x close

ส่องนโยบายหาเสียงผู้สมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. แบบจัดเต็ม!





เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

           เสียงปี่กลองโหมโรงดังสนั่นรับก้าวแรกของการหาเสียงเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพมหานคร 2556 กันแล้ว โดยการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นที่จับตาของทุกฝ่ายอย่างมาก เพราะอาจเป็นสัญลักษณ์สำคัญที่สามารถชี้ชะตาทิศทางการเมืองของประเทศไทยในอนาคตได้ จึงไม่น่าแปลกใจที่ 2 พรรคใหญ่ อย่าง "พรรคเพื่อไทย" และ "พรรคประชาธิปัตย์" จะเดินเครื่องเต็มสูบ ฝ่ายหนึ่งก็ต้องการรักษาเก้าอี้เดิมซึ่งเป็นฐานทัพสำคัญมาหลายสมัยให้มั่น ขณะที่อีกฝ่ายก็หมายมั่นปั้นมือจะปักหมุดลงในสมรภูมิเมืองหลวงให้จงได้ ศึกเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ครั้งนี้ จึงน่าสนใจอย่างยิ่ง

           อย่างไรก็ตาม นอกจากผู้สมัครจาก 2 พรรคใหญ่แล้ว ก็ยังมีผู้สมัครอีกหลายคนที่เปิดตัวขอเป็นตัวเลือกให้กับพี่น้องชาวกรุงเทพมหานครที่เบื่อการเล่นกีฬาสี ซึ่งหลังจากปิดรับสมัครก็พบว่ามีผู้สมัครรับเลือกตั้งทั้งหมด 25 คน 25 เบอร์ แถมแต่ละคนก็ล้วนงัดเอาไม้เด็ดออกมาหาเสียงกันอย่างคึกคัก ตบท้ายด้วยนโยบายสุดแซ่บ...กระปุกดอทคอม จึงขอรวบรวมนโยบายเด็ด ๆ ของผู้สมัครมาให้ชาวกรุงเทพมหานครที่มีสิทธิเลือกตั้งได้พิจารณา เพื่อประกอบการตัดสินใจก่อนกากบาทเลือกหมายเลขที่ถูกใจในวันอาทิตย์ที่ 3 มีนาคม 2556




หมายเลข 1 นายวิละ อุดม ผู้สมัครอิสระ

นโยบาย

ขั้น 1 นโยบายเร่งด่วน ได้แก่

          - ขจัดความเหลื่อมล้ำและเอกสิทธิ์ต่าง ๆ

          - ส่งเสริมสนับสนุนชุมชนร่วมคิดร่วมทำร่วมรับผิดชอบทรัพยากรและการพัฒนาชุมชน

          - ปรับปรุงผิวทางเดินเท้า ทางลาด ทางเรียบ ไร้สิ่งกีดขวาง และจัดตลาดให้หาบเร่แผงลอยที่กีดขวางทางเท้า

          - จัดให้มีเส้นทางเดินรถเมล์โดยเฉพาะ สะดวกปลอดภัยไม่รอนาน

          - จัดทางรถจักรยานให้ราบเรียบสะดวกปลอดภัยไปได้ตลอดระยะทาง

ขั้นที่ 2 การจัดระเบียบสังคม

          - การศึกษาพื้นฐาน ต้องเรียนดี มีจิตสำนึก นำไปใช้งานได้ และพัฒนาคุณภาพให้ทัดเทียมกับโรงเรียนสาธิตต่าง ๆ โดยไม่มีเงินกินเปล่า

          - พัฒนาคุณภาพและบริการของโรงพยาบาลของ กทม. ให้ทัดเทียมกับโรงพยาบาลเอกชน

          - พัฒนาปรับปรุงสาธารณูปโภค เครื่องอุปโภคบริโภคให้สะอาดปลอดภัย เช่น ตู้ประปาสาธารณะดื่มได้จริง ห้องน้ำสาธารณะใช้ได้จริงฟรี

          - รณรงค์เพิ่มพื้นที่สีเขียวเพิ่มเท่าทวีคูณตามบ้านเรือน ถนนหนทางพื้นที่สาธารณะต่าง ๆ

