สงครามโลกครั้งที่ 1 บทเรียนประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ

ภาพการทำสงรามในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 1

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก baanjomyut.com , สารานุกรมไทย
 
           สงคราม คือสิ่งเลวร้ายที่สุดที่มนุษย์กระทำต่อกัน เพราะเมื่อใดที่เกิดภาวะสงคราม ย่อมหมายถึง การสูญเสีย ความเสียหายและความทุกข์ทรมานของทุกฝ่าย ไม่ว่าสุดท้ายฝ่ายใดจะเป็นฝ่ายได้รับชัยชนะก็ตาม อย่างเช่นในสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่มีการสู้รบและสูญเสียต่อเนื่องยาวนานเป็นเวลาหลายปี บทเรียนนี้ทำให้เราควรย้อนกลับมาดูปมของความขัดแย้งที่เกิดขึ้นว่า สงครามครั้งนี้เริ่มต้นจากอะไร ฝ่ายไหนได้รับชัยชนะและไทยมีบทบาทในสงครามโลกครั้งนี้อย่างไร มาติดตามเรื่องราวกันได้เลย
 

สาเหตุของสงครามโลกครั้งที่ 1

 
           สงครามโลกครั้งที่ 1 เป็นสงครามที่เริ่มและมีศูนย์กลางอยู่ในทวีปยุโรป ชนวนเหตุสำคัญของความขัดแย้งเริ่มจาก เมื่อ วันที่ 28 มิถุนายน ค.ศ. 1914 เกิดการลอบปลงพระชนม์ อาร์ช ดยุก ฟรานซ์ เฟอร์ดินานด์ มกุฎราชกุมารแห่งจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี ขณะเสด็จเยือนกรุงซาราเจโว เมืองหลวงของแคว้นบอสเนีย-เฮอร์เซโกวีนา โดย กัฟรีโล ปรินซีป นักชาตินิยมชาวเซอร์เบีย ออสเตรีย-ฮังการี เชื่อว่า เซอร์เบียอยู่เบื้องหลังในการกระทำดังกล่าว จึงยื่นคำขาดต่อราชอาณาจักรเซอร์เบีย เป็นข้อเรียกร้อง 10 ประการ ซึ่งมีเจตนาทำให้ยอมรับไม่ได้และจุดชนวนสงครามขึ้น เมื่อเซอร์เบียยอมตกลงในข้อเรียกร้องเพียง 8 ข้อ ออสเตรีย-ฮังการี จึงประกาศสงครามเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม ค.ศ. 1914
 
           ทั้งนี้ ตัวเร่งไฟสงครามให้โหมกระหน่ำมาจากปมปัญหาเรื่องสมดุลอำนาจที่สั่งสมมานานของหลายประเทศในภาคพื้นยุโรป ทั้งเรื่องการแข่งขันทางเศรษฐกิจ การแย่งชิงอาณานิคมและระบบภาคีพันธมิตรที่แบ่งเป็น 2 ฝ่ายมหาอำนาจก่อนหน้านี้ โดยแยกเป็น ฝ่ายสัญญาไตรภาคี ประกอบด้วย เยอรมนี ออสเตรีย-ฮังการี อิตาลี และฝ่ายสัญญาไตรพันธมิตร ประกอบด้วย อังกฤษ ฝรั่งเศส รัสเซีย ซึ่งชาติพันธมิตรเหล่านี้ รวมถึงชาติอาณานิคมของแต่ละประเทศ ต่างถูกดึงให้เข้าร่วมในสงคราม ทำให้ความขัดแย้งลุกลามไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว

ภาพการรบและอาวุธยุทโธปกรณ์ ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 1

 

ภาพรวมการรบของสงครามโลกครั้งที่ 1

 
           สงครามเปิดฉากในวันที่ 28 กรกฎาคม ค.ศ. 1914 วันเดียวกับการประกาศสงคราม ประเทศออสเตรีย-ฮังการี ได้เปิดฉากรุกรานเซอร์เบียเป็นครั้งแรก ส่วนเยอรมันที่อยู่ฝ่ายเดียวกัน ก็เปิดฉากรุกรานเบลเยียม เป็นจุดเริ่มของสงครามที่ยากเกินจะยับยั้งอีกต่อไป
 
           สงครามครั้งนี้แบ่งเป็น 2 ฝ่ายคือ ฝ่ายมหาอำนาจไตรภาคีมี ฝรั่งเศส อังกฤษ รัสเซีย และประเทศอาณานิคม หลังจากนั้นได้มีชาติมหาอำนาจเข้าร่วมเพิ่มเติมคือ จักรวรรดิญี่ปุ่น เมื่อเดือนสิงหาคม ปี 1914 , อิตาลี เมื่อเดือนเมษายน ปี 1915 และสหรัฐอเมริกา เมื่อเดือนเมษายน ปี 1917
 
