x close

อาลัย.. อังคาร กัลยาณพงศ์ กวีนิพนธ์รุ่นบุกเบิก





เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

           ถือได้ว่าเป็นการสูญเสียอย่างใหญ่หลวงสำหรับวงการกวีและจิตรกรเลยทีเดียว กับการจากไปของ "อังคาร กัลยาณพงศ์" ศิลปินแห่งชาติด้านกวีนิพนธ์ (พ.ศ. 2536) ที่เสียชีวิตอย่างสงบด้วยโรคหัวใจและโรคเบาหวานเรื้อรัง เมื่อเวลา 01.30 น. ของวันที่ 25 สิงหาคม ที่ผ่านมา ด้วยวัย 86 ปี

           วันนี้กระปุกดอทคอม ก็ขอย้อนเล่าถึงประวัติความเป็นมาของ ครูอังคาร กวีชื่อดังของเมืองไทย ที่ได้ร้อยเรียงเขียนบทกวีอันซึ้งกินใจ ให้เยาวชนคนรุ่นหลังได้สัมผัสและตระหนักถึงความสวยงามภาษา ถึงแม้ว่าบทกวีของครูอังคารจะไม่ถูกเรียงร้อยด้วยอักษรและรูปแบบที่ตายตัว แต่กลอนของครูอังคารนั้น คงความเป็นไทยเอาไว้ในทุกกระเบียดนิ้ว...

          สำหรับครูอังคาร กัลยาณพงศ์ นั้น เกิดเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2469 ภูมิลำเนาเดิมอยู่ที่ จ.นครศรีธรรมราช เป็นบุตรของกำนันเข็ม และนางขุ้ม กัลยาณพงศ์ ในวัยเด็กร่างกายเคยเป็นอัมพาตเคลื่อนไหวไม่ได้ แต่หมอมารักษาด้วยสมุนไพรจนหายเป็นปกติ ต่อจากนั้น ครูอังคารได้เข้าเรียนระดับประถมศึกษาที่โรงเรียนวัดจันทาราม จนกระทั่งจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จึงย้ายไปเรียนโรงเรียนมัธยมประจำจังหวัด นั่นก็คือ โรงเรียนเบญจมราชูทิศ นครศรีธรรมราช เมื่อสำเร็จการศึกษาระดับชั้นมัธยม ครูอังคารก็เริ่มรู้ว่าตนเองสนใจด้านศิลปะเป็นอย่างมาก จึงได้เข้าศึกษาเฉพาะด้านศิลปะต่อที่โรงเรียนเพาะช่าง และที่คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
 

           ในช่วงวัยเรียนที่มหาวิทยาลัยศิลปากร ครูอังคารเป็นลูกศิษย์ของศิลปินใหญ่หลายต่อหลายคน อาทิ ศ.ศิลป์ พีระศรี, อ.เฟื้อ หริพิทักษ์ และ อ.เฉลิม นาคีรักษ์  ทำให้ครูอังคารได้มีโอกาสทำงานร่วมกับอาจารย์ และศึกษาค้นคว้างานในด้านต่าง ๆ อย่างเจาะลึก ทั้งศิลปกรรม โบราณคดี และประวัติศาสตร์

          ส่วนเส้นทางความเป็นกวีและจิตรกรนั้น ด้วยความที่ครูอังคารเกิดใน จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นจังหวัดถูกกล่าวว่าเป็นเมืองแห่งกาพย์กลอนอยู่แล้ว ความเป็นกวีจึงค่อย ๆ ซึมซับมาตั้งแต่เด็ก ๆ จากการฝึกหัดแต่งกลอน บวกกับพรสวรรค์ที่มีอยู่ อีกทั้งครูอังคารยังมีมุมมองและแง่คิดในการใช้ชีวิตที่อิสระ จึงทำให้บทกวีของครูอังคารโดดเด่นมีเอกลัษณ์ที่ไม่เหมือนใคร พร้อมนำเสนอมุมมองแบบใหม่ ๆ โดยไม่มีรูปแบบตายตัวมากำหนด หรือเรียกได้ว่ากวีผู้แหกกฎกลอนโบราณของไทย และแสวงหาแนวทางกวีใหม่ของตนเอง ซึ่งเหตุนี้นี่เองที่ทำให้ครูอังคารถูกขนานนามว่า "ผู้บุกเบิกกวีนิพนธ์ยุคใหม่"

          สำหรับผลงานชิ้นแรก ๆ ของครูอังคาร เป็นบทกวีที่อยู่ในหนังสือ "อนุสรณ์น้องใหม่" ของมหาวิทยาลัยศิลปากร จนกระทั่งครูอังคารได้พบกับ สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ผู้ก่อตั้งและเป็นบรรณาธิการคนแรกของ "สังคมศาสตร์ปริทัศน์" ทำให้บทกวีของครูอังคาร ได้พิมพ์เผยแพร่อย่างกว้างขวาง และมีผลงานที่จัดพิมพ์อย่างมากมาย ซึ่งเป็นการสร้างปรากฏการณ์ใหม่ให้กับวงการวรรณกรรมไทยเลยทีเดียว

