x close

7 วิธี รับมือกับคำติชมในที่ทำงาน

7 วิธี รับมือกับคำติชมในที่ทำงาน

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

          แน่นอนว่าการว่ากล่าวตักเตือนเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในที่ทำงานอยู่แล้ว เพราะความผิดพลาดนั้นเกิดขึ้นได้ทุกวัน และถ้าเราเลือกที่จะไม่พูดเพียงเพราะอยากรักษาน้ำใจกัน ก็คงเป็นการสนับสนุนให้ความผิดเดิม ๆ เกิดขึ้นซ้ำ ๆ เสียมากกว่า แต่อย่างไรก็ตาม การว่ากล่าวกันแรง ๆ ก็อาจทำให้บรรยากาศในการทำงานตึงเครียดจนทุกคนไม่มีความสุขได้เช่นกัน ดังนั้น ลองมาดูวิธีรับมือกับคำตำหนิติชมเพื่อไม่ให้กลายเป็นปัญหาที่ชวนอึดอัดใจกันดีกว่าจ้า



1. อย่าปล่อยให้ความเครียดเป็นเรื่องปกติ

          การปล่อยให้การต่อว่าแรง ๆ เป็นเรื่องธรรมดาในที่ทำงานจะทำให้ทุกคนคุ้นชิน จนที่ทำงานของคุณเต็มไปด้วยการวิพากษ์วิจารณ์หรือการประชดประชันกันแรง ๆ มากขึ้นอีก แบบนี้แล้วที่ทำงานก็คงทำให้คุณเครียดจนเกลียดการทำงานยิ่งขึ้นกว่าเดิมแน่นอน เพราะฉะนั้นควรเริ่มต้นเปลี่ยนที่ทำงานของคุณให้ผ่อนคลายมากขึ้น ด้วยการแทรกมุกตลกเข้าไปบ้าง และพูดคุยกันดี ๆ แทนการว่าเหน็บแนมจะดีกว่า ซึ่งพอคุณทำไปเรื่อย ๆ นาน ๆ แล้ว สุดท้ายคนอื่นก็จะเปลี่ยนแปลงมาลดการต่อว่ากันและสนุกกับการทำงานให้มากขึ้นตามคุณเองนั่นแหละ


2. อย่าเก็บมาเครียดให้มากนัก

          จำไว้ว่าการที่คนอื่นบอกให้รู้ว่าเราทำผิดตรงไหน ไม่ดีอย่างไร ไม่ได้เป็นเพียงแค่การพูดให้เรารู้สึกไม่ดีเสมอไป แต่จะเป็นการช่วยให้เราได้เรียนรู้และพัฒนาตัวเองขึ้นไปอีกต่างหาก คุณจึงควรพยายามมองหาข้อดีจากมันเท่านั้น และอย่าเก็บเอาคำพูดแบบนั้นมาทำร้ายความรู้สึกของตัวเอง ซึ่งช่วงแรกอาจจะทำยากอยู่สักหน่อย แต่ถ้าฝึกให้เป็นนิสัย สักวันคุณต้องทำได้แน่นอนค่ะ


3. บ่นให้น้อยลง

          บางครั้งต่อให้คนอื่นไม่พูด ก็เป็นตัวคุณเองนั่นแหละที่พูดจาบั่นทอนกำลังใจตัวเองโดยไม่รู้ตัว จากการที่เอาแต่คอยบ่นโน่นบ่นนี่ตลอดเวลา ทำให้การทำงานดูน่าเบื่อยิ่งขึ้นไปอีก เพราะฉะนั้นเพื่อให้มีความสุขในการทำงานมากขึ้น คุณจึงควรเตือนตัวเองเอาไว้ว่า ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ให้มองโลกในแง่ดี พูดแต่สิ่งดี ๆ และยิ้มเข้าไว้ดีกว่า เท่านี้ทุกอย่างก็จะค่อย ๆ ดีขึ้นเองนั่นแหละ


