ตกเป็นประเด็นทอล์คออฟเดอะทาวน์อย่างต่อเนื่อง หลังเกิดการทุจริตในการรับบุคคลภายนอกเข้าสอบเพื่อรับราชการตำรวจชั้นประทวน พ.ศ. 2555 เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน ที่ผ่านมา เป็นเหตุให้ต้องมีการประกาศยกเลิกให้การสอบตำรวจในครั้งนี้เป็นโมฆะ รายการเจาะข่าวเด่น (13 มิถุนายน) จึงเชิญ พล.ต.ต.ปิยะ อุทาโย โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มาเปิดเผยกลโกงของกระบวนการทุจริตสอบตำรวจในครั้งนี้
โดย พล.ต.ต.ปิยะ อุทาโย เริ่มต้นเปิดเผยถึงกลโกงทุจริตสอบตำรวจว่า ในการโกงการสอบจะแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ
1. กลุ่มที่ปลอมบัตรประชาชนและใบสมัครสอบเพื่อเข้าสอบแทนผู้สมัครสอบตัวจริง
2. กลุ่มที่ใช้เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์
3. กลุ่มที่ใช้รูปแบบอื่น ๆ ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจกำลังหาเบาะแสอยู่
สำหรับการเปิดเผยกลโกงในครั้งนี้ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติเจาะจงไปที่ กลุ่มที่ใช้เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ เป็นหลัก เนื่องจากเป็นกระบวนการใหญ่ โดยกลุ่มโกงเหล่านี้ไม่ได้เพียงแค่รับจ้างทุจริตสอบตำรวจเท่านั้น แต่รับจ้างโกงการสอบทุกรูปแบบในประเทศไทย ผ่านการโฆษณาอย่างเอิกเกริกในสังคมออนไลน์เฟซบุ๊ก อีกทั้งยังมีการเปิดรับสมัครคนเรียนเก่งเพื่อร่วมกระทำความผิดในการเข้าสอบแทนอีกด้วย
ซึ่งในการหาลูกค้านั้นจะมีการทำกันเป็นเครือข่ายเหมือนแชร์ลูกโซ่ มีการหาลูกค้ากันเป็นทอด ๆ บอกต่อกันไป หากลูกค้าสนใจก็จะเก็บเงินมัดจำ 3,000- 5,000 บาท จากนั้นจะมีการนัดหมายเพื่อไปซักซ้อมกระบวนการและสาธิตการใช้เครื่องมือ โดยยกตัวอย่างจากกลุ่มที่ถูกจับกุมตัวได้ในจังหวัดนครราชสีมา จะมีการแจกจ่ายเครื่องมือกันตอนเช้าของวันสอบ ซึ่งเครื่องมือที่ผู้เข้าสอบจะได้รับคือตัวรับสัญญาณ ขณะที่จะมีผู้ส่งสัญญาณอยู่ด้านนอกรัศมีสัญญาณ 300 เมตร และจะมีการเรียกเก็บเงินจำนวน 100,000 – 400,000 บาท หากมีการสอบติด
แม้ว่าจะมีการสลับชุดข้อสอบ รวมถึงสลับข้อสอบในแต่ละชุดไม่ให้อยู่ในตำแหน่งเดียวกัน แต่กระบวนการทุจริตจะแก้ไขด้วยการนัดแนะกับผู้เข้าสอบโดยแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบดังนี้
