x close

เตือน! เจาะน้ำมันในกรุงเทพ เสี่ยงสารเคมี-น้ำเสีย ลามทั่วกรุง






เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก เฟซบุ๊ก Ruktai Ace Prurapark, ไทยโพสต์
 
           กลายเป็นข่าวใหญ่ที่ทำให้คนกรุงเทพฯ ต้องหวั่นผวา เมื่อทางกรมเชื้อเพลิงกระทรวงพลังงาน จะทำการขุดเจาะสำรวจน้ำมันที่เขตทวีวัฒนา (พุทธมณฑลสาย 2) และได้มีการอนุญาตให้สัมปทานจุดเจาะจากบริษัท มิตราเอ็นเนอร์ยี่ ลิมิเต็ด เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งจากเหตุการณ์นี้ได้มีผู้เชี่ยวชาญได้ออกมาเตือน และอยากให้ระงับการขุดเจาะน้ำมันดังกล่าว เนื่องจากจะส่งผลระยะยาวกับประชาชนในละแวกนั้น โดยเฉพาะเรื่องสิ่งแวดล้อม ปัญหาน้ำเสีย และสารเคมี สารพิษ แต่ทางกระทรวงพลังงาน ก็ยืนยันที่จะดำเนินการขุดเจาะน้ำมันต่อไป

           จากกรณีดังกล่าว เชื่อว่าหลายคนคงต้องการทราบถึงที่มาที่ไปในการขุดเจาะ รวมถึงประเด็นข้อคำถามมากมาย ไม่ว่าจะเป็น  การขุดเจาะนั้นจะส่งผลกระทบอะไรบ้าง และร้ายแรงขนาดไหน แล้วทำไมถึงเชื่อว่าในกรุงเทพมีน้ำมันจริง ๆ วันนี้เรามีความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวทุกประเด็นที่ชาวกรุงเทพฯ ต้องทราบมาฝากกันค่ะ

           โดย ดร.รักไทย บูรพ์ภาค รองผู้อำนวยการศูนย์วิเคราะห์ข้อมูลด้านพลังงานมหาวิทยาลัย MIT สหรัฐอเมริกา และ อดีตที่ปรึกษาประจำสำนักงานใหญ่ธนาคารโลกด้านนโยบายพลังงาน/สิ่งแวดล้อม ได้เปิดเผยเกี่ยวกับเรื่องราวดังกล่าวให้เฟซบุ๊กส่วนตัว "Ruktai Ace Prurapark" เมื่อวันอังคารที่ 28 กุมภาพันธ์ ในหัวข้อ "!!!เจาะน้ำมันในกรุงเทพ ชาวกรุงเทพทั้งหมดมีสิทธ์เสี่ยงตาย!!!" ดังนี้

          หมายเหตุ : บทความดังกล่าวของ ดร.รักไทย บูรพ์ภาค เขียนขึ้นเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ขณะที่กำลังมีการขุดเจาะน้ำมัน แต่ล่าสุด เมื่อวันที่ 2 เมษายน บริษัท มิตรา เอ็นเนอร์ยี ลิมิเต็ด ซึ่งได้รับสัมปทานสำรวจปิโตรเลียมบริเวณถนนพุทธมณฑลสาย 2 เขตทวีวัฒนา ได้หยุดการสำรวจปิโตรเลียมแล้ว เนื่องจากไม่พบแหล่งน้ำมัน หรือก๊าซธรรมชาติใด ๆ





           "เป็นประเด็นใหญ่กันเลยนะครับ สำหรับข่าวการอนุญาตให้สัมปทานขุดเจาะน้ำมันในกรุงเทพมหานครของบริษัท มิตรา เอ็นเนอร์ยี่ ลิมิเต็ด ซึ่งเป็นที่ถกเถียงกันมากขึ้นเรื่อย ๆ ในฐานะที่ผมทำงานด้านพลังงาน และมีประสบกาณ์ด้านขุดเจาะน้ำมันมาบ้างจึงอยากขอโอกาสมาให้ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้ครับ อย่างแรกเลยต้องขอขอบคุณ ท่าน ส.ว. คำนูณ สิทธิสมาน ที่มาเปิดเผยเรื่องนี้ด้วยครับ

น้ำมันในกรุงเทพฯ มีไหม ?

           ขอตอบว่า มีความเป็นไปได้เพราะเมืองกรุงเทพฯ เราอยู่ใกล้ปากอ่าวซึ่งมีความเป็นไปได้อยู่แล้ว ขออนุญาตยกตัวอย่างกรณีเดียวกับเมืองฮิวสตัน มลรัฐเท็กซัส บริเวณใกล้ปากอ่าวเม็กซิโกที่เป็นแหล่งทับถมสะสม ซึ่งที่ตรงนั้นก็มีแหล่งน้ำมัน ฉะนั้นก็มีความเป็นไปได้ที่กรุงเทพฯ จะมีน้ำมันหรือแก๊ส

ถ้าจะมีการขุดเจาะสำรวจหรือนำน้ำมันขึ้นมาใช้ ทำได้หรือไม่ ?

