x close

ม็อบ 2 ฝ่าย วอนแก้ปัญหาค่าครองชีพ-ผลผลิตตกต่ำ




เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก ครอบครัวข่าว 3

          กลุ่มผู้ชุมนุมจากเทศบาล และ อบต. ทั่วประเทศ รวมถึงกลุ่มผู้ปลูกยางพารา มะพร้าว ปาล์มน้ำมัน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ได้รวมตัวกันหน้าทำเนียบรัฐบาล วอนรัฐบาล เร่งแก้ปัญหาค่าครองชีพ - ผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ
 
          วันนี้ (4 กันยายน) ผู้ชุมนุมจากสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย สมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย ได้มารวมตัวกันหน้าทำเนียบรัฐบาล โดย 2 สมาคมดังกล่าว ได้ยื่นหนังสือต่อ นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โดยขอให้รัฐบาลแก้ไขอุปสรรคในการบริหารงานของเทศบาล และ อบต. โดยเฉพาะนโยบายในการช่วยเหลือบุคลากรของรัฐ
 


          ซึ่งนโยบายดังกล่าวคือการปรับเพิ่มค่าครองชีพปริญญาตรี 15,000 บาท และต่ำกว่าปริญญาตรี 9,000 บาท โดยรัฐบาลได้ใช้เงินงบกลางจ่ายแก่ข้าราชการพลเรือน ทหาร ตำรวจ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ที่ผ่านมา แต่ในทางตรงกันข้ามรัฐบาลได้ผลักภาระจ่ายเงินเพิ่มค่าครองชีพของบุคลากรท้องถิ่นทั้งหมดให้กับเทศบาล และ อบต. ที่ไม่มีเงินเพียงพอ ดังนั้นจึงอยากให้รัฐบาลจัดสรรเงินตามจำนวนเงินที่ต้องจ่ายจริง เพื่อชดเชยให้กับเทศบาล และ อบต. ทุกพื้นที่ จำนวนกว่า 6,200 ล้านบาท
 
          ทั้งนี้ นายวรวัจน์ ยืนยันจะจัดสรรงบประมาณให้ได้ในปี 2556 และพร้อมชดเชยเงินย้อนหลังไปถึง 1 มกราคม 2555 โดยจะนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุม ครม. ทันที
 


          ในขณะเดียวกัน ยังมีเครือข่ายเกษตรกรผู้ปลูกยางพารา มะพร้าว ปาล์มน้ำมัน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มาชุมนุมที่หน้าทำเนียบรัฐบาลด้วย โดย นายนันทปรีชา คำทอง ผู้ประสานงานเครือข่าย ได้นำเกษตรกรจากจังหวัดประจวบฯ สุราษฎร์ธานี ชุมพร ระนอง กว่า 500 คน เข้ายื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้กระตุ้นราคาผลผลิตทางการเกษตรที่ตกต่ำ โดยขอให้รัฐบาล ปรับราคายางพาราจาก กิโลกรัมละ 73 บาท เป็น กิโลกรัมละ 120 บาท,  มะพร้าว จากลูกละ 2 บาท เป็น 12 บาท และมะพร้าวแห้ง กิโลกรัมละ 10.50 บาท เป็น 21 บาท และปาล์มน้ำมันจาก กิโลกรัมละ 4 บาท เป็น 6 บาท
 
          นายนันทปรีชา ยังกล่าวอีกว่า ทางกลุ่มชุมนุมฯ จะรอความชัดเจนจากการประชุม ครม. ในวันนี้ หากไม่มีผลเปลี่ยนแปลงใด ๆ ก็จะทำการชุมนุมอย่างต่อเนื่อง โดยไม่มีกำหนด ทั้งนี้ มองว่าการแทรกแซงราคาสินค้าทางการเกษตร เช่น ยางพาราวงเงิน 15,000 ล้านบาทนั้น ทำให้เกษตรกรได้รับผลประโยชน์ไม่ทั่วถึง
 

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ม็อบ 2 ฝ่าย วอนแก้ปัญหาค่าครองชีพ-ผลผลิตตกต่ำ โพสต์เมื่อ 4 กันยายน 2555 เวลา 12:19:17 1,628 อ่าน
TOP