x close

สำนักข่าวอิศรา ชี้ กสทช. ให้ ไทยคม ผูกขาดดาวเทียม ส่อพิรุธ

ไทยคม



เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

ขอขอบคุณภาพประกอบจาก สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น)

          สำนักข่าวอิศรา วิเคราะห์ กสทช. ให้ ไทยคม ต่อสัญญาไปอีก 20 ปี ดูมีพิรุธ เพราะทำเร่งรัดผิดปกติ ชี้ เป็นการผูกขาดไม่ให้มีการแข่งขันเกิดขึ้น 

          เมื่อวันที่ 5 มกราคม เว็บไซต์สำนักข่าวอิศรา ได้นำเสนอบทวิเคราะห์เกี่ยวกับการที่ คณะกรรมการกิจการโทรทัศน์ กิจการกระจายเสียงและกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้ออกใบอนุญาตประกอบกิจการดาวเทียมให้กับ บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) เป็นเวลาอีก 20 ปี พร้อมกับนำเสนองานวิจัยของคณะทำงานติดตาม กสทช. (NBTC Watch) เรื่อง "กสทช. กับการทำลายโอกาสในการเลิกการผูกขาดในกิจการดาวเทียมสื่อสาร" ที่้ตั้งข้อสงสัยว่า เหตุใดจึงมีการผูกขาดเทคโนโลยีดาวเทียมให้กับ บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) เพียงเจ้าเดียว เพราะการผูกขาดเช่นนี้จะทำให้การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีไม่สามารถพัฒนาให้เกิดประสิทธิผลสูงสุด

          สำนักข่าวอิศรา ยังเปิดเผยข้อมูลอีกว่า จากรายงานฉบับดังกล่าวชี้ว่า การผูกขาดดาวเทียมเริ่มมาจากสมัยที่หน่วยงานของรัฐยังนิยมให้เอกชนดำเนินกิจการต่าง ๆ ภายใต้ระบบสัมปทาน ทำให้ในตอนนั้น ไทยคม ได้รับสัมปทานจากกระทรวงคมนาคม (ในสมัยนั้น) เป็นเวลา 30 ปี และมีเงื่อนไขคุ้มครองไม่ให้ผู้ประกอบการายอื่นเข้ามาแข่งขันกับบริษัทไทยคมฯ ด้วย

          ต่อมาในปี พ.ศ. 2543 มีการเปลี่ยนแปลงมาเป็น "ระบบใบอนุญาต" ตาม พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (หรือ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ) และมีการจัดตั้งคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในปี พ.ศ.2554 ทำให้หลายฝ่ายตั้งความหวังว่า กิจการดาวเทียม น่าจะมีการแข่งขันกันได้เสียที ตามที่ระบุว่าในมาตรา 4 ของ พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ.2553 ว่า "กิจการดาวเทียม" เป็น "กิจการโทรคมนาคม" ซึ่งต้องเปิดกว้างให้มีการแข่งขันกัน แต่ทว่าสุดท้ายแล้ว บริษัท ไทยคม จำกัด ก็ยังคงได้รับใบอนุญาตโดยที่ไม่ต้องประมูล เพราะ กสทช. ตีความข้อกฎหมายว่า "ผู้ให้บริการช่องสัญญาณดาวเทียม (Satellite Network Operator)" เป็นกิจการที่ไม่ใช้คลื่นความถี่

          เรื่องดังกล่าว ทำให้หลายฝ่ายมองว่าเรื่องนี้มีพิรุธ พร้อมทั้งตั้งข้อสังเกตถึงความเร่งรัดอย่างผิดปกติ รวมทั้งการตีความคำว่า "ผู้ให้บริการช่องสัญญาณดาวเทียม" เป็นกิจการที่ไม่ต้องประมูลคลื่นความถี่ จึงทำให้คนสงสัยว่า หากให้ผู้ให้บริการสถานีดาวเทียมภาคพื้นดินซึ่งถือว่าเป็น "ผู้ให้บริการสื่อสารผ่านดาวเทียม (Satellite Service Provider)" เป็นผู้ประมูลคลื่นความถี่แทน ทั้งที่ดาวเทียมแต่ละดวงใช้คลื่นความถี่ที่ไม่เหมือนกัน อาทิ C-Band Ku-Band Ka-Band X-Band ฯลฯ ก็หมายความว่า ทุกรายต้องประมูลคลื่นทุกชนิดเพื่อให้บริการผ่านช่องสัญญาณดาวเทียมที่ใช้คลื่นแตกต่างกันทั้งหมด


          สำนักข่าวอิศรา ยังชี้ให้เห็นด้วยว่า แม้แต่การออกใบอนุญาตก็ยังดูผิดปกติ และการพิจารณาในขั้นตอนต่าง ๆ ก็ดูเหมือนตั้งธงไว้ในการกำหนดให้ผู้ให้บริการช่องสัญญาณดาวเทียมไม่จำเป็นต้องประมูลคลื่นความถี่ตามมาตรา 45 โดยเห็นได้จากการที่ทีมเลขานุการสำนักงาน กสทช. ทำข้อเสนอสนับสนุนจุดยืนดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมคณะอนุกรรมการฯ โดยไม่ได้มีการเสนอเหตุผลหรือมีหลักฐานสนับสนุนใด ๆ ในเอกสารมาด้วย ทั้งที่เป็นประเด็นสำคัญ ตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย

          นอกจากนี้ การให้ใบอนุญาต ไทยคม อาจสร้างเงื่อนไขให้ตลาดผู้ให้บริการดาวเทียมของไทยไร้การแข่งขันต่อไปอีก เพราะสัญญาระบุว่า ไทยคม สามารถขอต่ออายุใบอนุญาตที่มีอายุ 20 ปีไปอีกได้ แต่ต้องไม่เกิน 10 ปี และยังเปิดให้บริษัทยื่นเอกสารของสิทธิใช้งานวงโคจรเพิ่มเติม ทั้ง ๆ ที่วงโคจรซึ่งไทยได้รับจัดสรรจาก ITU มีอยู่อย่างจำกัด

          ด้วยเหตุนี้ สำนักข่าวอิศรา จึงสรุปว่า  กสทช.ไม่ได้พยายามส่งเสริมศักยภาพการแข่งขันในกิจการดาวเทียมแต่อย่างใดเลย โดยผูกขาดให้กับ ไทยคม เพียงบริษัทเดียว ทั้ง ๆ ที่เทคโนโลยีการสื่อสารสามารถสร้างประโยชน์มหาศาล ทั้งในเชิงเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง



อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
isranews.org


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สำนักข่าวอิศรา ชี้ กสทช. ให้ ไทยคม ผูกขาดดาวเทียม ส่อพิรุธ โพสต์เมื่อ 5 มกราคม 2556 เวลา 15:40:25 2,408 อ่าน
TOP