x close

เฟซบุ๊กเดือด! ไพวรินทร์-เกษียร โต้คารมปมการเมือง



เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก  arc.nrru.ac.th  , เฟซบุ๊กแฟนเพจ Kasian Tejapira

          เฟซบุ๊กเดือด! กวีซีไรต์ ไพวรินทร์ เขียนบทกวีเหน็บรัฐจ่ายเงินเยียวยาเหยื่อการเมือง ไม่แลทหารใต้ ด้านเกษียร อาจารย์ธรรมศาสตร์ เขียนบทความโต้กลับ กวีคิดนามธรรมไม่เป็น ก่อนโต้วิวาทะทางวิชาการกันวุ่น

          เป็นประเด็นร้อนในสังคมมาได้พักใหญ่แล้ว หลังจากคณะรัฐมนตรีมีมติให้จ่ายเงินเยียวยาผู้เสียหายทางการเมืองกว่า 7 ล้านบาท ซึ่งประเด็นดังกล่าวก็มีหลายฝ่ายออกมาสนับสนุน ขณะที่หลายฝ่ายออกมาวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก โดยเปรียบเทียบกับกรณีเยียวยาเจ้าหน้าที่ที่พลีชีพจากเหตุการณ์ความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

        และล่าสุด ประเด็นดังกล่าวก็ได้เกิดเป็นวิวาทะร้อนในเฟซบุ๊กอีกครั้ง เมื่อนายไพวรินทร์ ขาวงาม นักเขียนบทกวี เจ้าของรางวัลซีไรท์ ได้แต่งบทกวีวิพากษ์วิจารณ์เรื่องดังกล่าวผ่านเฟซบุ๊กไพวรินทร์ ขาวงามฯ  ในชื่อว่า "เจ็ดล้านเจ็ด!?" เมื่อวันที่ 12 มีนาคม ซึ่งมีเนื้อหาดังนี้


        เจ็ดล้านเจ็ด, เผด็จใจ, ให้เจ็บเจ็บ,
        มิใช่เรื่อง, เล็บเล็บ, เจ็บถึงหัว,
        ยุติธรรม, สำลัก, ทะลักตัว,

        ปรองดองรั่ว, กระอัก, ทะลักใจ,
        ทหารตาย, ชายแดน, แสนอนาถ,
        คลุมธงชาติ, กลับบ้าน, สะท้านไหว,
        รับเงินแค่, หลักแสน, แผ่นดินไทย,

        มิเคยได้, หลักล้าน, ทางการเมือง,
        จลาจล, วุ่นวาย, หลากหลายกลุ่ม,
        ผู้ชุมนุม, เลว-ดี, กี่ร้อยเรื่อง,
        สู้แล้วได้, ตายแล้วรวย, ด้วยแค้นเคือง,
        ภาษีเปลือง, เวทนา, ประชาชน,


        "อย่ากลับบ้านมือเปล่า", ใครเล่าประกาศ,
        ชีพเหลือเชื่อ, เพื่อชาติ, หรือฉ้อฉล,
        การเรียกร้อง, ประชาธิปไตย, ไยพิกล,
        เซ่นวังวน, เจ็ดล้านเจ็ด, เผด็จการ!?


         จากนั้น เมื่อวันที่ 22 มีนาคม นายเกษียร เตชะพีระ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็ได้หยิบยกบทกวีชิ้นนี้ไปโพสต์ในหน้าเฟซบุ๊ก Kasian Tejapira เพื่อโต้ตอบบทกวีดังกล่าว โดยตั้งชื่อเรื่องว่า "ปัญหาของกวี/ศิลปินรักชาติ ที่คิดนามธรรมไม่เป็น" มีเนื้อหาคือ

         "ประเด็นของ"ไพวรินทร์" ไม่ต่างจาก"วสันต์ สิทธิเขตต์" ที่เขียนสเตตัสในเฟซบุ๊กก่อนหน้านี้ กล่าวคือมองไม่เห็น ไม่สามารถเข้าใจว่ารัฐเอาชีวิตพลเมืองของรัฐโดยมิชอบไม่ได้ ว่าอำนาจรัฐต้องถูกจำกัดโดยสิทธิเหนือร่างกาย ชีวิต ทรัพย์สินของผู้คนพลเมือง เมื่อไหร่รัฐไปละเมิดสิทธิเหล่านั้นโดยมิชอบด้วยกฎหมาย (ฆ่า ทำร้าย โดยไม่เป็นไปตามกฎหมาย คือไปละเมิดสิทธิของพลเมืองโดยมิชอบ) เมื่อนั้นรัฐใช้อำนาจเกินเลย และต้องรับผิดชอบชดใช้

