x close

ย้อนดู คดีอากง เหตุ ส่ง SMS ผิด ม.112








 คลิปข่าวจาก Thaitvnews : ย้อนดูคดีอากง ก่อนเสียชีวิต



คลิปรายการเรื่องเล่าเช้านี้ ทางช่อง 3 : ข่าวอากงเสียชีวิต




เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
 ขอขอบคุณภาพประกอบจาก Youtube.com โพสต์โดย thaitvnewstube


         จากกรณี อากง  หรือ นายอำพล  ตั้งนพกุล อายุ 61 ปี ผู้ต้องขังคดีหมิ่นเบื้องสูงตามมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา เสียชีวิตเมื่อช่วงเช้าวันที่ 8 พฤษภาคม หลังมีอาการป่วยหนัก ท้องบวม เจ้าหน้าที่ต้องนำตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครส่งเข้ารักษาอาการป่วยเมื่อวันศุกร์ที่ 4 พฤษภาคม ก่อนที่จะเสียชีวิตดังกล่าว

          สำหรับคดีของนายอำพล หรือ อากง นั้น พล.ต.ท.ไถง ปราศจากศัตรู ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (ผบช.ก.) ในขณะนั้น ได้นำกำลังเข้าจับกุมตัวนายอำพล ตั้งนพกุล หรือ อากง เมื่อช่วงเช้าวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ.2553 ที่ห้องเช่าไม่มีเลขที่ ในซอยวัดด่านสำโรง หมู่ 4 ต.สำโรงเหนือ อ.เมือง จ.สมุทรปราการ หลังจากนายอำพลได้ใช้โทรศัพท์มือถือส่วนตัวพิมพ์ข้อความสั้น (SMS) อันเป็นการจาบจ้วง ดูหมิ่นพระเกียรติยศและหมิ่นประมาทใส่ความให้ร้ายสมเด็จพระราชินี แล้วส่งไปยังโทรศัพท์มือถือของนายสมเกียรติ ครองวัฒนสุข เลขานุการส่วนตัวของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ซึ่งเป็นบุคคลที่สาม เหตุเกิดที่แขวงสามเสนใน เขตพญาไท, แขวงดุสิต เขตดุสิต กรุงเทพฯ และ ต.สำโรงเหนือ อ.เมือง จ.สมุทรปราการ (เกี่ยวพันกัน) ในช่วงระหว่างวันที่ 9-11 และ 22 พฤษภาคม พ.ศ.2553

          อย่างไรก็ตาม ในตอนนั้น นายอำพลได้ให้การปฏิเสธ โดยอ้างว่า ขณะเกิดเหตุได้นำโทรศัพท์มือถือไปซ่อมที่ร้านในห้างสรรพสินค้าอิมพิเรียล สาขาสำโรง แต่ไม่สามารถจำชื่อร้านได้ นอกจากนั้น ตัวเองก็ส่งข้อความผ่านโทรศัพท์มือถือไม่เป็น และไม่ทราบว่า หมายเลขที่ส่งข้อความไปเป็นหมายเลขโทรศัพท์ของเลขานุการอดีตนายกรัฐมนตรี

          หลังจากนั้น ศาลก็อนุญาตให้ประกันตัวนายอำพลออกมา แต่หลังจากที่เข้าไปรายงานตัวเพื่อรับทราบคำฟ้องอีกครั้ง เมื่อวันที่ 18 มกราคม พ.ศ.2554 ศาลก็ไม่อนุญาตให้ประกันตัวอีกจนถึงปัจจุบัน ถึงแม้ว่าที่ผ่านมาจะมีการยื่นขอประกันตัวหลายครั้ง เนื่องจากคดีดังกล่าวเป็นคดีร้ายแรง และมีโทษหนัก ศาลจึงเกรงว่าจำเลยจะหลบหนี

          กระทั่ง วันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ.2554 ศาลได้มีคำพิพากษาให้ลงโทษนายอำพล ฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 อันเป็นบทลงโทษสูงสุด ให้เรียงกระทงลงโทษ จำคุกจำเลยเป็นเวลา 5 ปี จำนวน 4 กระทง รวมจำคุกทั้งสิ้น 20 ปี หลังจากพิเคราะห์พยานหลักฐานแล้วพบว่า คำให้การของนายอำพลไม่มีน้ำหนักมากพอ ทั้งการที่อ้างว่า นำโทรศัพท์มือถือไปซ่อมแต่จำชื่อร้านไม่ได้ รวมทั้งไม่มีหลักฐานอื่น ๆ มาหักล้างพยานโจทก์ ศาลจึงเชื่อว่า นายอำพลเป็นเจ้าของโทรศัพท์ และซิมการ์ดโทรศัพท์ที่ใช้ก่อเหตุส่งข้อความหมิ่นสถาบันจริง