          - - สร้างศูนย์สาธิตศิลปวัฒนธรรมและกีฬาให้ได้เรียนรู้ปฏิบัติได้จริง เพิ่มมูลค่าการตลาด

ขั้นที่ 3 การพัฒนาอารยมหานคร

          - ก่อสร้างถนนทางเชื่อมต่อและทางลัดต่าง ๆ เพิ่มขึ้น

          - ขยายและพัฒนาการสัญจรระบบรางเพิ่มขึ้น

          - ก่อสร้างอาคารจอดรถ

          - นำเครือข่ายสาธารณูปโภคลงไว้ใต้ดิน

          - พัฒนาพื้นที่รกร้างว่างเปล่าให้เป็นประโยชน์ต่อชุมชน




หมายเลข 2 นายวรัญชัย โชคชนะ สังกัดกลุ่มกรุงเทพก้าวหน้า

นโยบาย

           1. เปลี่ยนชื่อ "กรุงเทพมหานคร" เป็น "กรุงเทพธนบุรีมหานคร" เพื่อให้ความสำคัญกับคนฝั่งธนบุรี

           2. จัดให้สนามหลวงเป็นพื้นที่ไฮด์ปาร์ก เพื่อแสดงออกทางการเมือง

           3. จัดระบบขนส่งมวลชนทั้งใต้ดิน บนดิน โดยการสร้างส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าให้ครอบคลุมกรุงเทพฯ เพื่อลดปัญหาการจราจรลงภายใน 4 ปี

           4. พัฒนากรุงเทพฯ ให้เป็นเมือง 5 ส. คือ สะอาด สะดวก สบาย สวยงาม และสดชื่น

           5. จัดระเบียบหาบเร่แผงลอย

           6. แก้ปัญหาแหล่งเสื่อมโทรม กำจัดมลพิษทั้งขยะ น้ำ และอากาศ



ร.อ.เมตตา เต็มชำนาญ หรือ ตู่ ติงลี่

หมายเลข 3 ร.อ.เมตตา เต็มชำนาญ หรือ ตู่ ติงลี่ ผู้สมัครอิสระ

นโยบาย "กรุงเทพฯ ต้องเปลี่ยนแปลง"

           1. ตั้งจังหวัดธนบุรี

           2. ขุดคลองเชื่อมอุโมงค์ เพื่อแก้ปัญหาจราจร

           3. บริหารโครงการขนส่งมวลชน

           4. ให้นักเรียนทุกระดับชั้นได้เรียนฟรี

           5. ให้สวัสดิการประกันสังคมกับทุกคน

           6. ขจัดอิทธิพลนอกระบบ





หมายเลข 4  นายโสภณ พรโชคชัย ผู้สมัครอิสระ

นโยบาย

           1. ถ่ายทอดการทำงานของผู้ว่าราชการจังหวัด ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อให้เห็นว่า กำลังทำอะไร ที่ไหน เพื่อความโปร่งใส

           2. นำกรุงเทพฯ สู่มาตรฐานสากล 4G คือ  (Go Good Get Give)

             Go-เดินหน้า

             Good-บริหารด้วยธรรมาภิบาล

             Get-รับฟังความคิดเห็นรอบด้าน

             Give-ให้โอกาสการมีส่วนร่วม

           3. ด้านสังคมสงเคราะห์ ช่วยเหลือผู้ที่ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ

             ปรับปรุงสิ่งที่มีอยู่ให้สอดคล้องและทำได้จริงในการดูแลพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ

             ประสานความร่วมมือทั้งภาครัฐและเอกชนในการฟื้นฟู พัฒนาผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะร่วมกัน เพื่อการจัดสวัสดิการสังคมในหลักสิทธิมนุษยชน โดยจัดสถานพักพิงรายวันในพื้นที่สำคัญ หรือสร้างสถานดูแลขึ้นใหม่ที่สอดคล้องกับแต่ละประเภทของผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ

             การส่งเสริมด้านการทำบัตรประชาชน การฝึกอาชีพ การส่งกลับภูมิลำเนา โดยร่วมมือประสานงานกับภาครัฐและเอกชน

