x close

เกร็ดความรู้พระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ


สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณวดี

สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภา
พัณณวดี


เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

ขอขอบคุณภาพประกอบจาก princessbejaratana.com

          เนื่องในวันนี้ (9 เมษายน) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชินีนาถ จะเสด็จพระราชดำเนินในการพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ยังพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ดังนั้น กระปุกดอทคอมก็ขอนำเสนอเกร็ดความรู้เล็ก ๆ น้อย ๆ เกี่ยวกับพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพของสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนฯ มาฝากกันค่ะ


1. ข้อมูลพระเมรุและอาคารประกอบภูมิทัศน์

          - พระเมรุ และอาคารประกอบภูมิทัศน์





          พระเมรุสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี เป็นอาคารทรงสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง ยอดทรงมณฑปแปลง มีมุขยื่นทั้งสี่ด้าน สร้างขึ้นบนฐานชาลาใหญ่ ความสูงถึงยอดฉัตร 35.59 เมตร มุขหน้าด้านทิศตะวันตกเป็นทางเสด็จพระราชดำเนิน มุขด้านทิศเหนือมีสะพานเกรินสำหรับอัญเชิญพระโกศขึ้นประดิษฐานเหนือพระจิตกาธานภายในพระเมรุ มุขหลังด้านทิศตะวันออกเป็นพื้นที่วางเตาเผาพระศพ บริเวณฐานชาลาทุกด้าน มีบันไดทางขึ้นลง รายล้อมด้วยรั้วราชวัติ ฉัตร โคม และเทวดาอัญเชิญฉัตรประกอบพระอิสริยยศ

          พลอากาศตรีอาวุธ เงินชูกลิ่น สถาปนิกผู้ออกแบบเรียกเครื่องยอดลักษณะนี้ว่า เครื่องยอดทรงมณฑปแปลง เนื่องจากเป็นการประยุกต์ให้แตกต่างจากเครื่องยอดทรงมณฑปปกติ ซึ่งจะต้องมีชั้นเหมอยู่ใต้ชั้นบัวกลุ่ม แต่ครั้งนี้ พลอากาศตรีอาวุธ ได้ออกแบบทรงมณฑปนี้ใหม่โดยที่ไม่มีชั้นเหม จึงเรียกว่าเป็นทรงมณฑปแปลง

          เครื่องยอดพระเมรุนี้ ประกอบด้วยชั้นเชิงกลอน 5 ชั้น กึ่งกลางของเชิงกลอนแต่ละชั้นมีซุ้มบันแถลงซ้อนสองชั้น ที่มุมหลังคามีนาคปัก ส่วนบนเป็นองค์ระฆังรับบัลลังก์ เหนือบัลลังก์เป็นชุดบัวกลุ่ม 5 ชั้น ปลียอดแบ่งเป็นสองส่วนคั่นด้วยลูกแก้ว ที่ยอดบนสุดประดิษฐานสัปตปฎลเศวตฉัตร (ฉัตร 7 ชั้น)

          ภายในพระเมรุตั้งพระจิตกาธาน ประดิษฐานพระโกศไม้จันทน์

          การตกแต่งพระเมรุ ใช้งานศิลปกรรมแบบซ้อนไม้ทดแทนการแกะสลักไม้จริง เป็นลักษณะพิเศษที่ใช้ในงานพระเมรุ อันถือเป็นงานลำลองสำหรับอาคารใช้งานชั่วคราว งานพระเมรุครั้งนี้ มีแนวคิดที่ลดการใช้ไม้ซึ่งเป็นวัสดุหายาก จึงเสริมบางส่วนที่เป็นงานซ้อนไม้ด้วยวิธีการหล่อด้วยไฟเบอร์กลาส การประดับตกแต่งส่วนอื่น ๆ ใช้การปิดผ้าทองย่นสาบกระดาษสี แทนการปิดทองประดับกระจก