         มันคนละเรื่องเลย กับทหารที่ไปรบกับข้าศึกแล้วตายที่ชายแดน ในกรณีหลังนั้น เขาทำงานให้รัฐตามกฎหมาย รัฐสั่งให้เขาไปรบไปเสี่ยงสละชีวิตตามกฎหมาย รัฐไม่ได้ละเมิดสิทธิหรือใช้อำนาจเกินเลยต่อทหารเหล่านั้นแต่อย่างไร ความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นมันคนละแบบ คนละเรื่อง และเพราะคนละแบบ จะเรียกร้องให้รัฐช่วยเหลือครอบครัวผู้อยู่หลังของทหารเหล่านั้นผู้ประกอบคุณงามความดีและเสียสละเพื่อชาติก็ย่อมทำได้ อย่าว่าแต่เจ็ดล้านเจ็ดเลย สิบล้านก็ได้ แต่ไม่ใช่เป็นค่าชดเชยที่รัฐละเมิดสิทธิของทหารเหล่านั้น เพราะรัฐไม่ได้ละเมิด

         กวีคิดนามธรรมไม่เป็น เป็นเรื่องน่าเศร้า คือมีอิทธิพลมาก แต่น่าเสียดายที่ใช้ความสามารถทางภาษาสูงของตัวแพร่ความคิดที่ตื้นเขินผิด ๆ ออกไป"

         ทั้งนี้ หลังจากนายเกษียรได้โพสต์ข้อความตอบโต้นายไพวรินทร์ ได้เพียงวันเดียว นายไพวรินทร์ ก็ได้เขียนโต้กลับนายเกษียร ในหัวข้อ "บันทึกถึง Kasian Tejapira" ว่า

         "มันก็แค่คิดต่าง หรือมองเห็นต่างกัน มิใช่หรือครับ Kasian Tejapiraไม่เห็นจะคิดนามธรรมเป็น-ไม่เป็นตรงไหน? เป็นเรื่องน่าเศร้าตรงไหน? น่าเสียดายตรงไหน? หรือแพร่ความคิดที่ตื้นเขินผิด ๆ ออกไปตรงไหน? เพราะจะว่าไปแล้ว ผมก็ไม่เห็น Kasian Tejapiraแพร่ความคิดที่ถูกต้องเป็นธรรม หรือลึกล้ำอะไรมากมาย เฉพาะจากข้อเขียนนี้

         เราต่างมีสิทธิ์ตั้งข้อคำถามในข้อกังขาเรื่องการชดใช้-เยียวยามิใช่หรือครับ? ว่าเป็นเกมการเมือง หรือบริสุทธิ์ยุติธรรมเท่าเทียมกันทุกฝ่ายแล้ว? จริงอยู่ เรื่องที่ผมถามเปรียบเทียบ มันคนละเรื่องกัน แต่คนละเรื่องนั่นแหละที่สามารถนำมาเปรียบเทียบกันเพื่อถามใจกันดู ว่ามันยุติธรรมดีแล้วหรือ? คนเขาถามกันมากมาย มิใช่เพียงผมคนเดียว ถึงกับมีการทำตารางสถิติเปรียบเทียบให้ดูก็ไม่น้อย ใช่-มันไม่เกี่ยวกัน แต่เรามีสิทธิ์คิดและสะเทือนใจหลายกรณี ผู้ถูกรัฐละเมิด มิได้มีแค่ที่กรุงเทพฯ ในปี ๒๕๕๓ เท่านั้นหรอกครับ และเรื่องนี้คดีความก็ยังไม่สิ้นสุด ความจริงก็ยังไม่ปรากฏรอบด้าน เหตุใดรัฐรีบชิงทำเรื่องนี้?

         ผมว่าผมกังขานโยบายรัฐวันนี้ หรือกังขาผู้พูดคำว่า "อย่ากลับบ้านมือเปล่า" มากกว่า มิได้หมิ่นแคลนกลุ่มผู้ชุมนุม หรือผู้บาดเจ็บล้มตาย เพราะถ้าจะต้องมีการชดใช้-เยียวยา ผมก็มิได้คัดค้านอะไรเลย แต่ถามถึงความบริสุทธิ์ยุติธรรมในกระบวนการของมัน ถึงวันนี้ผมก็ยังได้ยินคนถามเรื่องนี้กันอยู่เลย ด้วยถ้อยคำแรง ๆ และกล่าวหาร้าย ๆ มากกว่าผมด้วยซ้ำ

