x close

ลำดับเหตุการณ์ ยาวนานกว่า 50 ปี ปมพื้นที่ทับซ้อนเขาพระวิหาร




ปราสาทเขาพระวิหาร




ปราสาทเขาพระวิหาร



            เป็นปัญหาที่ยืดเยื้อต่อเนื่องมาเป็นเวลากว่า 50 ปีแล้ว สำหรับกรณี "พื้นที่ทับซ้อนรอบปราสาทเขาพระวิหาร" ระหว่างประเทศไทย และประเทศกัมพูชา จนเกิดการปะทะกันระหว่างทหารของทั้งสองฝ่าย และเกิดการสูญเสียอย่างมากมาย อีกทั้งยังเป็นปมปัญหาทางการเมืองระหว่างภายในและภายนอกประเทศอีกด้วย... ทั้งนี้ ในวันจันทร์ที่ 11 พฤศจิกายน 2556 นี้ จะเป็นวันที่ศาลโลกได้นัดตัดสินในเรื่องดังกล่าว กระปุกดอทคอม จึงขอพาทุกคนย้อนรอยประวัติศาสตร์ถึงที่มาที่ไปของปมปัญหาพื้นที่ทับซ้อนแห่งนี้กันอีกครั้ง

            15 มิถุนายน 2505 ศาลโลกมีมติด้วยคะแนน 9 ต่อ 4 เสียง ให้กัมพูชาเป็นเจ้าของปราสาทเขาพระวิหาร และให้เจ้าหน้าที่ของประเทศไทยถอนกำลังออกจากปราสาท และบริเวณใกล้เคียง พร้อมกับคืนวัตถุโบราณทั้งหมด ท่ามกลางความไม่พอใจของฝ่ายไทย เนื่องจากเห็นว่าการตัดสินดังกล่าวไม่ยุติธรรม เพราะศาลโลกพิจารณาตัดสินเพียงแผนที่ฉบับเดียวเท่านั้น

             10 กรกฎาคม 2505 คณะรัฐมนตรีมีมติ กำหนดเส้นขอบเขต และถอนกำลังทหาร-เจ้าหน้าที่ตำรวจ ออกมาจากปราสาทและพื้นที่ใกล้เคียง
     
             14 มิถุนายน 2543 ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ขณะที่ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้ลงนาม MOU สำรวจจัดทำเขตแดนสำหรับไทยกัมพูชา
     
             18 มิถุนายน 2544 พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในฐานะนายกรัฐมนตรี ร่วมแถลงกับ นายฮุน เซ็น นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ในการร่วมมือพัฒนาและอนุรักษ์พื้นที่ปราสาทเขาพระวิหาร ร่วมกับองค์กรยูเนสโก

              ปี 2549 พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้เจรจาปักเขตแดน ระหว่างไทย ลาว และกัมพูชา ในพื้นที่สามเหลี่ยมมรกต โดยไทยยินดีที่จะให้กัมพูชาจดทะเบียนปราสาทเขาพระวิหารเป็นมรดกโลก

              ปี 2550 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของกัมพูชา เดินทางมาเยือนไทยเพื่อหารือเรื่องการจดทะเบียนเขาพระวิหารเป็นมรดกโลก แต่ไม่ได้ข้อยุติ เนื่องจากมีการทักท้วงจากสภากลาโหมของไทยว่า กัมพูชาสร้างหลักฐานหวังฮุบพื้นที่
     
              ปี 2551 นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ไม่ได้คัดค้านการจดทะเบียนของกัมพูชาแต่อย่างใด พร้อมยอมเลื่อนจุดปักเขตแดนอีก 3 กิโลเมตร ต่อมานายนพดล ปัทมะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้นำแผนที่รอบปราสาทเขาพระวิหารใหม่ที่ทางกัมพูชาเสนอเข้าที่ประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติ แต่มีกองกำลังบูรพาคัดค้าน เนื่องจากแผนที่ดังกล่าวทำให้ประเทศไทยเสี่ยงต่อการเสียดินแดน

              18 มิถุนายน 2551 นายสมัคร สุนทรเวช เห็นชอบแถลงการณ์ร่วมไทย กัมพูชา ตามที่ นายนพดล ปัทมะ นำเสนอ แต่ศาลปกครองกลางพิจารณาให้แถลงการณ์เป็นโมฆะ เพราะยังไม่ได้มีการเสนอต่อที่ประชุมสภาฯ ก่อน อีกทั้งยังมีเหตุกระทบต่อความมั่นคง และอาณาเขตของประเทศไทย
     
