x close

3 ผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์ปัจจัยเสี่ยงกระทบเศรษฐกิจไทย 2556



เศรษฐกิจ

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูล

          3 กูรูเตือนปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจไทยในปี 2556 มาตรการแก้หนี้สหรัฐฯ - ยุโรปคลุมเครือ, การไร้ความเป็นเอกภาพของอาเซียนในกรณีพิพาทมหาสมุทรทะเลจีนตอนใต้ และเงินเยนทะลักกดดันเงินบาทแข็งค่า

          วันนี้ (10 มกราคม) ผู้สื่อข่าว เปิดเผยสำรวจมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์ต่อเศรษฐกิจในปีนี้ ซึ่งยังให้น้ำหนักปัจจัยต่างประเทศ แม้จะมีทิศทางที่ดีขึ้น แต่มีประเด็นเรื่องเงินทุนเคลื่อนย้ายเป็นปัจจัยกดดันมากขึ้น หลังมีแนวโน้มเศรษฐกิจประเทศยักษ์ใหญ่ยังไม่ฟื้นตัว

          โดย นายบัณฑิต นิจถาวร อดีตรองผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าว่า ตัวเลขเศรษฐกิจไทยที่ออกมายังไม่มีอะไรใหม่ ตัวเลขที่ออกมาในช่วยปลายปีที่แล้ว เกี่ยวกับตัวเลขเศรษฐกิจเดือนพฤศจิกายน 2555 ยังแสดงภาวะขยายตัวต่อเนื่องอยู่ ตัวเลขที่ออกมาทางด้านเงินเฟ้อค่อนข้างที่จะอยู่ในเกณฑ์ที่ยังไม่สูง 2 ปัจจัยนี้ธนาคารแห่งประเทศไทยโดยคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จึงยังไม่ทำอะไร

          ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงเกี่ยวกับเศรษฐกิจโลก เท่าที่ดูการพยายามแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ทั้งในสหรัฐฯ และยุโรป ชัดเจนว่ายังไม่มีการพยายามทำอะไรมาก ทำให้เป็นประเด็นว่าปัญหายังมีอยู่ แต่การแก้ไขยังไม่ออกมา อย่างเรื่องหน้าผาการคลัง ปรากฏว่ามีการเลื่อนเวลาไปที่จะตัดลดรายจ่ายไปอีก 2 เดือน กว่าจะรู้เรื่องก็ไปเดือนมีนาคม 2556 ดังนั้น ขณะนี้ยังไม่มีอะไรที่พอจะสร้างความมั่นใจว่าปัญหาทางด้านการคลังจะได้รับการแก้ไข และในแง่นี้คงเป็นความคลุมเครือที่จะยังมีตลอดปีนี้ ตราบใดที่นโยบายของทางสหรัฐฯ และยุโรปยังไม่ชัดเจน

          ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยถ้าเราดูในประเด็นแรงกระตุ้นเศรษฐกิจในขณะนี้ก็มีอยู่มาก ทั้งที่มาจากนโยบายของทางการ และที่มาจากการใช้จ่ายของภาครัฐในเรื่องการลงทุนที่มีตัวเลขเป็นล้าน ๆ บาท อีกแง่หนึ่งคือ เงินทุนไหลเข้า ซึ่งในปีนี้คงมีเงินทุนไหลเข้าอย่างต่อเนื่อง สิ่งเหล่านี้จะเป็นแรงกระตุ้นที่ทำให้เศรษฐกิจขยายตัวอยู่แล้ว ในแง่นี้อัตราดอกเบี้ยต้องตั้งการ์ดดูว่า ถ้าเศรษฐกิจขยายตัวแล้วอัตราเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้น เราจะสามารถใช้นโยบายการเงินในการป้องกันภาวะอัตราเงินเฟ้อที่จะเร่งตัวอย่างไร ส่วนในแง่ของมาตรการการคลัง ควรเริ่มคิดที่จะประคับประคองในการประหยัดค่าใช้จ่าย เพื่อไม่สร้างภาระหนี้กับประเทศมากเกินไป