         อย่างเรื่องการปรองดองนี่อีก เราก็มีสิทธิ์ตั้งคำถามมิใช่หรือครับ? นี่เป็นแค่เกมการเมือง หรือเป็นความบริสุทธิ์ยุติธรรมที่มีการพิจารณาอย่างรอบด้านแล้ว ผมก็เห็น Kasian Tejapiraตั้งคำถามเรื่องเรื่อง "จำ" เรื่อง "ลืม" อยู่มิใช่หรือครับ? ผมว่าเป็นคำถามที่น่าสนใจทีเดียว ถึงวันนี้คดีความก็ยังดำเนินอยู่ ความจริงก็ยังสับสน แต่เหตุใดการรีบชิงทำอะไรต่าง ๆ จึงปรากฏชัดอย่างผิดสังเกต

         ผมมิใช่คนฉลาดรอบรู้สูงส่งลึกล้ำหรอกครับ มิใช่อาจารย์ มิใช่นักวิชาการ มิใช่นักทฤษฎี มิใช่นักประวัติศาสตร์ แต่ผมก็เชื่อว่าตัวเองมีสามัญสำนึกในการรู้สึกนึกคิด กับเหตุการณ์ที่สัมผัสรับรู้ด้วยหัวใจ ไม่ต้องเสียเวลาน่าเศร้าน่าเสียดายอะไรกับผมหรอกครับ ถ้าจะกรุณาก็ลองไปอ่าน "ฟ้าเดียวกัน" ที่เขานำกลอนของผมไปเทียบเคียงกับคำสำรากไร้วัฒนธรรมนั้นบ้างเถอะครับ

         ขอยืนยัน ผมไม่ได้คิดจะแพร่ความคิดผิด ๆ ใด ๆ แต่ผมอาจคิดผิดจากคุณ คิดไม่เหมือนคุณ แค่ตั้งคำถามจากความข้องใจ มิได้ไปคัดค้านหัวชนฝาอะไร ถ้าจะเยียวยาก็เยียวยา ถ้าจะปรองดองก็ปรองดอง แต่ความเป็นจริง ความเป็นธรรม เราก็ต้องพิสูจน์กัน

         การหลับตาเยียวยา ปรองดอง โดยปิดบังซ่อนเร้นความเป็นจริง ทำลืม ๆ แล้ว ๆ กันไป ผมก็เห็นแต่ปัญหารออยู่เบื้องหน้า หนักหนากว่า "ปัญหาของกวี/ศิลปินรักชาติ ที่คิดนามธรรมไม่เป็น" เสียอีก!

         ด้วยความเคารพ ที่ผมเคยเข้าไปขอสัมภาษณ์ Kasian Tejapiraสมัยทำ "ปาจารยสาร"


ไพวรินทร์ ขาวงาม

ศุกร์ ๒๓ มีนาคม ๒๕๕๕"


         อย่างไรก็ตาม หลังจากนายไพวรินทร์ ได้เขียนบทความดังกล่าวถึงนายเกษียร ในวันรุ่งขึ้น นายเกษียร ก็เขียนบทความโต้ตอบนายไพวรินทร์ทันควัน จำนวน 2 เรื่อง คือ "เรื่องไม่ลึกซึ้งที่คุณไพวรินทร์ในที่สุดก็ยังไม่อาจเข้าใจ" และเรื่อง "รูปธรรมกับนามธรรม" 

         สำหรับ "เรื่องไม่ลึกซึ้งที่คุณไพวรินทร์ในที่สุดก็ยังไม่อาจเข้าใจ" มีเนื้อหาคือ

         "มีประเด็นหลักประเด็นเดียวที่ผมอ่านคำตอบของคุณไพวรินทร์จนหมดแล้ว ก็ยังไม่พบข้อที่ชี้ว่าคุณไพวรินทร์เข้าใจเรื่องนี้ ซึ่งผมคิดว่าสำคัญ แต่แน่นอนคุณไพวรินทร์อาจไม่เห็นเช่นนั้นก็ได้ คือความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ กับ พลเมืองเจ้าของรัฐผู้บาดเจ็บล้มตายในการชุมนุมจากการใช้อำนาจโดยมิชอบของรัฐ

         ความสัมพันธ์นี้เป็นเรื่องนามธรรม มีพันธะหน้าที่ต่อกันระหว่างอำนาจรัฐกับพลเมืองเจ้าของรัฐในลักษณะสัญญาประชาคม เมื่อมีการล่วงละเมิดสัญญา ใช้อำนาจเกินเลยโดยมิชอบ ทำร้ายสิทธิเหนือร่างกายชีวิตทรัพย์สินของพลเมืองแล้ว รัฐต้องรับผิดชอบ แค่นี้เองครับ