          ต่อมาเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2555 นางรสมาลิน ตั้งนพกุล ภรรยาของนายอำพล ได้ยื่นหลักทรัพย์ 2,200,000 บาท เพื่อขอประกันตัวนายอำพล โดยอ้างเรื่องความเจ็บป่วยประกอบการพิจารณา ทำให้ศาลส่งเรื่องดังกล่าวให้ศาลอุทธรณ์เป็นผู้พิจารณา

          กระทั่ง วันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2555 ศาลอุทธรณ์ได้มีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวนายอำพลตามที่ร้องขอ เนื่องจากพิจารณาเห็นว่า นายอำพลกระทำผิดข้อหาร้ายแรง และยังไม่มีเหตุให้เชื่อได้ว่าจำเลยไม่ได้กระทำความผิด อีกทั้งหากให้ปล่อยตัวชั่วคราวก็อาจทำให้จำเลยหลบหนีได้ ส่วนที่อ้างเรื่องความเจ็บป่วยเพื่อขอประกันตัว ก็ไม่ปรากฏว่า ความเจ็บป่วยนั้นจะเป็นอันตรายต่อชีวิต และทางราชทัณฑ์ก็มีโรงพยาบาลที่จะให้การรักษาจำเลยได้ทันทีอยู่แล้ว ศาลจึงมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์และยกคำร้องทั้งหมด ขณะที่ทนายความก็ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อ

          อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 3 เมษายน พ.ศ.2555 ทนายความของอากง ได้ดำเนินการยื่นถอนอุทธรณ์ในคดีดังกล่าว เนื่องจากนายอำพลต้องการจะขอพระราชทานอภัยโทษ ประกอบกับอายุมากและเป็นโรคประจำตัว แต่ระหว่างที่ดำเนินการอยู่นั้น ปรากฏว่า นายอำพล ได้เสียชีวิตไปก่อนด้วยโรคมะเร็ง




ย้อนดูคลิปรายการตอบโจทย์ ทางช่อง TPBS เรื่อง คดีอากง กับมาตรา 112 ตอนที่ 1 แขกรับเชิญ อ.พนัส ทัศนียานนท์ อดีตสมาชิกวุฒิสภา,อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์,อ.กิตติศักดิ์ ปรกติ



 ย้อนดูคลิปรายการตอบโจทย์ ทางช่อง TPBS เรื่อง คดีอากง กับมาตรา 112 ตอนที่ 2 : เหตุจากคดีอากง ทำให้เกิดกระแสความไม่พอใจในมาตรา 112 อย่างหนัก 112 ควรแก้หรือไม่ แขกรับเชิญ พนัส ทัศนียานนท์ , ผศ.กิตติศักดิ์ ปรกติ , ศ.นิธิ เอียวศรีวงศ์






อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก





[8 พฤษภาคม] อากง sms เสียชีวิต  ที่โรงพยาบาลเรือนจำ
 




เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก ภาคีไทยเพื่อสิทธิมนุษยชน

          นายอำพล ตั้งนพกุล หรือ อากง sms เสียชีวิตแล้ว ด้วยโรคมะเร็ง ที่โรงพยาบาลเรือนจำ หลังอาการกำเริบ ด้านอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ยัน ไม่ได้รักษาล่าช้าตามที่กล่าวอ้าง ย้ำทำตามหลักการแพทย์

           วันนี้ (8 พฤษภาคม) ทางกรมราชทัณฑ์ ได้แจ้งกับผู้สื่อข่าวว่า อากง หรือ นายอำพล ตั้งนพกุล อายุ 61 ปี ผู้ต้องขังคดีหมิ่นเบื้องสูง ซึ่งถูกศาลอาญาฯ พิพากษาจำคุก 20 ปี จากการส่งข้อความสั้น (SMS) ผิดมาตรา 112 หรือหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ได้เสียชีวิตแล้ว เมื่อช่วงเช้า (09.00 น.) ด้วยโรคมะเร็ง  หลังจากที่ปวดท้องและถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลภายในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ  ตั้งแต่เมื่อวันศุกร์ ที่ 4 พฤษภาคม ที่ผ่านมา