1. การสลับชุดข้อสอบ สำหรับการสอบตำรวจนั้นจะมีข้อสอบอยู่ 8 ชุด แบ่งออกเป็น 5 หมวด กระบวนการทุจริตจะมีการนัดแนะกับผู้เข้าสอบว่าให้เรียงหมวดหมู่ใหม่ เช่น หมวดที่ 1 คือภาควิชาทั่วไป หมวดที่ 2 คือภาษาไทย หมวดที่ 3 คือคณิตศาสตร์ หมวดที่ 4 คือภาษาอังกฤษ เป็นต้น แม้ว่าในข้อสอบของผู้เข้าสอบจะถูกเรียงหมวดหมู่มาไม่เหมือนกัน แต่ให้ยึดเอาตามที่กำหนดไว้เป็นหลัก ก็จะทำให้เข้าใจตรงกันได้
2. การสลับข้อในแต่ละชุดข้อสอบ ผู้เข้าสอบจะต้องนับสระในคำถามแต่ละข้อเป็นหลัก โดยไม่ต้องนับพยัญชนะ หากนับออกมาแล้วมีข้อใดได้ผลซ้ำกัน ให้นับสระจากคำตอบร่วมด้วย โดยไม่ต้องเอามาบวกกัน เช่นนับคำถามได้ 3 สระ หากต้องนับคำตอบด้วยได้ 4 สระ ก็นับเป็น 34 เป็นต้น จากนั้นให้นำทุกข้อมาเรียงใหม่ตามจำนวนสระที่นับได้ ผู้ทุจริตทุกคนจึงจะมีโจทย์ในแต่ละข้อเรียงเท่ากัน หลังจากผ่านไป 1.30 ชั่วโมง จะมีสัญญาณเตือนความพร้อม ก่อนที่จะส่งสัญญาณคำตอบมาให้เครื่องสั่น โดยแต่ละข้อจะปล่อยสัญญาณห่างกันประมาณ 2-3 วินาที
ส่วนกรณีที่หลายคนสงสัยว่า เกิดการรั่วของข้อสอบหรือไม่ พล.ต.ต.ปิยะ กล่าวว่า อาจจะเป็นไปได้ทั้ง 2 กรณี คือข้อสอบรั่ว หรือ มีการให้คนเข้าไปนั่งทำข้อสอบแล้วส่งรหัสออกมายังคนกลาง เพื่อให้ส่งสัญญาณกลับเข้าไปให้ผู้ทุจริตในห้องสอบอีกครั้ง ซึ่งคาดคะเนว่าจะเป็นการแบ่งกันเข้าไปทำข้อสอบคนละวิชา โดยคณะกรรมการสืบสวนสอบสวนก็ยังไม่ได้ตัดสมมติฐานใดทิ้ง
ในด้านอุปกรณ์เครื่องมือต่าง ๆ ที่เจ้าหน้าที่ยึดมาได้คือ เครื่องส่งสัญญาณ ที่มีเสาเหมือนวิทยุถูกซ่อนไว้ในตัวเสื้อของผู้ร่วมขบวนการทุจริต โดยเป็นการซ่อนไว้เพื่อถ่ายทอดสัญญาณอีกต่อหนึ่ง นอกจากนี้ยังมี เครื่องรับสัญญาณกลาง ที่ติดตั้งไว้ในบริเวณสนามสอบด้วย เพื่อเป็นตัวกลางในการกระจายสัญญาณ
ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจเชื่อว่า การสอบข้าราชพลเรือนที่กำลังจะมาถึง จะเป็นอีกหนึ่งการสอบระดับชาติที่ต้องระวังการทุจริต เนื่องจากเป็นการสอบที่มีผู้เข้าสอบหลักล้านคน หากมีการทุจริต กระบวนการดังกล่าวจะมีเม็ดเงินหมุนเวียนมหาศาล เจ้าหน้าที่จึงกำลังเร่งทำงานเพื่อทลายกระบวนการดังกล่าวให้หมดไป
อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ตำรวจได้มีการสืบหาต้นตอของกระบวนการดังกล่าว และสร้างเป็นผังขึ้นมาคร่าว ๆ เริ่มตั้งแต่ตัวการใหญ่ ที่น่าจะเคยเป็นคนมีความรู้หรือเคยเป็นติวเตอร์มาก่อน จากนั้นแยกออกเป็นหัวหน้าสาย เพื่อไปติดต่อชักชวนนายหน้ามาเป็นลูกข่าย เพื่อให้ไปหาลูกค้ามาอีกทอดหนึ่ง โดยมีฝ่ายเทคนิค และฝ่ายข้อสอบเป็นผู้ร่วมกระบวนการ ซึ่งคาดว่ามีอยู่หลายเครือข่าย รวมทั้งอาจจะมีบางเครือข่ายที่เชื่อมโยงกันด้วย
