x close

มูลนิธิสืบฯ จวก EHIA สร้างเขื่อนแม่วงก์ อ้างข้อมูลไม่ถูกต้อง


เขื่อนแม่วงก์


เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

ขอขอบคุณภาพประกอบจาก prd.go.th

            มูลนิธิสืบนาคะเสถียร จวก EHIA ให้ข้อมูลสร้างเขื่อนแม่วงก์ ไม่ถูกต้อง อ้างพื้นที่รับประโยชน์จากน้ำถึง 3 แสนไร่ ทั้งที่จริงได้เพียง 7 หมื่นไร่ อีกทั้งไม่มีรายงานผลกระทบสัตว์ป่า ลั่นพื้นที่ควรสร้างกลับไม่สร้าง เพราะเป็นพื้นที่ของนักการเมือง บอกปลูกป่าทดแทนอย่างไรก็ไม่สามารถเรียกคืนระบบนิเวศกลับมาได้

            วันนี้ (20 พฤศจิกายน) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้นำสื่อมวลชนลงพื้นที่แกะรอยผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) โครงการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ จ.นครสวรรค์ โดยเฉพาะพื้นที่ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ แต่กลับไม่มีการรายงานไว้ใน EHIA ของกรมชลประทาน และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เริ่มตั้งแต่พื้นที่ที่ EHIA อ้างว่าเป็นเขตชลประทาน ในเขต จ.อุทัยธานี จ.นครสวรรค์ และ จ.กำแพงเพชร ตลอดจน ลำน้ำแม่วงก์ ลำน้ำสาขา จนถึงบริเวณที่จะมีการก่อสร้างเขื่อนในอุทยานฯ แม่วงก์ ซึ่งยังคงเป็นพื้นที่ป่าที่สมบูรณ์

            ทั้งนี้ นายศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร กล่าวว่า พื้นที่ก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์มี 2 ตัวเลือก คือ บริเวณเขาชนกัน ที่อยู่นอกเขตอุทยานฯ และบริเวณสบกก ที่อยู่ในเขตอุทยานฯ ซึ่งได้มีการปรึกษาหารือกันแล้ว พบว่า หากสร้างเขื่อนดังกล่าว จะทำให้ต้องเสียพื้นที่ป่าธรรมชาติไปถึง 1.3 หมื่นไร่ และหากสร้างในพื้นที่เขาชน ก็จะกระทบต่อราษฎรจำนวน 2 พันครัวเรือน ซึ่งพวกเขาต้องอพยพออกจากพื้นที่ แต่ทั้งนี้ จะสามารถกักเก็บน้ำได้ถึง 600 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่หากสร้างในพื้นที่สบกก ก็จะสามารถกักเก็บน้ำได้เพียง 258 ล้านลูกบาศก์เมตรเท่านั้น

            นายศศิน กล่าวต่อว่า จากข้อมูลดังกล่าว ทาง EHIA กลับระบุเพียงว่า มีพื้นที่ชลประทาน ที่ได้ประโยชน์จากการสร้างเขื่อนเกือบ 3 แสนไร่ แถมยังครอบคลุมพื้นที่ จ.กำแพงเพชร จ.นครสวรรค์ และ จ.อุทัยธานี  ซึ่งตนคิดว่าเป็นไปไม่ได้แน่นอน เพราะน้ำเขื่อนจะครอบคลุมพื้นที่ชลประทานเพียง 7 หมื่นไร่เท่านั้น

            นอกจากนี้ ในส่วนที่ ทาง EHIA ระบุว่า พื้นที่ จ.อุทัยธานี และลุ่มน้ำสะแกกรัง จะได้รับประโยชน์ด้วยนั้น อีกทั้งยังเกณฑ์คนมาสนับสนุนจำนวนมาก แต่จริง ๆ แล้ว จ.อุทัยธานี ได้รับประโยชน์จริงเพียง 0.1% หรือ 291 ไร่ในเขต อ.ทัพทัน เท่านั้น เพราะอยู่ห่างจากเขื่อนกว่า 100 กิโลเมตร ขณะที่พื้นที่ อ.ลาดยาว จ.นครสวรรค์ ที่  EHIA อ้างว่า ได้รับประโยชน์มากที่สุด คิดเป็น 70.39% หรือกว่า 2.05 แสนไร่นั้น ตนคิดว่าน้ำมาไม่ถึงอย่างแน่นอน เพราะอยู่ห่างจากพื้นที่สร้างเขื่อนเช่นกัน และคนที่อยู่ใกล้ต้องดึงน้ำไปใช้ก่อน

            นายศศิน ยังกล่าวอีกว่า ที่แย่ที่สุดคือ ทาง EHIA ไม่ได้ระบุถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นกับผืนป่า และสัตว์ป่าเลย อ้างแต่เพียงว่า พื้นที่ไม่ใช่ป่าสมบูรณ์ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ทางกรมอุทยานฯ และกองทุนสัตว์ป่าโลก (WWF) ระบุว่า บริเวณสบกกเป็นป่าสมบูรณ์ และยังเป็นแหล่งที่อยู่อาศัย และการขยายพันธุ์ของเสือโคร่งอีกด้วย อีกทั้งยังมีศักยภาพเป็นมรดกฌลกที่เชื่อมต่อจากห้วยขาแข้ง และทุ่งใหญ่นเรศวรได้ ตนจึงขอให้สำนักงานแผ่นนโยบายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ร่วมพิจารณารายงานของ EHIA ให้รอบคอบด้วย
 
            ทั้งนี้ นายศศิน กล่าวต่อว่า ตนไม่ได้บอกว่าการสร้างเขื่อนไม่ดี แต่หากจะสร้างก็ควรสร้างในพื้นที่ที่เหมาะสม และได้ประโยชน์จริง ๆ อย่างไรก็ตาม ในพื้นที่ที่ควรสร้างกลับสร้างไม่ได้ เพราะเป็นเขตฐานของพวกนักการเมือง ส่วนพื้นที่ป่าธรรมชาติก็เลือกที่สร้างกันเพื่อตัดปัญหา และอ้างว่าจะได้ไม่กระทบต่อประชาชน
 
            ขณะที่ นายณรงค์ แรงกสิกร ประธานเครือข่ายแม่วงก์ชุมชนคนรักษ์ป่า กล่าวยืนยันว่า คนในพื้นที่ไม่มีใครต้องการเขื่อน เหมือนที่ทางราชการนำไปอ้าง เพราะไม่ได้ประโยชน์ในการสร้างเท่าที่ควร ทั้งนี้ ไม่กี่วันที่ผ่านมา มีเจ้าหน้าที่เข้ามาปลูกป่าทดแทน แทนป่าที่จะต้องเสียไปจำนวน 1.3 หมื่นไร่ โดย EHIA ระบุว่า จะปลูกทดแทนให้ถึง 2.5 หมื่นไร่ ด้วยกัน แต่ทั้งนี้ ตนคิดว่าไม่สามารถเป็นไปได้อย่างแน่นอน เพราะไม่มีที่ปลูก เนื่องจากที่ดินโดยรอบเป็นของชาวบ้าน หากต้องการปลูกป่ามาขนาดนั้น จะเอาชาวบ้านไปไว้ที่ไหน และไม่ว่าจะปลูกอย่างไร ระบบนิเวศก็ไม่สามารถกลับมาเป็นเหมือนเดิมได้แน่นอน





อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
มูลนิธิสืบฯ จวก EHIA สร้างเขื่อนแม่วงก์ อ้างข้อมูลไม่ถูกต้อง อัปเดตล่าสุด 23 กันยายน 2556 เวลา 10:28:11 4,322 อ่าน
TOP