
เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก คุณ ใบมอส สมาชิกเว็บไซต์พันทิปดอทคอม
ชาวโลกออนไลน์วิจารณ์แซ่ด ครูอัตราจ้าง มรภ.อุตรดิตถ์ ตั้งกระทู้ ทวงควายเผือกบุญมา หลังยกให้ศูนย์อนุรักษ์กระบือไทยของทางมหาวิทยาลัย แต่กลับถูกส่งโรงเชือด
กลายเป็นประเด็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง เมื่อได้มีการตั้งกระทู้ในเว็บไซต์พันทิปดอทคอม ห้องจตุจักร โดยมีชื่อกระทู้ว่า "คน มาถามหา ควาย ค่ะ" และในกระทู้ดังกล่าวได้ระบุถึง การทวงควายเผือก ชื่อบุญมา ซึ่งเจ้าของกระทู้ ได้นำเรื่องราวของ คุณ Nantawan Thepraksa หรือชื่อจริงว่า น.ส.นันทวรรณ เทพรักษา อาจารย์อัตราจ้างสอน คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) อุตรดิตถ์ หลานสาวของนายชัยศิริ ศุภรักษ์จินดา นายก อบจ. อุตรดิตถ์ ที่ได้ร่วมกับเพื่อน นำควายเผือกตัวดังกล่าว ไปบริจาคให้ทางมหาวิทยาลัยฯ เพื่อส่งต่อให้ ศูนย์อนุรักษ์กระบือไทย แต่กลับมีข่าวว่า ควายเผือกบุญมา ได้ถูกเชือดไปแล้ว ทำให้มีผู้แสดงความคิดเห็นจำนวนมาก โดยข้อความจาก คุณ Nantawan Thepraksa มีดังนี้
"เมื่อวันที่ 16 พ.ค. 55 นันได้ทำบันทึกเลขที่ ทอ 222/2555 เรื่องขอมอบกระบือให้ แก่โครงการศูนย์อนุรักษ์กระบือไทย ของมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ (นันก็เป็นอาจารย์ที่นี่คะ)ก็ทำเรื่องเข้าไปว่า เราขอมอบกระบือเผือก เพื่อเป็นการสร้างการเรียนรู้ แก่นักศึกษาและประชาชนทั่วไป ทางอธิการ ก็รับและสั่งให้ อ วิรัตน์ รับมอบ และมีหนังสือขอบคุณจากทางมหาวิทยาลัยเลขที่ ศธ 0535/ว0996"
"กระบือตัวนี้ นันและเพื่อนไถ่กันมา เนื่องจากตอนที่ยังทำงานอยู่ที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและได้กลับมาบ้านที่ จ.อุตรดิตถ์ ก็ขับรถเจอรถบรรทุกขนควาย มุ่งหน้าไปแพร่ ซึ่งสะดุดตา ด้วยควายสีขาวชมพูตัวน้อย ขาห้อยลงมาจากตาข่ายสองข้าง ก็ขับรถแซงไปเพื่อขอซื้อ เค้าก็ขายให้ และมาส่งให้ที่บ้านสวนของนัน แรก ๆ กลัวคนมาก เข้าใกล้ไม่ได้ เราและที่บ้านก็พยายามคุย พยายามเข้าไปคลุกคลีกับมันจนเชื่อง บุญมาอยู่บ้านสวนมีป้าหน้าบ้านชื่อป้าแขก (แก่เรียกยายได้แล้วค่ะ) เลี้ยงให้ โดยตัดหญ้า เอากล้วยที่เราซื้อมาไว้ทีละ 200 โล มาหักเอาเฉพาะตัวกล้วยไม่เอาก้าน ให้ทุกวัน หน้าร้อนก็จะซื้อฟางทีละ 100 ก้อน ไว้ที่ใต้ถุนบ้าน เช้าป้าแขกก็จะเอาฟางอัดก้อนมาคลี่ ๆ ตัดกล้วยจากหวีมาให้มัน กลางวันร้อนป้าแขก ก็จะอาบน้ำให้ แกผูกพันกับบุญมาไม่แพ้คนในบ้าน"