           ขอตอบว่า ไม่ได้ครับ ผิดหลักด้วยประการทั้งปวง ถ้ามีการขุดเจาะน้ำมันใกล้แหล่งชุมชน โดยเฉพาะในกรณีที่มีแหล่งชุมชนอยู่แล้ว ยกตัวอย่างเช่น ที่เมืองฮิวสตัน หรือที่เมืองนิวยอร์กก็มีแหล่งน้ำมัน แต่ทางรัฐบาลสหรัฐอเมริกาห้ามขุดเจาะในสองเมืองนี้ ที่ขุดไม่ได้ เพราะการขุดเจาะมีการใช้สารเคมีระหว่างกระบวนการขุด  อีกทั้งจะมีการใช้สารเคมีเหลวในการเจาะระหว่างการเจาะ เช่น กระบวนการหล่อซีเมนต์ (Cementing process) หรือไฮดรอลิก แฟกเจอริ่ง (Hydraulic fracturing) ก็อาจจะมีการเจือปนสารเคมีกับระบบน้ำประปา น้ำใต้บาดาล หรือที่ร้ายแรงกว่านั้น น้ำใต้บาดาลที่โดนสารเคมีนี้อาจจะไปส่งผลกระทบถึงอ่าวไทย ซึ่งไม่ไกลจากแหล่งขุดเจาะ
  
           ถ้าเขียนแล้วไม่อธิบายผู้อ่านจะสับสน อ้าว! แล้วทำไมอ่าวไทยเจาะได้ นั้นก็เพราะว่า เจาะนอกฝั่งกับเจาะบนบกใช้กระบวนการต่างกัน แม้ว่าจะใกล้เคียงกันก็ตาม ซึ่งถ้าเจาะบนบกตามกฎสากลและตามจรรยาบรรณวิศวกรแล้ว เขาจะไม่เจาะใกล้แหล่งชุมชนเป็นที่ฟ้องร้องกันหลายคดี และผลลัพธ์ส่วนใหญ่บริษัทที่เจาะจะถูกปรับมหาศาล และคนที่อนุญาตก็จะมีความผิดด้วยนะ

           ผมขออนุญาตแนบคลิปวิดีโอสั้น ๆ ซึ่งเป็นของหนังสารคดีที่ได้รับรางวัลของสหรัฐอเมริกาปี 2553 เพื่อชี้ให้ดูผลกระทบของการเจาะใกล้เมือง ซึ่งชี้ถึงอันตรายจากการขุดเจาะน้ำมันใกล้แหล่งชุมชน ดูคลิปเสร็จแล้วถ้ายังมีการขุดเจาะน้ำมันในกรุงเทพฯ จะมีใครกล้าใช้น้ำก๊อก หรือดื่มน้ำกรองกันอีกไหมครับ ชาวกรุงเทพฯ ครับช่วยกระจายข้อมูลกันด้วย เพื่อปกป้องคนที่ท่านรัก



 
           และในวันศุกร์ที่ 2 มีนาคม ดร.รักไทย บูรพ์ภาค ได้เขียนโน๊ตเพื่อเปิดเผยถึงความคืบหน้าในการขุดเจาะน้ำมันที่กรุงเทพ ในหัวข้อที่ว่า "ท่าทางจะเอา (ไม่) อยู่ ตอนต่อ "เจาะน้ำมันในกรุงเทพ ชาวกรุงเทพทั้งหมดมีโอกาสเสี่ยงตาย" ดังนี้

           ดูเหมือนว่าทางผู้ใหญ่ในกรมเชื้อเพลิงกระทรวงพลังงาน จะทำการขุดเจาะสำรวจน้ำมันที่เขตทวีวัฒนา (พุทธมณฑลสาย 2) แน่นอนครับ เห็นบอกว่า ดีเดย์ วันที่ 6 มีนาคมนี้ ได้ฟังข้อมูลที่ท่านพูดผ่านสื่อมา ผมได้ยินผมก็พูดไม่ออกครับ จริง ๆ ถ้ามองอย่างเป็นกลาง ผมมองว่าทางท่านก็คงพยายามทำงานอย่างเต็มที่ และท่านก็เป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถคนหนึ่งครับ ซึ่งผมก็คิดว่าท่านก็คงมองแบบหวังดีต่อประเทศนะครับ แต่เหตุผลที่ท่านให้มาดูเหมือนว่ายังไม่ครอบคลุมทั้งหมดครับ ที่ท่านบอกเจาะแล้วแผ่นดินแถวนั้นไม่ทรุด อันที่จริงเหตุผลของท่านที่พูดมาก็ถูกครับ หรือถ้าเกิดก็น้อยก็จริงครับ แต่มุมมองของผมที่พอมีความรู้วิศวกรขุดเจาะน้ำมันมาบ้าง อยากเรียนให้ท่านมองรอบด้านด้วยครับ อยากให้มองถึงผลกระทบจากสารเคมี หรือสารพิษ ที่เกิดจากกระบวนการขุดเจาะน้ำมันด้วยครับ