          - อาคารประกอบภายในมณฑลพิธีท้องสนามหลวง ได้แก่

          พระที่นั่งทรงธรรม





          ตั้งอยู่ด้านทิศตะวันตกของพระเมรุ สำหรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับขณะบำเพ็ญพระราชกุศล มีบริเวณสำหรับพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชบริพาร ทูตานุทูต นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี เฝ้าฯ รับเสด็จ พระที่นั่งองค์นี้มีลักษณะเป็นอาคารโถง หลังคาจัตุรมุข ยกพื้นสูง หลังคาจั่วมีกันสาดปีกนก มุขหน้าและหลังมีมุขประเจิด พื้นที่ด้านหน้าอาคารต่อเป็นหลังคาปะรำ เพื่อเพิ่มพื้นที่ในการใช้สอย

          การที่สถาปนิกออกแบบให้พระนั่งทรงธรรมตั้งอยู่ทางทิศตะวันตก หันหน้าไปทางทิศตะวันออกสู่พระเมรุ เนื่องจากพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพจะเริ่มตั้งแต่ช่วงบ่ายไปจนถึงค่ำ ร่มเงาของพระที่นั่งทรงธรรมจะทอดสู่ลานและบันไดทางเสด็จพระราชดำเนินขึ้นพระเมรุ อีกทั้งผู้ที่อยู่บนพระที่นั่งทรงธรรมจะแลเห็นแสงเงาและสีสันอันงดงามของพระเมรุที่สะท้อนแสงอาทิตย์ในช่วงบ่ายถึงเย็น

          พลับพลายกสนามหลวง





          ตั้งอยู่ด้านหน้าทางเข้าปริมณฑลท้องสนามหลวงเป็นอาคารโถง สำหรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์ ประทับขณะประกอบพิธีอัญเชิญพระโกศลงจากราชรถเข้าสู่มณฑลพิธี ผังอาคารเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า พื้นที่ส่วนกลางยกฐานสูง หลังคาจั่วตรีมุข มีมุขลดชั้น ปีกซ้ายขวาเป็นหลังคาเต็นท์ผ้าใบกันน้ำสำเร็จรูปทรงจั่ว แบบเดียวกับทิมและทับเกษตร

          ศาลาลูกขุน (10 หลัง)







          ศาลาลูกขุน ใช้เป็นที่สำหรับข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ เฝ้าฯ รับเสด็จและร่วมพิธี เป็นอาคารโล่งชั้นเดียว ในครั้งนี้มีการปรับประยุกต์ใช้เต็นท์สำเร็จรูปเป็นโครงอาคาร และได้ออกแบบองค์ประกอบและลวดลายทางสถาปัตยกรรมไทย ตกแต่งให้เข้ากับหลังคาเต็นท์โค้ง

          ทับเกษตร (4 หลัง)





          ทับเกษตร ทับเกษตร หมายถึงอาคารที่สร้างขึ้นเพื่อแสดงขอบเขตมณฑลพิธี มักสร้างเป็นระเบียงล้อมรอบพระเมรุ ใช้เป็นที่นั่งของเจ้าหน้าที่ผู้มาร่วมงาน ส่วนกลางทับเกษตรเป็นอาคารยอดมณฑป ชั้นเชิงกลอนประดับด้วยซุ้มบันแถลงและนาคปักที่มุมทั้งสี่ บนหลังคาอาคารส่วนที่เป็นปีกทั้งสองด้านประดับฉัตรผ้าทองแผ่ลวด

          ทิม (8 หลัง)







          ทิม คือที่พักของพระสงฆ์ แพทย์หลวง และเจ้าพนักงาน และเป็นที่ประโคมปี่พาทย์ประกอบพิธี สร้างติดแนวรั้วราชวัติ มีลักษณะเป็นอาคารชั้นเดียว หลังคาใช้เต็นท์ผ้าใบกันน้ำทรงจั่ว ตกแต่งปลายจั่วเป็นหน้าเหรา ยอดจั่วเป็นหน้ากาล

