x close

เศรษฐกิจไทยปี 2556 ปัจจัยเสี่ยงเพียบ



เศรษฐกิจไทยปี 2556 ปัจจัยเสี่ยงเพียบ (ไทยโพสต์)
ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูล

          เมื่อเร็ว ๆ นี้ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้ประเมินอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2556 คาดว่าจะขยายตัวเพียง 4.5% เป็นการลดลงต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน โดยปี 2554 ขยายตัว 5.6% และปี 2555 คาดว่าจะขยายตัว 5.4% ซึ่งถือว่าน่าเป็นห่วงมาก เพราะมีปัจจัยลบทั้งภายในและภายนอกที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย หากไม่มีการรับมือให้ดี เศรษฐกิจถือว่ามีความเสี่ยงสูง

          ปัจจัยลบที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในปี 2556  มาจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก ทั้งปัญหาหนี้สาธารณะในยุโรป ปัญหาเศรษฐกิจสหรัฐที่ยังไม่ฟื้นตัว และกำลังเข้าสู่ปัญหาหน้าผาการคลัง (Fiscal Cliff) ซึ่งเป็นภาวะที่เศรษฐกิจของสหรัฐสูญเสียแรงขับเคลื่อนทางการคลังที่ฉับพลันและรุนแรง แม้จะมีการออกมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณรอบที่ 3 (QE3) ออกมาก็ตาม

          รวมทั้งยังมีปัญหาเสถียรภาพการเมืองโลก เช่น สหรัฐ มีปัญหาเกี่ยวกับศาสนาอิสลาม พื้นที่ทับซ้อนจีนกับญี่ปุ่น ปัญหาการว่างงานสหรัฐและยุโรป ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ภัยทางธรรมชาติ

          ส่วนปัจจัยลบภายในประเทศ อยู่ที่เสถียรภาพทางการเมือง โดยเฉพาะการออกมาชุมนุมประท้วง หากยืดเยื้อและรุนแรงจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และต้องจับตาความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนที่เงินบาทจะแข็งค่ามากขึ้น ส่งผลกระทบต่อการส่งออก ภัยธรรมชาติ การขาดแคลนแรงงานในบางอุตสาหกรรม ที่สำคัญปัญหาต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นจากการปรับค่าแรงวันละ 300 บาททั่วประเทศ รวมไปถึงการปรับขึ้นของค่าพลังงาน ทั้งน้ำมัน ไฟฟ้า ค่าขนส่ง เป็นต้น

          "เศรษฐกิจไทยปีหน้ายังมีความเสี่ยงสูง รัฐบาลจะต้องเร่งใช้นโยบายการคลังในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งการใช้งบประมาณขาดดุล 3 แสนล้านบาท การใช้เงิน พ.ร.ก.เงินกู้ 3.5 แสนล้านบาทในการดูแลน้ำท่วม ที่ทุกอย่างจะต้องทำได้ภายในครึ่งปีแรกของปี 2556 ต้องดูแลอัตราดอกเบี้ยให้เหมาะสม โดยคาดว่าดอกเบี้ยน่าจะลดลงได้อีก หรือให้ทรงตัวอยู่ในระดับ 2.5-3.25% และต้องมุ่นเน้นการเพิ่มรายได้และลดค่าครองชีพให้กับประชาชนเพื่อกระตุ้นกำลังซื้อ เช่น ค่าแรง 300 บาท เงินเดือนปริญญาตรี 15,000 บาท การรับจำนำข้าว หากรัฐบาลทำได้เร็ว เชื่อว่าเศรษฐกิจปี 2556 น่าจะโตได้ 4.5% โดยมีกรอบ 4-5%"
 