         จริง ๆ มันก็ไม่ได้ลึกซึ้งอะไรอย่างที่คุณไพวรินทร์ว่านั่นแหละ ผมก็เลยแปลกใจไงครับ ว่าไม่ลึกซึ้งอย่างนี้ ทำไมคุณไพวรินทร์จนแล้วจนรอด ไม่เข้าใจ

         ส่วนกระบวนการที่รัฐชดเชยชดใช้แก่การละเมิดสิทธิเหนือร่างกาย ชีวิตและทรัพย์สินของพลเมืองเจ้าของรัฐในการชุมนุมครั้งต่าง ๆ นั้น มันยุติธรรม สะอาด โปร่งใสหรือไม่? อันนี้ก็น่าคิด น่าสนใจ และควรที่เราจะมาพิจารณาตรวจสอบกัน แต่มันเป็นคนละเรื่อง คนละประเด็นกับความชอบธรรมหรือไม่ในการชดเชย ซึ่งเป็นเรื่องความสัมพันธ์ทางนามธรรมข้างต้นดังกล่าว - และผมคิดว่าคุณไพวรินทร์แสดงความไม่เข้าใจไว้ในกลอนชัดเจน โดยเอาไปเปรียบเทียบกับกรณีทหารไทยเสียชีวิตชายแดน (กรุณากลับไปอ่านกลอนตอนต้นของคุณไพวรินทร์เองอีกครั้งหนึ่งนะครับ)

         ส่วนเรื่องผมเป็นนักวิชาการ "แดง" หรือไม่นั้น? ปล่อยให้เป็นเรื่องที่เอเอสทีวี/ผู้จัดการเขา "เนื้อเต้น" พร่ำเพ้อไปเถิดนะครับ มันไม่เกี่ยวกับเรื่องที่เราเห็นต่างกันอยู่ ซึ่งไม่เกี่ยวกับสี แต่เกี่ยวกับวิธีมองโลก เข้าใจโลก ทางสังคมการเมือง ในฐานะเพื่อนพลเมืองเจ้าของรัฐด้วยกัน"


         ส่วนเรื่อง "รูปธรรมกับนามธรรม" นั้น นายเกษียร ระบุว่า

         "เที่ยงวันหนึ่งหลายปีก่อน ผมไปนั่งทานข้าวอยู่ที่ร้านสั่งทำอาหารเป็นจาน ๆ ริมคลองภาษีเจริญ ตรงข้ามวัดนิมมานรดี ระหว่างรอข้าวราดกระเพราะอยู่นั้น ก็มีซากสุนัขสีดำขาวตัวหนึ่งลอยตามน้ำโผล่แต่ขาผ่านมาบริเวณหน้าวัด จา...กจุดนั้น ก็เริ่มมีการส่งเสียงวิเคราะห์วิพากษ์วิจารณ์ของแม่ค้าทำกับข้าวและแขกที่มานั่งกินบางคนนานราว ๑๐ นาที จนซากนั้นลอยผ่านไป ในทำนองว่า....

"สงสัยหมามันตกน้ำตายนะ"

"หรือป่วยตายแล้วเขาโยนลงคลองมากกว่า"

"น่าสงสาร ทำไมเจ้าของไม่มาตามเก็บ"

"บาปกรรม...."

"พันธุ์อะไรน่ะ? หมาไทยหรือหมาเทศ?"

"กทม.ควรจะดูแล ทิ้งแบบนี้น้ำเน่าหมด"

ฯลฯลฯลฯลฯลฯ

         เสียงสนทนา ๑๐ นาทีนั้นพูดให้ถึงที่สุดไม่เปลี่ยนอะไรเกี่ยวกับข้อเท็จจริงที่ว่ามีหมาตายลอยน้ำมาเลย มันตายแล้ว มันลอยน้ำมาแล้ว และจะลอยน้ำต่อไปตามคลอง แต่ก็มีแต่มนุษย์อย่างเรา ๆ ท่าน ๆ นี่แหละ ที่อยู่ในโลกของความหมาย ทรรศนะ แนวคิด ซึ่งเป็นนามธรรมกำกับความสัมพันธ์ของคนเรากับสิ่งรอบข้าง ไม่ว่ากทม. กระทรวงสาธารณสุข ศาสนา วัดวาอาราม สุนัขพันธุ์ต่าง ๆ ฯลฯ ที่แคร์และเดือดร้อนมากพอที่จะต้องเอาตัวไปเชื่อมโยงสัมพันธ์กับข้อเท็จจริงนั้น และบรรยาย/วิเคราะห์/วิจารณ์เพื่อจัดความสัมพันธ์ ระหว่างตนเองกับข้อเท็จจริงดังกล่าว เป็นวรรคเป็นเวร

