x close

จุฬาฯ ไม่อนุญาต นิสิตเพศที่ 3 แต่งหญิงเข้ารับปริญญา







 เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก รายการเจาะข่าวเด่น โพสต์โดยคุณ  DuangAesthetic สมาชิกเว็บไซต์ยูทูบดอทคอม

           นักศึกษาธรรมศาสตร์ เปิดใจ วอนสังคมยอมรับ ให้นักศึกษาเพศที่ 3 แต่งหญิงเข้ารับปริญญาได้ นก ยลลดา-เกย์นที เห็นด้วย ด้าน จุฬาฯ ระบุ ไม่อนุญาตให้นักศึกษาเพศที่ 3 แต่งหญิงเข้ารับปริญญา

            จากกรณีที่ นายบารมี พาณิช หรือเด่นจันทร์ บัณฑิตจากวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเพื่อนอีก 4 คน ได้รับการอนุญาตให้แต่งตัวด้วยเครื่องแบบผู้หญิงเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรได้ ตามที่ได้นำเสนอข่าวไปแล้วนั้น ล่าสุดทางรายการเจาะข่าวเด่น (16 สิงหาคม) ได้เชิญ นายบารมี หรือเด่นจันทร์ มาชี้แจงถึงเรื่องดังกล่าวอย่างละเอียด พร้อมกับบอกวิธีขั้นตอนการทำเอกสารเพื่อยื่นเรื่องในการแต่งตัวด้วยเครื่องแบบบัณฑิตหญิง

            โดย เด่นจันทร์ ระบุว่า การได้รับอนุญาตให้แต่งตัวด้วยเครื่องแบบบัณฑิตหญิงเพื่อเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรนั้น ไม่ใช่กรณีตนและเพื่อนเป็นกลุ่มแรก ซึ่งการขออนุญาตดังกล่าว ได้มีนักศึกษาชายที่เป็นผู้หญิงข้ามเพศได้กระทำมาก่อนหน้านี้อย่างมากมาย เพียงแต่เขากระทำกันอย่างเงียบ ๆ ไม่ได้เปิดเผยข้อมูล ส่วนตนนั้น มีพี่นก ยลลดา เกริกก้อง สมาชิก อบจ.น่าน ในฐานะนายกสมาคมสตรีข้ามเพศแห่งประเทศไทย เป็นไอดอลในดวงใจ และพี่นกก็แต่งตัวด้วยชุดบัณฑิตหญิงเข้ารับปริญญาเช่นกัน ตนจึงสอบถามจากผู้รู้หลาย ๆ คน ถึงขั้นตอนในการขออนุญาตดังกล่าว



            เด่นจันทร์ กล่าวต่อว่า สำหรับการทำเรื่องขออนุญาต ทางมหาวิทยาลัยไม่ระบุว่าเป็นเรื่องทั่วไป หรือเรื่องเป็นทางการ ต้องขอเฉพาะเป็นรายบุคคล และจะได้รับอนุญาตเป็นรายบุคคลเท่านั้น โดยเริ่มต้นจาก ไปขอใบคำร้อง ต่อด้วยไปขอใบรับรองแพทย์ ซึ่งทางแพทย์จะซักถามเราแบบละเอียดมาก เปรียบเสมือนผู้ป่วยทางจิตเลยทีเดียว และเขาก็จะระบุในใบรับรองแพทย์ว่า "เพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด" จากนั้นก็ไปยื่นเอกสารทั้งหมดที่ส่วนกลาง ซึ่งทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นมหาวิทยาลัยที่เปิดกว้าง และให้อิสระกับทุกการกระทำที่ไม่ส่งผลกระทบต่อผู้อื่นอยู่แล้ว ตนจึงได้รับอนุญาตให้แต่งตัวแบบบัณฑิตหญิงได้

            นอกจากนี้ เด่นจันทร์ ยังกล่าวอีกว่า ที่ผ่านมา ยังไม่เคยมีระบุถึงขั้นตอนในการดำเนินการขออนุญาตให้นักศึกษาชายแต่งหญิงอย่างเป็นรูปธรรม ตนจึงทำภาคนิพนธ์ที่ระบุุถึงเรื่องดังกล่าวออกมาเผยแพร่ ถ้าถามว่า เพราะเหตุใดทำไมตนถึงไม่อยากแต่งตัวบัณฑิตชายเข้ารับปริญญา ทั้ง ๆ แต่งเพียงแค่วันเดียวเท่านั้น ตนคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่กระทบจิตใจตัวเองพอสมควร เพราะตลอดชีวิต 4 ปี ที่เรียนอยู่ในมหาวิทยาลัย ตนก็แต่งตัวเป็นหญิง และประพฤติตนเหมือนผู้หญิงมาโดยตลอด ถึงแม้ว่าช่วงปี 1 ตนยังแต่งตัวนิสิตชาย เพราะว่าผมยังเกรียนอยู่ก็ตาม (หัวเราะ)



           การที่ได้ใส่ชุดบัณฑิตหญิงเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรนั้น เด่นจันทร์ กล่าวว่า ตนเชื่อว่าวันรับปริญญาเป็นวันที่นักศึกษาทุกคนมีความสุขอยู่แล้ว ส่วนตนก็ใฝ่ฝันมาหลายปีแล้วว่าอย่างไรก็จะใส่ชุดบัณฑิตหญิงเข้ารับปริญญาให้ได้ ถ้าถามว่าครอบครัวของตนมีความเห็นอย่างไรเกี่ยวกับเรื่องนี้ ตั้งแต่เด็กมาตนก็รู้มาตลอดว่าตนเองมีจิตใจเป็นผู้หญิง ทางครอบครัวก็ไม่ได้คัดค้านอะไร และสนับสนุนทุกอย่างที่ตนเป็นทั้งหมด แต่อย่างไรก็ตาม หลังจากรับปริญญาแล้ว ความใฝ่ฝันของตนอีกอย่างหนึ่งก็คือ อยากบวชทดแทนบุญคุณให้พ่อแม่และผู้มีพระคุณ แต่ไม่รู้ว่าทางวัดจะอนุญาตให้บวชหรือเปล่า