           บทความหรือข้อคิดเห็นของผม ผมไม่ได้พูดถึงแผ่นดินทรุดตัวเลยครับ ผมทราบครับถ้ามีก็โอกาสน้อยครับ แต่ที่ผมพูดถึงผมหมายถึง โอกาสสารเคมีปนเปื้อนกับแหล่งน้ำบนดิน เช่น แม่น้ำ บ่อน้ำบาดาล ทางน้ำทั้งบนดินและใต้ดิน ระบบน้ำประปา รวมไปถึงโอกาสที่จะปนเปื้อนถึงอ่าวไทยครับ ที่ผมพูดมาอย่างที่บอกครับว่า มีหลายกรณีตัวอย่างเกิดขึ้น โดยเฉพาะที่ประเทศสหรัฐอเมริกาในช่วง 2-3 ปีนี้ เกี่ยวกับแหล่งน้ำบนดินปนเปื้อนสารพิษที่ใกล้แหล่งขุดเจาะน้ำมัน และเกือบทุกกรณี เจ้าทุกข์หรือผู้ได้รับความเสียหายชนะคดี และบริษัทที่โดนดำเนินคดี ก็โดนฟ้องจนโดนปิดบริษัทก็มีนะครับ (ส่วนใหญ่บริษัทที่โดนเป็น บริษัทน้ำมันใหม่ หรือ ขนาดเล็กนะครับ บริษัทใหญ่ ๆ เค้าไม่มาเสี่ยงเจาะใกล้ ๆชุมชนหรอกครับ เพราะอาจจะมีความเสี่ยงที่จะผิดกฎหมาย หรือ กระทบภาพลักษณ์บริษัทนะครับ) อีกทั้งลงโทษผู้ที่เกี่ยวข้องอีกด้วย ซึ่งก่อนการขุดเจาะบริษัทเหล่านี้ก็ต้องทำแบบประเมินและผมว่าต้องผ่านการอนุมัติมาแล้วนะครับ แต่อาจจะด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์หรือประมาทอย่างไร ไม่ทราบได้ แต่ผลก็อย่างที่เห็นครับ มีการดำเนินคดีต่อเนื่องเรื่อย ๆ แล้ว

           วันนี้ชาวชุมชนบริเวณหลุมขุดเจาะ และชาวกทม. 5 ล้านกว่าคน รวมถึงละแวกใกล้เคียง มีความรู้ มีความสามารถ เราจะมาเสี่ยงทำไมละครับ ถ้ามองให้ลึกและเปิดใจกว้างจริง ๆ ในอนาคตผมเองก็ไม่ต้องการให้เกิดกรณีพิพาทระหว่างประชาชนและ บริษัท มิตร้า เอ็นเนอร์ยี่ และ กรมเชื้อเพลิงพลังงานด้วยนะครับ พวกเราคนไทยยังมีทางเลือกครับ เห็นว่าวันที่เริ่มเจาะจะมีการเรียกนักข่าวไปดูสถานที่เป็นสิ่งที่ดีและน่าเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง เพียงแต่ผลกระทบเหล่านี้ จะเกิดขึ้นตอนเจาะไปแล้วหรือ จนเจาะเสร็จแล้วซักระยะหนึ่งกว่าจะเห็นครับ แล้ววันนั้นจะพวกพี่ ๆ น้อง ๆ สื่อมวลชนจะเห็นอะไรครับ??? ขออนุญาติถามกลับแล้วจะเจาะสำรวจหลุมนี้ทำไมครับ เพราะมันตั้งอยู่ผิดตามบรรทัดฐานหลักการสากลอยู่แล้วครับ คือ ไม่สามารถเจาะใกล้แหล่งชุมชนได้ ผมเห็นมีหลายคำถามถึงผม ผมขออนุญาติตอบเป็นประเด็นดังนี้ครับ

  เจาะน้ำมันหลุมนี้ ลึก 2 กิโลเมตร จะปลอดภัยไหม?

           ขอตอบว่า มีหลายความเห็นครับ ก็จริงครับไม่ใช่ว่าเจาะทุกหลุมจะเกิดอันตรายทุกหลุมนะครับ แต่มีความเสี่ยงสูงครับ โดยเฉพาะยิ่งใกล้แหล่งชุมชนขนาดใหญ่ด้วย จริง ๆ แล้วผมไม่ได้มีอคติกับการกระบวนการขุดเจาะน้ำมันเลยครับ แม้ว่าผมจะอยากให้บ้านเราเน้นพลังงานทดแทนก็ตาม แต่ประเด็นผมคือ ทำไมเราต้องให้คนมากกว่า 5 ล้านคน ต้องมารับความเสี่ยงด้วยละครับ กรณีอย่างน้ำท่วม หรือ หลาย ๆ เหตุการณ์ในไทย ให้บทเรียนพวกเรามามากพอแล้วครับ ผมไม่อยากคิดว่าถ้าน้ำท่วมมาพร้อมกับการรั่วไหลของสารเคมีในหลุมแล้วจะเป็นอย่างไร

  ทำไมผมมาพูดตอนนี้ ?

