x close

ศศิน เฉลิมลาภ กับภารกิจขวางเขื่อนแม่วงก์ เพื่อโลก









เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

ขอขอบคุณภาพประกอบจาก เฟซบุ๊ก Sasin Chalermlarp, เฟซบุ๊กแฟนเพจ คัดค้านเขื่อนแม่วงก์

          ปลายปีที่ผ่านมา ชื่อของ ศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ถูกกล่าวถึงในฐานะกูรูเรื่องน้ำที่ออกสื่อแทบทุกแขนง และหลังจากสถานการณ์อุทกภัยอันเลวร้ายได้ผ่านพ้นไป ชื่อของ ศศิน เฉลิมลาภ ก็ไม่ได้เลือนหายไปตามน้ำ แต่เขากลับมาอีกครั้งกับปฏิบัติการต่อต้านการสร้างเขื่อนแม่วงก์ ภายในอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ จังหวัดนครสวรรค์ ที่เขามองว่า หากโครงการนี้สำเร็จจะนำความเสียหายอันใหญ่หลวงมาสู่ผืนป่าของประเทศไทย และนี่คือภารกิจที่เขาต้องเดินหน้า เพื่อปกป้องผืนป่าตามเจตนารมณ์ของ "สืบ นาคะเสถียร"

          ทำไมฝ่ายนักอนุรักษ์ถึงมองว่าไม่ควรสร้างเขื่อนแม่วงก์? คำถามแรกที่หลายคนอยากรู้ ... อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ชี้แจงให้ฟังว่า โครงการไหนที่นักอนุรักษ์มองว่ามันกระทบต่อผืนป่า พวกเราก็มีหน้าที่ที่จะเบี่ยงโครงการนั้นไป เพื่อเก็บผืนป่าไว้ให้ได้ หรืออย่างน้อยก็ต้องลดผลกระทบให้มากที่สุด นี่คือยุทธศาสตร์ของมูลนิธิที่จะต้องปกป้องป่าผืนใหญ่ สิ่งที่พวกเราทำเป็นการถ่วงดุล เพราะถ้าเราไม่ออกมาทำเช่นนี้ มันจะเกิดโครงการสารพัด

          แต่หลายคนก็ยังสับสน เพราะรัฐบาลอ้างว่า การสร้างเขื่อนในพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมนี้จะได้ประโยชน์กับคนหมู่มาก ซึ่งอาจารย์ศศิน ไม่เห็นด้วยกับข้ออ้างนี้ เพราะปัจจุบันป่าแม่วงก์ฟื้นตัวขึ้นมาแล้ว เป็นอุทยานมาแล้ว 30 ปี ทำให้มีการกระจายตัวของระบบนิเวศวิทยา และเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์นานาชนิด หากมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ไม่ออกมาให้ข้อมูล คนก็ยังเข้าใจว่า นี่ยังเป็นป่าเสื่อมโทรม เราจึงต้องออกมาให้ข้อมูล เพื่อถ่วงดุล

          "วันนี้เราต้องมานั่งนึกแล้วว่า เฮ้ย! เราทำเกษตรกันมากไปหรือเปล่า คุณจะทำการเกษตรแบบไม่ให้ดินพักเลยเหรอ หรือคุณจะทำการเกษตรแบบเปลี่ยนแปลงธรรมชาติเลยเหรอ คุณมีศักยภาพทำนาได้ครั้งสองครั้งต่อปี แต่นี่คุณจะทำ 3 ครั้ง เอาความต้องการของมนุษย์มาเป็นตัวตั้ง เท่าไหร่มันก็ไม่พอ เพราะความต้องการของมนุษย์ไม่จบ มันไม่พอตามความต้องการในการทำการเกษตรสมัยใหม่ จึงต้องไปรุกล้ำทรัพยากรมากขึ้น เมื่อน้ำไม่พอก็ต้องไปสร้างเขื่อน วิธีคิดแบบนี้มันนำไปสู่ทุนนิยมกลืนกินตัวเอง เราก็ทำตัวเหมือนเชื้อโรคที่กินแผ่นดิน ทำการเกษตรเพื่อเลี้ยงโลก ก็ตัดป่าไม้ แล้วก็ทำเขื่อนเพื่อจะเอาน้ำ" ศศิน แสดงความคิดเห็น

          หนุ่มนักอนุรักษ์ วัย 44 ปี แจงต่อว่า การต่อสู้เรื่องเขื่อนแม่วงก์เป็นการสู้เชิงสัญลักษณ์ ไปไกลมากกว่าเรื่องคุ้มทุนไม่คุ้มทุน ไม่ใช่ว่านักอนุรักษ์ไม่กินข้าว แต่มันไม่ใช่เหตุผลที่จะทำตามใจได้ เพราะวันนี้ทรัพยากรถูกใช้จนเกินเลยภาวะความจำเป็นไปถึงขั้นฟุ่มเฟือยแล้ว ไม่เช่นนั้นก็คงไม่มีคนคิดทำตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