"พ่อเราช่วงหน้าฝน ขึ้นบ้านบนดอย จะตัดหญ้าอ่อนมาให้บุญมาทุกวัน ใส่ท้ายรถมา หน้าร้อน ก็จะตัดปลีกล้วยบนดอยมาผ่า 4 ซีก ให้ พ่อมักป้อนบุญมากับมือ เพื่อให้เค้าจำกลิ่นได้ พวกเรา พี่สาว หลาน ๆ รวมทั้งเพื่อนที่ไถ่มา ก็มักลงไปเด็ดผักอีทรงให้และเล่นกับมัน บุญมาเชื่องกะคนในบ้านมาก จำเสียงรถได้ทุกคัน เวลาพ่อกลับมาจะเอารถไปจอดบ้านสวน พอเปิดรั้วเค้าจะมายืนรอ เวลาเรากลับมาจาก กทม. ขับรถลงไปก็จะมายืนรอ ตอนเช้าบุญมา จะมีเพื่อนเป็นลูกหมาบ้านป้าแขกห้าตัว มาป้วนเปี้ยนอยู่ด้วยทุกวันจนไม่เกาเหมือนควาย เวลาเกา บุญมาจะยกขาเกา ตลกมาก เค้ารู้เรื่องมาก และจะกลัวคนแปลกหน้า เวลาที่เชือกขาด ต้องผูกใหม่ เราต้องให้คนรู้จักที่เค้าเลี้ยงควายมาผูกให้ และตอนเค้ามาบุญมาจะกลัวมาก ตาแดงก่ำ พี่สาว ต้องลงไปยืนด้วยถึงหาย และยอมให้คนผูกเข้าใกล้"

ภาพตอนเด็ก... วันที่ได้รับการไถ่ชีวิต
"พวกเราเลี้ยงมันไม่ค่อยเหมือนควายทั่วไป เพราะมันอยู่กับคนเลยค่อนข้างผูกพัน เลี้ยงมาจนสามปี เค้าเริ่มเป็นหนุ่ม เวลาพวกเราลงไปเค้าจะร้องอื้ด ๆ เราก็พอเข้าใจ จนเรากลับมาทำงานเป็นอาจารย์ที่ราชภัฏอุตรดิตถ์ ก็ได้ไปอบรมอาจารย์ใหม่ ได้ฟัง อ.วิรัตน์ บรรยายเรื่องการทำวิจัยเพื่อชุมชน โครงการหมู่บ้านขยะ โครงการศูนย์อนุรักษ์ควายไทย ก็ปลื้มและประทับใจมาก ที่อาจารย์ทำได้ขนาดนี้ จนมานึกเอ๊ะ บุญมาก็เป็นหนุ่มแล้ว ทำไมเราไม่เอาไปไว้ที่ ม. เราอยากเจอเมื่อไรก็ไปหาได้ ตอนแรกมีคอกที่รู้จักกันเค้าอาสาเลี้ยงให้ ราคาแล้วแต่เราจะให้เค้าเป็นค่าเลี้ยงดู เราก็ไม่ไว้ใจเพราะเค้าเลี้ยงขาย (ตอนนี้มานึกเสียใจ เพราะเค้าบอกว่าอยากมาหามันเมื่อไรก็มาได้เลย เค้ากางมุ้งให้นอนอย่างดี เพราะอยากได้ลูกมัน) ก็เลยตัดสินใจ ยกให้ศูนย์อนุรักษ์ฯ จนผ่านไปสามเดือน ฝันถึงก็เอ๊ะสงสัยบุญมาอยากกินกล้วย จึงจะเข้าไปหา ก็โทรไปหา อ.วิรัตน์ ก่อน แกบอกว่า บุญมาเข้ากะฝูงได้ดี มาได้เลย พอเข้าไปไม่เจอก็โทรหาแก แกบอกว่าบุญมาไปหากินกะฝูงชาวบ้านเพราะเข้ากะฝูงที่ ม. ไม่ได้"
"เราก็เอ๊ะ ไหนตอนแรกบอกเข้ากันได้หว่า ก็อืม รอจนเย็นก็เอากล้วยเข้าไป (พ่อขับเอาเข้าไปเนื่องจากราชภัฏบึงกะโล่ สร้างขยายจากในเมือง ถนนยังเป็นดิน) ก็ไม่เจอบุญมา พ่อยืนเรียกชื่อ ก็เจอแต่ควายดำ เลยโทรหา อ.วิรัตน์ อ.บอกว่า บุญมาไปหากินไกล ช่วงนี้ฝนตก เลยติดเกาะ พ่อก็เอ๊ะ ทำไมคำพูดมันเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ วันต่อมาพวกเราเลยติดตามเข้าไปดู ไปสอบถามเจ้าหน้าที่ในราชภัฏบึงกะโล่ รปภ หน้า ม. ก็บอกว่าแกเคยเลี้ยงอยู่เดือนนึง แล้ว อ.