x close

ตามติด พ.ร.บ.ปรองดอง ชนวนความขัดแย้งระลอกใหม่




เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม


          ประเด็นร้อนทางการเมืองที่ดูเหมือนจะเป็นที่สนอกสนใจของประชาชนในขณะนี้ เห็นจะหนีไม่พ้น "ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ" ซึ่งมีการคาดการณ์ว่า ทางรัฐบาลเตรียม​เสนอพระราชบัญญัติปรองดอง​แห่งชาติ ​เข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภา​ในวันที่ 30-31 พฤษภาคมนี้แล้ว ประเด็นนี้จึงกลายเป็นที่ถกเถียงจากหลายฝ่ายทั้งกลุ่มการเมือง นักวิชาการ และประชาชนทั่วไปในวงกว้างที่มีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วย … ว่าแต่เหตุใด พ.ร.บ.ว่าด้วยความปรองดอง แต่กลับเป็นชนวนของความขัดแย้งที่กำลังทวีความรุนแรงมากขึ้น วันนี้เราจะพาไปเจาะลึกเรื่องนี้กันค่ะ

          สำหรับ ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ เป็นร่างกฎหมายที่พรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาลจะนำเสนอสภาผู้แทนราษฎร และบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการพิจารณา โดยมีสาระสำคัญ นั่นคือ ต้องการให้มีการนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิด อันมีสาเหตุมาจากความขัดแย้งทางการเมืองที่ได้กระทำระหว่างวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2548 จนถึงวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 รวมถึงการลบล้างผู้ต้องคำพิพากษา ผู้ที่ถูกดำเนินคดีที่เกี่ยวเนื่องกับคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.)

          และแน่นอนว่าหนึ่งในผู้กระทำความผิดอันมีสาเหตุมาจากความขัดแย้งทางการเมืองดังกล่าวนั่นคือ อดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งถูกรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 และหากกฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้ นั่นหมายความว่าย่อมสามารถนิรโทษกรรมให้แก่ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้ ทั้งในคดีอาญาและคดีร่ำรวยผิดปกติด้วย ซึ่งจะมีผลให้ต้องคืนทรัพย์สินกว่า 46,000 ล้านบาท ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำสั่งให้ตกเป็นของแผ่นดินคืนทั้งหมด รวมถึงการคืนความชอบธรรมให้แก่ผู้ถูกดำเนินคดีโดยกระบวนการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นตามประกาศของ คปค. และการคืนสิทธิทางการเมืองให้กรรมการบริหารพรรคการเมือง ที่มิได้มีส่วนรู้เห็นกับการกระทำความผิด อันเป็นเหตุให้มีการยุบพรรคการเมือง

          สำหรับประเด็นที่มีการวิพาษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ก็คือการที่ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าพรรคมาตุภูมิ ซึ่งเป็นหัวหน้าคณะรัฐประหาร เป็นผู้ที่ผลักดันร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ (พ.ร.บ.ปรองดอง) เข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรนั่นเอง

          ทั้งนี้ กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ที่ไม่เห็นพ้องต่อ ร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฉบับนี้ ได้นัดรวมตัวชุมนุมคัดค้านกันอย่างเป็นทางการแล้วในวันที่ 30 พฤษภาคม เวลา 9.00 น. ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า เพื่อยื่นหนังสือต่อประธานสภาและรัฐบาลคัดค้านและขอให้หยุดยั้่งการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฉบับนี้ และขอให้ผู้ที่เสนอกฎหมายดังกล่าวถอนวาระนี้ออกจากที่ประชุมสภาฯ ด้วย แต่หากสภายังคงเดินหน้าพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ปรองดองนี้ต่อไป คาดว่ากลุ่มพันธมิตรจะใช้การปักหลักชุมนุมแบบยืดเยื้ออย่างแน่นอน



สำหรับรายละเอียดของร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว มีดังต่อไปนี้


บันทึกวิเคราะห์สรุปสาระสำคัญประกอบร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ พ.ศ. ....

          สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกับคณะได้เสนอร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ พ.ศ. .... ต่อสภาผู้แทนราษฎรและได้จัดทำบันทึกวิเคราะห์สรุปสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ ตามมาตรา 142 วรรคห้าของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ดังต่อไปนี้

          1. เหตุผลและความจำเป็นในการเสนอร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ พ.ศ. ....