          อย่างไรก็ตาม หลาย ๆ คนก็มองไปอีกแง่หนึ่งว่า นักอนุรักษ์คือพวกขวางโลกที่ออกมาค้านไปเสียทุกเรื่อง แต่อาจารย์ศศินกลับระบุว่า ความคิดเช่นนี้เกิดจากการเมือง เพราะนักการเมืองพยายามจะบอกว่า ทำไปเพื่อพัฒนา เพื่อช่วยชุมชน แต่มูลนิธิจะมีหน้าที่ให้ข้อมูลอีกด้านหนึ่งด้วย ซึ่งหากการสร้างเขื่อนไม่กระทบกับป่าไม้ เช่น สร้างในบริเวณที่ผู้คนไม่ต้องอพยพกันมาก หรือมีผลตอบแทนให้คนเหล่านั้นมากพอ นักอนุรักษ์ก็คงไม่ค้าน อย่างที่ผ่านมา เขื่อนหลาย ๆ แห่ง ก็จ่ายค่าชดเชยให้ชาวบ้านอย่างเป็นธรรม

          "แต่นี่เขาคิดว่าสร้างที่แม่วงก์ เพราะราคาที่ต้องจ่ายให้คนอพยพย้ายที่มันถูกกว่า เฮ้ย! แต่มันแพงกว่าที่น้ำจะต้องท่วมป่า คือ คิดอยู่บนตัวเงินไง ไม่แน่หรอก ป่าในราคาของป่า มันอาจจะแพงกว่าก็ได้" ศศิน ย้ำ

          บนความคิดเห็นที่ขัดแย้งกันเช่นนี้ เลขาฯ มูลนิธิสืบฯ ก็พร้อมจะนำข้อมูลเรื่องปริมาณน้ำที่เขามาอยู่มาดีเบตกับอีกฝ่าย หากมีการจัดเวทีดีเบตขึ้น โดยเจ้าตัวกางตัวเลขให้เห็นชัด ๆ ว่า หากสร้างเขื่อนแม่วงก์ เขื่อนนี้จะจุน้ำได้ 250 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่น้ำที่ท่วมภาคกลางทั้งหมดมีมากกว่า 20,000 กว่าล้านลูกบาศก์เมตร เท่ากับว่า เขื่อนจุน้ำได้เพียง 1% เท่านั้น ดังนั้น เขื่อนนี้จึงไม่ได้มีผลช่วยน้ำท่วมภาคกลางได้เลย

          เมื่อเป็นเช่นนี้ การจะแก้ปัญหาน้ำท่วมภาคกลางได้ อาจารย์ศศินจึงมองว่า เขื่อนแม่วงก์ไม่ใช่คำตอบของทุกอย่าง แต่ควรเร่งก่อสร้างระบบป้องกันน้ำท่วม ซึ่งใช้งบประมาณ และเวลาน้อยกว่าการทำเขื่อนจะดีกว่า โดยควรจะทำในเมืองนครสวรรค์ก่อน ส่วนเขื่อนก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่จะมาอ้างว่าน้ำท่วม น้ำแล้งไม่ได้

          อย่างไรก็ดี จากเหตุการณ์อุทกภัยที่ผ่านมา ทำให้คนเชื่อกันไปว่า การสร้างเขื่อนน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด ซึ่งนักอนุรักษ์มาดเซอร์ ก็ยอมรับว่า เหนื่อยใจ แต่ก็แย้งว่า ในอดีตที่ผ่านมามันก็ไม่มีเขื่อนแม่วงก์มาตลอด น้ำก็ไม่ได้ท่วม มันเพิ่งมาท่วมเมื่อปี 2554 ดังนั้นจึงไม่เกี่ยวว่า เขื่อนจะแก้น้ำท่วมได้ ตรงนี้ต้องพูดกันหลายตลบ แน่นอนว่า เขื่อนนี้ไม่ได้ใช้พื้นที่มาก แต่มันจะไปสร้างอยู่ตรงหัวใจ ตรงป่า ตรงที่ลุ่มต่ำ ทั้งป่าตะวันตก ถ้าคิดใกล้ ๆ ก็เสียป่าไป 2% ถ้าคิดไกล ๆ เกิดเขาจะเสนอป่าแม่วงก์เป็นมรดกโลกขยายจากห้วยขาแข้งที่อยู่ติดกันมา นี่ก็เป็นเรื่องใหญ่




          แล้วนักอนุรักษ์มองอย่างไรที่อีกฝ่ายถึงต้องการจะสร้างเขื่อนแม่วงก์ให้ได้? คำถามนี้ อาจารย์ศศินบอกว่า ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะมีทีมผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้มีความรู้ในสาขาวิชาต่าง ๆ ที่ต้องไปสนับสนุนการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน และคนกระแสหลักก็ไม่ต้องการให้น้ำท่วม ทำอะไรได้เขาก็ทำ ถึงมองว่า นักอนุรักษ์คือพวกขัดขวางความเจริญ ส่วนในแง่ของฐานเสียง ส.ส. เขาก็ทำโครงการ อ้างว่าเรียกร้องมา 40 ปีแล้ว แต่ถ้ามองเรื่องผลประโยชน์ก็เห็นชัดว่า อัตราคอร์รัปชั่นของเมืองไทยมันแทบจะ 50:50 แต่เราไม่มีหลักฐานอะไรไปว่าเขา