          ส่วนทางด้าน นายศุภวุฒิ สายเชื้อ กรรมการผู้จัดการ (สายงานวิจัย) บล.ภัทร ประเมินว่า ศรษฐกิจของสหรัฐฯ ดูจะชะงักในช่วงสั้น ๆ ส่วนของยุโรปจะซึมยาว ญี่ปุ่นเองผ่านการเลือกตั้งเปลี่ยนรัฐบาล ซึ่งรัฐบาลญี่ปุ่นใหม่พยายามกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ในขณะเดียวกันมีความเสี่ยง เพราะอาจมีท่าทีแข็งกร้าวกับจีนมากขึ้น เป็นความท้าทายเรื่องของความมั่นคงในภูมิภาค ซึ่งสหรัฐฯ จะอยู่ฝั่งญี่ปุ่น และถ้าดูตามข่าวจะเห็นชัดว่าอาเซียนก็แตกในประเด็นเรื่องพิพาทมหาสมุทรทะเลจีนตอนใต้ ในอาเซียนคือ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย สิงคโปร์ก็อยู่ฝั่งหนึ่ง บรูไนก็อยู่ฝั่งหนึ่ง ดังนั้น ถ้าบรรยากาศของอาเซียนเป็นอย่างนั้น จะรวมตัวกันทางเศรษฐกิจอย่างไร 

          สำหรับนโยบายประชานิยมต้องระมัดระวังในผลกระทบต่องบประมาณ ที่เป็นห่วงมากในระยะยาวคือ ถ้ามีกระแส ความคิดรอให้รัฐบาลมาหยิบยื่นให้ทุกอย่าง ก็จะส่งผลต่อเศรษฐกิจ เนื่องจากประชาชนหมดความต้องการที่จะกระตือรือร้นที่จะขับเคลื่อนทุกอย่างหรือพยายามพัฒนาด้วยตัวเอง เพราะฉะนั้นตัวประชานิยมไม่ใช่เรื่องฐานะทางการคลังอย่างเดียว แต่ปัญหาคือจะไปฉุดรั้งไม่ให้เกิดนวัตกรรมในภาคเอกชนเป็นหัวใจสำคัญ

          ขณะที่ทางด้าน นายเบญจรงค์ สุวรรณคีรี ผอ.ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคารทหารไทย ระบุว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีความเป็นห่วงเกี่ยวกับเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเศรษฐกิจต่างประเทศ หลัก ๆ เป็นเรื่องเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่มีสัญญาณการฟื้นตัวที่ชะลอลงเมื่อ 2 ครั้งที่ผ่านมา แต่ปัจจุบันตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯ อยู่ในทิศทางที่ดีขึ้นแล้ว หน้าผาทางการคลังก็แก้ไปได้เปาะหนึ่ง คือ หน้าผาทางการคลังเต็มรูปแบบจะไม่เผชิญแล้ว จะมีการต่อรองเรื่องของเพดานหนี้สาธารณะในเดือนกุมภาพันธ์นี้เท่านั้นเอง

          ส่วนประเด็นการที่ญี่ปุ่นมีการอัดฉีดสภาพคล่องเพิ่มขึ้นมาอีก 12 ล้านล้านเยน จะเป็นปัจจัยที่ไปกดเรื่องของอัตราดอกเบี้ยหรือไม่นั้น เพื่อพยายามที่จะลดแรงกดดันให้ค่าเงินเยนแข็ง ซึ่งจะสร้างความผันผวนกับค่าเงินบาทค่อนข้างมาก อย่างไรก็ตาม ทิศทางตอนนี้ยังไม่ชัดเจนว่าจะทำให้บาทแข็งหรืออ่อนมากขนาดไหน ปีนี้เรามองว่าตัวค่าเงินบาทน่าจะแข็งขึ้นจากปีที่แล้วนิดหน่อยจะไม่เยอะมาก


อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
3 ผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์ปัจจัยเสี่ยงกระทบเศรษฐกิจไทย 2556 โพสต์เมื่อ 10 มกราคม 2556 เวลา 13:58:19 4,207 อ่าน
TOP