x close

ตงก่วน เมืองเศรษฐกิจสุดบูมของจีน หนี้พอกใกล้ล้มละลาย




เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูล

          เมืองตงก่วน ซึ่งตั้งอยู่ในมณฑลกวางตุ้ง อาจไม่เป็นที่คุ้นหูชาวไทยเท่าใดนัก แต่หากบอกว่ามันเป็นเมืองศูนย์กลางการผลิตสินค้าไฮเทคที่สำคัญที่สุดของโลกแห่งหนึ่ง ขนาดที่รองประธานของบริษัท IBM ยังเคยกล่าวว่า "แค่ทางด่วนของเมืองนี้ติดขัดสัก 15 นาที ก็มากพอที่จะส่งผลกระทบถึงความผันผวนของราคาคอมพิวเตอร์ทั่วโลกได้แล้ว" แต่เชื่อหรือไม่ว่า เมืองที่เฟื่องฟูและเศรษฐกิจรุ่งเรืองถึงระดับนี้ ปัจจุบันกลับเข้าขั้นวิกฤติจวนเจียนล้มละลายเต็มที อันเนื่องมาจากแต่ละหมู่บ้านในเมืองสะสมหนี้ไว้ท่วมหัว 

          จากการสำรวจเมื่อสิ้นปี 2553 ที่ผ่านมา พบว่าองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศจีนมีหนี้สูงถึง 10.7 ล้านล้านหยวน เทียบเป็นร้อยละ 27 ของจีดีพี แต่สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือมูดีส์ ประเมินว่า จำนวนหนี้สินแท้จริงอาจสูงถึงราว 14.2 ล้านล้านหยวนเลยทีเดียว และเมื่อกลับมาดูหมู่บ้านตงก่วนอันเรื่องรุ่งฟูเฟื่องในด้านเศรษฐกิจมาตลอดช่วง 30 ปีที่ผ่านมา การวิจัยจากมหาวิทยาลัยซุนยัดเซ็น กลับพบว่า 60% ของหมู่บ้านในเมืองตงก่วน กำลังประสบปัญหาขาดดุลงบประมาณอย่างหนัก และกำลังต้องการความช่วยเหลือทางการเงินอย่างเร่งด่วน เพื่อพยุงเศรษฐกิจของหมู่บ้านให้พออยู่รอดต่อไปได้  

          สาเหตุของหนี้สินที่นำมาซึ่งการขาดดุลทางการเงินของหมู่บ้านในเมืองตงก่วน เกิดจาก 2 ประการด้วยกัน ประการแรกคือ การที่เศรษฐกิจหลักที่ขับเคลื่อนหมู่บ้านเหล่านี้มาจากธุรกิจการให้เช่าที่อยู่อาศัย และเช่าที่ดินสำหรับทำโรงงาน ส่วนอีกหนึ่งประการคือ นโยบาย "เงินปันผล" ของหัวหน้าหมู่บ้าน ที่จะจ่ายตอบแทนให้ทุก ๆ เดือน หากตนได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่ง 

          ทั้งนี้ จากการที่ก่วนตงเปลี่ยนแปลงตัวเองจากเมืองเกษตรกรรมเดิมกลายเป็นเมืองอุตสาหกรรมเมื่อช่วงปี 1980 ทำให้มีแรงงานหลั่งไหลเข้ามามหาศาล จำนวนประชากรในเมืองค่อย ๆ เพิ่มจาก 1.8 ล้านคน จนแตะ 8 ล้านคนในเวลาไม่นาน ผู้ที่อยู่อาศัยเดิมจึงเริ่มหาเงินด้วยการสร้างอาคารและบ้านพักสำหรับให้เช่าอาศัย เช่นเดียวกับทางองค์การบริหารหมู่บ้านที่ให้โรงงานต่าง ๆ เข้ามาเช่าที่ดินเพื่อจัดทำธุรกิจอุตสาหกรรม ซึ่งแน่นอนว่าที่ผ่านมารายได้งามไม่ใช่น้อย ทว่าช่วง 5 ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจโลกก้าวเข้าสู่ภาวะตกต่ำ โรงงานมากมายพากันปิดกิจการ หรือย้ายออกจากตงก่วนไปตั้งโรงงานใหม่ที่ทำเลซึ่งอยู่ลึกเข้าไปด้านในแผ่นดิน นอกจากธุรกิจโรงงานทรุดแล้ว แรงงานเองก็พากันทยอยออกจากเมือง ทำให้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ให้เช่าที่พักอาศัยของชาวบ้าน ซบเซาลงอย่งรวดเร็วไปตาม ๆ กัน 

          ส่วนการสรรหาหัวหน้าหมู่บ้าน รัฐบาลจีนก็เริ่มให้ชาวบ้านออกมาเลือกตั้งหย่อนบัตรด้วยตนเอง ผู้ลงเลือกตั้งจึงพยายามจูงใจให้คนมาเลือกตนด้วยการนโยบาย "เงินปันผล" ที่จะจ่ายให้กับครอบครัวทุก ๆ เดือน โดยหัวหน้าหมู่บ้านบางรายสัญญาว่าให้จ่ายเงินปันผลให้มากถึงเดือนละ 10,000 หยวน เลยทีเดียว ซึ่งเงินเหล่านี้ก็มาจากรายได้ในการเช่าที่ตั้งของโรงงาน และเมื่อเศรษฐกิจซบ โรงงานเจ๊ง เงินส่วนนี้ก็สูญไปด้วย หัวหน้าหมู่บ้านจึงดิ้นรนหาแหล่งที่มาใหม่ของเงินก้อนนี้ด้วยการกู้เงินระยะสั้นจากธนาคารส่วนท้องถิ่น ซึ่งคิดดอกเบี้ยแพงถึงร้อยละ 30 .. และสุดท้ายด้วยเศรษฐกิจที่กระทบกันเป็นลูกโซ่ หมู่บ้านก็ไม่สามารถจัดการชำระเงินกู้ได้ ธนาคารซึ่งคาดว่าองค์การบริหารเมืองต่งกวนน่าจะยื่นมือเข้ามาช่วยหมู่บ้านก็ต้องผิดหวัง เพราะแม้แต่องค์การเองบริหารเมืองเองก็ยังเดือดร้อนไม่แพ้กัน โดยจีดีพีของเมืองลดมาอยู่ที่ร้อยละ 2.5 เท่านั้น เมื่อเทียบกับอัตตราเฉลี่ยร้อยละ 8 ในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา 

          ไม่แน่ว่าอาการร่อแร่ของเมืองตงก่วน ซึ่งพลิกผันจากเมืองที่ได้ชื่อว่ามั่งคั่งที่สุดแห่งหนึ่งกลายเป็นความซบเซาจนน่าตกใจ อาจเป็นลางบอกเหตุถึงวิกฤติการเงินโดยรวมของประเทศจีน ซึ่งเศรษฐกิจเริ่มเข้าสู่ช่วงชะลอตัวอยู่ในขณะนี้ก็เป็นได้


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ตงก่วน เมืองเศรษฐกิจสุดบูมของจีน หนี้พอกใกล้ล้มละลาย โพสต์เมื่อ 28 ธันวาคม 2555 เวลา 15:12:35 4,606 อ่าน
TOP