตรายได้

          ทั้งนี้ จากการตรวจสอบเบื้องต้น คาดว่า สาเหตุหลักที่ทำให้แผ่นคอนกรีตชานชลาโฮปเวลล์ถล่มลงมานั้น มาจากนั่งร้านเหล็กชั่วคราว ที่มีอายุเกือบ 20 ปี ที่นำมารับแผ่นคอนกรีตไว้ เกิดการผุกร่อน และถูกขโมยน็อตยึด รวมถึงชิ้นส่วนต่าง ๆ ออกไป จึงทำให้โครงสร้างอ่อนตัวลง และพังลงมาดังกล่าว






[3 มีนาคม] วสท.ยันโฮปเวลล์ยังแข็งแรง รองรับรถไฟฟ้าสีแดงได้


โฮปเวลล์


เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก ไทยพีบีเอส

          วสท.ยันโครงสร้างโฮปเวลล์โดยรวมยังแข็งแรงดี รองรับการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดงได้ เตรียมลงพื้นที่ตรวจจันทร์นี้

          จากเหตุการณ์แผ่นปูนขนาดใหญ่ของชานชลาโครงการโฮปเวลล์ พังถล่มลงมาทับรางรถไฟในบริเวณถนนวิภาวิดีรังสิต ขาออก ช่วงโลคัลโรด เลยจากวัดเสมียนนารี มาประมาณ 200 เมตร เมื่อวันที่ 1 มีนาคมที่ผ่านมานั้น ทำให้หลายฝ่ายกังวลถึงความแข็งแรงของโฮปเวลล์ส่วนอื่น ๆ ว่า จะรองรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง (บางซื่อ-รังสิต) ได้หรือไม่

          เกี่ยวกับประเด็นนี้ นายสุวัฒน์ เชาว์ปรีชา นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) กล่าวว่า โครงสร้างโดยรวมยังมีความแข็งแรงดีอยู่ แม้ตอม่อจะก่อสร้างมานานกว่า 20 ปีแล้ว แต่เสาหลายต้นยังอยู่ในสภาพสมบูรณ์ เพราะเป็นโครงสร้างที่สร้างเพื่อรองรับการก่อสร้างรถไฟฟ้าอยู่แล้ว จึงไม่น่าจะมีปัญหาอะไร

          นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ยังกล่าวด้วยว่า ในวันที่ 5 มีนาคมนี้ ทาง วสท.จะลงพื้นที่ไปตรวจสอบโครงสร้างทางกายภาพของเสาโฮปเวลล์ในจุดที่ทรุดตัวพังลงมา พร้อมกับตรวจสอบความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ระหว่างเข้าไปรื้อถอน เพื่อให้เกิดความปลอดภัย ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปเบื้องต้นในวันที่ 12 มีนาคมนี้

          ด้านนายธเนศ วีระศิริ เลขาธิการสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) กล่าวว่า หากตรวจสภาพแล้ววิศวกรมองว่าไม่ปลอดภัย ก็ควรทำลายทิ้ง เพราะหากจะนำมาใช้กับระบบขนส่งมวลชนขนาดใหญ่ อนาคตต้องมีประชาชนมาใช้บริการเป็นจำนวนมาก ยิ่งต้องตรวจสอบอย่างดี เพื่อป้องกันปัญหา และผลกระทบที่จะตามมาในอนาคต


อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก





[2 มีนาคม] คมนาคมตรวจโฮปเวลล์ทั้งหมด ไม่ได้มาตรฐานสั่งทุบทิ้ง

ทางเชื่อมโฮปเวลล์ถล่ม

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

             รมว.คมนาคม สั่งตรวจคานเหล็กโครงการโฮปเวลล์ทั้งหมด ถ้าไม่ได้มาตรฐาน สั่งทุบทิ้งทันที เผยเสาเสื่อมสภาพ ซ้ำคนซื้อของเก่า ลักเหล็ก และน็อตไปขาย จึงเป็นเหตุให้คานถล่ม ด้าน กทม.สั่งสำรวจป้ายโฆษณา หวั่นถล่มซ้ำรอย