              15 ตุลาคม 2551 เกิดเหตุปะทะกันระหว่างไทยกับกัมพูชา บริเวณผามออีแดง จ.ศรีสะเกษ




ปราสาทเขาพระวิหาร

     
               ปี 2553 รัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ คัดค้านบริหารของกัมพูชา พร้อมส่งนายสุวิทย์ คุณกิตติ ให้คัดค้านแผนที่โดยรอบ ต่อกรรมการมรดกยูเนสโก ที่ประชุมอยู่ประเทศบราซิล

               29 ธันวาคม 2553 นายวีระ สมความคิด, นางราตรี พิพัฒนาไพบูลย์, ร้อยเอกแซมดิน เลิศบุศย์ ถูกสั่งจำคุกในข้อหาเดินทางข้ามพรมแดนโดยผิดกฎหมาย และรุกล้ำเขตทหาร 

               เมษายน 2554 ทหารไทยและทหารกัมพูชาปะทะกันหลายครั้ง บริเวณปราสาทตาควาย และพนมดงรัก ทำให้ทหารทั้งสองฝ่ายได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตหลายนาย

               28 เมษายน 2554 กัมพูชายื่นให้ศาลโลกตีความ คดีปราสาทเขาพระวิหาร และให้ออกมาตรการชั่วคราวให้ไทยถอนกำลังออกจากพื้นที่

               18 กรกฎาคม 2554 ศาลโลกได้ออกมาตรการชั่วคราว 4 ข้อ ให้ไทยและกัมพูชาถอนกำลังออกจากพื้นที่พิพาท และยินยอมให้อาเซียนเข้าสำรวจพื้นที่ และห้ามให้ไทยและกัมพูชาดำเนินการใด ๆ ที่ก่อให้เกิดข้อพิพาทร่วมกันอีก 

               18 ตุลาคม 2554 รัฐบาล นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เห็นชอบให้ปฏิบัติตามคำสั่งชั่วคราวของศาลโลก โดยใช้ของคณะกรรมการชายแดนทั่วไป ไทย-กัมพูชา โดยมีสองฝ่ายเป็นประธานร่วมกัน
     
                21 พฤศจิกายน 2554 ไทยยื่นเอกสารข้อเขียนฉบับแรก เป็นข้อสังเกตโดยโต้แย้งคำของกัมพูชา ที่ขอให้ศาลโลกตีความคำพิพากษา 2505

                21 ธันวาคม 2554 ที่ประชุม JBC ไทยกัมพูชาครั้งที่ 8 ที่กรุงพนมเปญ มีมติจัดตั้งคณะทำงานร่วม  JWG เพื่อหารือเรื่องปฏิบัติตามคำสั่งมาตรการชั่วคราว
     
                21 มิถุนายน 2555 ไทยยื่นเอกสารข้อเขียนฉบับที่ 2 อธิบายโต้แย้งคำตอบของกัมพูชา มีมติให้เก็บกู้ระเบิดร่วมกัน ในพื้นที่ที่จำเป็นต่อเขตปลอดทหารชั่วคราว ก่อนปรับกำลังทหารออกจากพื้นที่ โดยให้คณะสังเกตการณ์จากอินโดนีเซียเข้าร่วม

                18 กรกฎาคม 2555 ไทยกัมพูชาปรับกำลังทหาร

                17 ธันวาคม ที่ประชุม JWG เตรียมแผนเก็บกู้ระเบิด

                15-19 เมษายน 2556 ศาลโลกนัดไทย-กัมพูชา กล่าวถ้อยคำแถลงฝ่ายละ 2 รอบ

                11 พฤศจิกายน 2556 ศาลโลกนัดอ่านคำพิพากษา ตรงกับเวลาประเทศไทย 16.00 น.



คลิป  คดีปราสาทพระวิหาร - Infographic Clip 
โพสต์โดย คุณ mfathailand สมาชิกเว็บไซต์ยูทูบดอทคอม








เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ลำดับเหตุการณ์ ยาวนานกว่า 50 ปี ปมพื้นที่ทับซ้อนเขาพระวิหาร อัปเดตล่าสุด 11 พฤศจิกายน 2556 เวลา 13:34:36 47,692 อ่าน
TOP