x close

มทภ. 4 รับป่วนใต้ 100 จุด การข่าวบกพร่อง - ชงห้ามใช้มอไซค์!



เผาห้างนราธิวาส

ภาพข่าว เหตุการณ์ ระเบิดห้างสรรพสินค้าซูเปอร์ดีพาร์ทเมนท์สโตร์

โจรใต้ลอบวางบึ้ม 30 จุด ทั่วนราธิวาส เจ็บ 1



สรุปประเด็นข่าวโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก ครอบครัวข่าว 3 

          มทภ. 4 ยอมรับการข่าวบกพร่อง ปล่อยโจรใต้บุกป่วน 100 จุด ในเขตเซฟตี้โซน ระบุเป็นจังหวะที่เจ้าหน้าที่เผลอเรอ แต่ลั่นจะพยายามอุดช่องโหว่ไม่ให้เกิดขึ้นอีก ด้านประธานกรรมาธิการการทหารของสภาฯ ผุดไอเดียพิลึก ห้ามใช้จักรยานยนต์ในพื้นที่ อ้างง่ายต่อการใช้ก่อเหตุ

           หลังนักวิชาการออกมาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลและหน่วยงานความมั่นคง ว่ามีความอ่อนแอ ไม่จริงใจต่อการรักษาความสงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ล่าสุดเมื่อวันอาทิตย์  พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 4 กล่าวถึงเรื่องดังกล่าวว่า เรากำลังปรับมาตรการต่าง ๆ อยู่ ซึ่งเรื่องความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ได้เน้นย้ำว่าต้องให้ความสำคัญเป็นอันดับหนึ่ง

           "แต่ที่ผ่านมาต้องยอมรับว่ายังมีปัญหา เราพยายามที่จะแก้ไขช่องว่างที่มีอยู่ให้เกิดความรัดกุมมากที่สุด ซึ่งทางผู้ก่อเหตุเองก็เฝ้าจับตาเราอยู่ทุกวัน เมื่อเราเผลอหรือมีช่องว่าง เขาก็อาศัยจังหวะนั้นในการก่อเหตุ"

           ผู้สื่อข่าวถามว่า หน่วยงานทางด้านการข่าวมีปัญหาหรือไม่ เพราะมีการก่อเหตุเป็นร้อยจุด แต่หน่วยข่าวไม่ทราบ และล่าสุดกลุ่มก่อความไม่สงบก็สามารถเข้าไปก่อเหตุในเขตเซฟตี้โซนได้ พล.ท.อุดมชัย กล่าวว่า หน่วยข่าวของเราทราบว่าจะมีการก่อเหตุ แต่อีกฝ่ายมีการกระจายกำลังไปตามจุดต่าง ๆ เพื่อโจมตี โดยอาศัยแนวร่วมในพื้นที่ อีกทั้งประชาชนก็ไม่กล้าที่จะแจ้งเบาะแสให้เจ้าหน้าที่ทราบ ส่วนที่กลุ่มผู้ก่อเหตุสามารถเข้าไปวางระเบิดห้างซูเปอร์ดีพาร์ทเมนต์สโตร์ สาขา 4 นราธิวาส ซึ่งเป็นเขตเซฟตี้โซนนั้น ถือเป็นความหละหลวมของเจ้าหน้าที่

           "ผมก็ไม่อยากแก้ตัวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หรือไปกล่าวโทษคนโน้นคนนี้ แต่ก็ต้องยอมรับว่าเป็นความบกพร่องของเจ้าหน้าที่บางส่วนที่หละหลวม ไม่รัดกุม จนทำให้มีเหตุการณ์เกิดขึ้น ผมพยายามที่จะอุดช่องว่าง พร้อม ๆ กับเพิ่มการปฏิบัติการในเชิงรุกให้มากขึ้น สำหรับประชาชนก็ถือเป็นส่วนสำคัญที่ต้องช่วยกันเฝ้าระวัง หากมีเหตุการณ์ที่ผิดปกติก็ต้องกล้าแจ้งเจ้าหน้าที่" แม่ทัพภาคที่ 4 กล่าว

           พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ รองโฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า กล่าวว่า เรื่องการดูแลรักษาความปลอดภัยเรามีการปรับมาตรการต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์อยู่แล้ว โดยหลังจากที่นายกรัฐมนตรีได้ให้นโยบายการบูรณาการในเขตพื้นที่หัวเมืองทางเศรษฐกิจ โดยแบ่งกำลังออกเป็น 3 ฝ่าย คือ ตำรวจกับอาสาสมัครจะดูแลพื้นที่ตอนใน และทหารจะดูแลพื้นที่รอบนอก โดยการเสริมด้วยกล้องวงจรปิด (ซีซีทีวี)

           สำหรับพื้นที่เขตเซฟตี้โซนนั้น ทางเจ้าหน้าที่กำลังทำประชาคมชาวบ้านในพื้นที่ของจังหวัดต่าง ๆ ว่าจะต้องกำหนดพื้นที่ไหนบ้าง ส่วนพื้นที่รอบนอกจะเน้นด่านตรวจ ซึ่งในพื้นที่มีทั้งหมด 37 อำเภอ 62 ด่าน โดย ผบ.ทบ. มีแนวคิดที่จะให้ด่านตรวจต่าง ๆ มีการบูรณาการข้อมูลเข้าด้วยกัน โดยให้จัดตั้งหน่วยงานที่ทำหน้าที่เป็นศูนย์การประสานงานตรวจ คิดว่าต่อไปด่านตรวจต่าง ๆ จะมีความเข้มข้นมากขึ้น