          โดยที่ได้เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบและความรุนแรงในประเทศในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา โดยเฉพาะเหตุการณ์ความรุนแรงเมื่อเดือนเมษายน-พฤษภาคม พ.ศ. 2553 จนนำไปสู่การสูญเสียชีวิต การบาดเจ็บทางร่างกายและจิตใจ ความเสียหายต่อทรัพย์สินและความเสียหายรูปแบบอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นอย่างประมาณค่ามิได้สู่สังคมไทยและประเทศไทย สาเหตุเกิดจากความขัดแย้งทางการเมืองในห้วงเวลาที่ผ่านมาจนนำไปสู่เหตุการณ์ความรุนแรง ผู้ต้องหาและจำเลยจึงมิใช่เป็นผู้ร้ายหรืออาชญากรดังเช่นคดีอาญาตามปกติ

          ในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง โดยการยึดอำนาจการปกครองแผ่นดิน เมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 ที่ผ่านมารวมถึงประเด็นการยุบพรรคการเมืองและการเพิกถอนสิทธิทางการเมืองของ กรรมการบริหารพรรคที่มิได้มีส่วนรู้เห็นกับการกระทำความผิด อันเป็นเหตุให้มีการยุบพรรคการเมืองนั้น ทำให้เกิดข้อวิจารณ์เกี่ยวกับความสอดคล้องกับหลักนิติธรรมของกลไกต่าง ๆ ของรัฐ กฎหมาย การบังคับใช้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ความขัดแย้งที่มีอยู่แล้วจึงทวีความซับซ้อนมากขึ้น

          ประกอบกับได้เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ที่สร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวง กระทบกระเทือนต่อขวัญและกำลังใจของคนในชาติ ตลอดจนความสงบสุขของบ้านเมืองอีกครั้งหนึ่ง ประชาชนทั่วไปต้องการให้บ้านเมืองเกิดความปรองดองสมานฉันท์ หันหน้าเข้าหากันแปลงวิกฤติครั้งนี้ให้เป็นโอกาสเพื่อฟื้นความสงบสุขและความเชื่อมั่นของคนในชาติ รวมทั้งนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศให้กลับคืนมา

          จึงสมควรใช้หลักเมตตาธรรมด้วยการให้อภัยและให้โอกาสกับทุกฝ่าย ซึ่งล้วนมีเจตนาดีต่อชาติบ้านเมือง อันเป็นไปตามนิติประเพณีที่ประเทศไทยเคยปฏิบัติมาแล้วหลายครั้ง และเป็นไปตามมาตรฐานสากลด้วยการนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิด อันมีสาเหตุมาจากความขัดแย้งทางการเมืองที่ได้กระทำระหว่างวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2548 จนถึงวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 และเยียวยาให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่ผ่านมา

          ด้วยการคืนความชอบธรรม ให้แก่ผู้ถูกดำเนินคดีโดยกระบวนการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ตามประกาศหรือคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือคำสั่งของหัวหน้า หรือคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่มิได้เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรมตามปกติและขัดต่อหลักนิติธรรม อันเป็นการผดุงรักษาไว้ซึ่งระบบนิติธรรมและกระบวนการยุติธรรมของประเทศที่สากลให้การยอมรับ

          รวมทั้งการคืนสิทธิทางการเมืองให้กับกรรมการบริหารพรรคการเมือง ที่มิได้มีส่วนรู้เห็นกับการกระทำความผิดอันเป็นเหตุให้มีการยุบพรรคการเมืองนั้น เพื่อให้โอกาสแก่ทุกฝ่ายได้เข้ามาใช้ความรู้ความสามารถของตนร่วมกันแก้ไขปัญหา และนำพาประเทศให้ก้าวข้ามความขัดแย้งครั้งนี้ ไปสู่สันติภาพและความมั่นคงสืบไป จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้


          2. สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ

          2.1 ให้บรรดาการกระทำใด ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง หรือการแสดงออกทางการเมืองตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2548 จนถึงวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 หากมีการกระทำใดที่เป็นความผิดตามกฎหมาย ให้การกระทำนั้นไม่เป็นความผิดต่อไป และให้ผู้กระทำการนั้นพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง

          การกระทำตามวรรคหนึ่งให้หมายความถึงการกระทำของบุคคล ดังต่อไปนี้

               2.1.1 การกระทำทั้งหลายของบุคคลที่เกิดจากการชุมนุมทางการเมือง หรือการแสดงออกทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายที่ห้ามการชุมนุม การกล่าววาจาหรือโฆษณาด้วยวิธีใดเพื่อเรียกร้องหรือให้มีการต่อต้านรัฐ การต่อสู้ขัดขืนการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือการประท้วงด้วยวิธีใด ๆ อันเป็นการกระทบต่อร่างกายหรือทรัพย์สินของบุคคลอื่น ซึ่งเป็นเหตุการณ์ต่อเนื่องจากการชุมนุมทางการเมืองหรือการแสดงออกทางการเมือง

               2.1.2 การกระทำทั้งหลายของเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือบุคคลใด ๆ อันเกี่ยวเนื่องกับการป้องกัน ระงับหรือปราบปราม ในเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมือง หรือการกระทำใด ที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำดังกล่าว (ร่างมาตรา 3)

          2.2 เมื่อพระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับแล้ว ถ้าผู้กระทำการตามมาตรา 3 อยู่ในระหว่างการสอบสวนให้ผู้มีอำนาจสอบสวนระงับการสอบสวนผู้นั้น ถ้าอยู่ในระหว่างการฟ้องร้องให้พนักงานอัยการหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องระงับการฟ้องหรือให้ถอนฟ้อง ถ้าผู้นั้นอยู่ในระหว่างการพิจารณาคดีให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดี ถ้าได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว ให้ถือว่าผู้นั้นไม่เคยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิด ถ้าผู้นั้นรับโทษอยู่ให้การลงโทษนั้นสิ้นสุดลงและปล่อยตัวผู้นั้น (ร่างมาตรา 4)

          2.3 ให้ถือว่าบุคคลที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินการ หรือการปฏิบัติทั้งหลายขององค์กรหรือคณะบุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งโดยประกาศ หรือคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพื่อให้เป็นไปตามประกาศหรือคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือคำสั่งของหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งได้ยึดอำนาจการปกครองแผ่นดิน เมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 หรือการดำเนินการหรือการปฏิบัติทั้งหลายขององค์กร หรือหน่วยงานอื่นใด อันเป็นผลสืบเนื่องจากการดำเนินการหรือการปฏิบัติขององค์กรหรือของคณะบุคคลดังกล่าว มิได้เป็นผู้ถูกกล่าวหาหรือเป็นผู้กระทำความผิด โดยให้นำความในมาตรา 4 มาใช้บังคับโดยอนุโลม และให้องค์กรหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติต่อบุคคล ที่ได้รับผลกระทบนั้นให้เป็นไปตามหลักนิติธรรมต่อไป (มาตรา 5)

          2.4 เพื่อให้บุคคลได้มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาและการพัฒนาประเทศ ซึ่งเป็นการสร้างความปรองดองในสังคม ให้การเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของบุคคลผู้เป็นกรรมการบริหารพรรคการเมือง เพราะ เหตุมีคำวินิจฉัยให้ยุบพรรคการเมืองเป็นอันสิ้นสุดลง และให้ถือว่าบุคคลผู้นั้นไม่เป็นผู้ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ (มาตรา 6)

          2.5 การดำเนินการใด ๆ ตามพระราชบัญญัตินี้ ไม่เป็นการตัดสิทธิของบุคคลซึ่งมิใช่องค์กรหรือหน่วยงานของรัฐที่จะเรียกร้องค่าเสียหายทางแพ่งจากการกระทำของบุคคลใด ซึ่งพ้นจากความรับผิดตามพระราชบัญญัตินี้และทำให้ตนต้องได้รับความเสียหาย (ร่างมาตรา 7)

          2.6 ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ (ร่างมาตรา 8)


ร่าง พ.ร.บ. ว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ พ.ศ. ….

          มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า "พระราชบัญญัติว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ พ.ศ. ...."