วิรัตน์ก็เอามันเข้าไปหลัง ม. แล้วไม่เคยเห็นออกมาอีกเลย แล้ว อ. วิรัตน์ก็โทรมาหาแม่เรา ว่าจะขอนัดคุยกันในวันที่ 12 ส.ค. พวกเราก็ตกลง พอถึงวันที่ 12 อ.วิรัตน์ปิดเครื่องหนี แล้วติดต่อไม่ได้จนถึงวันที่ 15 ส.ค. ซึ่งเป็นวันที่เราเข้าไปยื่นหนังสือถึงอธิการ เพื่อขอคำชี้แจง พร้อมขอรับควายคืน เนื่องจากไม่ได้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ เรายื่นหนังสือเสร็จก็ขึ้นรถ พอขับรถออกมาก็เจอ อ. วิรัตน์ เดินออกมาจากตึก เราก็เอ๊ะ แล้วทำไมถึงปิดเครื่อง เราเลยไปสืบจากคนที่เคยเอาฟางมาส่งให้เราเพราะเค้ารู้จัก อ. วิรัตน์ เค้าก็บอกว่าเคยเห็นนะ แล้วลูกสาวของคนที่ อ. วิรัตน์ซื้อควายด้วยก็มาบอกกับแม่เราว่า อ้อ เค้ายังเห็นอยู่นะ ญาติเค้าเป็นคนเลี้ยง เราก็ใจชื้ันขึ้นมา"
"พอโทรไปเค้าก็พูดแบบอึก ๆ อัก ๆ เราก็รู้สึกว่ามันแปลก ๆ พอสืบไปสืบมา ได้ความว่า ควายที่คนเอามาบริจาคให้ที่ศูนย์ อ. วิรัตน์จะเลี้ยงไว้ระยะหนึ่ง พอโตก็เอาไปขาย แล้วซื้อควายถูก ๆ มาแทน (คนที่บอกเราตอนนี้ไม่กล้ามาที่โรงสีเลย เค้ากลัวแม่เราว่า เพราะตอนแรกเค้ามายืนยันว่าญาติเค้าเป็นคนเลี้ยง แต่จริง ๆ เราขอบคุณเค้าด้วยซ้ำที่ทำให้รู้และสืบข้อมูลได้เยอะ) หลังจากอธิการรู้เรื่องก็โทรหา อ. วิรัตน์ ว่าให้เคลียร์ให้จบเพราะเสียชื่อเสียงมหาวิทยาลัย อ.วิรัตน์ ก็เข้าไปหาน้าเราที่โรงสี (อ.วิรัตน์มีศักดิ์เป็นหลานของสามีน้าเรา) ให้น้าเราช่วยพูดกับเรา อันที่จริงถ้าวันที่ อ.วิรัตน์ นัดพวกเรา แล้วแกมา แล้วยอมรับแบบแมน ๆ ว่าเอาไปขาย พวกเราก็แค่ขอให้บอกว่าว่าขายใครไปแล้วจะไปตามเอง แล้วเรื่องคงไม่ยาวขนาดนี้ แต่แกกลับปิดเครื่องหนี เราก็บอกน้าเราไปว่า มาถึงป่านนี้แล้วคงให้จบไปไม่ได้แล้ว ปัญหาที่มี อธิการควรแก้ให้หมดไป ไม่ใช่อยากให้จบ มันก็เท่ากับการหมกปัญหาไปเรื่อย ๆ ซึ่ง อ.วิรัตน์แกมีปัญหาเรื่องนี้มาเยอะพอสมควร เราเพิ่งรู้จากบุคลากรและ อ. ภายในมหาวิทยาลัยว่าแกมักมีปัญหาเรื่องทุจริตอยู่บ่อย ๆ แต่ก็แปลก ที่อธิการยังคงให้แกเป็นผู้บรรยายให้อาจารย์ใหม่ฟังตลอด แล้วตอนนี้มันไม่ใช่แค่เราและเพื่อน แต่มีเจ้านายเพื่อน ที่เป็นเจ้าของกิจการใหญ่ ที่จังหวัดนครปฐม ที่เค้ารู้ว่าเราไถ่ควายตัวนี้มาเค้าก็ขอร่วมด้วย ซึ่งเค้าไม่ยอมแล้ว เรื่องควายอาจจะเป็นเรื่องเล็ก ๆ แต่นี่มันคือเรื่องของความรู้สึก ความผูกพัน ที่มีให้กันมาสามปีเต็ม ๆ ของทุก ๆ คน เพราะการเลี้ยงควายตัวเดียวแบบดูแลกันขนาดนี้ มันค่อย ๆ ผูกพันกันไปเรื่อย ๆ และอีกอย่างมันคือเรื่องของความถูกต้อง... การตั้งศูนย์อนุรักษ์ หมายความว่าคุณต้องเลี้ยงพวกเค้าไว้ในศูนย์ ไม่ใช่เลี้ยง เพื่อเอาไปขายแลกเปลี่ยนมาตลอด ถ้าเป็นอย่างนี้ก็เท่ากับว่า นี่คือตลาดค้าควายของราชการ ซึ่งผิดไปจากการตั้งของบศูนย์อนุรักษ์ใช่ไหมคะ
