ยึดมรดกเกิน20ล.เข้ารัฐ! (ไทยโพสต์)
ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูล
ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูล
กปพ. เสนอกฎหมายวัดใจรัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่อ้างทำเพื่อคนจน ชง พ.ร.บ.มรดก ให้ใครตายแล้วมีทรัพย์สินเกิน 20 ล้านต้องคืนรัฐ 70%
เมื่อวันที่ 30 กันยายน ที่ผ่านมา นายประสพ บุษราคัม ประธานคณะกรรมการปรับปรุงและพัฒนากฎหมายเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน (กปพ.) ให้สัมภาษณ์ว่า กปพ. เตรียมเสนอร่างพระราชบัญญัติมรดกที่ศึกษาเสร็จเรียบร้อยแล้วให้ นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยเนื้อหาหลักของ พ.ร.บ.คือ การให้ผู้ตายที่มีทรัพย์สินมรดกเกิน 20 ล้านบาท ต้องคืนให้แก่หลวงในอัตรา 70%
ทั้งนี้ นายประสพ ระบุว่า ทรัพย์สินส่วนใหญ่ของประเทศ 80% อยู่ใน 20 ตระกูลดัง ส่วนอีก 20% กลับเป็นทรัพย์สินของประชาชน 64 ล้านคน แต่หากกฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้จะเป็นเครื่องมือสร้างความเป็นธรรม ลดช่องว่างในสังคม และสร้างรายได้ให้แก่รัฐเหมือนต่างประเทศที่ดำเนินการมา
"เชื่อว่าเรื่องนี้ ส.ส. ส่วนใหญ่จะไม่เห็นด้วย เพราะส่วนใหญ่เป็นนายทุนและคนรวย จึงอยากให้ประชาชนจำนวน 1 หมื่นคนเป็นผู้ผลักดันแทนนักการเมือง และหากสำเร็จจะเสนอกฎหมายเก็บภาษีที่ดินต่อไปด้วย" นายประสพ กล่าว และว่า จะเสนอกฎหมายบำเหน็จบำนาญประชาชนประกบกับกฎหมายมรดกด้วย เพื่อเอารายได้จากเงินมรดกมาให้ประชาชนที่ไม่ใช่ข้าราชการที่มีอายุเกิน 60 ปีไปได้รับเงินบำเหน็จบำนาญด้วย
ด้านนายประสพสุข บุญเดช อดีตประธานวุฒิสภา และผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายมรดก กล่าวว่า หากไทยมีการออกกฎหมายมรดกเป็นสิ่งที่ดีมาก เพราะหากพ่อตายลูก ๆ ไม่ต้องทำอะไรก็จะได้ทรัพย์สิน ก็ไม่ถูกต้อง ควรเสียภาษีให้รัฐไปบ้าง เพราะส่วนใหญ่เป็นคนรวย โดยอาจมีข้อยกเว้นสำหรับคนมีทรัพย์สินไม่ถึง 10 ล้านบาทที่ไม่ต้องเสียภาษี แต่หากใครมีเงินมากกว่านี้ก็ควรเสียตามขั้นบันได
"ไทยยังไม่เคยมีงานวิจัยว่าหากเก็บภาษีดังกล่าวจากคนรวยแล้วจะได้เงินเท่าไหร่ แต่เชื่อว่าจะเป็นจำนวนมหาศาล เพราะในต่างประเทศถือว่าภาษีดังกล่าวคิดเป็นรายได้ 3% ของรายได้ทั้งหมด" นายประสพสุข ระบุ
อดีตประธานวุฒิสภายังมองว่า ภาษีมรดกยังเป็นเครื่องมือลดความเหลื่อมล้ำของสังคมในเรื่องการแข่งขันกันต่าง ๆ ยกตัวอย่าง หากวิ่ง 100 เมตร ระหว่างคนรวยและคนจน คนจนต้องวิ่ง 100 เมตรเต็ม ๆ ขณะที่คนรวยวิ่ง 50 เมตรก็ถึงเส้นชัย แต่หากกฎหมายมรดกประกาศใช้ ก็อาจลดระยะทางให้คนรวยวิ่งใกล้ขึ้นเป็น 70 เมตร เป็นต้น
"คนที่จะออกกฎหมาย ซึ่งเป็นคนรวย อยู่ในรัฐสภาเกือบทั้งหมด ดังนั้นอาจเป็นเรื่องลำบากในการผลักดัน เพราะไปกระทบพวกเขา จึงอยากเรียกร้องให้เห็นแก่ประโยชน์ต่อประเทศชาติบ้าง โดยเฉพาะพวกที่ขี้โกง ตายไปก็เอาไปไม่ได้ ก็ควรทำความดีสักครั้งคืนกลับสู่ประเทศไป" นายประสพสุข กล่าวทิ้งท้าย
ขอขอบคุณข้อมูลจาก