             จากกรณีที่เมื่อวานนี้ (1 มีนาคม) คานเหล็กโครงการโฮปเวลล์ ริมถนนกำแพงเพชร 6 ขาออก เลยวัดเสมียนนารีประมาณ 100 เมตร ได้หล่นลงมาทับรางรถไฟ เป็นระยะทางประมาณ 20 เมตร ส่งผลให้รถไฟทั้งขาเข้าและขาออกไม่สามารถเดินทางผ่านไปได้ ซึ่งเจ้าหน้าที่ต้องใช้เวลากว่า 3 ชั่วโมงยกคานเหล็กออกไป ตามที่ได้นำเสนอข่าวไปแล้วนั้น

             ล่าสุดวันนี้ (2 มีนาคม) นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้เปิดเผยว่า ตนได้สั่งให้การรถไฟแห่งประเทศไทย หรือ รฟท.ประสานงานและขอความร่วมมือกับวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย เข้ามาตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของคาน และเสาตอม่อ ของโครงการโฮปเวลล์แล้ว ถ้าหากไม่ได้มาตรฐาน ก็จะต้องทุบทิ้ง และไม่นำมาใช้เป็นโครงสร้างในการสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดง บางซื่อ-รังสิต

             รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ยอมรับว่า คานและตอม่อ มีการก่อสร้างมานานกว่า 20 ปี จึงมีการทุรดโทรมตามสภาพ ประกอบกับคานที่ถล่มลงมานั้น คนซื้อของเก่ามักจะมาลักขโมยเหล็กและน็อตไปขาย จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้คานถล่มลงมา

             ด้านนายธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า สาเหตุของการถล่มของชานชาลาดังกล่าว เกิดจากตัวนั่งร้านที่รองรับตัวคอนกรีตสูญเสียกำลังไป โดยการสูญเสียกำลังของตัวนั่งร้านเกิดจาก 2 สาเหตุสำคัญ คือ ความเสื่อมของตัวโครงสร้างวัสดุตัวนั่งร้าน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเหล็กที่มีการใช้งานมานาน และขาดการดูแลรักษา ส่วนสาเหตุที่ 2 คือ การลักขโมยตัวน็อตที่ล็อกตัวโครงสร้างเหล็กของตัวนั่งร้าน ทำให้ความแข็งแรงช่วงรอยต่อของโครงสร้างขาดหายไป

             นายธีระชน กล่าวอีกว่า การถล่มครั้งนี้เหมือนกับการถล่มของป้ายโฆษณาต่าง ๆ ในช่วงที่ผ่านมา ดังนั้น หลังจากนี้ไป กรุงเทพมหานครจะดำเนินการเร่งออกสำรวจตัวโครงสร้างป้ายโฆษณาต่าง ๆ ทั่วกรุงเทพมหานคร เพื่อป้องกันเกิดเหตุการณ์ซ้ำรอย

             ทั้งนี้ โครงการโฮปเวลล์ หรือ โครงการระบบการขนส่งทางรถไฟยกระดับในกรุงเทพมหานคร ( Bangkok Elevated Road and Train System - BERTS) เป็นโครงการก่อสร้างถนน ทางรถไฟ และรถไฟฟ้ายกระดับ บนพื้นที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย ดำเนินการโดยบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) ในเครือโฮปเวลล์โฮลดิงส์ บริษัทสัญชาติฮ่องกง ของนายกอร์ดอน วู ซึ่งโครงการก่อสร้างยกระดับทางรถไฟขึ้นไปเหนือผิวการจราจร เพื่อลดจุดตัดกับทางรถยนต์ (Grade Crossing) เพื่อลดปัญหาการให้รถยนต์ต้องหยุดรอรถไฟ ก่อสร้างคร่อมทางรถไฟที่มีอยู่ในปัจจุบัน โดยใช้งบประมาณกว่า 80,000 ล้านบาท

             แต่ทว่า โครงการโฮปเวลล์ สิ้นสุดลงในสมัยรัฐบาลนายชวน หลีกภัย สมัยที่ 2 หลังดำเนินการก่อสร้างเป็นเวลา 7 ปี มีความคืบหน้าเพียง 13.77 %  จึงได้บอกยกเลิกสัมปทานอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2541 ที่ผ่านมา และกรรมสิทธิ์ของโฮปเวลล์ได้ตกเป็นของ การรถไฟแห่งประเทศไทย จากนั้นก็ได้มีความพยายามนำโครงสร้างที่เสร็จแล้วมาสร้างต่อ และเตรียมจะเอาบางส่วนมาใช้ประโยชน์ในรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงเข้ม บางซื่อ-รังสิต



อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก

  




[1 มีนาคม] การรถไฟเชื่อตอม่อโฮปเวลล์ถล่ม เพราะเสื่อมสภาพ-น็อตถูกถอด


นายยุทธนา ทัพเจริญ
นายยุทธนา ทัพเจริญ



เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม


           ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย เชื่อสาเหตุคานโฮปเวลล์ถล่มเกิดจากความเสื่อสภาพ-น็อตถูกถอด เผยใช้เวลากู้ซากประมาณ 1 สัปดาห์

           วันนี้ (1 มีนาคม) นายยุทธนา ทัพเจริญ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยถึงสถานการณ์ที่ตอม่อของโครงการโฮปเวลล์พังถล่มลงมา บริเวณถนนวิภาวดีรังสิตขาออก ช่วงโลคัลโรด  ว่า สาเหตุของการถล่มนั้น อาจเกิดจากที่โครงสร้างเหล็กเสื่อมสภาพ ประกอบกับมีน็อตถูกถอดออกไป ทำให้ไม่สามารถรับน้ำหนักเอาไว้

           ทั้งนี้ ทีมการรถไฟ ได้ประสานไปยังวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย เพื่อตรวจสอบหาสาเหตุที่แท้จริงต่อไป พร้อมกับดำเนินการตรวจสอบโครงสร้างชาลาอีก 1 จุด ทางตอนใต้ของวัดเสมียนนารี 100 เมตร พบว่า หากเหมือนจะพังลงมาอีก ก็จะสั่งรื้อถอนในทันที ซึ่งเจ้าหน้าที่น่าจะใช้เวลา 1 สัปดาห์ ในการทำความสะอาดซากปรักหักพังที่ถล่มลงมาจนหมด


           นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ยังสามารถนำคานเหล็ก ที่กีดขวางทางรถไฟออกไป และสามารถเปิดให้รถไฟวิ่งตามปกติ









ระทึก!! คานโฮปเวลล์พังถล่ม ทับทางรถไฟ



ทางเชื่อมโฮปเวลล์ถล่ม

ทางเชื่อมโฮปเวลล์ถล่ม



เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม


          วันนี้ (1 มีนาคม) มีรายงานว่า คานเหล็กโครงการโฮปเวลล์ ริมถนนกำแพงเพชร 6 ขาออก เลยวัดเสมียนนารีประมาณ 100 เมตร ได้หล่นลงมาประมาณ 20 เมตร ทับรางรถไฟ โชคดีไม่มีผู้บาดเจ็บ แต่ส่งผลให้รถไฟทั้งขาเข้าและขาออกไม่สามารถเดินทางผ่านไปได้ ซึ่งทางเจ้าหน้าที่เร่งดำเนินการเคลื่อนย้ายแล้ว คาดใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง


          ทั้งนี้ มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า สาเหตุที่คานเหล็กถล่มลงมานั้น เนื่องจากมีคนพยายามขโมยเหล็กนั่งร้านที่ค้ำตัวปูนอยู่ ทำให้คานเหล็กรับน้ำหนักไม่ไหว แล้วจึงถล่มลงมาในที่สุด


          สำหรับโครงการโฮปเวลล์ เริ่มขึ้นในรัฐบาลของ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ โดยมีการลงนามให้สัมปทาน บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างถนน ทางรถไฟ และรถไฟฟ้ายกระดับ ต่อมาโครงการประสบปัญหามากมาย ทั้งการไล่ผู้บุกรุกที่มาพักอาศัย ปัญหาจากแหล่งเงินทุน การอ้างสิทธิเป็นเจ้าสัมปทาน ทำให้โครงการเกิดปัญหาติดขัด และต้องล้มเลิกไปในสมัยรัฐบาลนายชวน หลีกภัย ครั้งที่ 2 โดยมีความคืบหน้าของโครงการเพียง 13.77% นับตั้งแต่ก่อสร้างรวม 7 ปี จนทำให้เชื่อว่า โครงการโฮปเวลล์ เป็นโครงการที่มีการโกงกินมากที่สุด


อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก















เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สนข. เผยจะนำเสาโฮปเวลล์มาทำรถไฟสายสีแดง อัปเดตล่าสุด 7 มีนาคม 2555 เวลา 10:30:32 114,806 อ่าน
TOP