           ขอตอบว่า ก็เพราะอยู่ในช่วงที่เรายังควบคุมได้เพราะทางบริษัท มิตรา เอ็นเนอร์ยี่ และ กรมเชื้อเพลิงพลังงาน ยังอยู่ในการเจาะขั้นต้น เราสามารถยับยั้งได้ และเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้มีการอนุญาตการขุดเจาะน้ำมันในที่ชุมชนอีก ไม่เฉพาะแม้แต่ในกรุงเทพนะครับ ผมเห็นว่าวันนี้คนไทยหลาย ๆ คน ถามหาบรรทัดฐานทางสังคม ผมว่าตรงนี้จะเป็นตัวตอบคำถามเราว่า เรายอมหรือไม่ ที่จะให้มีการขุดเจาะน้ำมัน อย่างถูกต้องอย่างเสรีทุกตารางนิ้ว ไม่เว้นแม้แต่กระทั่งในชุมชน
    

  เรื่องนี้ที่ถูกควรเป็นอย่างไร ?

           อันนี้ผมคงตอบเแทนไม่ได้ เพราะผืนแผ่นดินนี้ เป็นของคนไทยทุกคน ก็ควรจะฟังความเห็นของคนไทยทั้งหมดนะครับ แต่ถ้าตามที่ผมทราบ ขออนุญาติเอาข้อมูลของประเทศสหรัฐอเมริกานะครับ "หน่วยงานพิทักษ์สิ่งแวดล้อมของสหรัฐอเมริกา มีการร่างกฎหมายขึ้นขอยกตัวอย่างกฎหมายจากผลจากการขุดเจาะน้ำมันสั้น ๆ ว่า ห้ามมีการเจาะใกล้ในเขตชุมชน ในระยะเขตอันตรายร้ายแรงในรัศมี 100 เมตร และให้อยู่ในเขตเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดรัศมี 80 กิโลเมตร (ยิ่งใกล้มากยิ่งเสี่ยงมาก) "

           แล้วถ้าดูจากจุดที่เจาะแล้ว กรุงเทพฯ อยู่ห่างจากจุดที่เจาะน้อยกว่า 20 กิโลเมตรด้วยซ้ำ ไหนจะชุมชนละแวกนั้นอีก ผมว่าอันตรายอย่างมากครับ ที่จะเอาประชาชนบริเวณนี้ มากกว่า 5 ล้านคน เป็นตัวประกันครับ เรายังมีอีกหลายทางเลือกครับ สำหรับทางเลือกในเรื่องนี้ของหลาย ๆ ฝ่ายคงมีตามต่อไปนี้ ขึ้นอยู่กับที่จะเลือกกันเองนะครับ เช่น...

           - ทางกรมเชื้อเพลิงกระทรวงพลังงาน ถอนสัมปทาน หรือพูดง่าย ๆ ยกเลิกสัมปทานแปลงนี้ไป อาจจะต้องคืนเงินผู้รับสัมปทาน และออกกฎหมายไม่ให้มีการขุดเจาะใกล้แหล่งชุมชนอีกต่อไปในอนาคต

           - เจาะดำเนินการต่อ แล้วจ่ายค่าชดเชยให้คนในชุมชน และกรุงเทพฯ รวมถึงระแวกข้างเคียงทั้งหมดในฐานะที่ต้องมาเสี่ยงได้รับสารพิษ ถ้ามีการอนุญาตให้ดำเนินการขุดเจาะน้ำมันบริเวณใกล้ชุมชนแห่งนี้แล้ว อนาคตอาจมีแนวโน้มเกิดกรณีเดียวกันเกิดขึ้นในพื้นที่อื่นใกล้ชุมชนอีก ความเสี่ยงอันตรายก็เพิ่มมากขึ้นตามลำดับครับ อีกทั้งในกระบวนการเจาะมีการใช้สารกัมมันตภาพรังสีด้วยนะครับ แม้ว่าจำนวนน้อย แต่ก็ผิดพลาดได้ไม่คุ้มเสียหรอกครับ นั่นเป็นเหตุผลอีกอย่างหนึ่งที่หลายบริษัทพยายามไม่เจาะใกล้แหล่งชุมชนครับ ยกตัวอย่าง เช่น การใช้สารซีเซียม137 ในกระบวนการขุดเจาะ (เป็นสารตัวเดียวกับที่มีผลกระทบจาก โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในญี่ปุ่น) ผลกระทบของมันผมว่าให้ นักวิทยาศาสตร์ หรือแพทย์มาให้ข้อมูลจะดีกว่าผมครับ อย่างที่บอกครับน้อยแต่ก็มีความเสี่ยงครับ ซึ่งถ้าเจาะในที่ไกลแหล่งชุมชนปกติแล้วไม่น่ามีปัญหาอะไรครับ ที่ผมมาบอกไม่ได้ต้องการทำให้ตื่นตระหนก แต่เพราะเป็นสิทธิที่ประชาชนในพื้นที่และบริเวณข้างเคียงต้องทราบครับ