           ส่วนอีกฝ่ายคือ ฝ่ายมหาอำนาจกลาง ประกอบด้วย จักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี จักรวรรดิเยอรมนีและดินแดนอาณานิคม จากนั้นมีจักรวรรดิออตโตมาน เข้าร่วมด้วยในเดือนตุลาคม ปี 1914 และบัลแกเรียในปี 1915 มีประเทศที่วางตัวเป็นกลางไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดคือ เนเธอร์แลนด์ สเปน และประเทศตามคาบสมุทรสแกนดิเนเวีย แม้ว่าประเทศเหล่านี้อาจจะเคยส่งเสบียงและยุทโธปกรณ์ไปช่วยเหลือบางประเทศที่รบอยู่ก็ตาม
 
           การสู้รบที่เกิดขึ้นตามแนวรบด้านตะวันตก จะเป็นการรบรูปแบบ สนามเพลาะ (การขุดหลุมเป็นแนวยาวหลายแนวสลับซับซ้อนกัน ด้านหน้าสร้างลวดหนามไว้ต้านทานข้าศึก) และป้อมปราการซึ่งถูกแยกออกจากกันด้วยดินแดนรกร้าง แนวปราการทั้ง 2 ฝ่าย จะตรึงขนานกันเป็นระยะมากกว่า 600 กิโลเมตร
 
           ส่วนในแนวรบด้านตะวันออก เนื่องจากเป็นที่ราบกว้างขวางและมีเครือข่ายทางรถไฟจำกัด ทำให้ไม่สามารถรบรูปแบบสนามเพลาะได้ แม้ว่าความรุนแรงจะไม่ต่างจากด้านตะวันตกก็ตาม ขณะที่แนวรบตะวันออกกลางและแนวรบอิตาลี ก็มีการสู้รบกันอย่างดุเดือดเช่นกัน สงครามครั้งนี้ยังเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของการรบทางอากาศอีกด้วย
 
           หลังจากการรบที่ยาวนานตั้งแต่ วันที่ 28 กรกฎาคม ค.ศ. 1914 ถึงวันที่ 11 พฤศจิกายน ค.ศ. 1918 รวมเวลากว่า 4 ปี 4 เดือน ในที่สุด ฝ่ายที่ได้รับชัยชนะคือ ฝ่ายพันธมิตรที่มีแกนนำเป็น ฝรั่งเศส อังกฤษ รัสเซีย ส่วนฝ่ายที่พ่ายแพ้คือ ฝ่ายมหาอำนาจกลาง ที่ประกอบด้วย จักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี จักรวรรดิเยอรมนี ภายหลังสงครามได้มีการเซ็นสนธิสัญญาจำนวนมาก แต่สัญญาที่สำคัญคือ สนธิสัญญาแวร์ซายส์ (สนธิสัญญาสันติภาพ ซึ่งเป็นการยุติสถานะสงครามระหว่างฝ่ายสัมพันธมิตรและจักรวรรดิเยอรมัน) เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 1919
 

ผลกระทบของสงครามโลกครั้งที่ 1

 
           ผลสำคัญอย่างหนึ่งคือ มีการวาดรูปแผนที่ยุโรปใหม่ ทำให้ประเทศมหาอำนาจสูญเสียดินแดนของตัวเองเป็นจำนวนมาก
 
           - จักรวรรดิออสเตรีย- ฮังการี แตกออกเป็นประเทศใหม่ ได้แก่ ออสเตรีย ฮังการี เชโกสโลวาเกีย ยูโกสลาเวีย
          
           - จักรวรรดิออตโตมานล่มสลายไป แผ่นดินเดิมของจักรวรรดิบางส่วน ถูกแบ่งให้กลายเป็นอาณานิคมของผู้ชนะสงครามทั้งหลาย
 
           - เยอรมัน ต้องชดใช้ค่าปฏิกรรมสงครามจำนวนมหาศาล
 
           - จักรวรรดิรัสเซีย ได้สูญเสียดินแดนชายแดนด้านตะวันตกจำนวนมาก กลายเป็นประเทศใหม่ ได้แก่ เอสโตเนีย ฟินแลนด์ ลัตเวีย ลิทัวเนียและโปแลนด์
 
           ขณะเดียวกัน ผู้ชนะสงครามโลกครั้งที่ 1 ได้มีการก่อตั้ง สันนิบาตชาติ เป็นองค์การที่มีสมาชิกหลายประเทศ โดยมีจุดประสงค์อยู่ที่การแก้ไขปัญหาระหว่างประเทศด้วยวิธีการทางการทูตสหรัฐอเมริกาที่ได้เข้าร่วมรบ ก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจโลกเสรีเคียงคู่กับอังกฤษและฝรั่งเศส ส่วนรัสเซียกลายเป็นมหาอำนาจโลกสังคมนิยม ต่อมาสามารถขยายอำนาจไปผนวกกับแคว้นต่าง ๆ เช่น ยูเครน เบลารุส ฯลฯ จึงประกาศจัดตั้งสหภาพโซเวียต (Union of Soviet Republics -USSR) ในปี ค.ศ. 1922
 