          นอกจากนี้ ศูนย์พยากรณ์ฯ ได้ประเมินว่า การส่งออกปี 2556 จะมีมูลค่า 2.43 แสนล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 7.4%  จากปีนี้ที่คาดว่าจะโต 3.5% มูลค่า 2.26 แสนล้านเหรียญสหรัฐ การนำเข้ามูลค่า 2.41 แสนล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 10.1% เพิ่มจากปี 2555 ที่คาดว่าจะมีมูลค่า 2.19 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ได้ดุลการค้า 2,331 ล้านเหรียญสหรัฐ ดุลบัญชีสะพัดขาดดุล 5,089 ล้านเหรียญสหรัฐ อัตราเงินเฟ้อ 3.58% อัตราแลกเปลี่ยนจะอยู่ที่ระดับ 30 บาท/เหรียญสหรัฐ การท่องเที่ยว คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวมาไทย 22 ล้านคน เพิ่มขึ้น 7.5-8%  รายได้ 9.66 แสนล้านบาท หรืออาจจะทำได้ถึง 1 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 19-19.5%

          นายพงษ์ศักดิ์ อัสสกุล ประธานหอการค้าไทย และประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวถึงการประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจของหอการค้าไทยในปี 2555 ว่า สถานการณ์เศรษฐกิจปี 2555 ที่กำลังจะผ่านไป หลายฝ่ายได้ใช้ความพยายามอย่างหนักที่จะผลักดันให้เศรษฐกิจและธุรกิจให้ผ่านพ้นไปได้ด้วยดี จะเห็นได้ว่าภาครัฐได้ตั้งเป้า GDP ทั้งปีไว้ที่ 7% กลางปีได้ปรับลดลงเหลือ 5% และปลายปีสภาพัฒน์เพิ่งเผยตัวเลขออกมาไตรมาสที่ 3 เหลือเพียง 3%

          อย่างไรก็ตาม หอการค้าไทยคาดว่าสิ้นปีนี้เศรษฐกิจน่าจะอยู่ที่ประมาณ 5.5% ซึ่งคาดว่าน่าจะถึงจุดต่ำสุดแล้ว สาเหตุหลักที่สำคัญก็เป็นที่ทราบกันดีว่าเกิดจากวิกฤติยุโรป วิกฤติเศรษฐกิจสหรัฐ และปัญหาอุทักภัยที่ผ่านมา ทำให้การส่งออกไม่ขยายตัว

          สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2556 ต้องยอมรับว่ายังน่าเป็นห่วง โดยคาดว่าตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจจะขยายตัวประมาณ 4-5%

          ปัจจัยที่จะผลักดันให้เศรษฐกิจไทยมีการขยายตัวได้เพิ่มขึ้น มาจากการขยายตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศจากความต้องการภายในที่สูงขึ้น เช่น ธุรกิจ ICT ซึ่งหากการออกใบอนุญาต 3G เรียบร้อย ก็จะทำให้เติบโตไม่ต่ำกว่า 30% ธุรกิจก่อสร้าง คาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากแรงส่งภายหลังสถานการณ์น้ำท่วม ซึ่งมีการซ่อมแซมและการก่อสร้างเพิ่มสูงขึ้น ธุรกิจการประกันภัย-ธุรกิจประกันชีวิต จะมีการขยายตัวเพิ่มสูงขึ้น 12-15% โดยเฉพาะธุรกิจประกันวินาศภัย จะขยายตัวเพิ่มสูงขึ้น 20% เนื่องจากคนไทยเริ่มตระหนักถึงปัญหาภัยน้ำท่วม และเน้นการออมเงินสูงขึ้น และธุรกิจชิ้นส่วนยานยนต์ คาดว่าจะขยายตัว 10% อันเกิดจากนโยบายรถคันแรก

          สำหรับปัจจัยด้านการค้าระหว่างประเทศ การส่งออกจะยังคงขยายตัวได้ แต่คงจะไม่ขยายตัวเพิ่มขึ้นมาก คาดว่าจะเติบโตเฉลี่ย 0-5% โดยสินค้าที่จะขยายตัวได้ดี เช่น ธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับ ธุรกิจเครื่องนุ่งห่ม เป็นต้น ขณะที่มันสำปะหลังคาดว่าจะขยายตัว 5-10%

