x close

คํานวณภาษี ทำอยางไร มาดู วิธีคํานวณภาษี กัน




ยื่นภาษี 2558 พร้อมวิธีคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา



            ยื่นภาษี 2558 พร้อมวิธีคำนวณภาษี ใครยังไม่ได้ยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ปี 2558 ต้องมาเตรียมตัวกันหน่อย

            แน่นอนว่าในทุก ๆ ปี คนไทยทุกคนจะต้องเสียภาษีให้กับกรมสรรพากร ซึ่งหากใครยังไม่ได้ยื่นภาษี วันนี้กระปุกดอทคอมจะมาแนะนำข้อมูลเกี่ยวกับการยื่นภาษี 2558 พร้อมวิธีคำนวณภาษี ลองไปอ่านกันเลยจ้า
 
 ใครมีหน้าที่ยื่น

          หลายคนมักเข้าใจผิดว่า ถ้ามีเงินได้มากกว่าเดือนละ 20,000 บาท หรือมีเงินได้ต่อปีสูงกว่า 240,000 บาท จึงจะมีหน้าที่ยื่นเสียภาษี ซึ่งความเข้าใจนี้ไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้องค่ะ เพราะกรมสรรพากรได้กำหนดให้คนที่มีเงินได้แม้มีเงินได้ไม่ถึงเกณฑ์ต้องเสีย ภาษี ก็ต้องมีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายได้ ในกรณีต่อไปนี้

           คนโสด มีเงินได้ประเภทอื่น ๆ ที่ไม่ใช่เงินเดือนเกิน 30,000 บาทต่อปี หรือมีเฉพาะเงินเดือนตั้งแต่ 4,167 บาทขึ้นไป หรือตั้งแต่ 50,000 บาทต่อปี ในปีภาษีนั้น
          
           คนมีคู่ หากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดหรือทั้งสองฝ่ายมีเงินได้ประเภทอื่น ๆ ที่ไม่ใช่เงินเดือนรวมกันเกิน 60,000 บาท หรือมีเฉพาะเงินเดือนเกิน 100,000 บาทในปีภาษีนั้น


 ยื่นแบบไหน

          แบบยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา มีด้วยกัน 2 แบบ คือ แบบ ภ.ง.ด.90 และ ภ.ง.ด.91 ดูง่าย ๆ ว่าใครจะยื่นแบบไหน คนมีเงินเดือน โบนัส ค่าครองชีพก็ยื่นแบบ ภ.ง.ด.91 ส่วนคนที่มีรายได้อื่น ๆ หรือมีทั้งเงินเดือนและรายได้อื่น ๆ ให้ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90

          - ดาวน์โหลดแบบฟอร์ม ภ.ง.ด. 90
          - ดาวน์โหลดแบบฟอร์ม ภ.ง.ด. 91 

 ยื่นภาษีผ่านเน็ต

          สำหรับคนที่ต้องการยื่นภาษี สามารถยื่นแบบแสดงรายการภาษีผ่านทางอินเทอร์เน็ตได้เลย  ยื่นภาษีผ่านเน็ต

ตรวจสอบค่าลดหย่อนภาษี

          ก่อนที่จะไปคำนวณภาษีกัน ผู้เสียภาษีควรทราบข้อมูลของค่าลดหย่อนต่าง ๆ เพื่อนำไปใช้ในการคำนวณภาษีด้วยเหมือนกัน โดยค่าลดหย่อนของผู้มีเงินได้จะสามารถหักอะไรได้บ้างลองมาดูกันเลยค่ะ


 เช็กลิสต์เอกสารประกอบการยื่น

          ก่อนยื่นภาษี อย่าลืมตรวจสอบเอกสารต่าง ๆ ให้ครบก่อนนะคะ เพราะจะทำให้มีความสะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ในกรณีที่สรรพากรต้องการตรวจสอบเอกสาร จะได้จัดส่งได้โดยเร็วค่ะ โดยอาจมีเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ตามนี้