          รั้วราชวัติและเสาโคม





          รั้วราชวัติเป็นแนวกำหนดขอบเขตปริมณฑลพระเมรุ สร้างต่อเนื่องไปกับทิมและทับเกษตร รั้วเป็นเหล็กโปร่งสูง 90 เซนติเมตร ประดับดอกประจำยามหล่อด้วยไฟเบอร์กลาส ตกแต่งเสารั้วด้วยโคมไฟแก้วขนาดเล็ก ส่วนเสาโคมส่องสว่าง ตั้งอยู่ที่ทางเข้าทั้งสี่ด้าน และเรียงรายอยู่ในเขตมณฑลพิธี ยอดเสาเป็นโคมแก้วลักษณะเดียวกับที่รั้วราชวัติ แต่มีขนาดใหญ่กว่า ยอดโคมเป็นยอดมงกุฎสีทอง เพื่อแทนความหมายของการเป็นดวงแก้ว แห่งพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

          นอกจากนี้กรมศิลปากรยังรับผิดชอบจัดสร้างอาคารภายนอกมณฑลพิธีท้องสนามหลวง ตามเส้นทางขบวนพระอิสริยยศเชิญพระโกศจากพระบรมมหาราชวัง เข้าสู่ท้องสนามหลวง ได้แก่

          เกยลา







          ตั้งอยู่ด้านนอกประตูกำแพงด้านทิศตะวันตกของพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทในพระบรมมหาราชวัง มีลักษณะเป็นแท่นฐานยกพื้นสี่เหลี่ยมย่อมุม ใช้สำหรับเชิญพระโกศขึ้นประดิษฐานบนพระยานมาศสามลำคาน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของริ้วขบวนพระอิสริยยศเชิญพระโกศสู่มณฑลพิธีท้องสนามหลวง

          พลับพลายก หน้าวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม





          ตั้งอยู่มุมกำแพงวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เยื้องกรมการรักษาดินแดน เป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์ ขณะเชิญพระโกศจาก พระยานมาศขึ้นสู่ราชรถ เป็นอาคารสี่เหลี่ยมผืนผ้า พื้นที่ส่วนกลางยกฐานสูง หลังคาจัตุรมุข มีมุขลดชั้น ปีกซ้ายขวาเป็นหลังคาเต็นท์ผ้าใบกันน้ำสำเร็จรูปทรงจั่ว

          พลับพลายกหน้าพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท





          พลับพลายกหน้าพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท เป็นที่ประทับของพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายใน ขณะทอดพระเนตรริ้วขบวน มีลักษณะเป็นอาคารสี่เหลี่ยมผืนผ้า หลังคาทรงปะรำ (หลังคาเรียบ) ประดับด้วยกระจังเชิงชายแบบลูกฟักตกแต่งด้วยลายเฟื่อง ลูกฟักผนังอาคารเป็นลายโค้ง มีความนุ่มนวลเหมาะกับการเป็นอาคารที่ประทับของเจ้านายผู้หญิง

          ซ่าง

          ซ่าง คืออาคารที่สร้างบนฐานชาลาพระเมรุทั้ง 4 มุม เป็นที่สำหรับพระพิธีธรรม 4 ชุดสลับกันสวดพระอภิธรรม ตั้งแต่เชิญพระโกศพระศพประดิษฐานบนพระจิตกาธานจนเสร็จการพระราชทานเพลิง

          หอเปลื้อง

          หอเปลื้องเป็นอาคารขนาดเล็กชั้นเดียวหลังคาจั่ว ยกคอสอง มีหลังคาปีกนกโดยรอบ มีผนังโดยรอบ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของพระเมรุ เป็นที่เก็บพระโกศและเครื่องประกอบ หลังจากที่เปลื้องออกจากพระลองแล้ว และสำหรับเก็บเครื่องใช้เบ็ดเตล็ดในช่วงการพระราชทานเพลิงพระศพ
 