           ขณะที่ รศ.ดร.พินิต รตะนานุกูล รองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา(กกอ.) ได้กล่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า ทางสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ไม่มีกฎระเบียบ หรือข้อบังคับในการแต่งกายของนิสิตนักศึกษา ซึ่งมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งจะมีอิสระในการประกาศ กำหนดกฎระเบียบการแต่งกายของนิสิตนักศึกษาเอง ดังนั้น ในกรณีของนายบารมีนั้น เป็นเรื่องที่ทำได้

           รศ.ดร.พินิต กล่าวต่อว่า แต่ทั้งนี้ ตนก็ไม่อยากให้นิสิต-นักศึกษาของมหาวิทยาลัยอื่น เรียกร้องขอสิทธิ์ตามกรณีดังกล่าว เพราะการแต่งกายชุดนิสิตนักศึกษา จะเป็นไปตามกฎระเบียบของแต่ละสถาบัน และโดยส่วนตัวของตนนั้น ตนมองว่าชุดนักศึกษาเป็นชุดที่ศักดิ์สิทธิ์และมีความหมาย แต่ทั้งนี้ ก็ควรคำนึงถึงความเหมาะสมถึงสรีระด้วย ถ้าหากเป็นนักศึกษาเพศที่ 3 ก็น่าจะสามารถแต่งเป็นนักศึกษาเพศหญิงได้

          ส่วนทางด้าน นายยลลดา เกริกก้อง สวนยศ หรือ น้องนก สมาชิก อบจ.น่าน กล่าวว่า ตนเองก็ได้แต่งชุดบัณฑิตหญิงเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรเมื่อปี พ.ศ. 2550 หลังจากสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง และหลังจากนั้น ตนก็ได้ให้คำปรึกษากับน้อง ๆ ที่สำเร็จการศึกษาในรุ่นต่อ ๆ มาเกี่ยวกับขั้นตอนการยื่นขออนุญาตกับมหาวิทยาลัยรามคำแหง ซึ่งการขออนุญาตนั้น ต้องขอใบรับรองแพทย์ที่เรียกว่า GID หรือ Gender Identity Disorder ซึ่งจะมีคำวินิจฉัยจากแพทย์ชัดเจนว่า เพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด พร้อมคำแนะนำในการบำบัด เช่น การให้ฮอร์โมน ให้แต่งหญิงตลอดเวลา หรือในบางกรณีหมออาจระบุให้ผ่าตัดแปลงเพศ ทั้งนี้ เอกสารดังกล่าวจะเป็นตัวชี้ให้สังคมเข้าใจว่า ทำไมคนกลุ่มนี้จำเป็นต้องสวมชุดบัณฑิตหญิงรับปริญญา

         พร้อมกันนี้ นายนที ธีระโรจนพงษ์ (เกย์นที) แกนนำเครือข่ายอัตลักษณ์ทางเพศ กล่าวเกี่ยวกับกรณีนี้ว่า เรื่องดังกล่าวถือว่าเป็นเรื่องที่ควรสนับสนุน เนื่องจากการบังคับให้สาวประเภทสองแต่งกายเป็นชายถือเป็นเรื่องที่ไม่สมควร ซึ่งการแต่งกายเป็นหญิงของนักศึกษาสาวประเภทสองเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร ก็ไม่ได้สร้างความเดือดร้อนหรือไปริดรอนสิทธิของบุคคลอื่นแต่อย่างใด

         นายนที ยังกล่าวอีกว่า ตนอยากให้สังคมเปิดใจยอมรับ และมองว่าการที่สาวประเภทสองแต่งหญิงหรือแต่งชายนั้น ไม่ใช่สิ่งที่ยืนยันความสามารถของคน อย่างไรก็ตาม ตนมองว่าในอนาคตข้างหน้า ทางมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ก็น่าจะอนุญาตให้สาวประเภทสองแต่งหญิงเข้ารับปริญญาได้เช่นกัน

           ขณะที่เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะอดีตประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) กล่าวถึงเรื่องนี้ ว่า ต้องมอง 2 มุม คือ มุมแรก ต้องมองคนที่มีสภาวะเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิดด้วยความเข้าใจ เห็นใจ และเคารพในความแตกต่าง ส่วนอีกมุมหนึ่งก็ต้องมองถึงขนบธรรมเนียมประเพณี ประวัติศาสตร์ของแต่ละสถาบันการศึกษา อย่างชุดนิสิตและชุดครุยของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนั้น มีตราพระเกี้ยว ที่ได้รับพระราชทานมา ถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มีเกียรติภูมิมาอย่างยาวนาน

           ทั้งนี้ ในส่วนของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเองจะไม่อนุญาตให้นิสิตชายแต่งชุดนิสิตหญิงรับปริญญา แต่ก็พร้อมรับฟังคำร้องของนิสิต และเชื่อว่าจะสามารถพูดคุยกันด้วยเหตุผลได้ อย่างไรก็ตาม พิธีพระราชทานปริญญาบัตรปีนี้ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ผ่านไปแล้ว และไม่มีผู้ใดมาร้องขอในกรณีนี้










อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก






เรื่องที่คุณอาจสนใจ
จุฬาฯ ไม่อนุญาต นิสิตเพศที่ 3 แต่งหญิงเข้ารับปริญญา โพสต์เมื่อ 17 สิงหาคม 2555 เวลา 10:17:08 8,110 อ่าน
TOP