x close

พงศ์เทพ ชี้ ยุติวาระ 3 ต้องใช้คนที่เป็นกลาง


พงศ์เทพ เทพกาญจนา

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

ขอขอบคุณภาพประกอบจาก รายการตอบโจทย์ โพสต์โดย คุณ LadyBimbettes สมาชิกเว็บไซต์ยูทูบดอทคอม

          นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา เผย แท้จริงศาลรัฐธรรมนูญไม่สามารถรับคำร้อง และวินิจฉัยเรื่องการลงมติวาระ 3 ได้ เพราะเป็นอำนาจของรัฐสภา ส่วนทางออกเพื่อยุติความขัดแย้ง จะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อใช้ผู้ที่มีความเที่ยงธรรมตัดสินปัญหา
 
          วานนี้ (17 กรกฎาคม) นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้ให้สัมภาษณ์ในรายการ ที่นี่ตอบโจทย์ ซึ่งออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส โดยวิเคราะห์กรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยออกมาว่า จริง ๆ แล้วศาลรัฐธรรมนูญไม่สามารถรับคำร้องดังกล่าวได้ เนื่องจากโจทก์หรือผู้ร้อง ไม่มีอำนาจที่จะไปยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพราะมีการระบุในการร่างมาตรา 68 อย่างชัดเจนว่า ผู้ที่ยื่นคำร้องจะต้องเป็นอัยการสูงสุดเท่านั้น
 
          นอกจากนี้ คำร้องที่ศาลรัฐธรรมนูญสามารถรับเรื่องไว้ได้ ต้องเป็นกรณีความขัดแย้งที่ส่งผลต่อการล้มล้างระบอบการปกครองประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เช่น กรณีที่บุคคลใด อ้างถึงสิทธิ และเสรีภาพตามรัฐธรรมนุญ แล้วทำการเชิญชวนให้ประชาชนจับอาวุธ  เพื่อเข้ายึดอำนาจ หรือส่งผลต่อการล้มล้างระบบประชาธิปไตย แต่คำร้องในครั้งนี้เป็นเรื่องที่สมาชิกรัฐสภา กับคณะรัฐมนตรี ได้ยื่นญัตติขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งถือเป็นอำนาจการตัดสินใจของรัฐสภา ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้อยู่แล้ว
 
          ซึ่งการที่ศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่องไว้ และได้ตีความออกมาเช่นนี้ อาจทำให้ต่อจากนี้ไป องค์กรทั้งหลายจะแห่กันมายื่นคำร้อง โดยอ้างว่าเป็นการใช้สิทธิ และเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ หรืออ้างว่ากรณีต่าง ๆ ที่ได้ยื่นคำร้องนั้น เป็นการล้มล้างศาลปกครองตามระบอบประชาธิปไตย หรือเป็นการให้ได้อำนาจมาด้วยความไม่ชอบตามรัฐธรรมนูญ

          นอกจากนี้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ แม้จะมีผลผูกพัน แต่การที่จะยอมรับคำตัดสินของศาลหรือไม่ ถือเป็นคนละเรื่องกัน ดังนั้น การที่ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องซึ่งถือว่าผิดหลัก ทำให้ผลการวินิจฉัยในครั้งนี้ อาจเป็นแค่การให้ความเห็นเท่านั้น ซึ่งประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยการยกร่างใหม่ทั้งฉบับได้หรือไม่ ต้องเป็นหน้าที่ของรัฐสภา โดยอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยได้เฉพาะพระราชบัญญัติ ว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ตราขึ้นโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ แต่ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจชี้ว่าตัวรัฐธรรมนูญขัดแย้งกันเองหรือไม่
 
          ซึ่งที่ผ่านมาศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้ฟันธงว่านั่นคือคำวินิจฉัย และยังกล่าวถึงเรื่องการทำประชามติ เป็นนัยว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจหน้าที่ในเรื่องนี้ ซึ่งก็ถือว่าเป็นการกระทำที่ถูกต้องแล้ว ดังนั้นหากรัฐสภาจะลงมติในวาระที่ 3 ก็ไม่ได้ถือว่าขัดแย้งกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ แต่อย่างใด แต่หากต้องการหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง ก็สามารถตัดปัญหาด้วยการยังไม่ลงมติในวาระ 3 แต่ให้มีการทำประชามติเสียก่อนก่อน ว่าประชาชนทั้งประเทศเห็นด้วยกับการแก้รัฐธรรมนูญโดยยกร่างใหม่ทั้งฉบับหรือไม่ จากนั้นรัฐสภาจึงค่อยนำไปใช้เป็นข้อมูลในการพิจารณาเพื่อลงมติต่อไป
 
          ทั้งนี้ ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ส่วนหนึ่งมาจากการที่ต่างฝ่ายต่างอ้างถึง นิติรัฐ นิติธรรม และมีการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือทางการเมือง ซึ่งกลไกสำคัญที่จะทำให้คนในสังคมอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุข ก็คือ ผู้บังคับใช้กฎหมายต้องกระทำการอย่างเสมอภาคและเป็นธรรม ซึ่งเรื่องของความน่าเชื่อถือของผู้ใช้กฎหมายก็มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย
 
          อย่างไรก็ตาม นายพงศ์เทพ ยังกล่าวอีกว่า เนื่องจากที่ผ่านมา ตุลาการ หรือผู้มีอำนาจบังคับใช้กฎหมายบางท่าน ได้ลงไปยุ่งเกี่ยวกับความขัดแย้งทางการเมือง ซึ่งส่งผลให้บุคคลดังกล่าว รวมไปถึงองค์กรที่บุคคลนั้นสังกัดอยู่ขาดความน่าเชื่อถือไปด้วย ซึ่งการที่จะทำให้ความสงบสุข และสันติเกิดขึ้นได้ จะต้องเริ่มต้นจาก ศาล หรือผู้ที่อยู่ในกระบวนยุติธรรม ควรดำเนินงานอย่างตรงไปตรงมา มีความยุติธรรม โดยไม่เห็นแก่หน้าใคร ดังนั้นจึงอยากให้ผู้ที่มีความเป็นกลางเข้ามาเป็นองค์คณะมากกว่า ส่วนคนที่มีภูมิหลัง หรือเคยข้องเกี่ยวกับข้อพิพาททางการเมืองต่าง ๆ ก็ควรถอยห่างออกมา โดยเชื่อว่าหากกระบวนการยุติธรรมโปร่งใส ชัดเจนขึ้น ทุกอย่างก็จะดำเนินไปได้อย่างราบรื่น




เรื่องที่คุณอาจสนใจ
พงศ์เทพ ชี้ ยุติวาระ 3 ต้องใช้คนที่เป็นกลาง โพสต์เมื่อ 18 กรกฎาคม 2555 เวลา 16:26:44 1,043 อ่าน
TOP