           1. หนังสือรับเงินเดือน (50 ทวิ) ซึ่ง ได้รับจากนายจ้าง โดยหนังสือรับรองจะระบุผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย จำนวนเงินได้ทั้งปี (รวมเงินเดือน โบนัสและเงินพิเศษต่าง ๆ) ภาษีที่หักและนำส่งไว้ รวมถึงเงินที่จ่ายเข้า กบข./กสจ./กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน  กองทุนประกันสังคม และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

           2. หนังสือรับรองการชำระเบี้ยประกันชีวิต สามารถ นำมาหักลดหย่อนได้ตามจริง สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท ส่วนประกันชีวิตแบบบำนาญ สามารถลดหย่อนได้ตามจริง สูงสุดไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินได้พึงประเมินแต่ไม่เกิน 200,000 บาท ทั้งนี้ เมื่อรวมค่าเบี้ยประกันแบบบำนาญกับเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือเงินสะสมเข้ากองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือเงินสะสมเข้ากองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพแล้ว ต้องไม่เกิน 500,000 บาท ในแต่ละปีภาษี  

           3. หนังสือรับรองการหักลดหย่อนค่าเลี้ยงดูบิดา-มารดา สามารถ ใช้สิทธิลดหย่อนบิดา-มารดาของตัวเองได้คนละ 30,000 บาท รวมทั้งบิดา-มารดาของคู่สมรส อีกคนละ 30,000 บาท โดยบิดา-มารดาต้องมีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป และผู้มีเงินได้เป็นผู้เลี้ยงดูบิดา-มารดา ทั้งนี้บิดา-มารดาต้องมีเงินได้ในปีภาษีไม่เกิน 30,000 บาท

          ดาวน์โหลดหนังสือรับรองการหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา

           4. เอกสารชำระค่าเบี้ยประกันสุขภาพบิดา-มารดา ลดหย่อนได้สูงสุดตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 15,000 บาท โดยบิดา-มารดาต้องมีเงินได้ในปีภาษีไม่เกิน 30,000 บาท

           5. ทะเบียนสมรส กรณีกรมสรรพากรเรียกตรวจ หากใช้สิทธิลดหย่อนภาษีคู่สมรสที่ไม่มีเงินได้ หรือมีเงินได้แต่เลือกนำมาคำนวณภาษีพร้อมกัน

           6. เอกสารรับรองบุตร หรือสูติบัตรของบุตร กรณีสรรพากรเรียกตรวจ ซึ่งเป็นได้ทั้งบุตรบุญธรรมและบุตรตามกฎหมาย โดยหักลดหย่อนได้คนละ 15,000 บาท แต่ไม่เกิน 3 คน (มากสุด 45,000 บาท) โดยบุตรจะต้องมีอายุไม่เกิน 20 ปี หรือถ้าเกิน 20 ปี (21-25 ปี) จะต้องศึกษาอยู่ในระดับ ปวส. ขึ้นไปเท่านั้น และหากบุตรศึกษาต่อในประเทศ  (ตั้งแต่อนุบาล-ปริญญาเอก) ก็จะได้ลดหย่อนเพิ่มอีกคนละ 2,000 บาท

           7. หนังสือรับรองการหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูคนพิการหรือคนทุพพลภาพ ลดหย่อนได้คนละ 60,000 บาท โดยมีเงื่อนไขดังนี้
          
                       คนพิการ จะ ต้องมีบัตรประจำตัวคนพิการ และระบุชื่อผู้มีเงินได้เป็นผู้ดูแลในบัตรประจำตัวคนพิการ โดยคนพิการต้องมีเงินได้ในปีภาษีไม่เกิน 30,000 บาท

                       คนทุพพลภาพ จะ ต้องเป็นผู้ทุพพลภาพมาแล้วไม่น้อยกว่า 180 วัน มีใบรับรองแพทย์ที่ออกในปีภาษีที่ขอใช้สิทธิหักลดหย่อน และมีหนังสือรับรองการเป็นผู้อุปการะเลี้ยงดูคนทุพพลภาพ