 
2. พระโกศไม้จันทน์ / พระโกศพระอัฐิ

          - พระโกศจันทน์





          กรมศิลปากร โดยสำนักช่างสิบหมู่ เป็นผู้รับผิดชอบงานจัดสร้างพระโกศจันทน์เพื่อใช้ในพระราชพิธี พระราชทานเพลิงพระศพครั้งนี้ และได้มอบหมายให้นายนิยม กลิ่นบุบผา ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านศิลปกรรม ประจำกรมศิลปากร เป็นผู้ออกแบบ โดยมีนายช่างศิลปกรรมจากกลุ่มงานประณีตศิลป์ สำนักช่างสิบหมู่ ร่วมกันผลิตลวดลายและประกอบพระโกศ


          - พระโกศจันทน์



พระโกศจันทน์


พระโกศจันทน์


ฝาพระโกศจันทน์


ลวดลายพระโกศจันทน์


ลวดลายบนฝาพระโกศจันทน์


ลวดลายฐานพระโกศจันทน์


          พระโกศจันทน์มีโครงภายในเป็นเหล็กไร้สนิมและกรุด้วยลวดตาข่าย ใช้ไม้จันทน์ฉลุตกแต่งลวดลายขนาดใหญ่น้อยให้ได้สัดส่วนที่งดงาม ขัดแต่งผิวลับคมและเสี้ยนให้เรียบ นำลายแต่ละชิ้นมาจัดดอกตามชุด โดยแยกสีเนื้อไม้อ่อนแก่มาประกอบกันเพื่อให้เกิดมิติที่สวยงาม ประกอบด้วยลายกระจัง ลายหน้ากระดาน ลายท้องไม้ ลายเส้นลวด ลายบัวกลีบขนุน ลายเฟื่อง ลายอุบะ ลายบัวคว่ำ บัวหงาย กระจังปฏิญาณ ลายยอดกลีบพระโกศ ดอกไม้ไหว ดอกไม้เอว ทั้งหมด 57 ลักษณะลาย มีชิ้นส่วนลวดลายจำนวนทั้งสิ้น 8,320 ชิ้น ขนาด สูง 203 เซนติเมตร ฐานกว้าง 80 เซนติเมตร


          - ช่อไม้จันทน์







          สำนักช่างสิบหมู่ ได้จัดทำช่อไม้จันทน์สำหรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์ ซึ่งทำจากไม้จันทน์ฉลุลายกระหนกเปลว (สำหรับพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระราชินีนาถ รวม 2 ช่อ) และลายใบเทศ (สำหรับพระเจ้าลูกเธอ 4 ช่อ พระเจ้าหลานเธอและพระวรชายา 8 ช่อ ) รวมทั้งสิ้น 12 ช่อ ซึ่งได้จัดทำแล้วเสร็จครบทั้งหมด


          - พระโกศพระอัฐิ ทองคำลงยา



พระโกศพระอัฐิ (ทองคำลงยา)


พระโกศพระอัฐิ (ทองคำลงยา)


ลวดลายพระโกศพระอัฐิ (ทองคำลงยา)


ลวดลายพระโกศพระอัฐิ (ทองคำลงยา)


          พระโกศสำหรับบรรจุพระอัฐิ ทองคำลงยา ดำเนินการผลิตโดยช่างโลหะและช่างศิราภรณ์ของสำนักช่างสิบหมู่ ชั้นในเป็นถ้ำศิลาทรงพระอัฐิและทำจากหินอ่อนกลึงกลม พระโกศภายนอกทำจากแผ่นทองสลักดุนลาย ลงยาสี ประดับพลอย ประดับด้วยเฟื่องดอกไม้ไหว ดอกไม้เอว และยอดพุ่ม ยอดพระโกศเป็นสุวรรณฉัตรเจ็ดชั้น (ขณะอัญเชิญอยู่ในพระราชพิธี) และแบบพุ่มข้าวบิณฑ์เงินประดับพลอย (ขณะประดิษฐานในพระวิมาน) พร้อมแป้นไม้กลึงปิดทองสำหรับรองรับฝาพระโกศ และฐานไม้กลึงปิดทองสำหรับรองรับยอดพระโกศพุ่มข้าวบิณฑ์หรือสุวรรณฉัตรเมื่อมีการถอดผลัดเปลี่ยนกัน
 