           อย่างที่บอกผมไม่ได้อคติกับกระบวนการขุดเจาะน้ำมัน หรือบอกว่าห้ามมีการขุดเจาะน้ำมันในประเทศไทย แต่ผมชี้ให้เห็นถึงภัยของการขุดเจาะน้ำมันบนดินใกล้แหล่งชุมชนครับ โดยเฉพาะพี่น้องชาวกรุงเทพครับ
    
           ผมว่าทางออกอย่างถาวร คือ การมีนโยบายพลังงาน อย่างมีแบบมีแผนเป็นระบบ สำหรับระยะสั้น ให้เจาะใช้เฉพาะแหล่ง เร่งนโยบายพลังงานทดแทน ไม่อนุญาติให้เจาะใกล้ชุมชนในระยะยาว ให้ขุดเจาะในประเทศน้อยลง แล้วเน้นด้านพลังงานทดแทนเต็มตัว และเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการการใช้พลังงานของผู้ใช้ หรือที่เรียกว่า Demand Side Management (DSM) ครับ อยากให้มองว่าเรื่องพลังงานเป็นเรื่องของทุกคน และทุกคนมีส่วนช่วยได้ ไม่ว่าจะเป็น นักรัฐศาสตร์ นักกฎหมาย สื่อมวลชน นักธรณีวิทยา วิศวกร สถาปนิก แพทย์ นักการเมือง ครู อื่น ๆ และประชาชนทุกคนครับ"

           สำหรับเรื่องดังกล่าว คงเป็นปัญหาใหญ่ที่ทำให้ผู้เชี่ยวชาญ และนักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม ต่างเป็นกังวลกับโครงการขุดเจาะน้ำมันในกรุงเทพมหานครเป็นอย่างมาก ซึ่งนายวีระ มานะคงตรีชีพ กรรมการผู้จัดการ บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ซิทก้า จำกัด ได้ออกมาให้ความรู้เกี่ยวกับพลังงาน "ก๊าซธรรมชาติจากหินดินดาน" พร้อมกับบอกรายละเอียดถึงที่มาที่ไป รวมทั้งวิธีขุดเจาะ และอันตรายที่อาจจะตามมาว่า ....

           หลังจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ญี่ปุ่นเมื่อต้นปี 2554 ที่ผ่านมา ทั่วโลกเริ่มตระหนักถึงอันตรายของภัยธรรมชาติมากขึ้น เพราะภัยดังกล่าวเป็นเรื่องที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไร และมีความรุนแรงมากขนาดไหน

           โดยเฉพาะเรื่อง "โรงไฟฟ้านิวเคลียร์" ที่ทำให้ทั่วโลกต้องจับตามองมากเป็นพิเศษ เนื่องจากไม่มีใครตอบได้ว่า ถ้าเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่อีก จะมีการรั่วไหลของสารกัมมันตรังสีหรือไม่ และด้วยเหตุนี้นี่เอง ทำให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจากเหตุการณ์ดังกล่าว หลาย ๆ ประเทศพยายามที่จะหาทางออกด้วยการใช้ทรัพยากรที่มีค่าในประเทศนั้น ๆ ซึ่งทางออกที่ว่านั้นก็คือ "การใช้ก๊าซธรรมชาติจากหินดินดาน" (Shale Gas)

  ก๊าซธรรมชาติจากหินดินดาน คืออะไร?

           ความหมายตรงตัวของคำว่า "ก๊าซธรรมชาติจากหินดินดาน" คือ ก๊าซธรรมชาติที่เกิดจากการหมักหมมของซากพืชและสัตว์ที่ตายทับถมกันมาเป็นเวลาล้าน ๆ ปี และถูกกักอยู่ภายในชั้นหินดินดาน โดยหินดินดานจะทำหน้าที่เป็นทั้งแหล่งกำเนิดของก๊าซ และเป็นแหล่งเก็บของมันโดยธรรมชาติด้วย