           4. แก้ไขปัญหาการจราจร เปลี่ยนรถบีอาร์ทีเป็นรถไฟฟ้า BTS หรือ Light Rail พร้อมแก้ไขปัญหารถจักรยานยนต์วิ่งบนทางเท้า

           5. จัดทำรายการหรือช่องโทรทัศน์เพื่อความสมานฉันท์ โดยเปิดโอกาสให้แต่ละฝ่ายมานั่งถกเถียงกันในประเด็นร่วมสมัย 6-8 ประเด็น ๆ ละ 3-4 ชั่วโมง จัดทุกวันช่วง Prime Time เพื่อให้ได้รับข้อมูลจากทุกฝ่าย

           6. จัดระเบียบสนามหลวงใหม่ เปิดให้ประชาชนเข้าใช้บริการได้ดังเดิม เพียงแต่ต้องจัดระเบียบให้ดี เช่น การเช่าพื้นที่ค้าขายอาหาร เครื่องดื่ม เช่าจักรยาน โดยทำให้เกิดความโปร่งใส นำเงินเข้าหลวงเพื่อพัฒนาสนามหลวงให้ดียิ่ง ๆ ขึ้น และเห็นด้วยที่จะใช้สนามหลวงเป็นพื้นที่ชุมนุมทางการเมือง กลุ่มผู้ชุมนุมจะได้ไม่เป็นบุกรุกสถานที่ราชการ ไม่กีดขวางการจราจร สร้างความเสียหายให้แก่ประเทศชาติ





หมายเลข 5 นายสมิตร สมิทธินันท์ สังกัดอิสระ

นโยบาย

             1. เปิดไฟเขียวทุกแยก ไม่ต้องมีไฟแดง เพื่อแก้ปัญหาการจราจรติดขัด เพราะไฟแดงทำให้รถต้องจอด และบังคับรถต้องเลี้ยวซ้ายเมื่อถึงทางแยก ห้ามตรง ห้ามเลี้ยวขวา

             2. คืนผิวจราจรใน 2 เดือน โดยรื้อเกาะกลางถนน รถก็จะหายเข้าจุดหมายไปหมด

             3. ลดสัญญาณไฟแดงให้เท่ากับไฟเขียว คือ ไม่เกิน 1 นาที รถวิ่งก็มากกว่ารถหยุด เห็นผลใน 15 วัน

             4. ลดรายจ่ายที่ไร้สาระของกทม. เช่น ใช้น้ำมันไปรดต้นไม้ ใช้คนล้างท่อระบายน้ำ ขนขยะแบบโง่ ๆ เป็นต้น ก็จะมีเงินซื้อทางด่วนให้ใช้ฟรี

             5. แก้สะพานลอยที่สร้างผิดหลักให้ถูกหลักหลายแห่ง

             6. ยกเลิกรถวิ่งข้ามเกาะเพราะทำให้รถสวนมาไม่สะดวก

             7. ให้สิ่งที่เงินซื้อไม่ได้ เช่น เวลาที่มีค่าที่สุดของชีวิต ปีละไม่ต่ำกว่า 1,000 ชั่วโมง คิดเป็นเงินกว่า 40,000 บาท ค่าน้ำมันอีกกว่า 30,000 บาท




หมายเลข 6 นายสัณหพจน์ สุขศรีเมือง ผู้สมัครอิสระ

นโยบาย

           1. ทลายกำแพงบ้าน

           "กรุงเทพฯ เมืองยิ้ม" หลายทศวรรษ แล้วที่เรามักพูดกันว่าคนกรุงเทพฯ บ้านรั้วติดกันแต่ไม่รู้จักกัน ทั้ง ๆ ที่เรารู้ดีว่าการมีเพื่อนบ้านเป็นรั้วที่ดีกว่าสร้างกำแพงการสร้างกำแพงสูง ๆ เมื่อเรามีความสามัคคีกันในกลุ่มเพื่อนบ้านหรือชุมชน ก็จะทำให้ปัญหาต่าง ๆ ในสังคมถูกแก้ไปเองอย่างอัตโนมัติ อาทิเช่น