 
3. ศิลปกรรมรอบพระเมรุ

          - งานปั้นหล่อเทวดา





          เทวดาประดับรอบพระเมรุครั้งนี้มีจำนวน 30 องค์ แบ่งเป็นเทวดานั่งถือโคม 14 องค์ เทวดานั่งถือบังแทรก 6 องค์ เทวดายืนถือโคม 2 องค์ เทวดายืนถือฉัตรผ้า 8 องค์





          เป็นเทวดาชุดเดียวกับที่ใช้ในงานพระเมรุสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ และมีปั้นหล่อเพิ่มเติมอีก 2 องค์ โดยสำนัก ช่างสิบหมู่ได้นำมาซ่อมแซมและทำสีใหม่ทั้งหมด พร้อมปิดลวดลายผ้าทองย่นสาบสีที่ฐานเทวดาใหม่ทั้งหมด


          - สัตว์หิมพานต์ประดับพระเมรุ

          สัตว์หิมพานต์ประดับพระเมรุในครั้งนี้ จะมีขนาดเล็กลงกว่าครั้งที่ผ่านมา แต่ละตัวจะสูงไม่เกิน 40 เซนติเมตร มีจำนวนทั้งสิ้น 160 ตัว ติดตั้งอยู่บริเวณเขามอหรือภูเขาหินที่จำลองเป็นป่าหิมพานต์ โดยรอบฐานพระเมรุ ในครั้งนี้ จะจัดสร้างด้วยเทคนิคการปั้นปูนสด โดยกลุ่มช่างผู้ชำนาญงานปั้นปูนสด (ช่างสมชาย บุญประเสริฐ เป็นหัวหน้าคณะ แบ่งงานให้ช่างปั้นจากจังหวัดเพชรบุรีและสุพรรณบุรี ทั้งหมด 16 คน ปั้นคนละ 10 ตัว) เป็นผู้ออกแบบและปั้นสัตว์หิมพานต์นานาชนิด ทั้งสัตว์น้ำ สัตว์บก สัตว์ปีก เมื่อปั้นเสร็จจึงนำส่งให้สำนักช่างสิบหมู่ลงสี ตามลักษณะรูปพรรณของสัตว์แต่ละชนิด ตามที่ถูกกล่าวถึงในวรรณคดี จิตรกรรม หรือตำนานเกี่ยวกับสัตว์หิมพานต์ ก่อนจะนำมาติดตั้งในพื้นที่จริง



พยัคฆ์เวนไตย


สินธพกุญชร


นรปักษาไกรสร


คชปักษ์สินธุ์


คชสีห์


คชสีห์


คชสีห์


มังกรสกุณี


ไกรสรนาคา


กรินทรปักษา


สกุณมังกร


นกการเวก


เหมราช


สิงหคักคา


นกหัสดีลิงค์


สกุณเหรา


เหมราอัสดร


พยัคฆ์ไกรสร


กุมภีนิมิต


มฤคเหมราช


สุบรรณเหรา


ครุฑ


นกสัมพาที


พยัคฆ์นที


ดุรงคปักษิณ


มกรคชสีห์



          - กระถางต้นไม้ประดับปริมณฑลพระเมรุ







          กระถางต้นไม้ที่ประดับตกแต่งโดยรอบบริเวณพระเมรุนั้น มีแนวความคิดมาจากการตกแต่งพระเมรุเมื่อครั้งงานพระเมรุมาศ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยได้ออกแบบจัดทำลวดลายกระถางในครั้งนี้อย่างโบราณ และจัดทำเป็น 3 แบบ คือ กระถางกลมขนาดใหญ่ ขนาดเล็กทรงรี และขนาดเล็กทรง 8 เหลี่ยม บนกระถางได้เชิญอักษรพระนาม พ ร ประกอบช่อชัยพฤกษ์และใบปาล์ม ประดับอยู่กลางกระถางด้วย