          ดาวน์โหลดหนังสือรับรองการหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูคนพิการหรือทุพพลภาพ  
   
          ดาวน์โหลดหนังสือรับรองการเป็นผู้อุปการะเลี้ยงดูคนทุพพลภาพ


           8. เอกสารรับรองการซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) สามารถ ใช้สิทธิได้สูงสุดไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินได้ และเมื่อรวมกับเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือเงินสะสมเข้ากองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือเงินสะสมเข้ากองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชนแล้ว ต้องไม่เกิน 500,000 บาท ในแต่ละปีภาษี

           9. เอกสารรับรองการซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) สามารถใช้สิทธิได้ไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินได้ และไม่เกิน 500,000 บาท

           10. ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อที่อยู่อาศัย สามารถหักลดหย่อนได้ตามจริง สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท

           11. ใบเสร็จรับเงินบริจาค สามารถ หักลดหย่อนได้ตามจริง สูงสุดไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้สุทธิ ทั้งนี้ หากเป็นเงินสนับสนุนการศึกษาสามารถหักลดหย่อนได้เป็น 2 เท่าของเงินบริจาค

           12. ใบกำกับภาษีค่าใช้จ่ายการท่องเที่ยวในประเทศ สูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท

          13. ใบกำกับภาษีค่าซื้อสินค้าและบริการระหว่างวันที่ 25-31 ธันวาคม 2558 สามารถลดหย่อนได้สูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท

ซื้อของลดหย่อนภาษี

          14. หลักฐานการกู้ซื้ออสังหาริมทรัพย์ ตามโครงการผ่อนปรนเงื่อนไขการกู้ซื้อบ้านกับธนาคารอาคารสงเคราะห์

          15. หลักฐานการเป็นสมาชิกและจ่ายเงินสะสมเข้ากองทุนการออมแห่งชาติ

          16. เอกสารเครดิตภาษีเงินปันผล สำหรับคนที่ลงทุนในหุ้น แนะนำให้สมัครสมาชิกที่เว็บไซต์ ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย แล้วดาวน์โหลดเอกสารไปใช้ยื่นสรรพากรโดยที่เราไม่ต้องคำนวณให้ยุ่งยาก

          17. หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย กองทุนรวมต่าง ๆ กรณีที่เราลงทุนในกองทุนรวมที่มีการจ่ายปันผล เงินปันผลที่ได้รับนั้นจะถูกหักภาษี 10% แต่ผู้ลงทุนก็สามารถเลือกได้ว่าจะให้หักภาษี ณ ที่จ่ายไปเลยหรือไม่

          อย่างไรก็ตาม กรณีที่เราเลือกให้เงินปันผลนั้นยังไม่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย 10% เราจะต้องนำเงินปันผลที่ได้มารวมกับเงินได้ประจำปี เพื่อยื่นคำนวณภาษีด้วยค่ะ ดังนั้นต้องเก็บเอกสารจากกองทุนรวมที่จะส่งมาให้ไว้ให้ดี เพื่อยื่นแสดงหลักฐานต่อกรมสรรพากร

          18. หนังสือหรือเอกสารรับรองเงินได้อื่น ๆ นอกเหนือจากเงินเดือน
 

          ทั้งนี้หากใครยื่นภาษีเป็นประจำทุกปี แล้วเคยยื่นเอกสาร อาทิ ทะเบียนสมรส สูติบัตรของบุตร
หนังสือ รับรองการหักลดหย่อนค่าเลี้ยงดูบิดา-มารดา ฯลฯ ไปแล้ว ในปีต่อ ๆ ไป ทางสรรพากรอาจไม่เรียกตรวจเอกสารอีก แต่เตรียมพร้อมไว้ก่อนก็ดีนะคะ จะได้ไม่ล่าช้าหากถูกเรียกตรวจ


ซื้อของลดหย่อนภาษี
 
วิธีคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด.90 - ภ.ง.ด.91)