          ส่วนกลุ่มสินค้าที่คาดว่าจะมีตัวเลขการส่งออกชะลอตัว และหดตัวลง ได้แก่ ธุรกิจขนส่งสินค้าทางอากาศ อาหารทะเลแช่แข็ง สินค้าเฟอร์นิเจอร์ และยางพารา เป็นต้น อันเกิดจากปัญหาเศรษฐกิจของประเทศที่เป็นตลาดหลักสำคัญ ได้แก่  สหรัฐ ยุโรป และญี่ปุ่น ประกอบกับปัญหาการปรับขึ้นค่าแรง 300 บาท ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีภาระต้นทุนสูงขึ้น และในบางธุรกิจประสบปัญหาเงื่อนไขทางการค้าที่เข้มงวดมากขึ้น

          "เพื่อเป็นการผลักดันให้การส่งออกในปี 2556 มีอัตราการขยายตัวได้ต่อเนื่อง หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย จะเร่งผลักดันให้มีการขยายมูลค่าการค้าชายแดนให้เพิ่มมากขึ้น โดยในปี 2555 (มกราคม-ตุลาคม) การค้าชายแดนมีมูลค่า 759,140 ล้านบาท ขยายตัว 1.73% และคาดว่าทั้งปี 2555 จะมีปริมาณการค้า 9 แสนล้านบาท ซึ่งมีมูลค่าการค้ากับประเทศไทยสูงเป็นอันดับสองรองจากมาเลเซีย โดยมีปริมาณการค้าเดือน ม.ค.-ต.ค. 145,885 ล้านบาท ขยายตัว 10.99%" นายพงษ์ศักดิ์ ระบุ

          นายณรงค์ชัย อัครเศรณี ประธานกรรมการ บริษัท หลักทรัพย์จัดการกองทุน เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ภาพรวมเศรษฐกิจในปีหน้ามีแนวโน้มที่ดีขึ้น เพียงแต่ว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวไปได้ช้ากว่าที่ผ่านมา โดยคาดว่าปีหน้าตัวเลขการส่งออกของไทยจะสามารถขยายตัวได้ที่ระดับ 8-9%  ขณะที่ตัวเลขการนำเข้าจะโตขึ้นกว่าการส่งออก โดยคาดว่าน่าจะขยายตัวอยู่ที่เลข 2 หลักได้
 
          "ปีหน้าตัวกระตุ้นเศรษฐกิจคือการลงทุน ซึ่งจะเน้นไปที่การนำเข้าสินค้าจากประเทศเพื่อนบ้านที่มีต้นทุนต่ำกว่าไทยเข้ามาผลิตในประเทศมากขึ้น รวมทั้งการปรับตัวเพิ่มประสิทธิภาพกำลังการผลิต เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า จึงทำให้การนำเข้าปีหน้าสูงกว่าการส่งออก ซึ่งไม่ได้เป็นการสร้างเสียหายอะไร" นายณรงค์ชัย กล่าว

          ทั้งนี้ ความเสี่ยงในปี 2556 ที่น่าเป็นห่วงกันคือ หนี้ส่วนบุคคลที่โตเร็วเกินไป จนอาจทำให้เกิดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือหนี้เสีย (NPL) ได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ภาครัฐต้องตั้งรับให้ดี

          ส่วนเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนนั้น ค่าเงินบาทยังคงอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปีนี้ คือมีการแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐมีเยอะ ขณะที่ค่าเงินยูโรก็อ่อนค่าลง ทำให้เงินทุนสำรองระหว่างประเทศของไทยมีมากจนเกินไปด้วยซ้ำ  ดังนั้น จึงต้องมีนโยบายส่งเสริมให้นักลงทุนไทยออกไปลงทุนต่างประเทศมากขึ้น
 หันไปดูด้านการค้าระหว่างประเทศ หรือภาคการส่งออกกันบ้างว่า กระทรวงพาณิชย์กำลังทำอะไรอยู่

          เมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้มีการประชุมกับสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (ทูตพาณิชย์) โดยมี นายบุญทรง เตริยาภิรมย์  รมว.พาณิชย์ เป็นประธาน เพื่อรับฟังสถานการณ์การส่งออกและเป้าหมายการส่งออกในปี 2556

          โดยกรมฯ เตรียมจัดทำแผนงานที่จะผลักดันการส่งออกในปี 2556 ให้สูงกว่าที่หลายฝ่ายประเมินไว้ว่าจะโตได้แค่ 5% โดยก่อนหน้านี้ได้ประชุมรับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชนในทุกภาคอุตสาหกรรม ซึ่งจะนำข้อเสนอและการประเมินสถานการณ์จากภาคเอกชน ประกอบการทำแผนงานและกำหนดเป้าหมายการส่งออกในปี 2556

          ทั้งนี้ ปัจจัยที่มีผลต่อการส่งออกในปีหน้า คือ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ชัดเจน และปัญหาหนี้ยูโรโซน ส่วนสหรัฐหลังเลือกตั้งเศรษฐกิจน่าจะมีการฟื้นตัวจากมาตรการกระตุ้นการบริโภคและลดปัญหาการว่างงาน

          โดยแผนงานการผลักดันการส่งออก เน้นเพิ่มตลาดเป้าหมาย เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของธุรกิจไทย นำเข้าวัตถุดิบเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าเพื่อการส่งออกไทย ผลักดันอาหารและผู้นำมาตรฐานอาหาร ส่งเสริมพัฒนาเอสเอ็มอี สร้างตราสินค้าของคนไทย และพัฒนาสินค้าเพื่อสิ่งแวดล้อม

          นายบุญทรง ระบุว่า ปีนี้การส่งออกของไทยจะโตที่ระดับ 4-5% ส่วนปี 2556 ยอมรับว่าหากจะให้กลับมาโตเป็นเลข 2 หลักคงเป็นไปได้ยาก

          นางศรีรัตน์ รัษฐปานะ อธิบดีกรมการค้าระหว่างประเทศ ระบุว่า กรมฯ ได้จัดทำแผนในการผลักดันการส่งออกสำหรับปี 2556 โดยเน้นเป้าหมายใน 8 ภารกิจหลัก เพื่อสนับสนุนการส่งออกสินค้าไทย โดยมีแผนที่จะดำเนินการชัดเจน และต้องการให้ทูตพาณิชย์และที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ของไทย (HTAs) ช่วยกันทำงานเพื่อสนับสนุนแผนดังกล่าว

สำหรับ 8 ภารกิจที่กรมฯ จะให้ความสำคัญในการดำเนินการในปี 2556 ได้แก่

          1. การขยายการค้าและการลงทุนกับประเทศสมาชิกอื่นของอาเซียน และพันธมิตรของอาเซียนภายใต้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC)
         
2. ครัวไทยสู่ครัวโลกและสินค้าฮาลาล
         
3. การพัฒนาสินค้าและบริการเพื่อรองรับเศรษฐกิจสีเขียว
         
4. การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืน การลดต้นทุน การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การแสวงหาวัตถุดิบและปัจจัยการผลิต
         
5. การพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs เข้าสู่ตลาดการค้าระหว่างประเทศ
         
6. การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการของไทย รวมทั้งสินค้า OTOP 
         
7. การสร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อสินค้า บริการ และผู้ประกอบการไทย เพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์ประเทศไทยให้มีความน่าเชื่อถือและได้รับการยอมรับ 8.การส่งเสริมผู้ประกอบการไทยให้ใช้ประโยชน์จากพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์

          ต้องติดตามดูกันว่า ในปีหน้าท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่เต็มไปด้วยปัจจัยเสี่ยง จะทำให้การส่งออกของไทยและเศรษฐกิจไทยไปในทิศทางใด


ขอขอบคุณข้อมูลจาก



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เศรษฐกิจไทยปี 2556 ปัจจัยเสี่ยงเพียบ โพสต์เมื่อ 10 ธันวาคม 2555 เวลา 09:51:22 38,815 อ่าน
TOP