ส่วนในประเด็นการยกเลิกการสอบทั่วประเทศนั้น ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจจะเร่งจัดการสอบใหม่ให้เร็วที่สุด โดยให้ผู้สมัครเข้าสอบทุกคนเก็บหลักฐานต่าง ๆ ไว้ และรอกำหนดการสอบอีกครั้ง โดยไม่ต้องทำเรื่องใด ๆ อีกทั้งอาจจะมีการแบ่งสอบตามสายงาน เพื่อให้ลดปริมาณผู้เข้าสอบในการสอบแต่ละครั้งลง พร้อมทั้งอาจจะมีการจัดสอบรวมในสนามเดียวกัน หรือลดจำนวนสนามสอบให้เหลือน้อยที่สุด เพื่อให้ดูแลทั่วถึงมากขึ้น
ล่าสุด วันนี้ (14 มิถุนายน) พล.ต.ต.จักรทิพย์ โหละสุตสกุล รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 3 หัวหน้าคณะพนักงานสืบสวนสอบสวนกรณีดังกล่าว ได้สั่งให้ ร.ต.อ.สนั่นพล กัลญาวัฒนางาม รองสารวัตรงานป้องกันและปราบปราม สถานีตำรวจภูธรเมืองศรีสะเกษ และ ด.ต.วชิรานุสรณ์ พงษ์พันธ์ ผู้บังคับหมู่งานป้องกันและปราบปราม สถานีตำรวจภูธรเมืองศรีสะเกษ สามีของนางเตือนใจ พงษ์พันธ์ หนึ่งในผู้ต้องหาที่ถูกจับกุมตัวได้ ย้ายมาช่วยราชการที่กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 3 เป็นเวลา 30 วันแล้ว จนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่า ทั้ง 2 ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้
ล่าสุด วันนี้ (14 มิถุนายน) พล.ต.ต.จักรทิพย์ โหละสุตสกุล รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 3 หัวหน้าคณะพนักงานสืบสวนสอบสวนกรณีดังกล่าว ได้สั่งให้ ร.ต.อ.สนั่นพล กัลญาวัฒนางาม รองสารวัตรงานป้องกันและปราบปราม สถานีตำรวจภูธรเมืองศรีสะเกษ และ ด.ต.วชิรานุสรณ์ พงษ์พันธ์ ผู้บังคับหมู่งานป้องกันและปราบปราม สถานีตำรวจภูธรเมืองศรีสะเกษ สามีของนางเตือนใจ พงษ์พันธ์ หนึ่งในผู้ต้องหาที่ถูกจับกุมตัวได้ ย้ายมาช่วยราชการที่กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 3 เป็นเวลา 30 วันแล้ว จนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่า ทั้ง 2 ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้
นอกจากนี้ยังระดมกำลังพนักงานสืบสวนสอบสวนมาจาก 3 จังหวัด ประกอบด้วย จ.นครราชสีมา จ.อำนาจเจริญ และ จ.ศรีสะเกษ รวม 30 นาย เพื่อร่วมกันคลี่คลายคดี พร้อมทั้งเรียกประชุมหัวหน้าพนักงานสืบสวนสอบสวนแต่ละชุด ผ่านระบบคอนเฟอร์เรนซ์ เพื่อรายงานความคืบหน้าทางคดีดังกล่าวไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้กับทางผู้บังคับบัญชาทราบ พร้อมรับมอบนโยบายและแนวทางการปฏิบัติเพื่อดำเนินการต่อไป
คลิป เจาะข่าว - ทุจริตสอบเข้าตำรวจ