          ทางด้าน นางรสมาลิน ตั้งนพคุณ หรือ ป้าอุ๊ ภรรยา อากง หลังทราบข่าวก็ร้องไห้ พร้อมกล่าวว่า อากงป่วยเป็นมะเร็งในช่องปากก่อนถูกคุมขัง และเมื่ออยู่ในเรือนจำมีอาการป่วยจึงกำเริบ ก่อนถูกนำตัวเข้ารักษาในโรงพยาบาลและเสียชีวิต ซึ่งรายละเอียดเรื่องงานศพอากงนั้น ตนขอปรึกษาลูก ๆ เสียก่อน

          ขณะที่่ พ.ต.อ.สุชาติ วงศ์อนันต์ชัย อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยภายหลังเดินทางเข้าตรวจสอบกรณี  อากง  เสียชีวิตที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ พร้อมกล่าวว่า ตนและแพทย์ โรงพยาบาลราชทัณฑ์ นิติเวชโรงพยาบาลตำรวจ พนักงานอัยการ และพนักงานสอบสวน สน.ประชาชื่น ได้เดินทางเข้าร่วมชันสูตรสาเหตุการเสียชีวิตเบื้องต้นของ นายอากง ตามระเบียบของกรมราชทัณฑ์แล้ว  จากนั้นจะเคลื่อนศพไปตรวจพิสูจน์อย่างละเอียดอีกครั้ง ยังนิติเวชโรงพยาบาลตำรวจ

          ส่วนกรณีที่ทางญาติของ อากง ได้ตำหนิการดูแลรักษาอาการว่าล่าช้านั้น อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวว่า การดูแลรักษาอาการผู้ต้องขังที่เจ็บป่วยของกรมราชทัณฑ์ เป็นไปตามมาตรฐานทางการแพทย์ อีกทั้งจากการสอบถามผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ก็ทราบว่าผู้ต้องขังมีโรคประจำตัวอยู่ก่อนหน้านี้แล้ว และได้มีการส่งเข้ามารักษาเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งก่อนการเสียชีวิต นายอำพล ไม่ได้แสดงอาการเจ็บป่วยอย่างรุนแรงแต่อย่างใด

          ทางด้าน กลุ่มคนเสื้อแดงหลังทราบข่าวว่า อากง เสียชีวิตแล้ว นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข แกนนำได้ส่งข้อความแจ้งมายังเครือข่ายและสื่อมวลชนว่า ในเวลา 16.00 น. วันนี้ ขอให้แต่งกายด้วยชุดสีดำ เจอกันที่หน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร


 ดร.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เขียนไว้อาลัยกับการจากไปของ อากง

        ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้โพสต์ข้อความผ่านทางเฟซบุ๊กส่วนตัว หลังทราบข่าว อากง เสียชีวิต ระบุว่า.. "กราบ "อากง" อำพล .... (2494 - 8 พฤษภาคม 2555)"

         "ผมเสียใจมาก ร้องไห้ออกมาแบบปล่อยโฮเลย ทั้ง ๆ ที่ไม่รู้จัก "อากง" มาก่อน .... เพิ่งโทรคุยกับคุณ "ป๋าจอม" Nithiwat Wannasiri ได้รายละเอียดเพิ่มอีกเล็กน้อย อากง มีอาการป่วยมาสักระยะหนึ่งแล้ว แต่ว่าระบบเรือนจำการรักษาอะไรมันก็ไม่ดีเหมือนข้างนอก เห็นว่า สุดท้าย (ข้อมูลนี้คงต้องเช็ครายละเอียดอีกทีนะครับ) ต้องไหว้วาน อ.หวาน Suda Rangkupan ช่วยเดินเรื่องให้เข้าไปรักษาในโรงพยาบาลในเรือนจำ

        อากง เข้าโรงพยาบาลในเรือนจำ ตั้งแต่วันศุกร์ วันนี้เสียชีวิต แน่นอน "ป้าอุ๊" ไม่ได้อยู่ด้วยตอน "อากง" สิ้นใจ (โรงพยาบาลอยู่ในคุก คนนอกเข้าไปไม่ได้อยู่แล้ว) "ป๋าจอม" กำลังเดินทางเป็นเพื่อนไปกับ "ป้าอุ๊" ไปเรือนจำ"