           ล่าสุด ตัวเลขของสำนักงานข่าวสารพลังงานสหรัฐ (US EIA) ระบุว่า ทั่วโลกเท่าที่ค้นพบ ณ ขณะนี้ น่าจะมีแหล่งก๊าซธรรมชาติจากหินดินดานรวมทั้งสิ้นประมาณ 48 แห่ง ครอบคลุม 32 ประเทศทั่วโลก คิดเป็นปริมาณก๊าซธรรมชาติในเบื้องต้นประมาณ  170 tcm หรือ 170 ล้านล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งเป็นตัวเลขกว่า 40% ของแหล่งสำรองก๊าซธรรมชาติในปัจจุบัน และนี่เป็นเพียงการค้นพบเบื้องต้นเท่านั้น ในอนาคตเชื่อว่าน่าจะพบได้มากกว่านี้อีกหลายเท่า

           แน่นอนว่าตัวเลขดังกล่าว ย่อมก่อให้เกิดการไหวกระเพื่อมในวงการอย่างรุนแรง และที่รุนแรงที่สุดก็คงหนีไม่พ้น "สหรัฐอเมริกา" เพราะเป็นประเทศที่ใช้น้ำมันและก๊าซธรรมชาติมากที่สุดในโลก และเมื่อต้นปีก็เพิ่งเจอวิกฤติแท่นขุดเจาะน้ำมันกลางทะเลระเบิดมีคนตายไปสิบกว่าคน และสร้างปัญหามลภาวะแก่อ่าวเม็กซิโกอย่างยาก จะประเมินความเสียหายได้ ส่วนจะหวนกลับไปบุกสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ก็ดันมาเจอปัญหาวิกฤติฟุกุชิมะในประเทศญี่ปุ่นอีก "ก๊าซธรรมชาติจากหินดินดาน" จึงดูเป็นคำตอบที่น่าสนใจที่สุด ณ ขณะนี้

  ใครมีแหล่งสำรองก๊าซธรรมชาติจากหินดินดานมากที่สุด และใครมีเทคโนโลยี?

           คำตอบก็คือ จากผลสำรวจปัจจุบัน ประเทศจีนมีแหล่งสำรองก๊าซธรรมชาติจากหินดินดานมากที่สุดคือประมาณ 36 tcm หรือประมาณ 21% ส่วนสหรัฐอเมริกามีอยู่ประมาณ 20+tcm หรือประมาณ 12% สหภาพยุโรป (โดยเฉพาะที่ประเทศโปแลนด์) มีอยู่ไล่เลี่ยกันคือประมาณ 10% พูดง่ายๆ ก็คือ สามเจ้านี้รวมกันครอบครองแหล่งก๊าซชนิดนี้ไปประมาณครึ่งหนึ่งของทั้งโลกนั่นเอง

           สำหรับสหรัฐอเมริกา มีจุดเด่นก็คือ เป็นเจ้าของเทคโนโลยีในการขุดเจาะที่เรียกกันในขณะนี้ว่า Hydraulic Fracturing และ Horizontal Drilling  และในระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา สหรัฐก็ได้ทำการขุดเจาะก๊าซธรรมชาติจากหินดินดานมาหลายรูปหลายแบบด้วยเทคโนโลยีหลากหลาย แต่ยังไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าใด เพราะนอกจากจะแพงที่ต้นทุนแล้ว กรรมวิธียังก่อให้เกิดมลภาวะค่อนข้างสูงด้วย จนกระทั่งเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา บรรดา Wildcatters ของสหรัฐก็ได้เฮ เมื่อกรรมวิธีที่เรียกว่า Hydraulic Fracturing ดูเหมือนจะประสบผลสำเร็จ เมื่อผนวกเข้ากับวิธีขุดเจาะตามแนวนอนที่เรียกว่า Horizontal Drilling

           แม้สหรัฐจะเริ่มฝันหวานถึงอนาคตที่โชติช่วงชัชวาลไปด้วย Shale Gas แต่ต้นทุนการขุดเจาะก็ยังสูงอยู่ และที่สำคัญ "ต้นทุนทางสังคม" (Social Costs) กำลังเริ่มถูกนำมาตีแผ่มากขึ้นทุกที ไม่ว่าจะเป็นปัญหาน้ำเสียที่แทรกซึมเข้าไปในแหล่งน้ำใต้ดิน ปัญหาก๊าซมีเทน และการระเบิด หรือประเด็นความเชื่อมโยงระหว่างแผ่นดินไหวกับการขุดเจาะแบบพิสดารแบบใหม่นี้ ฯลฯ

  ขั้นตอนและกระบวนการขุดเจาะก๊าซธรรมชาติจากหินดินดาน ทำอย่างไร?

           เทคโนโลยีที่ใช้ในปัจจุบันก็คือ Hydraulic Fracturing หรือที่เรียกกันสั้น ๆ ในวงการว่า Fracking ซึ่งจะใช้ควบคู่กับเทคนิคการขุดเจาะแบบใหม่ที่เรียกว่า Horizontal Drilling โดยจะเจาะหินให้ร้าว ยากาวให้พอดี เพื่อดึงก๊าซออกมาใช้ ซึ่งเป็นเทคนิควิธีการที่อันตรายมาก!!