          ผลงานกวีนิพนธ์ของครูอังคารในขณะนั้นเป็นที่นิยมอย่างมาก จนถูกรวบรวมและนำมาตีพิมพ์เป็นเล่ม โดยในเล่มแรกชื่อว่า หนังสือกวีนิพนธ์ จากนั้นชื่อเสียงของครูอังคารก็กลายเป็นที่ยอมรับและรู้จักอย่างรวดเร็ว

         ผลงานกวีนิพนธ์ของท่านที่ได้ตีพิมพ์เป็นเล่ม มีดังนี้

         พ.ศ. 2507 กวีนิพนธ์ ของ อังคาร กัลยาณพงศ์

         พ.ศ. 2512 ลำนำภูกระดึง

         พ.ศ. 2525 บางบทจากสวนแก้ว

         พ.ศ. 2521 บางกอกแก้วกำศรวญ หรือ นิราศนครศรีธรรมราช
       
         พ.ศ. 2529 ปณิธานกวี

         พ.ศ. 2530 หยาดน้ำค้างคือน้ำตาของเวลา


         ครูอังคารได้รับรางวัลเกียรติคุณต่าง ๆ ดังนี้

         พ.ศ. 2512 รางวัลกวีดีเด่น ของมูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประธีป

         พ.ศ. 2529 รางวัลซีไรต์ จาก ปณิธาณกวี

         นอกจากนี้ ในปี พ.ศ. 2532 ครูอังคารยังได้รับคัดเลือกให้เป็นศิลปินแห่งชาติ ด้านกวีนิพนธ์ ซึ่งเป็นกวีร่วมสมัยที่ได้รับการยกย่องว่าเป็น "จินตกวี" ผู้ที่มีผลงานเป็นที่ยอมรับทั้งในด้านวรรณศิลป์และทัศนศิลป์ 

         ก่อนที่ครูอังคารจะจากโลกไป ท่านได้มีพิพิธภัณฑ์ศิลปะและวรรณศิลป์แห่งชีวิต ณ บ้านอังคาร กัลยาณพงศ์ แสดงผลงานทั้งทางด้านงานประพันธ์ และภาพเขียนของเขาทั้งหมด พิพิธภัณฑ์นี้เปิดเป็นทางการเมื่อ วันวิสาขบูชา พ.ศ. 2545

        โดยครูอังคารได้กล่าวถ้อยคำที่แสดงถึงจิตวิญญาณของจิตรกร และกวีที่แท้จริงเอาไว้ว่า...

         "การวาดรูปกับการแต่งบทกวีต้องใช้ความคิดกับจินตนาการ อาจจะผิดกันในเรื่องเทคโนโลยีกับเทคนิค แต่ใช้จิตใจดวงเดียวกัน ทั้งงานเขียนรูปและเขียนหนังสือก็ต้องอาศัยมโนคติ บางคนเขาเรียก อิมเมจิเนชั่น ต้องมีจินตนาการความคิด เหมือนคนที่สร้างนครวัด เขาต้องมีภาพมาก่อนว่าทำอย่างไรจึงจะมีปราสาทขึ้นมา ถ้าเรามีมโนภาพกว้างใหญ่ไพศาล เราก็สามารถสร้างสรรค์อะไรที่ใหญ่โตขึ้นมา ถ้ามีมโนภาพคับแคบก็สร้างสรรค์อะไรอยู่ในกะลาเท่านั้น"

          "คนอื่นเขาอาจจะไปทำขนมครก ไปรับเหมาทางด่วน ไปทำอะไรก็ได้ แต่กวีต้องเป็นกวีอยู่ทุกลมหายใจ คือโดยหลักจริง ๆ แล้วผมยังเขียนบทกวีอยู่เรื่อย ๆ จะชำระของที่ดูไม่ค่อยเรียบร้อยให้เรียบร้อย ให้หมดจดขึ้น มีถ้อยคำที่ลงตัว คือพูดง่าย ๆ ว่า ถ้าเราตายไปแล้ว เราก็หมดโอกาสที่จะเปิดฝาโลงขึ้นมาชำระโคลงของเราให้เรียบร้อย คนที่เขียนกวี ถ้าบทกวีชิ้นใดไม่สมบูรณ์ ก็เหมือนเราไปปรโลกแล้วยังมีห่วงอยู่"

         "โดยหลักการ การเขียนกาพย์กลอนต้องโปร่งใส ต้องใช้อิสระเสรี ถึงจะทำได้ดี ก็เหมือนทะเลเวลามีคลื่นลมมากเรือที่ลอยอยู่ก็สามารถจมได้ บางครั้งอารมณ์ไม่ดีก็ทำไม่ได้"

          ส่วนผลงานจากปลายปากกาของ ครูอังคาร ที่ถูกร้อยเรียงจนเป็นที่จดจำ อาทิ ...