           ส่วน สนธิสัญญาแวร์ซาย ที่ร่างโดยฝ่ายชนะสงครามให้กับเยอรมนีและสนธิสัญญาสันติภาพอีก 4 ฉบับให้กับพันธมิตรของเยอรมนีนั้น ก็เพื่อให้ฝ่ายผู้แพ้ยอมรับผิดในฐานะเป็นผู้ก่อให้เกิดสงคราม แล้วต้องเสียค่าปฏิกรรมสงคราม เสียดินแดนทั้งในยุโรปและอาณานิคม ต้องลดกำลังทหารกับอาวุธ และต้องถูกพันธมิตรเข้ายึดครองดินแดน จนกว่าจะปฏิบัติตามเงื่อนไขของสนธิสัญญา แต่เนื่องจากประเทศผู้แพ้ไม่ได้เข้าร่วมในการร่างสนธิสัญญา แต่ถูกบีบบังคับให้ลงนามยอมรับข้อตกลงของสนธิสัญญา จึงเกิดการต่อต้านในหลายประเทศ เช่น การก่อตัวของลัทธิฟาสซิสต์ในอิตาลี นาซีในเยอรมันและเผด็จการทหารในญี่ปุ่น ซึ่งในเวลาต่อมา ประเทศมหาอำนาจทั้ง 3 ได้ร่วมมือเป็นพันธมิตรระหว่างกัน เพื่อต่อต้านโลกเสรีและคอมมิวนิสต์ เรียกกันว่าฝ่ายอักษะ (Axis) มีการจัดตั้งองค์กรกลางในการเจรจาไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างประเทศ เพื่อความมั่นคงปลอดภัยและสันติภาพของโลกในอนาคต

           อย่างที่ทราบกันดีว่า หลังจบสงครามโลกครั้งที่ 1 ไม่นานก็มีสงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดขึ้น และเมื่อสงครามโลกทั้งสองครั้งจบลงก็ได้เข้าสู่ยุคสงครามเย็น และสงครามเย็นถือเป็นช่วงเวลาของความตึงเครียดทางการเมืองและทหารระหว่างสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตที่กินระยะเวลาตั้งแต่ปี 1947 ถึง 1991 การแข่งขันนี้ไม่ได้นำไปสู่การต่อสู้โดยตรง แต่เห็นได้ชัดในการแข่งขันด้านอาวุธนิวเคลียร์, การแข่งขันด้านอวกาศ, การแทรกแซงทางทหารในประเทศที่สาม, และการแพร่กระจายของอุดมการณ์ทั่วโลก สงครามเย็นจบลงด้วยการล่มสลายของสหภาพโซเวียต, ซึ่งเปิดทางให้โลกเข้าสู่ยุคใหม่ที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น 

ไทยกับสงครามโลกครั้งที่ 1

 
           สงครามโลกครั้งที่ 1 ได้เกิดขึ้นตรงกับ พ.ศ. 2457 ขณะนั้นประเทศไทยวางตัวเป็นกลาง แต่เนื่องด้วยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงติดตามสถานการณ์สงครามอย่างใกล้ชิด แล้วทรงเห็นว่าฝ่ายเยอรมันเป็นฝ่ายที่รุกราน จึงทรงตัดสินพระทัยประกาศสงครามกับเยอรมนีและออสเตรีย -ฮังการี เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2460 จึงมีการประกาศเรียกพลทหารอาสาสำหรับกองบินและกองยานยนตร์ทหารบก เพื่อเข้าร่วมรบในสมรภูมิยุโรป
 
           การไปร่วมรบครั้งนี้ทหารไทยได้ประสบกาณ์มากมาย ทั้งทางเทคนิคการรบ และทางการช่างในสงครามจริง ไทยยังได้เปลี่ยนธงชาติที่มีสัญลักษณ์รูปช้าง เป็นธงไตรรงค์เพื่อใช้ในการนี้ด้วย
 

           หลังสงครามเสร็จสิ้น ฝ่ายสัมพันธมิตรที่ไทยไปช่วยรบได้รับชนะ ไทยได้รับเชิญให้เข้าเป็นสมาชิกประเภทริเริ่มองค์การสันนิบาตชาติ อันเป็นหลักประกันความปลอดภัยของประเทศ ทั้งยังได้รับเกียรติเข้าร่วมทำสนธิสัญญาแวร์ซาย ได้ทำการยกเลิกสัญญาที่เคยทำไว้กับออสเตรีย – ฮังการีและเยอรมัน ต่อมามีการสร้างอนุสาวรีย์ที่เกี่ยวกับสงครามโลกครั้งนี้ และในด้านการทหาร ได้จัดตั้งกรมอากาศยานขึ้นเป็นครั้งแรกอีกด้วย
 
           ได้ทราบถึงประวัติความเป็นมาของสงครามโลกครั้งที่ 1 ไปแล้ว เชื่อว่าหลายคนคงได้ข้อคิดสำคัญคือ ไม่ควรแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ด้วยความรุนแรง เพราะนอกจากจะไม่ช่วยแก้ปัญหาแล้ว ยังเพิ่มความรุนแรงให้กับปัญหาได้อีกด้วยครับ


 



อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
baanjomyut.com
สารานุกรมไทย
chanpradit.ac.th





เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สงครามโลกครั้งที่ 1 บทเรียนประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ อัปเดตล่าสุด 29 เมษายน 2567 เวลา 17:00:09 281,986 อ่าน
TOP
x close