4. อย่าว่ากล่าวผ่านอีเมล

          คนที่ไม่ชอบการเผชิญหน้ามักจะว่ากล่าวตักเตือนเวลาที่ทำผิดทางอีเมลแทน เพราะคิดว่าการไม่ต้องคุยกันตัวต่อตัวจะช่วยให้แก้ไขอะไรได้ง่ายขึ้น แต่ที่จริงแล้วการทำแบบนั้นมีแต่จะทำให้ปัญหาบานปลายมากขึ้นเสียมากกว่า เพราะการส่งอีเมลนั้นดูแข็งกระด้างขาดความเอาใจใส่ แถมยังทำให้ไม่มีโอกาสพูดคุยปรับความเข้าใจกันอีกด้วย จนอาจทำให้เข้าใจผิดกันได้ง่าย ๆ ดังนั้นควรหันมาพูดคุยกันตรง ๆ แทนจะดีกว่านะ


5. รู้จักชื่นชมคนอื่นบ้าง

    
          พวกเขาทำดีกลับไม่คิดจะชื่นชมบ้างเลย ซึ่งการทำแบบนั้นจะทำให้คุณกลายเป็นคนมองโลกในแง่ร้าย ชอบจับผิดคนอื่นโดยไม่รู้ตัว แถมยังทำให้คนรอบข้างรู้สึกอึดอัดจนไม่อยากเข้าใกล้อีกด้วย คุณจึงควรลองปรับเปลี่ยนมุมมองดูซะใหม่ เวลาเห็นใครทำอะไรได้ดีก็อย่าเก็บไว้ในใจ บอกให้เขาได้รู้ด้วย เชื่อเถอะว่าจะทำให้คุณอารมณ์ดีขึ้นมาอีกเยอะ นอกจากนี้ยังอาจทำให้คุณได้เพื่อนใหม่เพิ่มขึ้นมาง่าย ๆ อีกด้วยนะ


6. เข้าใจคนรอบข้างให้มากขึ้น

          การที่คุณรู้จักเอาใจใส่รับฟังความคิดเห็นคนอื่น จะช่วยให้การพูดคุยปรับความเข้าใจกลายเป็นเรื่องง่ายขึ้นทันตาเห็น เพราะเขาจะไม่รู้สึกว่าถูกคุณเรียกมาดุอยู่ฝ่ายเดียวอีกต่อไป จากการที่คุณให้โอกาสเขาได้อธิบายเหตุผลของตัวเองบ้าง และพูดกับเขาดี ๆ ทำให้เขารู้สึกได้ว่าคุณให้เกียรติเขามากพอ แบบนี้แล้วหากต่อไปยังต้องทำงานด้วยกันก็คงไม่มีปัญหาแน่นอน


7. ให้คำแนะนำเพิ่มเติม

          แทนที่จะว่ากล่าวตักเตือน คุณก็ควรให้คำแนะนำเขาไปด้วยว่าเขาควรทำอย่างไรต่อไป แบบนั้นถึงจะแสดงให้เห็นว่าคุณเอาใจใส่และเป็นห่วงเขาจริง ๆ ซึ่งนอกจากจะไม่ทำให้ผิดใจกันแล้ว ยังทำให้เขารู้สึกชื่นชมคุณมากขึ้นอีกด้วย แถมยังทำให้การทำงานพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้นด้วยอีกต่างหาก


          อ่านจบแล้วก็อย่าลืมนำเอาเคล็ดลับดี ๆ แบบนี้ไปใช้ในที่ทำงานของคุณด้วยนะคะ ไม่แน่นะ..อาจช่วยให้บรรยากาศดีขึ้นจนคุณอยากไปทำงานทุกวันเลยก็ได้






เรื่องที่คุณอาจสนใจ
7 วิธี รับมือกับคำติชมในที่ทำงาน โพสต์เมื่อ 3 กันยายน 2555 เวลา 17:24:35 3,644 อ่าน
TOP