วิจัยเผย คนทั่วโลกทิ้งอาหารปีละ 2,000 ล้านตัน ชี้ซื้อเกินความต้องการ






            ผลวิจัยชี้ คนมองเห็นคุณค่าของอาหารต่ำลงกว่าเดิม ทิ้งขว้างอาหารโดยไร้ประโยชน์ สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการตลาดของบรรดาซูเปอร์มาเก็ตที่ลดแลกแจกแถมเต็มที่ ทำให้คนติดนิสัยต้องซื้อมาก่อน ถึงเวลากินไม่ทันก็ทิ้งไป

            วันที่ 10 มกราคม 2556 เว็บไซต์เดลิเมลของอังกฤษ รายงานว่า  ดร.ทิม ฟ็อกซ์ หัวหน้าฝ่ายพลังงานและสิ่งแวดล้อม ของสถาบันวิศวกรรมเครื่องกล เปิดเผยว่า ผลการศึกษาชิ้นล่าสุด พบว่า  มากกว่าครึ่งของอาหารที่ซื้อจากซูเปอร์มาเก็ต ทั้งที่ถูกจัดเก็บอย่างไม่มีประสิทธิภาพจนทำให้เน่าเสียเร็วก่อนกำหนด บ้างก็ซื้อเพื่อกักตุน ส่งผลให้อาหารเหล่านี้ถูกทิ้งไปโดยไร้ประโยชน์กว่า 2 พันล้านตัน คิดเป็น 30-50 เปอร์เซ็นต์ ของอาหารจำนวน 4 พันล้านตันที่ผลิตได้ทั่วโลก ทั้งที่อาหารเหล่านั้นไม่ได้ดูแย่อะไรมากมาย แต่กลับกลายเป็นเพราะพฤติกรรมของมนุษย์ที่มองเห็นคุณค่าของอาหารต่ำลงกว่าเดิม โดยคนเราทิ้งอาหารรวมตลอดทั้งชีวิตกว่าคนละ 24,000 ปอนด์ หรือประมาณ 1,200,000 บาท นอกจากนี้ พวกผักผลไม้ต่าง ๆ ที่ปลูกตามสวนนั้น ก็ไม่ได้ถูกเก็บมาทำเป็นอาหารให้มนุษย์ทั้งหมด 100 เปอร์เซ็นต์ แต่พบว่าพืชผักเหล่านั้นกว่า 75 เปอร์เซ็นต์ ถูกทิ้งขว้างไปโดยไร้ประโยชน์

            โดยเหตุที่ก่อให้เกิดสถานการณ์เช่นนี้ มีตั้งแต่กระบวนการวิศวกรรมและการเกษตรที่ไม่มีประสิทธิภาพ การขนส่งที่ไม่เพียงพอ และสาธารณูปโภคด้านการจัดเจ็บสินค้าผ่านไปยังแหล่งจำหน่าย รวมถึงซูเปอร์มาร์เก็ตที่ต้องการเฉพาะสินค้าที่มีรูปร่างหน้าตาสวยงาม การกระตุ้นและจูงใจผู้บริโภคให้ซื้อสินค้าเกินความจำเป็นดังเช่นซูเปอร์มาร์เก็ตต่าง ๆ ที่นิยมออกโปรโมชั่น เช่น ซื้อ 1 แถม 1 หรืออะไรก็ตาม จึงก่อให้เกิดพฤติกรรมที่มนุษย์ซื้อของเกินความต้องการ ทั้งที่ของบางอย่างมีวันหมดอายุ แต่คนก็ไม่สน ด้วยคิดว่า หากมันลดราคาอยู่ก็ควรซื้อมาก่อน โดยไม่ได้คำนึงว่าจะกินทันหรือไม่ พอถึงเวลาถ้ากินไม่ทันก็ทิ้ง นำมาซึ่งการสูญเสียทั้งด้านที่ดิน ทรัพยากรน้ำ และพลังงานที่ใช้ในการผลิตอาหารโดยเปล่าประโยชน์ รวมถึงกระบวนการผลิตและการแจกจ่ายที่ทำให้ผิดเพี้ยนไปหมด

            อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในประเทศกำลังพัฒนา ความสูญเสียเช่นนี้ถือเป็นช่วงต้นของห่วงโซ่อุปทานด้านอาหาร ระหว่างแหล่งผลิตและซูเปอร์มาร์เก็ต และเป็นไปได้ว่า ปริมาณอาหารที่ถูกทิ้งขว้างทั่วโลกที่กำลังเข้าขั้นวิกฤตินั้น สามารถนำไปใช้เลี้ยงประชากรของโลกที่กำลังเติบโต ซึ่งรวมถึงประชากรที่กำลังหิวโหยได้มากมายจากการที่สหประชาชาติคาดว่า จะมีประชากรที่ต้องเลี้ยงดูเพิ่มขึ้นถึง 3 พันล้านคน ภายในปี 2075 ทำให้ประชากรโลกเพิ่มขึ้นเป็น 9.5 พันล้านคน

            ทั้งนี้ ดร.ฟ็อกซ์ กล่าวเสริมว่า ขณะที่สถานการณ์ด้านทรัพยากรน้ำ ดิน และพลังงาน ตกอยู่ในภาวะกดดันจากความต้องการของมนุษย์ที่เพิ่มขึ้น กลไกด้านวิศวกรรมจะมีบทบาทสำคัญในการป้องกันการสูญเสียอาหาร โดยจะช่วยพัฒนาประสิทธิภาพในการเพาะปลูก ขนส่ง และกักเก็บอาหารได้มากขึ้น จึงไม่ก่อให้เกิดวิกฤตการณ์ที่อาหารถูกทิ้งขว้าง

 

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก








เรื่องที่คุณอาจสนใจ
วิจัยเผย คนทั่วโลกทิ้งอาหารปีละ 2,000 ล้านตัน ชี้ซื้อเกินความต้องการ โพสต์เมื่อ 11 มกราคม 2556 เวลา 19:34:27 1,176 อ่าน
TOP
x close