x close

วีระกร ซัด NGO ต้านเขื่อนแม่วงก์ แจงได้มากกว่าเสีย


พื้นที่โครงการเขื่อนแม่วงก์
พื้นที่โครงการเขื่อนแม่วงก์


วีระกร ซัด NGO ต้านเขื่อนแม่วงก์ แจงได้มากกว่าเสีย


เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก เฟซบุ๊ก กลุ่มต่อต้าน เขื่อนแม่วงก์

           วีระกร อดีตสมาชิกพรรคไทยรักไทย ซัด NGO คัดค้านสร้างเขื่อนแม่วงก์ บอกตัวเองเป็นคนพื้นที่รู้ข้อมูลดี ชาวบ้านส่วนใหญ่เห็นด้วย เพราะได้ประโยชน์มากกว่าเสีย

           หลังจากที่ภาคเอ็นจีโอ เครือข่ายประชาชนในโลกไซเบอร์ และนักอนุรักษ์หลายฝ่าย ออกมาแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยที่คณะรัฐมนตรีไฟเขียวให้สร้างเขื่อนแม่วงก์ ที่จังหวัดนครสวรรค์ เนื่องจากเห็นว่า การสร้างเขื่อนแม่วงก์ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง แต่กลับไปทำลายผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์กว่า 7 พันไร่ รวมทั้งระบบนิเวศตามธรรมชาติมากกว่านั้น

           วันนี้ มีอีกหนึ่งความคิดเห็นที่เห็นต่างไปจากนักอนุรักษ์มานำเสนอเพื่อเป็นข้อมูลอีกด้าน ซึ่งเว็บไซต์มติชนออนไลน์ ได้ไปสัมภาษณ์นายวีระกร คำประกอบ อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย หนึ่งในสมาชิกบ้านเลขที่ 111 ที่ถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี ถึงประเด็นดังกล่าว

           โดยนายวีระกร ระบุว่า ตนเป็นคนในพื้นที่ และอยู่กับป่าและลำน้ำวงก์มาตั้งแต่ยังเด็ก จึงรู้จักลุ่มน้ำแถวนี้เป็นอย่างดี และเห็นมาตลอดว่า ปัญหาภัยแล้งในบริเวณนี้รุนแรงขึ้นทุกปี ตนและชาวบ้านจึงพยายามผลักดันให้มีการสร้างเขื่อนแม่วงก์ เนื่องจากเห็นว่า เขื่อนแม่วงก์จะช่วยแก้ปัญหาภัยแล้งได้

           นายวีระกร กล่าวต่อว่า หากจะสร้างเขื่อนแม่วงก์ ต้องสร้างที่บริเวณเขาสบกบ ซึ่งมีลักษณะเป็นร่องเขาสูง มีความสูง 200 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง สามารถกักเก็บน้ำได้ 258 ล้านลูกบาศก์เมตร มีพื้นที่น้ำท่วมจากการสำรวจล่าสุด ณ ระดับ 207.5 ม.รทก. ซึ่งสูงสุดแค่ 8 พันไร่เท่านั้น ฉะนั้น ระดับกักเก็บปกติไม่ถึง 7 พันไร่ ด้วยซ้ำ


ป่าแลกเขื่อน


           ส่วนที่เอ็นจีโอ พูดว่า การสร้างเขื่อนแม่วงก์จะทำลายป่า 7 พันไร่นั้น อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย ชี้แจงว่า พื้นที่ 7 พันไร่ที่อ้างนี้ ไม่ได้เป็นพื้นที่ป่าดงดิบที่ไม่เคยมีการบุกรุกมาก่อนอย่างที่เอ็นจีโอพยายามทำให้เข้าใจกัน แต่เป็นพื้นที่ที่เคยมีชาวแม้วคลองลาน ที่อาศัยอยู่ในจังหวัดกำแพงเพชร กว่า 300 ครอบครัว และคนไทยอีกกว่า 10 ครอบครัว เคยมาอาศัยอยู่ ต่อมา ในปี พ.ศ.2525 มีการประกาศเขตอุทยาน ทำให้ชาวบ้านอพยพออกจากพื้นที่ 7 พันไร่นี้ไป ดังนั้นแล้ว ต้นไม้ที่ปลูกและโตอยู่ในวันนี้ส่วนใหญ่เป็นต้นไม้ขนาดเล็ก เพราะปลูกหลังจากปี พ.ศ.2525 ส่วนต้นไม้ขนาดใหญ่มีไม่เกิน 5 เปอร์เซ็นต์