           เมื่อไม่ถึงสิบปีมานี้เอง ที่วงการขุดเจาะก๊าซธรรมชาติจากหินดินดานได้ค้นพบเทคนิคที่เรียกว่า Hydraulic Fracturing ซึ่งช่วยลดต้นทุนการขุดเจาะลงได้มหาศาลจากเดิมมากกว่า $10 ต่อหนึ่งล้านบีทียู มาเหลือเพียง $3-5 ต่อหนึ่งล้านบีทียู ซึ่งเริ่มใกล้เคียงกับต้นทุนการขุดเจาะก๊าซธรรมชาติจากแหล่งปกติแล้ว

           เทคนิคดังกล่าวอาศัยหลักที่ว่า แรงดันน้ำสามารถทะลุทะลวงทุกสรรพสิ่งในจักรวาล  ฉะนั้นหากต้องการจะขุดเจาะเอาก๊าซออกมาจากหินดินดานที่อยู่ลึกจากผิวโลกเป็นระยะทางหลายพันเมตร วิธีที่ง่ายและถูกที่สุดคือ "ใช้น้ำ"  แต่จะทำให้หินที่แข็งขนาดนั้น "ร้าว" (Fractured) ก็ต้องรวมศูนย์และกำหนดทิศทางของน้ำได้อย่างเหมาะสม ซึ่งจะทำได้ก็ต้องอาศัย "สารเคมี" หลายชนิด และต้องอาศัย "ทราย"

           ประการแรก สารเคมีที่ใช้ในการ "สร้างรอยร้าว" ในชั้นหินนั้น มีมากมายหลายชนิด ซึ่งจนถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่มีกฎหมายบังคับให้ผู้ขุดเจาะต้องแจงรายละเอียด จึงยังไม่อาจระบุได้ชัดถ้อยชัดคำว่ามี "สารพิษ" ปะปนด้วยหรือไม่ แต่ที่แน่ ๆ ก็คือ ในบริเวณที่มีการขุดเจาะแล้วในสหรัฐ ปรากฏว่าทั้งน้ำใต้ดินและน้ำในบ่อมีสารเคมีที่เป็นพิษต่อร่างกายปะปนอยู่ด้วยในปริมาณที่ค่อนข้างสูง

           ประการที่สอง กระบวนการสร้างรอยร้าวเพื่อชักนำก๊าซออกมาจากชั้นหินนั้นก่อให้เกิดการรั่วซึมของก๊าซมีเทนออกมาด้วย ซึ่งอย่างที่ทราบกันดี "ก๊าซมีเทน" เป็นก๊าซพิษ หากสูดดมเข้าไปในปริมาณมากก็มีอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ และหากควบคุมไม่ได้ก็อาจเกิดการระเบิดได้อีกด้วย

           นักวิทยาศาสตร์ชั้นนำ และนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมประเมินว่ามลภาวะ (Greenhouse Gas Footprint) ที่เกิดจากกระบวนการขุดเจาะก๊าซจากหินดินดาน (Shale Gas) น่าจะมากกว่าถ่านหินถึง 20% เป็นอย่างน้อย และยิ่งนานวันก็ยิ่งมากขึ้น เพราะแหล่งน้ำที่ถูกมลภาวะจะแพร่กระจายเข้าสู่ตาน้ำ และดำรงอยู่อีกหลายสิบปี ส่วนก๊าซมีเทนนั้นก็มีปริมาณมาก ถึงขนาดที่ในบริเวณที่มีการขุดเจาะก๊าซชนิดนี้ในสหรัฐอเมริกา ชาวนาสามารถจุดไฟบนน้ำจากบ่อในฟาร์มของตนเองได้ จนในสหรัฐอเมริกากลุ่มอนุรักษ์ได้จัดทำสารคดีขึ้นชุดหนึ่งเป็นหนังสั้นชื่อว่า GasLand เพื่อเปิดโปงความเลวร้ายของกระบวนการขุดเจาะก๊าซธรรมชาติแบบใหม่นี้

  อนาคตของก๊าซธรรมชาติจากหินดินดานจะเป็นอย่างไร? (อันตรายเพียงใดก็จะทำอยู่ดี)

           แม้ Shale Gas จะถูกโจมตีอย่างหนักจากนักอนุรักษ์ในระยะหลัง แต่เมื่อพิจารณาปัจจัยต่าง ๆ ทั้งในทางการเมืองและเศรษฐกิจ โดยเฉพาะปัจจัยความปั่นป่วนวุ่นวายในตะวันออกกลาง ความเสี่ยงจากภาวะ Meldown ของโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ และปัจจัยการเมืองระหว่างอภิมหาอำนาจรัสเซีย สหรัฐอเมริกาและจีน แนวโน้มของการขุดเจาะก๊าซธรรมชาติชนิดนี้คงจะมากขึ้น และทวีความรวดเร็วขึ้น ด้วยเหตุผลที่สำคัญสามประการ