             ปัญหาโจรผู้ร้ายและอาชญากรรม ไม่สามารถทำอะไรได้ เพราะเราต่างเป็นหูเป็นตาให้ซึ่งกันและกัน และสามารถลดภาระหน้าที่ให้ตำรวจ (ที่ดีด้วย)

             ปัญหายาเสพติด ก็จะลดลงหรือถูกแก้ให้หายไปด้วย เนื่องจากในชุมชนหรือกลุ่มเพื่อนบ้านได้มีการทำกิจกรรมร่วมกัน อาจจะมีการจัดเป็นกลุ่มเล็ก ๆ 4-10 ครัวเรือน ก่อนเพื่อทำกิจกรรมร่วมกัน จากนั้นก็จัดเป็นระดับชุมชนเดือนละครั้ง (ซึ่งในแต่ละชุมชนก็มีการทำอยู่แล้วเป็นประจำทุกเดือน) สุดท้ายปลายปีประมาณเดือนธันวาคม

           2. นโยบายจัดการแก้ปัญหาจราจร

             ยกเลิกรถร่วมบริการ ให้ ขสมก. บริหารจัดการเองทั้งหมด โดยจัดซื้อหรือเช่ารถให้เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน โอนผู้ขับรถและกระเป๋ารถร่วมทั้งหมดมาสังกัด ขสมก. (รถร่วมมีส่วนทำให้รถติดแบบลูกโซ่อย่างมากในกรณีที่ไม่เคยปฏิบัติตามกฎจราจรตำรวจไม่เคยจับจริง..!)

             กำหนดและจำกัดปริมาณแท็กซี่ มีมาตรการเด็ดขาดในการยึดใบอนุญาต ในกรณีไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบวินัยจราจรอย่างเคร่งครัด (กำหนดจำนวนครั้งที่แน่ชัดจากจำนวนใบเตือนหรือแต้มที่โดนตัดทุกวันนี้ได้ใช้เป็นรูปธรรมหรือไม่? )

             ดูสถิติเดิมในการวัดปริมาณรถในแต่ละเส้นทางแล้วนำมาใช้เป็นแนวทางการแก้ปัญหาจราจร

             สองข้างทางต้องไม่ล้ำเขตสาธารณะของ กทม. เพื่อฟื้นฟูพื้นที่ถนนต้องเพิ่มขึ้น เพื่อให้รถสามารถจอดได้โดยไม่กีดขวางทางจราจรหลัก   

             สำรวจแนวคิดการใช้รถวันคู่ วันคี่ ตามเลขทะเบียนรถป้าย กทม. ยกเว้นป้ายรถต่างจังหวัด เพื่อความสะดวกในการขนส่งหรือธุระตามความจำเป็น

             ทำทางแยก หรือทางกลับรถให้เหมาะสมเพื่อลดมลภาวะเป็นพิษ ประหยัดพลังงานรวมทั้งลดปัญหาโลกร้อนร่วมกัน

             ทางด่วน รถที่ใช้ Easy Pass ควรจะมีทางขึ้นก่อนล่วงหน้าอย่างน้อยก่อนถึงด่าน 1-2 กิโลเมตรเพื่อลดการแออัดตรงด่านทางขึ้น ปริมาณรถจะได้กระจายจริงตามเวลาอันสมควร

             ยกเลิกการบังคับใช้หมวกกันน็อกกับมอเตอร์ไซค์พื้นที่ กทม. (คือไม่บังคับว่าใครจะใส่หรือไม่ใส่ตามความถนัดของแต่ละบุคคล) เพราะเป็นพื้นที่ปริมาณรถเยอะ จึงทำให้รถไม่เร็วมากในภาพรวม เพราะปริมาณการเกิดอุบัติเหตุจากการสวมหมวกกันน็อกที่บางคนไม่มีความถนัดในการสวมใส่จึงทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่ายซึ่งรวมถึงการเพิ่มอันตรายให้กับผู้อื่นที่ใช้ถนนร่วมกัน

             โครงการรถไฟฟ้า Commuter Train โครงการเชื่อมต่อรถไฟฟ้าที่มีอยู่เดิมไปเมืองรอบนอกที่มีเขตพื้นที่ติดกับ กทม.

