x close

คืบหน้าอาการช่างภาพ หัวใจหยุดเต้น-เลือดออกในสมอง


            หลังจากที่นายสกล สนธิรัตน์ ช่างภาพเนชั่นประจำรัฐสภา ป่วยด้วยอาการความดันโลหิตสูง และล้มลงกับพื้น แต่กลับถูกหน่วยพยาบาลประจำรัฐสภา ปฏิเสธที่จะพาไปโรงพยาบาล เนื่องจากมีรถไว้บริการ  ส.ส.และ ส.ว.เท่านั้น  จนกระทั่ง นายฉลาด จันทร์เดช ช่างภาพ หนังสือพิมพ์มติชน ได้โทรศัพท์ให้รถกู้ชีพของศูนย์นเรนทร มารับตัวไปส่งที่โรงพยาบาลกลาง

            ล่าสุด อาการเมื่อเวลา 15.41 น. นายสกลหายใจไม่ออก หัวใจหยุดเต้น จนแพทย์ต้องนำตัวเข้าห้องไอซียู และใช้เครื่องช่วยหายใจ ซึ่งแพทย์ที่เฝ้าดูอาการแจ้งว่า คนไข้มีภาวะความดันโลหิตสูง ซึ่งเส้นเลือดออกในแกนสมอง
มีเลือดซึมกดทับจุดที่สั่งการระบบต่าง ๆ ของร่างกาย หากมีเลือดออกมาก แพทย์ต้องเอ็กซเรย์เพื่อดูหัวใจ เพราะอาจมีลิ่มเลือดเข้าไปอุดในหัวใจทำให้หายใจไม่ออก ซึ่งแพทย์กำลังพิจารณาว่า หากนายสกลสมองไม่บวม อาจให้ยาสลายลิ่มเลือด แต่ถ้าอาการไม่ดีขึ้น จะส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ แพทย์เองก็เตือนให้ทำใจไว้ก่อน เพราะอาการแบบนี้ มีโอกาสรอด 50-50 ต้องเจาะกะโหลกระบายความดันที่เกิดจากของเหลวคั่งออกมา




อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก




[10 มกราคม] ช่างภาพเครือเนชั่นหวิดดับกลางสภา รถกู้ชีพเมินช่วย หวั่นผู้ใหญ่ตำหนิ




 ช่างภาพเครือเนชั่นหวิดดับกลางสภา รถกู้ชีพเมินช่วย หวั่นผู้ใหญ่ตำหนิ

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก  เฟซบุ๊ก Julawat Thitipariwat


          ช่างภาพเครือเนชั่นหวิดดับกลางสภา เหตุรถพยาบาลประจำสภาลังเลไม่กล้าช่วย อ้างกลัวถูกผู้ใหญ่ตำหนิ ด้าน ประธานสภาฯ รีบแจงไม่มีนโยบายกั๊กรถพยาบาล

          วันที่ 10 มกราคม 2556 ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภาว่า เมื่อเวลาประมาณ 13.00 น. ที่บริเวณห้องโถงอาคาร 1 รัฐสภา ในระหว่างที่นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร แถลงข่าวเตรียมความพร้อมจัดงานวันเด็กแห่งชาติปี 2556 นั้น ปรากฏว่า นายสกล สนธิรัตน์ ช่างภาพเครือเนชั่น เกิดอาการผิดปกติสะดุดล้ม ทำให้เพื่อนร่วมงานต้องประคองตัวมานั่งพัก แต่อาการก็ยังไม่ดีขึ้น โดยมีอาการหน้าตาซีดเซียว ปากซีด พร้อมบอกกับเพื่อนร่วมงานบางคนที่นั่งอยู่ใกล้กันว่า ไม่ไหวแล้ว ให้พาไปส่งโรงพยาบาล

          ต่อมา เพื่อนผู้สื่อข่าวซึ่งทราบดีว่านายสกล มีโรคประจำตัวเป็นโรคความดันโลหิตสูงอยู่แล้ว จึงรีบวิ่งไปตามเจ้าหน้าที่พยาบาลโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ซึ่งอยู่ประจำห้องพยาบาลสภาฯ มาดูอาการ โดยระหว่างนั้นนายสกลได้บอกกับเพื่อนร่วมงานตลอดว่า ไม่ไหวแล้ว แต่เมื่อเจ้าหน้าที่พยาบาลมาถึง ปรากฏว่ายังมัวแต่ถามอาการ วัดความดัน และถามไถ่อาการนานกว่า 10 นาที ช่วงแรก นายสกล ยังตอบได้ดี แต่เมื่อถูกซักมาก ๆ เจ้าตัวก็ตอบกลับมาว่า ผมไม่ไหวแล้ว