          สำหรับใครที่ยังไม่ทราบว่า แบบภาษี ภ.ง.ด.90 กับ ภ.ง.ด.91 แตกต่างกันอย่างไร ก่อนจะไปคิดคำนวณภาษีกันลองมาทำความเข้าใจแบบง่าย ๆ กันก่อน เมื่อรูัแล้วก็ลองไปดูวิธีคิดภาษีกันได้เลย

                  ภ.ง.ด.90 คือ ผู้ที่มีรายได้นอกเหนือจากเงินเดือนที่ได้รับ เช่น ค้าขายแบบบุคคลธรรมดา เงินปันผล หรืออื่น ๆ

                  ภ.ง.ด.91 คือ ผู้ที่มีรายได้เป็นเงินเดือนเพียงอย่างเดียว โดยไม่มีรายได้ทางอื่น


ขั้นตอนที่ 1 นำรายได้ทั้งปีมาหักค่าใช้จ่ายส่วนตัว

          นำรายได้ตลอดทั้งปีมาหักค่าใช้จ่าย แยกตามประเภทของรายได้ และหักลดหย่อนตามรายการต่าง ๆ เพื่อหารายได้สุทธิ

ตัวอย่างที่ 1

          หากนาย A มีรายได้ทั้งปี 400,000 บาท จะต้องหักค่าใช้จ่ายเบื้องต้นดังนี้

               หักค่าใช้จ่าย 40% ของเงินได้ (แต่ไม่เกิน 60,000 บาท) = 60,000 บาท

              จะเหลือรายได้สุทธิ 340,000 บาท


ขั้นตอนที่ 2 นำรายได้ที่เหลือมาหักค่าลดหย่อน

              จากนั้น ลองสำรวจดูว่าเรามีค่าลดหย่อนอะไรบ้าง แล้วนำค่าลดหย่อนนั้นมาลบออกจาก 340,000 บาท

              เช่น หากปีนี้ นาย A ซึ่งมีภรรยา 1 คน มีรายได้ไม่ถึง 30,000 บาท ทั้งคู่จดทะเบียนสมรสกันแล้ว แต่ไม่มีบุตร จ่ายประกันสังคมไป 9,000 บาท, มีบิดาอายุ 60 ปีขึ้นไปที่ต้องเลี้ยงดู 1 ท่าน, ซื้อ LTF ไป 50,000 บาท และยังมีค่าใช้จ่ายจากการท่องเที่ยวในประเทศ 10,000 บาท ก็สามารถนำค่าลดหย่อนทั้งหมดมาหักออกจาก 710,000 บาท ดังนี้

              หักค่าลดหย่อนส่วนตัว 30,000 บาท
               หักค่าลดหย่อนคู่สมรส 30,000 บาท
               หักค่าประกันสังคม 9,000 บาท
               หักค่าลดหย่อนเลี้ยงดูบิดา 1 คน จำนวน 30,000 บาท
               หักค่าซื้อ LTF ไป 50,000 บาท
               หักค่าใช้จ่ายจากการท่องเที่ยว 10,000 บาท

              จะเหลือรายได้สุทธิ 181,000 บาท


ขั้นตอนที่ 3 นำรายได้สุทธิที่ได้ มาเทียบอัตราภาษี

          ปัจจุบันใช้วิธีเสียภาษีแบบขั้นบันได ซึ่งอัตราภาษีในปี 2558 เป็นดังนี้ 

          อัตราภาษีแบบขั้นบันได

                  รายได้ 0-150,000 ยกเว้นอัตราภาษี    

                  รายได้ 150,001-300,000 บาท อัตราภาษี 5%

                  รายได้ 300,001-500,000 บาท อัตราภาษี 10%

                  รายได้ 500,001-750,000 บาท อัตราภาษี 15%

                  รายได้ 750,001-1,000,000 บาท อัตราภาษี 20%

                  รายได้ 1,000,001-2,000,000 บาท อัตราภาษี 25%

                  รายได้ 2,000,001-4,000,000 บาท อัตราภาษี 30%

                  รายได้ 4,000,000 บาทขึ้นไป อัตราภาษี 35%
      
          กรณีของนาย A มีรายได้สุทธิอยู่ที่ 181,000 บาท เท่ากับต้องเสียภาษีในอัตราสูงสุดที่ 5% แต่ในจำนวนนี้ 150,000 บาทแรก ได้รับการยกเว้นภาษี จึงคงเหลือส่วนที่ต้องเสียภาษีอยู่ที่ (181,000-150,000) = 31,000 บาท ที่อัตรา 5% คิดเป็นเงินภาษี 1,550 บาท