           3. นโยบายอาชีวะจัดให้

           ฝึกสอนอาชีพ ประสบการณ์ทำงานให้กับนักศึกษาอาชีวะ เพราะปัจจุบันมีนักศึกษาที่ฝึกงานไม่ตรงกับสายงานเป็นจำนวนมาก ทำให้ไม่ได้รับประสบการณ์จริง นอกจากนี้ นโยบายดังกล่าวจะช่วยแก้ปัญหานักศึกษาตีกัน ป้องกันปัญหายาเสพติด ป้องกันปัญหาอาชญากรรม

           4. นโยบายจัดตั้งสภา กทม. ฝายประสานงานตรงสุ่ชุมชน

           เพื่อเป็นการกระจายความเจริญสู่ชุมชนโดยทั่วถึงทั้งระบบแบบบูรณาการ (ลดปัญหาการเลือกปฏิบัติและคอร์รัปชั่นในชุมชน) สืบเนื่องมาจากการลงสมัครแข่งขันกัน เพื่อดำรงตำแหน่งสมาชิกสภากรุงเทพฯ (ส.ก.) และสมาชิกสภาเขต (ส.ข.) ที ผู้สมัครแต่ละท่านล้วนแล้วแต่พร้อมที่จะเสียสละเวลาอันมีค่าของส่วนตัว เสนอตัวเข้ามารับใช้หรือเป็นตัวแทนพ่อ แม่ พี่ น้อง ประชาชนชาว กทม.




หมายเลข 7 นายณัฏฐ์ดนัย ภูเบศอรรถวิชญ์ ผู้สมัครอิสระ

นโยบาย

           เน้นเรื่องความสะอาด, ความสะดวก, ความสบาย, ความสงบ โดยนโยบายด้านสะดวก หมายถึง ในด้านการจราจร โดยจะดำเนินการปรับมุมแต่ละปากซอยให้เลี้ยวซ้ายได้ทันที พร้อมกับทุกแยกต้องเลี้ยวซ้ายผ่านตลอด นอกจากนี้ ยังมีรถรับ-ส่ง เจ้าหน้าที่กรุงเทพฯ เพื่อเพิ่มความสะดวกอีกด้วย ส่วนนโยบายอื่น ๆ อย่างเช่น

          1. สร้างเครือข่ายครูอาสาสัญจร รับสอนฟรี ทุกที่ทุกชุมชน ทุกองค์กร ทั้งเอกชนและภาครัฐ

          2. เปิดการสอนภาษาฟรีทุกเขต เพื่อเตรียมความพร้อมต้อนรับประชาคมอาเซียน

          3. ซ่อมแซมปรับปรุงทัศนียภาพ ความสะอาดของวัด มัสยิด คริสตจักร ให้มีบรรยากาศน่าเลื่อมใสศรัทธา

          4. จัดหน่วยพยาบาลเคลื่อนที่เพิ่มอีก 200 คัน บริการรักษาสุขภาพทุก ๆ ชุมชนฟรี

          5. ส่งเสริมแพทย์แผนไทย และแพทย์ทางเลือกประจำชุมชนให้ครบทุกเขต ต้อนรับประชาคมอาเซียน

          6. เพิ่มตลาดการค้าทุกประเภทให้เพียงพอต่อการเจริญเติบโตของประชากร กรุงเทพฯ

          7. มีหน่วยงาน กทม. บริการ เคลื่อนที่ถึงบ้านประชาชนทุกชุมชน เช่น ทำบัตรประชาชน ฯลฯ






หมายเลข 8 นายสุเมธ ตันธนาศิริกุล สังกัด กลุ่มกรุงเทพพัฒนาฯ

นโยบาย           

          คนรากหญ้า-คนจนท้องต้องอิ่มก่อนที่ทำกินและที่อาศัย-ความปลอดในชีวิตและทรัพย์สินสำคัญกว่าเมกะโปรเจกต์

