x close

อ่วม! ค่าไฟฟ้าขยับแน่ เคาะตัวเลขจริง 25 เม.ย.นี้





อ่วม!ค่าไฟฟ้าขยับ ซ้ำเติมภาคเอกชน ชงครม.อุ้ม "SME" (ไทยโพสต์)


          อ่วมกันทั่วหน้าไฟฟ้าจ่อขึ้นแน่ 37-38 สตางค์ต่อหน่วย ชงคณะกรรมการเอฟทีเคาะสรุปตัวเลขจริง 25 เม.ย.นี้ เอกชนร้องจ๊ากซ้ำเติมค่าแรง 300 บาทต่อวัน แท็กซี่ไม่รอช้าขยับมิเตอร์ก่อน 1 พ.ค. "ปู" สั่งคลังชงแพ็กเกจอุ้มเอสเอ็มอีเข้า ครม.อังคารนี้

          แหล่งข่าวจากคณะอนุกรรมการกำกับสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ หรือเอฟที เปิดเผยเมื่อวันจันทร์นี้ว่า ค่าเอฟทีที่จะเรียกเก็บในบิลค่าไฟประชาชนรอบเดือน พ.ค. - ส.ค. 55 จะปรับขึ้นประมาณ 37-38 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งในความจริงต้องปรับขึ้น 50 สตางค์ต่อหน่วย แต่เกรงว่าจะเป็นภาระกับประชาชนมากเกินไป ดังนั้นจึงเห็นว่าควรให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รับภาระ 18 สตางค์ต่อหน่วย คิดเป็นมูลค่าประมาณ 8,000 ล้านบาท ซึ่งคณะอนุกรรมการเอฟทีเตรียมที่จะเสนอต่อคณะกรรมการเอฟที ที่มีนายดิเรก ลาวัณย์ศิริ ประธานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (เรกูเลเตอร์) เป็นประธานพิจารณาวันที่ 25 เม.ย.นี้

          ด้านนายดิเรกกล่าวว่า วันที่ 25 เม.ย.นี้จะพิจารณาเห็นชอบค่าเอฟทีงวดใหม่ ที่จะเรียกเก็บในบิลค่าไฟประชาชนรอบเดือน พ.ค.-ส.ค.55 โดยล่าสุด คณะอนุกรรมการเอฟทีได้พิจารณาตัวเลขมาแล้วระดับหนึ่ง ซึ่งยอมรับว่าที่สุดจะต้องปรับขึ้นแน่นอน และเบื้องต้นมีแนวโน้มจะมากกว่า 20 สตางค์ต่อหน่วย

          ทั้งนี้ หากพิจารณาจากต้นทุนเชื้อเพลิงที่ผลิตไฟฟ้ามากกว่า 70% มาจากก๊าซธรรมชาติ ที่ล่าสุดได้ปรับเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมัน โดยภาพรวมส่วนนี้ทำให้ต้นทุนเอฟทีเพิ่มกว่า 30 สตางค์ต่อหน่วย ขณะที่งวดที่ผ่านมา กฟผ.รับภาระไป 8,000 ล้านบาท เพื่อช่วยตรึงค่าเอฟทีไม่ให้ขึ้นอีก 18 สตางค์ต่อหน่วย  รวม 2 ส่วนก็จะทำให้เอฟทีงวดนี้ขึ้นถึง 50 สตางค์ต่อหน่วยแล้ว ส่วนเงินที่เหลือจากการลงทุนของ 3 การไฟฟ้าประมาณ 3,200 ล้านบาทนั้น จะช่วยลดค่าเอฟทีได้เพียง 6 สตางค์ต่อหน่วยเท่านั้น

          นายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า น่าเป็นห่วงผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) โดยเฉพาะที่เป็นผู้ผลิตหรือซัพพลายเออร์จะมีต้นทุนที่สูงและที่สุดจะทำให้ราคาวัตถุดิบแพงขึ้น การปรับเพิ่มเอฟทียังเป็นการซ้ำเติม เพราะที่ผ่านมาได้รับผลกระทบจากค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันอยู่แล้ว

          นายธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า ในวันที่ 1 พ.ค.55กทม.จะเริ่มเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าบีทีเอสสายสุขุมวิท ส่วนต่อจากสถานีอ่อนนุช-แบริ่ง ระยะทาง 5.25 กิโลเมตร ในราคา 15 บาทตลอดสาย หลังจากก่อนหน้านี้ได้เปิดให้บริการฟรีตั้งแต่วันที่ 12 ส.ค.54