           นายวีระกร ชี้แจงต่อว่า หากไม่มีการสร้างเขื่อน ประชาชนก็จะสูบน้ำผิวดินขึ้นมาทำนาในหน้าแล้ง และไม่มีน้ำกินน้ำใช้ ดังนั้นประชาชนในพื้นที่ล้วนสนับสนุนให้มีการสร้างเขื่อน จะได้ช่วยแก้ปัญหาภัยแล้ง เพราะมองว่าได้ประโยชน์มากกว่าเสีย เห็นได้จากการทำประชาพิจารณ์ประชาชนในพื้นที่เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ.2554 ซึ่งมีตัวแทนทั้งจากฝ่ายปกครอง ผู้ได้-เสียผลประโยชน์ สื่อมวลชน ฯลฯ ก็พบว่า คน 75.8 เปอร์เซ็นต์ เห็นว่าการสร้างเขื่อนมีประโยชน์มาก คน 9.1 เปอร์เซ็นต์ บอกว่าเป็นประโยชน์ปานกลาง คนอีก 3 เปอร์เซ็นต์ บอกไม่แน่ใจ ส่วนอีก 12.1 เปอร์เซ็นต์ ไม่ระบุคำตอบ เห็นได้ว่าไม่มีใครคัดค้านเลย

           อย่างไรก็ตาม นายวีระกร เข้าใจดีว่า ที่เอ็นจีโอออกมาคัดค้าน เพราะไม่ต้องการให้ป่าสัก หรือป่าเบญจพรรณ ถูกน้ำท่วมตาย แต่ก็อยากให้เอ็นจีโอพูดข้อเท็จจริงกับประชาชนด้วย ทั้งนี้ อยากให้ดูประโยชน์ที่จะได้รับมากกว่า เพราะหากสร้างเขื่อนแม่วงก์ จะเสียพื้นที่ไปเพียง 7 พันกว่าไร่ แต่จะได้พื้นที่ชลประทานใช้ประโยชน์เกือบ 3 แสนไร่ จึงได้มากกว่าเสีย เมื่อเทียบกับเขื่อนเสลาที่ผ่านการอนุมัติ ทั้งที่มีพื้นที่ชลประทานได้ประโยชน์น้อยกว่าครึ่งหนึ่ง ขณะที่ป่าห้วยขาแข้งก็ถูกน้ำท่วมกว่า 1.3 หมื่นไร่

           ในตอนท้าย นายวีระกร ยังกล่าวว่า ทางชุมชนได้บอกกับตนว่า หลังจากสร้างเขื่อนแม่วงก์แล้ว จะช่วยกันปลูกป่าทดแทน 2.5 หมื่นไร่ รวมทั้งป่าสักด้วย และสำหรับตนเองก็พร้อมจะขึ้นเวทีแสดงความคิดเห็นเรื่องดังกล่าวกับเอ็นจีโอ โดยนำข้อมูลที่มีอยู่มาพูดคุยกัน





อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก







เรื่องที่คุณอาจสนใจ
วีระกร ซัด NGO ต้านเขื่อนแม่วงก์ แจงได้มากกว่าเสีย อัปเดตล่าสุด 23 กันยายน 2556 เวลา 10:25:35 4,923 อ่าน
TOP