          ทั้งนี้ เพื่อนช่างภาพหลายคนได้ถามเจ้าหน้าที่ว่า ทำไมถึงไม่นำรถพยาบาลของโรงพยาบาลดังกล่าวที่เตรียมพร้อมอยู่ตลอดเวลาที่รัฐสภามารับตัวนายสกลไปส่งโรงพยาบาลเสียที แต่ก็ได้รับการชี้แจงมาว่า เคยมีกรณีเช่นเกิดขึ้น โดยนำรถพยาบาลไปส่งคนไข้ แต่มีเหตุการณ์เกิดขึ้นในสภาฯ ซ้อนขึ้นมา ดังนั้น หากนำรถออกไป กลัวผู้ใหญ่ต่อว่า จึงต้องรอให้รถอีกคันมาก่อน คำชี้แจงดังกล่าวสร้างความไม่พอใจให้แก่บุคคลที่ติดตามดูอาการอย่างมาก

          อย่างไรก็ดี มีผู้ช่วยพยาบาลพยายามเข้ามาถามอาการนายสกลอีกว่าเป็นอะไรมากหรือไม่ มีบัตรประกันสังคมโรงพยาบาลอะไร พร้อมบอกว่า ดูแล้วยังไหว ยังคุยรู้เรื่อง ไม่น่าเป็นอะไร อย่างไรก็ดี เมื่อมีแพทย์เดินทางมาถึงก็ยังคงถามไถ่อาการตามเดิม ทำให้เพื่อนผู้สื่อข่าวร้อนใจหนักขึ้นไปอีก บางคนถึงกลับตำหนิกลับไปว่า "ต้องให้ตายไปก่อนหรือยังไง ถึงจะเอารถออก ไม่ใช่ผู้ทรงเกียรติ แต่ก็เป็นคน มีชีวิตเหมือนกัน" จนกระทั่งรถกู้ชีพของศูนย์นเรนทรจากภายนอกมารับตัวนายสกลไปส่งที่โรงพยาบาลกลาง

          ด้านนางนุฎฎ์ษีห์ ชัยสุวรรณ์ ผู้บังคับบัญชากลุ่มงานสื่อมวลชนสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า เมื่อทราบเรื่องจึงได้รีบประสานไปยังนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อหารือถึงเรื่องดังกล่าว โดยประธานสภาฯ ยืนยันว่า สภาฯ ไม่มีนโยบายที่ว่าไม่ให้รถพยาบาลออกไปจากรัฐสภา โดยชี้แจงว่า สามารถนำรถออกไปได้ และให้รถพยาบาลคันใหม่เข้ามาแทน และเนื่องจากกรณีนี้ให้ถือเป็นตัวอย่างว่า ต่อไปหากเกิดเหตุฉุกเฉินไม่ว่าจะเป็นใครในสภาฯ ก็สามารถใช้รถพยาบาลได้ทันที ทั้งนี้ ประธานสภาฯเมื่อทราบเรื่องก็ตกใจและเป็นห่วงอย่างมากพร้อมกับมอบหมายให้คณะทำงานนำกระเช้าไปเยี่ยมอาการทันที ซึ่งอาการเบื้องต้นนายสกลพบว่า มีเลือดออกบริเวณแกนสมอง แต่ยังอยู่ในส่วนที่ดียังไม่ถึงกับต้องผ่าตัด แต่ก็ต้องให้แพทย์ดูอาการและวิเคราะห์อาการอย่างใกล้ชิด

          ในขณะที่นายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องที่ผู้ปฏิบัติงานจะต้องทบทวนวิธีคิดในการปฏิบัติงาน เพราะหน้าที่ของตัวเอง คือ การช่วยชีวิตคน ในการนำคนป่วยไปถึงมือแพทย์โดยเร็วที่สุดนั่นคือการกู้ชีพ และไม่สมควรจะเลือกว่าบุคคลนั้นจะเป็นเศรษฐี หรือยากจน เป็น ส.ส.หรือช่างภาพ  เพราะกรณีที่เกิดขึ้นมีคนเจ็บเพียงคนเดียว จึงไม่มีเหตุที่จะต้องวินิจฉัยว่าจะต้องเลือกนำส่งใครก่อน  การที่ปฏิเสธทำหน้าที่ช่วยเหลือถือว่าขาดมนุษยธรรม หรือขาดจรรยาของวิชาชีพ



อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก





เรื่องที่คุณอาจสนใจ
คืบหน้าอาการช่างภาพ หัวใจหยุดเต้น-เลือดออกในสมอง โพสต์เมื่อ 10 มกราคม 2556 เวลา 18:24:48 2,235 อ่าน
TOP