 เปิดจดหมายจาก อากง ถึง นายอานนท์ นำภา

        ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2555 อากง ได้เขียนจดหมายจากเรือนจำถึงนายอานนท์ นำภา ทนายความ มีเนื้อหาระบุว่า "สวัสดีครับ คุณอานนท์ ก่อนอื่นต้องขอโทษด้วยที่ไม่เคยเขียนจดหมายไปหาเลย เหตุเพราะว่าผมเขียนไม่ค่อยเก่ง คิดอะไรไม่ค่อยออก สายตาก็ไม่ดีเลย  เลยไม่ค่อยอยากเขียน กับหลาน ๆ ผมก็ไม่เคยเขียนไปนะ ทั้ง ๆ ที่คิดถึงพวกเขามาก อาจเพราะว่าคุณหนุ่มเขาทำหน้าที่นี้แทนผมไปก็ได้ เขียนไปคุยเรื่องของผมให้หลาน ๆ ฟังอยู่เรื่อย ๆ ผมเลยไม่ได้เขียนไป คุณหนุ่มเขียนเสมือนผมเขียนแหล่ะ

         ผมเองสบายดีครับโดยเฉพาะช่วงนี้ ที่รู้ข่าวว่าคุณอานนท์จะทำเรื่องขออภัยโทษรายบุคคลให้พร้อม ๆ กับเพื่อนครอบครัว  112  ทั้ง  11  คน ผมดีใจและมีความหวังมาก ๆ ที่จะได้รับอิสรภาพในเร็ว ๆ นี้ พร้อม ๆ กับเพื่อน ๆ ที่ร่วมอดทนต่อสู้กันมาและผมเชื่อว่าทางออกทางนี้ดีที่สุด เพราะคดีอย่างผมยังไงก็ไม่มีทางที่จะนิรโทษกรรมกับเขาหรอก

         ทุกวันนี้ผมก็ออกกำลังกายตอนเช้า ๆ ทุกวัน บางวันผมก็ทำคนเดียว แต่บางวันผมก็ทำกับคุณหนุ่ม เรื่องความเป็นอยู่พวกเราก็กินด้วยกันที่แดน 8 พวกเราเกาะกลุ่มกันดีครับ ก็มีหนุ่ม หมี สุริยันต์ ไมตี้ และเพื่อน ๆ ที่ชื่นชอบคนเสื้อแดงอีกหลายคนคอยดูแลกันและกัน คุณอานนท์อย่าได้กังวล ที่ผ่านมาผมยอมรับว่าเหนื่อยมาก ๆ เหนื่อยที่จะมีชีวิตอยู่ เหนื่อยที่จะต่อสู้เพื่อค้นหาความยุติธรรมให้กับตัวเองและคนในครอบครัว ผมหมดกำลังใจหลายครั้ง คิดถึงแต่ลูกเมียและหลาน ๆ ก็มีแต่คุณหนุ่มที่จะคอยชาร์ตแบตให้ คุณหนุ่มจะบ่นว่าเสมอ ผมเป็นพวกแบตเสื่อมชาร์ตได้ไม่กี่นาทีก็ต้องกลับมาชาร์ตอยู่เรื่อย ๆ คิดแล้วก็เห็นใจหนุ่มเขานะ แต่ผมก็ท้อจริง ๆ ในแต่ละวันผมจะเฝ้ารอ อุ้มาเยี่ยม บางวันพาหลาน ๆ มา ทำให้ผมมีกำลังใจยิ้มได้บ้าง นี่แหล่ะคือความสุขของผมสามารถหาได้ตลอดเวลาที่ผ่านมา

         คุณอานนท์ไม่ต้องห่วงผมนะครับ ผมจะพยายามอดทนและมีกำลังใจสู้ต่อไป หวังแต่เพียงว่าคุณอานนท์และรัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์จะช่วยกันผลักดันการขออภัยโทษของพวกเราในกรณีพิเศษ เพื่อว่าผมจะได้กลับไปอยู่กับหลาน ๆ ลูกเมียเสียทีผมบอกตามตรงเลยนะครับว่าผมคิดถึงหลาน ๆ มากที่สุดเลยครับ ผมเขียนจดหมายถึงหลานทีไรผมก็น้ำตาไหลทุกทีเลย  เลยไม่อยากเขียนไปหา

        คุณอานนท์ครับ ฝากกราบขอบคุณคนที่มาเยี่ยมให้กำลังใจผมและนักโทษ  112  ทุกคนด้วยครับ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ผมจะได้รับข่าวดีในเร็ววันนี้ ขอขอบพระคุณมากครับ (นายอำพล.....) "




อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
 




เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ย้อนดู คดีอากง เหตุ ส่ง SMS ผิด ม.112 โพสต์เมื่อ 8 พฤษภาคม 2555 เวลา 12:28:49 30,710 อ่าน
TOP