พอเมื่อวานนี้ อ.วิรัตน์ก็ได้พูดว่า คุณรู้ไหมผมเป็นใคร คำพูดนี้แหละ ทำให้บรรดาผู้ร่วมไถ่ โกรธมาก ถึงกับผู้ใหญ่โทรไปหาอธิการว่า ทำไม เป็นมาเฟียที่จังหวัดอุตรดิตถ์เหรอ ถึงได้มาพูดจาแบบนี้ แล้วยังบอกว่าควายบริจาคมาแล้วผมจะเอาไปทำอะไรก็ได้!! มาถึงตอนนี้เราก็ได้แต่หวังว่า บุญมายังมีชีวิตอยู่ และขอทวงความยุติธรรมให้เค้า ตามสืบเพื่อเอากลับมา ซึ่งไม่น่าจะยาก เนื่องจากลักษณะพิเศษของบุญมา ที่มีตัวใหญ่สีชมพูใส ก็ไม่น่าจะสืบตามยาก และขอแชร์เป็นประสบการณ์ถึงเพื่อน ๆ ที่อยากบริจาคสัตว์ที่เราไถ่ชิวิตมาว่าให้สืบเรื่องการจัดตั้งโครงการและผู้รับผิดชอบให้ดีก่อน ไม่งั้นจะเสียใจเหมือนพวกเรา แม่บอกว่า หมาที่บ้านเราตาย ยังไม่เคยเอาเค้าไปทิ้ง ยังฝัง เลี้ยงมาเราก็ผูกพัน แล้วนี่ควายตัวเบ้อเร้อ จะไม่ให้เราผูกพันได้ยังไง ถึงตอนนี้เราก็ขอแลกด้วยตำแหน่งระหว่างอาจาย์ผู้น้อย ที่ไม่ได้เป็นข้าราชการ เป็นเพียงพนักงานมหาวิทยาลัย กับ ตำแหน่งอาจารย์ข้าราชการประจำอย่าง อ.วิรัตน์แล้ว ความถูกต้อง ความยุติธรรมจะเกิดขึ้นหรือไม่ ก็ต้องดูกันต่อไปคะ"

ต่อมา เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2555 น.ส.นันทวรรณ เจ้าของเรื่องดังกล่าว ได้เปิดเผยว่า "วันนี้ความจริงได้ปรากฎแล้วว่า อ.วิรัตน์ ได้นำบุญมาไปขาย และคนที่ขาย เค้าส่งเข้าโรงเชือดวันนั้นเลย ซึ่งเป็นวันที่มันมาเข้าฝัน แม่บอกว่า มันคงลำบากเลยมาเข้าฝัน เราก็ยิ่งใจไม่ดี ซึ่งมันก็เป็นอย่างนั้นจริง ๆ ตอนนี้ อ.วิรัตน์ พยายามจะขอชดใช้เป็นเงิน แต่คนเลวอย่างเค้า ไม่เข้าใจว่านี่ไม่ใช่เรื่องเงิน คนอย่าเค้า เอาเงินหลวงมาหาเงินเข้ากระเป๋าตัวเอง ในส่วนต่างของการขายควายบริจาค แล้วที่สำคัญเป็นควายที่ไถ่ชีวิตมา แล้วเอาเงินไปซื้อควายน้อยมาสองตัว ซึ่งอนาคตของควายน้อยสองตัวก็คงเป็นแบบบุญมา"
"ตอนนี้เราทำเต็มที่ โดยไม่สนใจถึงตำแหน่งอะไรแล้วค่ะ ความถูกต้อง ความจริง ต้องเกิดค่ะ จะได้ทำงานต่อ หรือไม่ก็ไม่สนแล้วคะ ตำแหน่งเราก็ไม่ได้เป็นข้าราชการ เป็นแค่อาจารย์พนักงานมหาวิทยาลัย คงไม่มีอะไรจะเสียคะ นอกจากคำว่าเสียใจที่คนที่เราไว้ใจ กับโครงการที่ดูเหมือนจะดีเป็นแบบนี้"
