เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
เป็นที่รู้กันว่า.. สิทธิประกันสังคม คืออีกหนึ่งสิทธิประโยชน์สำคัญที่คนทำงานจะต้องได้รับ แต่ถ้าเกิดบังเอิญต้องกลายเป็นคนว่างงานขึ้นมา คุณรู้หรือไม่ว่า..จะมีสิทธิพึงได้อะไรบ้าง? วันนี้กระปุกดอทคอมจะมาไขข้อข้องใจเกี่ยวกับ กองทุนชดเชยการว่างงาน จาก ประกันสังคม ที่หลายคนอาจจะยังไม่เคยรู้มาก่อน ไปดูข้อมูลกันเลยจ้า
หลักเกณฑ์การรับสิทธิ์
- ต้องเป็นผู้ประกันตนที่จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน (ภายในระยะเวลา 15 เดือน ก่อนการว่างงาน)
- เป็นผู้ว่างงานจากการลาออก หรือถูกเลิกจ้าง โดยไม่มีความผิดตามกฎหมาย
เงื่อนไขการรับสิทธิ์
- ต้องขึ้นทะเบียนว่างงานที่สำนักจัดหางานของรัฐ ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ว่างงาน โดยไม่ต้องรอหนังสือรับรองอย่างเป็นทางการ
- พร้อมจะทำงานตามความเหมาะสมที่สำนักงานจัดหาให้
- ต้องไม่ปฏิเสธการฝึกงาน
- ต้องเข้ารายงานตัวต่อเจ้าหน้าที่จัดหารงานอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง
- ต้องไม่ใช่ผู้ได้รับสิทธิ์ทดแทนในกรณีชราภาพ
- ไม่เป็นผู้ประกันตนโดยสมัครใจ ในมาตรา 39
- ต้องไม่เป็นผู้ว่างงานที่ถูกเลิกจากในกรณีต่อไปนี้
- ทุจริตต่อหน้าที่
- กระทำผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง
- จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย
- ฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงาน หรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายในกรณีร้ายแรง
- ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลา 7 วันทำงานติดต่อกัน โดยไม่มีเหตุอันควร
- ประมาทเลินเล่อ เป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายร้ายแรง
- ได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษา
- สิทธิ์ในการรับประโยชน์ทดแทนจะเกิดขึ้นในวันที่ 8 นับตั้งแต่วันที่ว่างงาน
สิทธิประโยชน์ที่จะได้รับ
กรณีถูกเลิกจ้าง
- ได้รับเงินทดแทนอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างเฉลี่ย โดยคำนวณจากฐานเงินสมทบขั้นต่ำเดือนละ 1,650 บาท และฐานเงินสมทบสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท โดยจะได้รับเงินทดแทนการว่างงานปีละไม่เกิน 180 วัน (6 เดือน) เช่น หากได้รับเงินดือนเฉลี่ย 10,000 บาท จะได้เงินทดแทนเดือนละ 5,000 บาท เป็นจำนวน 6 เดือน
กรณีลาออกหรือสิ้นสุดสัญญาจ้าง
- เมื่อลาออกจากงานและเคยเป็นผู้ประกันตนอยู่แล้ว จะสามารถใช้สิทธิ์ในการรักษาพยาบาลได้ต่อไปอีก 6 เดือน โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย
- ได้รับเงินทดแทนอัตราร้อยละ 30 ของค่าจ้างเฉลี่ย โดยคำนวณจากฐานเงินสมทบขั้นต่ำเดือนละ 1,650 บาท และฐานเงินสมทบสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท โดยจะได้รับเงินทดแทนการว่างงานปีละไม่เกิน 90 วัน (3 เดือน) เช่น หากได้รับเงินดือนเฉลี่ย 10,000 บาท จะได้เงินทดแทนเดือนละ 3,000 บาท เป็นจำนวน 3 เดือน