ช่อชัยพฤกษ์


ช่อชัยพฤกษ์


ช่อชัยพฤกษ์


ช่อชัยพฤกษ์


          ช่อชัยพฤกษ์ มีความหมายถึง ชัยชนะ และความบริสุทธิ์ ดังเช่นสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ผู้มีพระจริยวัตรบริสุทธิ์สะอาด ทรงพระคุณธรรมในการระงับพระกาย พระวาจา และพระหฤทัยให้สำรวมอยู่ในความดีงาม ห่างไกลจากมลทินโทษ เป็นชัยชนะอันยิ่งใหญ่ในทางธรรม อีกทั้งช่อชัยพฤกษ์ยังสื่อความถึงพระยศ พลเอกหญิง พลเรือเอกหญิง และพลอากาศเอกหญิง ซึ่งทรงดำรงอยู่ในทางทหารอีกด้วย




ใบปาล์ม


ใบปาล์ม


          ใบปาล์ม เป็นเครื่องหมายแสดงถึงความเป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ทรงดำรงพระองค์เป็นแบบอย่างอันประเสริฐ ทรงเป็นที่เคารพนับถือของพระบรมวงศานุวงศ์และเป็นที่เทิดทูนสักการะของมหาชนโดยทั่ว จึงทรงบริบูรณ์ด้วยพระศักดานุภาพแห่งความเป็นขัตติยานีที่สมบูรณ์แบบ และทรงสิทธิ์เป็นเจ้าฟ้าผู้มีพระสถานะในทางเทวคตินับแต่แรกประสูติ ประดุจเทพยดาจุติจากทิพยโลกมาสู่มนุษยโลก และบัดนี้ได้เสด็จคืนสู่พระสถานะเทพยดาอันศักดิ์สิทธิ์แห่งสวรรค์อันได้เสด็จจากมาแล้ว
 
 
4. ฉากบังเพลิง

          1. ฉากบังเพลิงชั้นนอก

                 1.1 ฉากบังเพลิงชั้นนอก

          ฉากบังเพลิงชั้นนอกด้านหน้า เป็นภาพเทวดายืนพนมมือไหว้บนแท่น เครื่องแต่งกาย เครื่องทรงคล้ายการแต่งกายละคร เครื่องประดับตกแต่งร่างกายเป็นพวงมาลัยดอกไม้ ตอนบนของภาพเทวดามีซุ้มลอย โดยใช้ต้นแบบความคิดมาจากภาพจิตรกรรมฝาผนังในพระวิหารหลวง วัดพระปฐมเจดีย์วรวิหาร จังหวัดนครปฐม ซึ่งเป็นภาพจิตรกรรมในสมัยรัชกาลที่ 6 ตามแนวความคิดของสถาปนิกผู้ออกแบบพระเมรุฯ (พลอากาศตรีอาวุธ เงินชูกลิ่น) แต่ละด้านจะมีภาพเทวดาด้านละ 4 องค์ ติดตั้ง 4 ทิศ ของพระเมรุฯ รวมทั้งหมด 16 องค์

          - ลายกรอบตอนล่าง ออกแบบเป็นลวดลายดอกไม้ประดิษฐ์ อยู่ในโครงสร้างรูปดอกบัวตูม 3 ดอก หรือรูปทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ มีนัยหมายถึง ดอกบัวสำหรับสักการบูชาพระเจดีย์จุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ มีทั้งหมด 16 ชิ้น












               1.2 ฉากบังเพลิงชั้นนอกด้านหลัง

               เป็นภาพลายเถากุหลาบ ซึ่งเป็นดอกไม้ที่สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ทรงโปรด ทั้งกรอบใหญ่และเล็ก ใช้ลายกุหลาบเป็นชุดเดียวกัน รวมทั้งหมด 32 ชิ้น