เสียเจ้า

๏ เสียเจ้าราวร้าวมณีรุ้ง
มุ่งปรารถนาอะไรในหล้า
มิหวังกระทั่งฟากฟ้า
ซบหน้าติดดินกินทราย


๏ จะเจ็บจำไปถึงปรโลก
ฤๅรอยโศกรู้ร้างจางหาย
จะเกิดกี่ฟ้ามาตรมตาย
อย่าหมายว่าจะให้หัวใจ


๏ หากเจ้าอุบัติบนสรวงสวรรค์
ข้าขอลงโลกันตร์หม่นไหม้
สูเป็นไฟ เราเป็นไม้
ให้ทำลายสิ้นถึงวิญญาณ


๏ แม้แต่ธุลีมิอาลัย
ลืมเจ้าไซร้ชั่วกาลปาวสาน
แม้นชาติไหนเกิดไปพบพาน
จะทรมานควักทิ้งทั้งแก้วตา


๏ ตายไปอยู่ใต้รอยเท้า
ให้เจ้าเหยียบเล่นเหมือนเส้นหญ้า
เพื่อจดจำพิษช้ำนานา
ไปชั่วฟ้าชั่วดินสิ้นเอย


ปณิธานของกวี

๏ ฉันเอาฟ้าห่มให้ หายหนาว
ดึกดื่นกินแสงดาว ต่างข้าว
น้ำค้างพร่างกลางหาว หาดื่ม
ไหลหลั่งกวีไว้เช้า ชั่วฟ้าดินสมัยฯ

๏ พลีใจเป็นป่าช้า อาถรรพณ์
ขวัญลิ่วไปเมืองฝัน ฟากฟ้า
เสาะทิพย์ที่สวรรค์ มาโลก
โลมแผ่นทรายเส้นหญ้า เพื่อหล้าเกษมศานต์ฯ

๏ นิพนธ์กวีไว้เพื่อกู้ วิญญาณ
กลางคลื่นกระแสกาล เชี่ยวกล้า
ชีวีนี่มินาน เปลืองเปล่า
ใจเปล่งแววทิพย์ท้า ตราบฟ้าดินสลายฯ

๏ จิตกาธารกรุ่นไหม้ โฉมไป ก็ดี
กาพย์ร่ำหอมแรงใจ ไป่แล้ว
จุติที่ภพไหน ภพนั่น
ขวัญท่วมทิพย์รุ้งแก้ว ร่วงน้ำมณีสมัยฯ

๏ ลายสือไหววิเวกให้ หฤหรรษ์
ฝนห่าแก้วจากสวรรค์ ดับร้อน
ใจปลิวลิ่วไปฝัน โลกอื่น
หอมภพนี้สะท้อน ภพหน้ามาหอมฯ

๏ ข้ายอมสละทอดทิ้ง ชีวิต
หวังสิ่งสินนฤมิต ใหม่แพร้ว
วิชากวีจุ่งศักดิ์สิทธฺ์ สูงสุด
ขลังดั่งบุหงาป่าแก้ว ร่วงฟ้ามาหอมฯ


ลำนำภูกระดึง

๏ ภูกระดึงตะลึงฝันว่าชั้นฟ้า
เมฆลอยมาหุ้มกายคล้ายสวรรค์
สวนสนป่าพฤกษาลดาวัลย์
เย้ายวนป่วนปั่นสั่นวิญญาณ

๏ เนินเถินสล้างสลับซับซ้อน
หญ้าอ่อนชะอ้อนใจไหวสะท้าน
งามเงื้อมชะโงกโตรกเหวธาร
ปานวิมานนฤมิตวิจิตรจริง

   
หยาดน้ำค้างคือน้ำตาของเวลา ตอน นิมิตในสายรุ้ง

๏ รัตติกาลในม่านดำสีคล้ำหม่น
กาลจวบจนจวนเช้าป่าเขากว้าง
ทุ่งราบใหญ่ในเช้าตรู่ดูเวิ้งว้าง
ดูเคว้งคว้างหว่างเขาลำเนาไพร

๏ ละอองหมอกมัวคลุ้มคลุมดอยสูง
ไม้ยางยูงยอดเทียมเยี่ยมฟ้าใส
ตะวันรุ่งรุ้งทองผ่องอำไพ
งามละไมในเงาหมอกออกอัศจรรย์

๏ น้ำค้างหยดหยาดลงตรงใบไม้
ทิ้งรอยไว้ในดินทรายดังลายสวรรค์
ฝากละอองเป็นน้ำไหลใต้ตะวัน
ฝากรอยฝันสรรค์ลิขิตดังจิตกร

๏ ดอกไม้ป่าพากันแย้มแต้มแต่งสี
รับรวีที่ส่องมาเหมือนคราก่อน
ฝูงวิหคผกผินออกบินจร
หมู่ภมรร่อนชมดมมาลี

๏ เพียงยลยินทั้งดินฟ้าและอากาศ
ธรรมชาติสะอาดงามตามวิถี
ชำระใจไร้ชั่วมัวราคี
เพียงเท่านี้มีสุขทุกวันคืน


ขอขอบคุณข้อมูลจาก



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
อาลัย.. อังคาร กัลยาณพงศ์ กวีนิพนธ์รุ่นบุกเบิก โพสต์เมื่อ 25 สิงหาคม 2555 เวลา 10:35:22 33,102 อ่าน
TOP