          ทั้งนี้ หากผู้โดยสารใช้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอสสายสุขุมวิทจะเสียค่าโดยสารตามระยะทาง ตั้งแต่ 15-40 บาท แต่เมื่อเข้าสู่เส้นทางส่วนต่อขยายอ่อนนุช-แบริ่ง ซึ่งประกอบด้วย 5 สถานี คือ บางจาก, ปุณณวิถี, อุดมสุข, บางนา และแบริ่ง จะต้องเสียค่าโดยสารเพิ่มอีก 15 บาท รวมค่าโดยสารสูงสุด 55 บาท

          นายจิรุตม์ วิศาลจิตร รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมอัตราค่าโดยสารรถแท็กซี่ (มิเตอร์) โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมขนส่งทางบก (ขบ), สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.), สมาคมผู้ประกอบการแท็กซี่สยาม, นักวิชาการ ประชุมเพื่อหาข้อสรุปในเรื่องการปรับค่าโดยสารรถแท็กซี่มิเตอร์ ว่า จากราคาน้ำมันที่ปรับตัวขึ้นได้ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการรถแท็กซี่ แต่ทั้งนี้หากมีการปรับขั้นราคาจะต้องไม่ให้ผู้ใช้บริการได้รับผลกระทบ ก่อนหาข้อสรุปให้ได้ภายใน1 สัปดาห์ หลังจากนั้นจะเสนอต่อนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รมว.คมนาคม เพื่ออนุมัติ ก่อน 1 พ.ค.55
      
          นางเบญจา หลุยเจริญ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า วันที่ 24 เม.ย.นี้ คลังได้เสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่ออายุมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล เหลือ 0.005 บาทต่อลิตร ออกไปอีก 1 เดือน จนถึงวันที่ 31 พ.ค.55 จากเดิมมาตรการดังกล่าวจะหมดอายุลงในสิ้นเดือนนี้ ทั้งนี้เพื่อเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระค่าครองชีพของประชาชน

          ที่กระทรวงแรงงาน นพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวภายหลังประชุมคณะหัวหน้าส่วนราชการระดับปลัดกระทรวง โดยมี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ว่ากระทรวงแรงงานได้นำเสนอภารกิจต่อที่ประชุม 3 เรื่อง ได้แก่ 1.ผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำอีก 40% ซึ่งทำให้ 7 จังหวัดได้รับค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มเป็นวันละ 300 บาท ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมาซึ่งนายกรัฐมนตรีได้แสดงความเป็นห่วงถึงผลกระทบต่อภาคธุรกิจ ดังนั้นจึงให้กระทรวงการคลังเสนอแพ็กเกจด้านภาษี ซึ่งเป็นมาตรการที่กระทรวงแรงงานได้หารือกับกระทรวงการคลัง และกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อช่วยลดผลกระทบให้แก่ภาคธุรกิจ

          ประกอบด้วย 1.มาตรการลดภาษีส่วนต่างของต้นทุนค่าจ้างที่ปรับเพิ่มขึ้น โดยคิดเป็นอัตรา 1.5 เท่าของส่วนต่างที่เพิ่มขึ้น โดยธุรกิจเอสเอ็มอีที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ตรงนี้จะต้องมีทุนจดทะเบียนตั้งแต่ 5 ล้านบาทขึ้นไป และมีรายได้ไม่เกิน 30 ล้านบาทต่อปี 2.เสนอยกเว้นภาษีเงินได้จากการขายเครื่องจักรเก่าเพื่อการซื้อเครื่องจักรใหม่ โดยสามารถหักค่าเสื่อมราคาของเครื่องจักรใหม่ได้ 100% ในปีแรกแทนการทยอยหักค่าเสื่อมภายใน 5 ปี ซึ่งมาตรการทั้งหมดนี้จะมีการเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 24 เม.ย.นี้






ขอขอบคุณข้อมูลจาก



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
อ่วม! ค่าไฟฟ้าขยับแน่ เคาะตัวเลขจริง 25 เม.ย.นี้ โพสต์เมื่อ 24 เมษายน 2555 เวลา 08:21:07 1,213 อ่าน
TOP