          มาตรา 2 พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

          มาตรา 3 ให้บรรดาการกระทำใด ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง หรือการแสดงออกทางการเมือง ตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2548 จนถึงวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 หากมีการกระทำใดที่เป็นความผิดตามกฎหมาย ให้การกระทำนั้นไม่เป็นความผิดต่อไป และให้ผู้กระทำการนั้นพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง

          การกระทำตามวรรคหนึ่ง ให้หมายความถึงการกระทำของบุคคล ดังต่อไปนี้

          (1) การกระทำทั้งหลายของบุคคลที่เกิดจากการชุมนุมทางการเมือง หรือการแสดงออกทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายที่ห้ามการชุมนุม การกล่าววาจาหรือโฆษณาด้วยวิธีใดเพื่อเรียกร้องหรือให้มีการต่อต้านรัฐ การต่อสู้ขัดขืนการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือการประท้วงด้วยวิธีใด ๆ อันเป็นการกระทบต่อร่างกายหรือทรัพย์สินของบุคคลอื่น ซึ่งเป็นเหตุการณ์ต่อเนื่องจากการชุมนุมทางการเมืองหรือการแสดงออกทางการเมือง

          (2) การกระทำทั้งหลายของเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือบุคคลใด ๆ อันเกี่ยวเนื่องกับการป้องกัน ระงับหรือปราบปราม ในเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมือง หรือการกระทำใดที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำดังกล่าว

          มาตรา 4 เมื่อพระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับแล้ว ถ้าผู้กระทำการตามมาตรา 3 อยู่ในระหว่างการสอบสวนให้ผู้มีอำนาจสอบสวนระงับการสอบสวนผู้นั้น ถ้าอยู่ในระหว่างการฟ้องร้องให้พนักงานอัยการหรือองค์กรที่เกี่ยวข้อง ระงับการฟ้องหรือให้ถอนฟ้อง ถ้าผู้นั้นอยู่ในระหว่างการพิจารณาคดีให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดี ถ้าได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว ให้ถือว่าผู้นั้นไม่เคยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิด ถ้าผู้นั้นรับโทษอยู่ให้การลงโทษนั้นสิ้นสุดลงและปล่อยตัวผู้นั้น

          มาตรา 5 ให้ถือว่าบุคคลที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินการหรือการปฏิบัติทั้งหลายขององค์กรหรือคณะบุคคล ที่ได้รับการแต่งตั้งโดยประกาศหรือคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพื่อให้เป็นไปตามประกาศหรือคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือคำสั่งของหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งได้ยึดอำนาจการปกครองแผ่นดิน เมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 หรือการดำเนินการหรือการปฏิบัติทั้งหลายขององค์กร หรือหน่วยงานอื่นใด อันเป็นผลสืบเนื่องจากการดำเนินการ หรือการปฏิบัติขององค์กรหรือของคณะบุคคลดังกล่าวมิได้เป็นผู้ถูกกล่าวหาหรือเป็นผู้กระทำความผิด โดยให้นำความในมาตรา 4 มาใช้บังคับโดยอนุโลม และให้องค์กรหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติต่อบุคคลที่ได้รับผลกระทบนั้นให้เป็นไปตามหลักนิติธรรมต่อไป

          มาตรา 6 เพื่อให้บุคคลได้มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาและการพัฒนาประเทศ ซึ่งเป็นการสร้างความปรองดองในสังคม ให้การเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของบุคคลผู้เป็นกรรมการบริหารพรรคการเมืองเพราะเหตุมีคำวินิจฉัยให้ยุบพรรคการเมืองเป็นอันสิ้นสุดลง และให้ถือว่าบุคคลผู้นั้นไม่เป็นผู้ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

          มาตรา 7 การดำเนินการใด ๆ ตามพระราชบัญญัตินี้ไม่เป็นการตัดสิทธิของบุคคล ซึ่งมิใช่องค์กรหรือหน่วยงานของรัฐที่จะเรียกร้องค่าเสียหายทางแพ่งจากการกระทำของบุคคลใด ซึ่งพ้นจากความรับผิดตามพระราชบัญญัตินี้ และทำให้ตนต้องได้รับความเสียหาย

          มาตรา 8 ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้





ขอขอบคุณข้อมูลจาก
isranews.org








เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ตามติด พ.ร.บ.ปรองดอง ชนวนความขัดแย้งระลอกใหม่ โพสต์เมื่อ 28 พฤษภาคม 2555 เวลา 13:21:29 3,345 อ่าน
TOP