x close

เปิด ร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง ชำแหละเนื้อหาทั้ง 4 ฉบับ


เปิด ร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง ชำแหละเนื้อหาทั้ง 4 ฉบับ


เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูล

            นาทีนี้ไม่มีเรื่องไหนร้อนแรงมากไปกว่าความพยายามที่จะผลักดันร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการปรองดองแห่งชาติ พ.ศ.... หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า พ.ร.บ.ปรองดองแห่งชาติ อีกแล้ว เพราะเรื่องดังกล่าวได้ทำให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรถึง 2 วันติด จนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหวิดจะมีเรื่องกัน

            ขณะที่ ด้านนอกรัฐสภา ก็ยังมีกลุ่มพันธมิตรฯ กลุ่มเสื้อหลากสี และประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับการผลักดันร่าง พ.ร.บ.ปรองดองแห่งชาติ ออกมารวมตัวชุมนุมเพื่อคัดค้านกฎหมายฉบับนี้ ซึ่งภาพที่เห็นดูไม่สอดคล้องกับคำว่า พ.ร.บ.ปรองดอง ที่ฝ่ายรัฐบาลพยายามจะผลักดันเอาเสียเลย

            หลายคนที่ได้ติดตามข่าวการเมืองคงจะพอทราบแล้วว่า ร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ ที่มีการเสนอเข้ามาให้สภาฯ พิจารณานั้น มีทั้งสิ้น 4 ร่าง ประกอบด้วย ร่าง พ.ร.บ.ปรองดองของ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าพรรคมาตุภูมิ, ร่าง พ.ร.บ.ของนายสามารถ แก้วมีชัย ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย และคณะ, ร่าง พ.ร.บ.ของนายนิยม วรปัญญา ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และ ร่าง พ.ร.บ.ของนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และคณะ ซึ่งแต่ละฉบับมีเนื้อหาส่วนใหญ่ใกล้เคียงกัน จะมีแตกต่างในบางหัวข้อ


ทีนี้ ลองมาดูเนื้อหาสำคัญ ๆ ของแต่ละฉบับกัน


1. ร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง ฉบับ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน

            มีทั้งหมด 8 มาตรา โดยร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมทางการเมือง ตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน พ.ศ.2548 จนถึงวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ.2554 ไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง เจ้าหน้าที่รัฐ หรือมวลชน ไม่มีความผิดจากกระทำที่เกิดขึ้น หรือหากคดีดังกล่าวอยู่ในชั้นศาลแล้ว ก็ให้ระงับการสอบสวน และให้พ้นคดีไป รวมทั้งผู้ที่ถูกศาลตัดสินว่ามีความผิดไปแล้ว ก็ให้ถือว่า ไม่เคยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำผิด ส่วนผู้ที่รับโทษอยู่ก็ให้ปล่อยตัว ซึ่งหมายถึงว่า ทุกคนจะได้รับการนิรโทษกรรม

            นอกจากนั้น คดีที่สืบเนื่องมาจากการรัฐประหาร เมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2549 จะถูกยกเลิก พร้อมกับคืนสิทธิทางการเมืองให้กับนักการเมืองที่ถูกศาลพิพากษาตัดสิทธิ โดยผู้ที่ได้รับความเสียหายสามารถฟ้องแพ่งเรียกร้องค่าเสียหายได้



2. ร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง ฉบับ นายสามารถ แก้วมีชัย และคณะ

            มีทั้งหมด 8 มาตรา เนื้อหาหลัก ๆ คล้ายกับ ร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง ฉบับ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ที่ให้นิรโทษกรรมผู้ที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมทางการเมืองทุกคน ตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน พ.ศ.2548 จนถึงวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ.2554 พร้อมกับคืนสิทธิทางการเมืองให้กับผู้ที่ถูกตัดสิทธิในคดีที่สืบเนื่องมาจากการรัฐประหาร

อ่าน ร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง ฉบับ นายสามารถ แก้วมีชัย และคณะ ได้ที่นี่



3. ร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง ฉบับ นายนิยม วรปัญญา และคณะ

            มีทั้งหมด 5 มาตรา เนื้อหาสำคัญคือ ให้นิรโทษกรรมผู้ถูกกระทำ ผู้กระทำ รวมทั้งคนที่ได้รับผลกระทบหลังเหตุการณ์รัฐประหาร วันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2549 ซึ่งที่น่าสนใจก็คือ มาตรา 3 ที่ให้นิรโทษกรรมผู้ที่เกี่ยวข้องกับการทำรัฐประหาร รวมทั้งบุคคล หรือองค์กร ที่ทำตามคำสั่ง คมช. ซึ่ง ร่าง พ.ร.บ.ฉบับอื่น ๆ ไม่ได้ให้ความสำคัญกับจุดนี้มากนัก

            อีกจุดหนึ่งของ ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ที่แตกต่างจากฉบับอื่น ๆ ก็คือ แม้จะมีการนิรโทษกรรมให้ผู้กระทำแล้วก็ตาม แต่ผู้ที่ได้รับนิรโทษกรรมไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายใด ๆ ทั้งสิ้น

อ่าน ร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง ฉบับ นายนิยม วรปัญญา และคณะ ได้ที่นี่



4. ร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง ฉบับ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ และคณะ

            มีทั้งหมด 7 มาตรา เนื้อหาสำคัญคล้ายกับร่าง พ.ร.บ.ของ พล.อ.สนธิ และ นายสามารถ คือ ให้นิรโทษกรรมผู้ที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมทางการเมือง ตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน พ.ศ.2548 จนถึงวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ.2554 และให้ปล่อยตัวผู้ที่ถูกคุมขัง โดยถือว่าไม่มีความผิด แต่ส่วนที่แตกต่างก็คือ ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ไม่นิรโทษกรรมให้กับผู้กระทำความผิดในฐานก่อการร้าย และความผิดต่อชีวิต ซึ่งน่าจะหมายถึง บรรดาแกนนำ รวมทั้งรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จะไม่ได้รับการนิรโทษกรรม

            ขณะเดียวกัน ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ยังยกเลิกคดีที่เกี่ยวข้องกับการทำรัฐประหาร และให้ผู้เสียหายสามารถฟ้องร้องทางแพ่งได้เหมือนกับ ร่าง พ.ร.บ.ฉบับ พล.อ.สนธิ และนายสามารถ

อ่าน ร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง ฉบับ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ และคณะ ได้ที่นี่


            อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่า ร่าง พ.ร.บ.ปรองดองแห่งชาติ ทั้ง 4 ฉบับ ไม่มีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือผู้ต้องหาที่ต้องโทษในคดีจากประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 แม้แต่ฉบับเดียว










เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เปิด ร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง ชำแหละเนื้อหาทั้ง 4 ฉบับ โพสต์เมื่อ 1 มิถุนายน 2555 เวลา 11:53:37 27,364 อ่าน
TOP