         การมีชีวิตอยู่ในโลกแห่งความหมายที่เป็นนามธรรมเป็นปกติวิสัยมนุษย์ (human condition) แบบหนึ่ง มันกำกับบงการความหมายและความสัมพันธ์ระหว่างเรากับมนุษย์คนอื่นในสังคม และระหว่างเรากับธรรมชาติโดยพื้นฐาน ไม่ว่าเราจะตระหนักรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม

         ในทางแนวคิดทรรศนะ ผมเข้าใจเรื่องนี้จากบทสัมภาษณ์ยาวของ Hilary Putnam อาจารย์ปรัชญาชาวอเมริกัน เกี่ยวกับปรัชญาวิทยาศาสตร์โดยอาศัยแนวคิดของ Immanuel Kant นักปรัขญาจิตนิยมเยอรมันในอดีต ในรายการ BBC ที่รวมพิมพ์เป็นหนังสือ Men of Ideas ต้้งแต่เมื่อเกือบ ๓๐ ปีก่อน ว่าในการอยู่กับโลก เรียนรู้เข้าใจโลกนั้น มนุษย์ไม่ได้ทำด้วยตาเปล่าหูเปล่าหรือใจเปล่า หากทำผ่าน “โครงสร้างความคิด” หรือ "กลไกแนวคิด" บางอย่างเสมอ ที่เป็นนามธรรมและเป็นตัวให้ความหมาย จัดความสัมพันธ์ระหว่างตัวมนุษย์กับสิ่งนั้น ๆ

         ฉะนั้นเมื่อเราสังเกตเห็นปรากฏการณ์รูปธรรมหนึ่ง ๆ ที่ดูผิวเผินเหมือนกัน แต่เอาเข้าจริงมันอาจมีความหมายนัยที่ต่างกันมากไปคนละเรื่องเลยทีเดียว เนื่องจาก "โครงสร้างความคิด" นามธรรมของมนุษย์ที่กำกับและจัดความสัมพันธ์ของมันกับมนุษย์ด้วยกันอยู่ ยกตัวอย่างอาทิ


         กวีมองเห็นคนยื่นเงินเจ็ดล้านเจ็ดให้คนอีกคนหนึ่ง.....

         เอาเข้าจริงมันอาจมีความหมายนัยต่าง ๆ ได้แตกต่างหลากหลายกันไปมาก แล้วแต่นามธรรมที่กำกับ เช่น

         -ลูกค้าจ่ายเงินค่าซื้อบ้านจัดสรร/รถยนต์ส่วนบุคคลให้เซลล์ขายรถยนต์

         -นายทุนรับเหมาก่อสร้างจ่ายเงินติดสินบนนักการเมือง

         -ผอ.กองสลากจ่ายเงินรางวัลที่หนึ่งให้ผู้ถูกล็อตเตอรี่

         -เอเย่นต์ยาเสพติดจ่ายเงินค่ายาให้ผู้ผลิตยาบ้า

         -พ่อฝ่ายเจ้าบ่าวจ่ายค่าสินสอดทองหมั้นให้พ่อฝ่ายเจ้าสาว

         -เศรษฐีบริจาคเงินให้มูลนิธินำไปพัฒนาวัดวาอาราม

         -ผบ.ทบ.จ่ายค่าทำขวัญบำเหน็จความดีความชอบให้ญาติทหารหาญผู้สละชีวิตชายแดน

         -รัฐบาลจ่ายค่าชดเชยให้ญาติผู้เสียชีวิตจากการชุมนุม เนื่องจากรัฐใช้กำลังเกินกว่าเหตุไปละเมิดสิทธิของคนผู้นั้น

         ฯลฯลฯลฯลฯลฯลฯ

         เพราะกวีแต่งกวีเก่งแต่เผอิญกวีไม่เข้าใจนามธรรม กวีจึงไม่สามารถแยกแยะความต่างระหว่างความสัมพันธ์ที่แตกต่างหลากหลายเหล่านี้ได้ เห็นแต่เงินเปลี่ยนมือ ก็ตีขลุมว่าเหมือนกันหมด

         ไม่ทราบว่าทีนี้กวีเข้าใจหรือยัง?





เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เฟซบุ๊กเดือด! ไพวรินทร์-เกษียร โต้คารมปมการเมือง อัปเดตล่าสุด 25 มีนาคม 2555 เวลา 18:39:26 52,330 อ่าน
TOP