หลักในการบริหารกรุงเทพมหานครของผม
 
          1. ร่วมคิด : เสนอปัญหา-มุมมองและวิธีแก้ไข

          2. ร่วมวางแผน : วางแผนแนวทางในการพัฒนาอย่างยั่งยืน

          3. ร่วมทำ : เข้าประชุมหารือ-ออกพื้นที่ร่วมทำกิจกรรม

          4. ร่วมรับผิดชอบ : ดูแล-รักษา-ใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด

แผนงานสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้ชาวกทม. Bangkok : Healthy Cities


          1. องค์กรต้องโปร่งใส สมกับคำที่ว่า เป็นข้าฯ ของแผ่นดิน เจ้าหน้าที่รัฐจะต้องมีระเบียบวินัย มีหน้าที่บำบัดทุกข์ บำรุงสุข เป็นคนดีที่พึงได้ของประชาชน

          2. ฟื้นฟู ส่งเสริม-สนับสนุน กลุ่มประชาคมเขต 50 เขต ตามโครงการ "กลุ่มประชาชนร่วมพัฒนากรุงเทพฯให้เป็นเมืองน่าอยู่ Bangkok : Healthy Cities"

          3. ศึกษาโครงการที่คั่งค้างเพื่อสานต่อให้เสร็จควบคู่กับการเร่งเพิ่มผลงานให้กับชาว กทม. ในโครงการนโยบาย”ความคิดของท่านคือนโยบายสำคัญของเรา” และแต่ละโครงการ ต้องเป็นเรื่องที่ทำได้จริง ไม่สร้างภาพ ไม่การตลาด ไม่ขายฝันเพราะนี่คือนโยบายความต้องการที่แท้จริงของประชาชนชาว กทม. ที่เกิดจากความคิดเห็นและมติของประชาคมเขต 50 เขต ช่วยกันพัฒนาเมือง




หมายเลข 9 พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ สังกัดพรรคเพื่อไทย

นโยบาย

           1. ซื้อสินค้าราคาถูก แก้หนี้นอกระบบ ใช้กองทุนชุมชนเมือง ลดรายจ่ายสร้างรายได้

             ปลดหนี้นอกระบบ สร้างความเป็นธรรมในกระบวนการกู้หนี้ยืมสิน

             ใช้กองทุนชุมชนเมืองให้คน กทม. มีแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ

             สร้างศูนย์โอทอป สร้างตลาด กทม. เพิ่มขึ้น เปิดโอกาสให้ทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย

             ปรับปรุงย่านการค้าจตุจักรให้เป็น SME’s Center เพื่อให้นักธุรกิจรุ่นใหม่ได้มีโอกาสค้าขายกับกลุ่ม AEC และธุรกิจระดับโลก

             นโยบาย "รถเมล์ฟรีทุกคัน" ออกทุก 5 นาที และเรือโดยสารฟรี

           2. วางโครงข่ายจราจรและระบบขนส่งมวลชนใหม่คืนเวลาให้ภาคธุรกิจคืนความสุขให้ครอบครัว

             ทำระบบ Feeder โดยสร้างโครงข่าย Monorail บริการรับ-ส่งคน กทม.ให้เข้าถึงบีทีเอส และเอ็มอาร์ทีได้สะดวก

             แก้ปัญหาจราจรร่วมกับ ขสมก.โดยจัดระบบเดินรถใหม่ลดความซ้ำซ้อนของเส้นทางเดินรถ ร่วมกับกระทรวงคมนาคมสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาอีก 10 จุด

            3. แก้ปัญหาอาชญากรรม อัคคีภัย เฝ้าระวังความปลอดภัย 24ชั่วโมง

             ติดตั้งกล้องซีซีทีวีหน้าบ้านพักอาศัย ตรอก ซอย ชุมชน พื้นที่เสี่ยง

             เชื่อมโยงระบบ ซีซีทีวีของ กทม.และตำรวจเข้าด้วยกัน เป็นศูนย์เฝ้าระวังอาชญากรรมตลอด 24 ชั่วโมง

             เพิ่มอาสาสมัครป้องกันภัยพร้อมจักรยาน จักรยานยนต์และรถยนต์ ตระเวนเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยง

             ติดไฟส่องสว่างให้ทั่วถึงทุกพื้นที่

             เฝ้าระวังบ้านทุกหลัง 365 วัน

             ป้ายรถเมล์สว่างทุกป้าย พร้อมห้องน้ำ

           4. ขจัดยาเสพติดให้หมดไปจากชุมชนคืนลูกหลานให้พ่อแม่

             ขยายโครงการ "ชุมชนอุ่นใจได้ลูกหลานคืน" ให้ครบทุกชุมชนแก้ปัญหายาเสพติด

             ให้ทุกโรงเรียนในสังกัด กทม.เป็นโรงเรียนสีขาว ปลอดยาเสพติด

             ปรับปรุงสภาพแวดล้อมในชุมชนเสี่ยงให้ทุกชุมชนมีลานกีฬาหรือลานกิจกรรม

             ให้โรงพยาบาลสังกัด กทม. ทุกแห่งเป็นศูนย์ฟื้นฟูและบำรุงผู้เสพยาโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

             ยกระดับศูนย์อนามัยชุมชนให้เป็นโรงพยาบาลชุมชน

           5. น้ำไม่ท่วม ไม่เอ่อไม่ขัง ท่อไม่ตันอีกต่อไป

             ร่วมกับรัฐบาลในการบริหารจัดการน้ำเพื่อให้พื้นที่ กทม.ไม่มีปัญหาน้ำท่วม น้ำเอ่อน้ำขังอีกต่อไป ปรับปรุงท่อระบายน้ำ อุโมงค์ระบายน้ำ ขยายท่อ เชื่อมท่อจากหมู่บ้านและชุมชนให้น้ำไหลสู่คูคลองได้อย่างรวดเร็ว แก้ไขอุโมงค์ยักษ์ระบายน้ำให้มีประสิทธิภาพ

             ขุดลอกคูคลองและลอกท่อตลอดทั้งปี

             ตั้งศูนย์เฝ้าระวังระดับน้ำในพื้นที่ ติดตามสถานการณ์น้ำ การพยากรณ์อากาศ

             สร้างเขื่อนริมตลิ่ง ริมแม่น้ำ เพื่อป้องกันพื้นที่ลุ่มต่ำไม่ให้น้ำทะเลหนุนเข้าท่วมบ้านเรือน

             ยกระดับพื้นผิวถนนที่อยู่ในระดับต่ำและผิวถนนที่มีน้ำท่วมขังทุกครั้ง

           6. ขยะหน้าบ้าน เก็บทุกวัน กทม. สะอาดสดใส ไร้มลพิษ

             เพิ่มพนักงานและรถเก็บขยะให้มากขึ้นโดยมีการบริหารจัดการให้สามารถเก็บขยะจากทุกบ้านได้ทุกวัน

             ปรับปรุงระบบการแยกขยะ นำขยะไปรีไซเคิล กลับมาใช้ประโยชน์ใหม่

             เพิ่มเตาเผาขยะไร้มลพิษ เพื่อกำจัดขยะได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม

           7. ทางเลียบริมเจ้าพระยา ให้คน กทม. ขี่จักรยาน เดิน วิ่ง เพื่อพักผ่อนหย่อนใจ

             สร้างทางเดินริมแม่น้ำเจ้าพระยาทั้ง 2 ฝั่ง เพื่อใช้เป็นทางเดิน วิ่ง ขี่จักรยานให้คน กทม.ได้มีสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ ออกกำลังกายและชมวิว

           8.จัดทางเท้าใหม่ สวนสาธารณะใหม่ สายไฟฟ้าลงดิน สร้างกรีนซิตี้


             ปรับปรุงทางเท้าใหม่ให้สะอาด แข็งแรงและเรียบเสมอ และจัดระเบียบหาบเร่แผงลอยและสิ่งกีดขวางต่าง ๆ

             ประสานการไฟฟ้านครหลวงและกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร นำสายไฟ สายโทรคมนาคมลงดินและปลูกต้นไม้แทน

             เพิ่มพื้นที่สวนสาธารณะขนาดใหญ่เพิ่มมากขึ้น โดยเช่าที่จากกรมธนารักษ์และประสานการทางพิเศษแห่งประเทศไทย เพื่อนำพื้นที่ใต้ทางด่วนมาพัฒนาให้เป็นพื้นที่สีเขียว