           ประการแรก ก๊าซชนิดนี้เป็นแหล่งพลังงานที่สหรัฐอเมริกา จีน และยุโรป มีอยู่มากในอาณาเขตของตน ซึ่งถ้าใช้แสลงอเมริกันก็คือ In the Backyard แปลไทย ๆ ก็คืออยู่หลังบ้านนั่นเอง พูดง่ายๆ ก็คือ หากขุดก๊าซพวกนี้ขึ้นมาใช้ได้ ทั้งสามพี่เบิ้มก็ไม่ต้องพึ่งใครอีกแล้ว โดยเฉพาะรัสเซียกับตะวันออกกลาง

           ประการที่สอง ในเชิงเศรษฐศาสตร์ แนวโน้มที่ต้นทุนการขุดเจาะก๊าซชนิดนี้จะลดลงต่ำกว่าก๊าซธรรมชาติเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ ซึ่งเมื่อถึงวันนั้น ในทางการเมืองจะมีนักการเมืองคนไหนไม่สนับสนุนการขุดเจาะก๊าซชนิดนี้

           ประการที่สาม ยิ่งเมื่อพิจารณาว่าน้ำมันก็คงจะเหลือน้อยเต็มที่และแพงขึ้นเรื่อย ก๊าซธรรมชาติจากแหล่ง Conventional ก็กำลังร่อยหรอลงไปทุกวัน หากไม่เตรียมการขุดเจาะและกักตุนก๊าซจากหินดินดานไว้ก็คงเป็นเรื่องที่ผิดปรกติอย่างมากสำหรับรัฐบาลชาติที่มีแหล่งก๊าซชนิดนี้มาก อย่างเช่น สหรัฐอเมริกาและจีน

 



แผนที่แสดงแหล่งปิโตรเลียมในประเทศไทย ช่อง L53, L45(เดือนตุลาคม 2550)


           อย่างไรก็ตาม เกี่ยวกับเรื่องการขุดเจาะน้ำมัน ในกรุงเทพฯ นั้น ทางกระทรวงพลังงานได้นำเรื่องดังกล่าวเข้าสู้การประชุมวุฒิสภาเมื่อวันที่ 12 มีนาคมที่ผ่านมา และได้รับการยืนยันว่า บริษัทมิตรา เอเนอร์ยี่ ลิมิเต็ด  จะทำการขุดเจาะสำรวจแหล่งปิโตรเลี่ยม บริเวณถนนพุทธมณฑล สาย 2 เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ อย่างแน่นอน โดยมีพื้นที่ประมาณ  30 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่เขตทวีวัฒนา เขตตลิ่งชัน เขตบางแค และ อ.บางกรวย จ.นนทบุรี แต่จะมีการสำรวจหาน้ำมันเพียงจุดเดียว คือ บริเวณถนนพุทธมณฑล สาย 2 ซึ่งเป็นพื้นที่ว่างเปล่าของประชาชนประมาณ 8 ไร่ และหากสำรวจพบน้ำมันในปริมาณมากที่สามารถดำเนินการในเชิงพาณิชย์ได้ก็จะใช้เป็นจุดขนถ่ายน้ำมันดิบเพื่อส่งไปโรงกลั่นได้

           นอกจากนี้ นายอารักษ์ ชลธาร์นนท์ รมว.พลังงาน ก็ออกมายืนยันว่า ในการสำรวจน้ำมันดังกล่าว ได้มีการดำเนินการตามมาตรฐานทุกอย่าง ทั้งในส่วนของผลกระทบทางเสียงและอากาศ โดยเฉพาะเรื่องฝุ่นละอองก็มีการปฏิบัติให้เป็นมาตราฐานอย่างเคร่งครัด และเปิดให้ตัวแทนจากทุกภาคส่วนเข้าร่วมในการตรวจสอบ ดังนั้นจึงขอให้มั่นใจได้ว่าจะไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างแน่นอน โดยเฉพาะเรื่องของน้ำ นอกจากนี้ยังยอมรับว่าในการขุดเจาะน้ำมันครั้งนี้มีการใช้สารเคมีด้วย แต่สารเคมีเหล่านั้นไม่เป็นอันตรายต่อคนในชุมชน อีกทั้งมีเจ้าหน้าที่คอยดูแลอย่างใกล้ชิด




Hydraulic Fracturing



อธิบายการขุดเจาะก๊าซแบบ Fracking ภายใน 2 นาที
















เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เตือน! เจาะน้ำมันในกรุงเทพ เสี่ยงสารเคมี-น้ำเสีย ลามทั่วกรุง โพสต์เมื่อ 4 เมษายน 2555 เวลา 15:14:50 4,616 อ่าน
TOP