x close

นักวิชาการชี้สภาป่วน เหตุ ปชป.ป่วยโรคแพ้ซ้ำซาก





เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก เฟซบุ๊ก ชูวิทย์ I'm No.5 
 
         นักวิชาการ-อาจารย์ ตำหนิพฤติกรรมประชาธิปัตย์ในสภา ชี้ตราบใดที่ยังเป็นเช่นนี้ ประชาธิปัตย์ก็เป็นได้แค่ว่าที่รัฐบาลและว่าที่นายกฯ ไปตลอดกาล แนะขอโทษประชาชน
 
         วันนี้ (1 มิถุนายน) จากกรณีที่เกิดเหตุการณ์วุ่นวายขึ้นในสภาเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม และ 31 พฤษภาคม 2555 จนเป็นข่าวฉาวไปทั่ว และเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่เหมาะสมนั้น ได้มีนักวิชาการ-อาจารย์จากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นต่อเรื่องดังกล่าว โดยนายเกษียร เตชะพีระ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เขียนข้อความลงในเฟซบุ๊ก Kasian Tejapira เนื้อหากระทบกระเทียบฝ่ายค้าน โดยเปรียบเปรยว่าเป็นกลุ่มอาการแพ้เสียงข้างมาก (majority-allergy syndrome) ซึ่งพฤติกรรมที่แสดงออก เช่น ค้านเลอะเทอะสะเปะสะปะ ล่าสุด ล้อมกรอบฉุดดึงแย่งเก้าอี้ประธานสภาชุลมุน วิธีเยียวยายังไม่เห็น ตราบเท่าที่พฤติกรรมและการนำพรรคยังเป็นแบบนี้ คงไม่มีใครสามารถสะเทือนฐานะผูกขาดการเป็นฝ่ายค้านและการแพ้เลือกตั้งได้ คงเป็นได้แค่ว่าที่รัฐบาลและว่าที่นายกฯ ไปตลอดกาล
 
         ด้านนายไชยันต์ ไชยพร อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นในสภา แม้ประธานจะทำผิดมากน้อยเพียงใด ก็ไม่ควรจะไปฉุดกระชากแขน หรือลากเก้าอี้ประธานรัฐสภาแบบนั้น เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ถือเป็นการละเมิด พรรคประชาธิปัตย์ควรจะทำตามหน้าที่ของ ส.ส. การประชุมก็มีการถ่ายทอดทั่วประเทศ ประชาชนย่อมมีหู มีตา มีสมอง รู้ว่าอะไรถูก อะไรผิด และสิ่งที่พรรคประชาธิปัตย์เคยทำดี หรือสร้างคะแนนเสียงเอาไว้ อาจจะถูกลบล้างเพราะเหตุการณ์นี้ คะแนนเสียงก็มีแต่จะลดลงทุกวัน ต่อไปในอนาคตอาจจะสู้พรรคการเมืองของรัฐบาลในทุก ๆ ด้านไม่ได้เลย ดังนั้นทางพรรคประชาธิปัตย์ หรือทางวิปฝ่ายค้าน ควรจะออกมาขอโทษกับสิ่งที่กระทำลงไป
 
         ส่วนนายนิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการชื่อดัง กล่าวว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเชื่อว่าไม่ได้เกิดขึ้นตามอารมณ์ของ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์เพียงอย่างเดียว แต่มีการวางแผนเตรียมการเตรียมบทเอาไว้แล้ว ตอกย้ำให้รู้ว่าผู้กระทำต้องการสื่อถึงอะไร สิ่งนี้ก็ถือเป็นเกมทางการเมือง และจุดมุ่งหมายของพรรคประชาธิปัตย์ ก็คือ ต้องการที่จะบอกให้คนรับรู้ว่า สภาไม่สามารถที่จะมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองได้ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่น่าตกใจมาก เพราะหากพรรคประชาธิปัตย์ต้องการจะสื่อเช่นนั้น ซึ่งหากไม่ใช้สภาในการตัดสินใจ แล้วจะใช้อะไร ดังนั้นคนไทยต้องมองให้แตก ไม่ใช่เพียงเพลิดเพลินกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ล่อแหลมต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตย
 

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก






เรื่องที่คุณอาจสนใจ
นักวิชาการชี้สภาป่วน เหตุ ปชป.ป่วยโรคแพ้ซ้ำซาก โพสต์เมื่อ 1 มิถุนายน 2555 เวลา 11:30:34 4,081 อ่าน
TOP