           เมื่อถามว่า เพราะเหตุใดผู้ก่อเหตุยังสามารถเข้าไปวางระเบิดในเขตพื้นที่เซฟตี้โซนห้างซูเปอร์ดีพาร์ทเมนต์สโตร์ สาขา 4 นราธิวาส ได้ พ.อ.ปราโมทย์ กล่าวว่า โดยส่วนใหญ่แล้วผู้ก่อเหตุจะไม่ผ่านด่านตรวจของเจ้าหน้าที่ เนื่องจากในพื้นที่มีถนนหลายสาย หลายตรอก หลายซอย ที่สามารถเชื่อมต่อกันได้ รวมทั้งผู้ก่อเหตุบางส่วนก็อาศัยอยู่ในชุมชน

           "ขอยืนยันว่างานด้านการข่าวค่อนข้างตรง อย่างเหตุการณ์ยิงขบวนรถไฟที่ผ่านมา เราก็ทราบ เพียงแต่ไม่รู้ว่าจะเป็นจุดไหน รวมถึงการแจ้งเตือนว่าจะมีการก่อเหตุในวันสำคัญ เพียงแต่คาดไม่ถึงว่าจะมีการนำธงชาติประเทศมาเลเซียมาปักทั่วพื้นที่แบบนั้น อย่างไรก็ตาม ทางแม่ทัพภาคที่ 4 ไม่ได้รู้สึกเครียด ยังคงพยายามแก้ปัญหาต่อไป รวมถึงเจ้าหน้าที่ก็ทำงานกันอย่างเต็มที่ แต่การแก้ปัญหาจะต้องทำกันทั้งระบบ จะมาเจาะจงเฉพาะหน่วยงานความมั่นคงอย่างเดียวไม่ได้ ทุกกระทรวง ทบวง กรม ก็ได้รับงบประมาณในการแก้ปัญหาภาคใต้มาเหมือน ๆ กัน ต้องทำงานกันอย่างจริงจัง เพราะเมื่อมีปัญหาทหารก็จะกลายเป็นแพะตลอด"
รองโฆษก กอ.รมน ภาค 4 ส่วนหน้า กล่าว

           ทั้งนี้ สัปดาห์ที่ผ่านมาคณะกรรมาธิการฯ ได้มีการประชุมสรุปในกรณีความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งหน่วยงานความมั่นคงได้ทำหนังสือสรุปข้อมูลให้คณะกรรมาธิการฯ โดยมีการสรุป 2 ประเด็นคือ กำลังเจ้าหน้าที่และการจัดสรรงบประมาณที่ยังไม่เพียงพอ ซึ่งคณะกรรมาธิการฯ มีข้อสรุปว่าหน่วยงานของรัฐควรประสานกับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งเป็นคนในพื้นที่โดยตรง แต่ที่ผ่านมาไม่เคยมีการประสานงานกันเลย เชื่อว่าหากมีการประสานกับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ช่วยดูแลในพื้นที่ของตน น่าจะทำให้สถานการณ์ดีขึ้น

           นายอำนวย เผยว่า ตนมีแนวคิดที่จะให้หยุดใช้รถจักรยานยานยนต์ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เนื่องจากรถจักรยานยนต์มีขนาดเล็ก สามารถขับลัดเลาะไปตามซอยหรือถนนแคบ ๆ ได้ง่าย และที่สำคัญ ที่ผ่านมาก็มีการใช้รถจักรยานยนต์ในการก่อเหตุซุกซ่อนระเบิด แต่หากไม่ยกเลิกใช้จักรยานยนต์ ก็ควรติดตั้งระบบตรวจสอบจักรยานยนต์ทุกคัน เพื่อที่จะตรวจสอบการเคลื่อนไหวได้

           ประธานกรรมาธิการการทหารฯ กล่าวว่า วันที่ 6 กันยายนนี้ จะเชิญผู้ว่าราชการทั้ง 3 จังหวัดเข้าให้ข้อมูลกับคณะกรรมาธิการฯ เนื่องจากจะรู้ข้อมูลในพื้นที่ และสามารถกำชับหรือบังคับบัญชาผู้นำในท้องถิ่น อาทิ นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้านได้ และหลังจากนั้นจึงจะเชิญผู้นำท้องถิ่นเข้าให้ข้อมูลอีกครั้ง นอกจากนี้ก็ได้หารือนอกกรอบกับ ส.ส.ในพื้นที่บ้างแล้ว ซึ่งกรรมาธิการจะสรุปรวมและส่งให้รัฐบาลอีกทีหนึ่ง



อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก






เรื่องที่คุณอาจสนใจ
มทภ. 4 รับป่วนใต้ 100 จุด การข่าวบกพร่อง - ชงห้ามใช้มอไซค์! โพสต์เมื่อ 3 กันยายน 2555 เวลา 08:46:49
TOP