          2. ฉากบังเพลิงชั้นใน

                 2.1 ฉากบังเพลิงชั้นในด้านหน้า

               เป็นภาพเทวดาเหาะพนมมือไหว้บนก้อนเมฆ มีขนาดตัวภาพแตกต่างกันตามระยะ เพื่อให้เกิดมิติใกล้ไกล โดยใช้ต้นแบบความคิดเทวดาเหาะจากภาพจิตรกรรมฝาผนังในพระวิหารหลวง วัดพระปฐมเจดีย์วรวิหาร จังหวัดนครปฐมเช่นเดียวกัน

          - ลายกรอบตอนล่าง เป็นลวดลายเทพพนมประกอบลายดอกกุหลาบอยู่ในโครงสร้างรูปดอกบัวตูม 3 ดอก หรือรูปทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ มีนัยหมายถึง หมู่เทพบนสรวงสวรรค์เฝ้ารับเสด็จกลับสู่สรวงสวรรค์ จำนวนของงานในฉากบังเพลิงชั้นใน 1 ชุด ขณะนี้ได้แบบจากกรมศิลปากรแล้ว อยู่ระหว่างปรับปรุงแก้แบบขยาย เพื่อให้ลงขนาดตามจริง






               2.2 ฉากบังเพลิงชั้นในด้านหลัง

               เป็นดอกไม้ร่วงลายดอกกุหลาบ ด้านหลังนี้จะติดตั้งใกล้กับฉากบังเตาที่ไม่ปรากฏแก่สายตาของบุคคลทั่วไป






 
 
5. ความหมายของเข็มที่ระลึก

          ความหมายของเข็มที่ระลึก สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ซึ่งสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี จัดทำ




          - อักษรพระนาม พ.ร. ภายใต้พระชฎามหากฐินรัชกาลที่ 6 และอุณาโลมเลียนลักษณะเลข 6 ทำด้วยโลหะชุบทอง หมายถึง สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี เป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงดำรงพระอิสริยยศสมเด็จเจ้าฟ้าพระราชธิดาในรัชกาลที่ 6 มีพระขัตติยชาติอันประเสริฐดั่งทองนพคุณ




          - อักษร พ. และ ร. ลงยาสีชมพู หมายถึงวันอังคารอันเป็นวันประสูติของสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี และเป็นพระกุลทายาทแห่งจุฬาลงกรณราชสันตติวงศ์ เป็นพระราชนัดดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้เสด็จพระราชสมภพในวันอังคารดุจเดียวกัน




          - อักษรพระนามประดิษฐานบน พื้นเข็มลงยาสีขาว หมายถึงความบริสุทธิ์แห่งพระจริยวัตร เงาเมฆเบื้องหน้า หมายความว่าพระองค์ได้สิ้นพระชนม์เสด็จกลับคืนสู่ทิพยโลกแล้ว ฉากท้องฟ้าเบื้องหลังลงยาสีฟ้า หมายถึงภพเบื้องสูงอันสมควรแก่พระกุศลที่ทรงบำเพ็ญมาตลอดพระชนมชีพ รัศมีสายฟ้าบนท้องฟ้าเบื้องหลัง เป็นรัศมีของพระบรมราชสัญลักษณ์วชิราวุธในรัชกาลที่ 6 หมายความถึงการสืบสานพระราชกรณียกิจ และน้ำพระทัยอันเปี่ยมด้วยพระกตัญญุตาธรรมที่สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ทรงมีต่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมาจนตลอดพระชนมชีพ จักเรืองรองเป็นเครื่องเชิดชูพระเกียรติคุณให้สว่างไสวเจิดจรัสตราบกาลนาน




          ด้านหลังมีข้อความ 24 พ.ย. 2468 ซึ่งเป็นวันประสูติ และ 27 ก.ค. 2554 ซึ่งเป็นวันสิ้นพระชนม์ เบื้องล่างมีดวงตราประจำสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี
 


ขอขอบคุณข้อมูลจาก
princessbejaratana.com





เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เกร็ดความรู้พระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ โพสต์เมื่อ 9 เมษายน 2555 เวลา 15:32:30 10,835 อ่าน
TOP