เอกสารในการขอรับสิทธิ์
- แบบคำร้องขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน (สปส. 2-01/7)
- บัตรประชาชน พร้อมสำเนา 2 ชุด
- รูปถ่าย 1 นิ้ว (ถ่ายมาไม่เกิน 6 เดือน) 1 รูป
- หนังสือรับรองการออกจากงานหรือสำเนาแบบแจ้งการลาออกจากงานของผู้ประกันตนออกจากงานของผู้ประกันตน (สปส. 6 -09)
- หนังสือแจ้งจากนายจ้างให้ออกจากงาน (ถ้ามี)
- สำเนาใบแจ้งยกเลิกการอนุญาตทำงาน (กรณีเป็นคนต่างด้าว)
- สำนาบัญชีเงินฝากออมทรัพย์หน้าแรก 2 ชุด
ขั้นตอนการขอรับสิทธิ์
- ไปขึ้นทะเบียนผู้ว่างงานที่สำนักจัดหางาน กรมการจัดหางาน
- กรอกแบบฟอร์มขึ้นทะเบียนว่างงาน พร้อมแนบหลักฐาน สำเนาบัตรประชาชน และรูปถ่าย
- กรอกแบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน พร้อมแนบหลักฐาน หนังสือรับรองการออกจากงาน และสำเนาบัญชีธนาคาร
- เจ้าหน้าที่จัดหางานสัมภาษณ์และตรวจสอบคุณสมบัติ รวมถึงประวัติการทำงาน
- เจ้าหน้าที่จัดหางานจะเลือกตำแหน่งงานว่างให้ 3 แห่ง เพื่อให้ผู้ว่างงานพิจารณา
- หากยังไม่มีงานที่เหมาะสม เจ้าหน้าที่จะจัดส่งให้ผู้ว่างงานไปอบรมตามความจำเป็น (และหากมีการกลับเข้าทำงาน หรือปฏิเสธการฝึกงานที่จัดหาให้ สำนักงานประกันสังคมจะงดจ่ายเงินทดแทนทันที)
- เจ้าหน้าที่จะทำการบันทึกข้อมูลสู่ฐานข้อมูลกลาง
- เจ้าหน้าที่จะทำการวินิจฉัยข้อมูลของผู้ว่างงานตามเงื่อนไขการเกิดสิทธิ์
- หากคุณสมบัติครบถ้วนแล้ว จะมีการโอนเงินทดแทนเข้าบัญชีให้เดือนละ 1 ครั้ง
- หากผู้ประกันตนไม่พอใจคำสั่งจ่ายประโยชน์ทดแทน สามารถยื่นอุทธรณ์ได้ภายใน 30 วัน
สำหรับผู้ว่างงานที่เป็นต่างด้าว
หลักเกณฑ์และเงื่อนไข
- ต้องส่งเงินสมทบมาแล้วไม่ต่ำกว่า 6 เดือน (ภายใน 15 เดือนก่อนการว่างงาน)
- ไม่เป็นผู้มีสิทธิ์ได้ประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพ
- เป็นผู้ว่างงานเนื่องจากสัญญาจ้างกับนายจ้างสิ้นสุดลง
คุณสมบัติ
- ต้องได้รับอนุญาตให้พักอยู่ในประเทศไทยอย่างถูกต้องตามกฏหมาย
- หากได้สิทธิ์รับประโยชน์ทดแทนแล้ว และมีการเดินทางออกจากประเทศไทย ให้ถือว่ายังได้รับสิทธิ์อยู่แต่การจ่ายเงินจะขึ้นอยู่กับแนวทางของสำนักงานประกันสังคม
เอกสารการขอรับสิทธิ์
- แบบคำร้องขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน (สปส. 2-01/7)
- หลักฐานการอนุญาตให้พักอยู่ในประเทศไทย (Visa)
- หนังสือคำสั่งจากนายจ้างให้ออกจากงาน (ถ้ามี)
- สำเนาใบแจ้งยกเลิกการอนุญาตทำงาน
- สำเนาสมุดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์หน้าแรก
ได้รู้จักกับสิทธิประโยชน์ที่ควรจะได้รับในกรณีว่างงานกันไปแล้ว ก็อย่าลืมเตรียมตัวและเตรียมเอกสารให้พร้อม หากต้องการไปยื่นขอรับสิทธิ์ หรือหากมีข้อสงสัยก็สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.sso.go.th หรือสายด่วน 1506 ตลอด 24 ชั่วโมง รู้ไว้ใช่ว่า..ดีกว่าเสียสิทธิ์นะจ๊ะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
- sso.go.th