          "ข้อหาที่เราโดนคือ เราถูกมองว่าเห็นความสำคัญของป่ามากกว่าคน มองผมเป็นพวกที่เห็นสัตว์ดีกว่าคน เราโดนอยู่ แต่ต้องทำ พอเราทำปุ๊บ มันอาจจะมีนักวิชาการที่เก่งกว่าเราออกมา เกิดกระแสจนรัฐบอก เฮ้ย! ไม่สร้างแล้วก็ได้ แล้วค่อยมาหาวิธีคิดแก้ปัญหาแบบใหม่ เพราะระดับประเทศไทย ทรัพยากร น้ำฝน ไม่มีเขื่อนแล้วพัฒนาไม่ได้ ผมว่าไม่จริงหรอก" ศศิน ย้ำแนวคิด

          ด้วยคำตอบที่ฉะฉาน และให้มุมมองความคิดที่ชัดเจน สงสัยไหมว่า ผู้ชายมาดเซอร์คนนี้มีแรงบันดาลใจอะไรถึงได้มาทำงานที่มูลนิธิสืบฯ ด้วยความมุ่งมั่นที่จะเป็นนักอนุรักษ์ถึงเพียงนี้ เขาหยุดคิดนิดหนึ่งก่อนจะตอบว่า...เขาอยากทำงานให้คุณสืบ นาคะเสถียร เพราะคุณสืบน่าจะมองเห็นภาพของประเทศไทยว่า ควรมีการอนุรักษ์ และเขาก็โตมากับข่าวการอนุรักษ์ของคุณสืบ ตั้งแต่ที่คุณสืบไปช่วยชีวิตสัตว์ป่าที่เขื่อนเชี่ยวหลาน ช่วยสัตว์ที่เขื่อนน้ำโจน การเสนอมรดกโลกห้วยขาแข้ง จนกระทั่งการยิงตัวตาย ที่สำคัญคือ เขาชอบงานอนุรักษ์อยู่แล้วเป็นทุนเดิม ถ้าตอนนั้นได้มีโอกาสทำงานให้กับคุณสืบก็คงเป็นเรื่องที่ดี

          อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ ศศิน รู้สึกเป็นห่วงมากก็คือ คนที่รักสิ่งแวดล้อมมีมาก แต่คนที่จะมาออกรบน้อยลง แทบจะไม่มีใครกล้าออกมาเป็นนักรบสิ่งแวดล้อม ถ้ามองจริง ๆ รุ่นคุณสืบ นาคะเสถียร น่าจะเป็นรุ่นสุดท้ายแล้ว คนรุ่นใหม่ที่มาทำงานกับเขาก็พยายามเลี่ยงความรับผิดชอบที่จะเป็นนักอนุรักษ์แถวหน้า เหมือนพร้อมจะช่วย แต่ไม่พร้อมจะเป็นแกนนำ เพราะไม่อยากเจอกับความขัดแย้ง ในปัจจุบันนี้ เราจึงมักจะเห็นแต่คนที่ลุกขึ้นมาปกป้องทรัพยากรในระดับท้องถิ่น แต่แทบจะไม่เห็นนักอนุรักษ์ในระดับชาติ


          "ส่วนตัวผมไม่ใช่นักอนุรักษ์ที่มาดุ้น ๆ แต่ต้น เพราะผมเรียนธรณีวิทยามา ไม่ได้เรียนวนศาสตร์ กลับกัน ผมเรียนโทเรื่องการทำลายสิ่งแวดล้อม เรื่องธรณีวิทยา เรื่องการขุดแร่ ผมสอนหนังสือให้เด็กที่มีอาชีพสร้างเขื่อน ตัดถนน หินชนิดไหน โครงสร้างแบบไหนเหมาะกับการสร้างเขื่อน แต่โดยส่วนตัวผมขัดแย้งกับมันมาตลอด ผมไม่ได้ปฏิเสธว่า มันต้องมีการใช้ทรัพยากร แต่ผมไม่อยากเข้าไปยุ่ง เรื่องนี้มันมีเยอะแล้ว แต่โลกต้องมีคนมาถ่วงดุล ผมอยากทำแบบนี้ ผมไม่ได้คิดอะไร ผมแค่ทำให้พี่สืบ แล้วป่าวันนี้มันก็เหลือน้อยลงทุกทีแล้ว ถ้าเราไม่ทำ แล้วใครจะทำ..." คำตอบสุดท้ายจากใจของ ศศิน เฉลิมลาภ นักอนุรักษ์ผู้ปฏิบัติการขวางโลกเพื่อโลก





ขอขอบคุณข้อมูลจาก
นิตยสาร ค ฅน ปีที่ 7 ฉบับที่ 7 (79) มิถุนายน 2555


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ศศิน เฉลิมลาภ กับภารกิจขวางเขื่อนแม่วงก์ เพื่อโลก อัปเดตล่าสุด 23 กันยายน 2556 เวลา 10:27:13 4,025 อ่าน
TOP