ตัวอย่างที่ 2

          นางสาวบี ยังไม่ได้แต่งงาน ทำงานมีรายได้รวมทั้งปี 600,000 บาท ส่งเงินสมทบประกันสังคม 9,000 บาท ซื้อประกันชีวิตไว้ 40,000 บาท ซื้อสินค้าในช่วงวันที่ 25-31 ธันวาคม 2558 เป็นเงิน 10,000 บาท คำนวณภาษีได้ดังนี้

              หักค่าใช้จ่าย 40% ของเงินได้ (แต่ไม่เกิน 60,000 บาท) = 60,000 บาท
              หักค่าลดหย่อนส่วนตัว 30,000 บาท
               หักค่าประกันสังคม 9,000 บาท
               หักค่าซื้อประกันชีวิต 40,000 บาท
               หักค่าใช้จ่ายซื้อสินค้าและบริการ 10,000 บาท

              จะเหลือรายได้สุทธิ 451,000 บาท

              มีรายได้สุทธิอยู่ที่ 451,000 บาท เท่ากับต้องเสียภาษีในอัตราสูงสุดที่ 10% เราสามารถคำนวณภาษีแต่ละขั้นได้ดังนี้

              150,000 บาทแรก ไม่เสียภาษี
                  จึงเหลือเงินที่ต้องไปคำนวณ (451,000-150,000) = 301,000 บาท

              150,000 บาทต่อมา เสียภาษี 5% คิดเป็นเงิน 7,500 บาท
                  จึงเหลือเงินที่ต้องไปคำนวณ (301,000-150,000) = 151,000 บาท

              เงินส่วนที่เหลือ 151,000 บาท นำมาคิดภาษีที่ฐาน 10% จะเท่ากับ 15,100 บาท

            นำเงินภาษีแต่ละขั้นมารวมกัน (7,500+15,100) เท่ากับนางสาวบีต้องเสียภาษี 22,600 บาท


          ไม่ยากเลยใช่ไหมคะ สำหรับวิธีคำนวณภาษีที่ต้องเสียในแต่ละปี หรือถ้าหากใครไม่อยากเสียเวลากับการนั่งคิดเลขที่ละตัว ก็สามารถใช้ตัวช่วยได้ค่ะ โดยดาวน์โหลดโปรแกรมได้ที่นี่  โปรแกรมคำนวณภาษี 


ตรวจสอบการขอคืนภาษี

          หลังจากยื่นเอกสารไปแล้ว 1 วันทำการ สามารถสอบถามข้อมูลการขอคืนภาษี ภ.ง.ด.90 และ ภ.ง.ด.91 ได้ที่เว็บไซต์กรมสรรพากร สอบถามข้อมูลการขอคืนภาษี 


ภาษีเงินได้


          หลังจากนั้นอย่าลืมยื่นภาษีให้ ทันเวลาด้วยนะคะ โดยสามารถเริ่มยื่นแบบภาษีได้ตั้งแต่เดือนมกราคม-มีนาคม หรือเมษายน (ทางอินเทอร์เน็ต) ของทุกปี ยิ่งยื่นก่อนก็ยิ่งได้เงินคืนเร็วจ้า




ขอขอบคุณข้อมูลจาก
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
คํานวณภาษี ทำอยางไร มาดู วิธีคํานวณภาษี กัน อัปเดตล่าสุด 21 มกราคม 2559 เวลา 09:36:56 497,290 อ่าน
TOP