             สร้างทางเท้า เอื้อคนพิการ

             สร้างสะพานทางเดินจากสะพานพระราม 8 ไปถึงสะพานสาทร เอื้อคนจนเดินทางเท้าสะดวกปลอดภัย



โฆษิต สุวินิจจิต

หมายเลข 10 นายโฆสิต สุวินิจจิต ผู้สมัครอิสระ 

นโยบาย "กรุงเทพฯ 24 ชั่วโมง"


           1. กรุงเทพฯ บริการ 24 ชั่วโมง

           กรุงเทพมหานครต้องสนองตอบต่อประชาชน ด้วยการให้บริการอย่างทั่วถึง 24 ชั่วโมง หรือ 3 กะ มากน้อยขึ้นอยู่กับความต้องการของประชาชนในแต่ละพื้นที่

           2. ผู้ว่าฯ บริหาร 24 ชั่วโมง

           ผู้บริหารกรุงเทพมหานครและทีมงาน ต้องทำงาน 24 ชั่วโมง หรือ 3 กะ เพื่อตัดสินใจในการทำงานบริหารงานและแก้ไขปัญหา ตลอด 24 ชั่วโมง

           3. กรุงเทพฯ ปลอดภัย 24 ชั่วโมง

             ติดไฟสว่างรอบกรุง

             เชื่อมต่อซีซีทีวีเข้ากับกล้องของภาครัฐและเอกชน ให้เป็นระบบเดียวกัน

             รปภ. 50 เขต ทั่วกรุงเทพฯ

             ศูนย์บริการข้อมูล คอลเซ็นเตอร์/ช่องดาวเทียม

             ติดตั้งแอพพลิเคชั่น และจีพีเอสใช้สำหรับรักษาความปลอดภัยในกรุงเทพฯ

             นำสายไฟลงดิน ทั่วกรุง

           4. กรุงเทพฯ ทำมาหากิน 24 ชั่วโมง

             กรุงเทพฯ แข่งกับสิงคโปร์เติบโต 24 ชั่วโมงก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจแห่งอาเซียน

             เพิ่มการประกอบสัมมาอาชีพได้ 24 ชั่วโมง

             ศูนย์วัฒนธรรมแห่งเอเชีย-(เชิดชู วัฒนธรรม นำสู่ เศรษฐกิจ)

             Head office ของ ASIAN จูงใจลดภาษี 17 เปอร์เซ็นต์

             Holly wood แห่งเอเชีย

             ศูนย์เรียนรู้วัฒนธรรม

             พิพิธภัณฑ์กรุงเทพ

             โรงหนัง โรงละคร

             สร้าง Mascot กทม. เพื่อขายของที่ระลึกให้นักท่องเที่ยวรายได้ให้กรุงเทพฯ

           5. กรุงเทพฯ เดินทางได้ 24 ชั่วโมง

             เพิ่มและขยายเวลาระบบขนส่งมวลชนเป็น 24 ชั่วโมง

             ขยันและจัดการป้ายรถเมล์และจัดระเบียบวินรถตู้

             จัดรถรับส่งข้าราชการ กทม./บริษัทเอกชนจากรถไฟฟ้าถึงที่ทำงาน

             ส่งประชาชนสู่ระบบขนส่งมวลชนด้วยชัตเทิลบัส

             เพิ่มที่จอดรถทั่วพื้นที่กรุงเทพฯ ด้วยระบบ Mechanical Vertical car park

             ปรับป้ายบอกทางทั่วกรุงเทพฯ แก้ปัญหาการจราจรระยะยาว : คิดรอบด้าน ประสานให้ได้

             เพิ่มทางลัดตัดทั่วกรุง

             สร้างโครงข่ายรถไฟฟ้าทั่วกรุงเทพฯ

             เพิ่มระบบสร้างรถราง โมโนเรล

           6. กรุงเทพฯ เรียนรู้ 24 ชั่วโมง

             ศูนย์การเรียนรู้อินเทอร์เน็ตและห้องสมุด 24 ชั่วโมง

             สร้างศูนย์ดูแลเด็กเล็ก เนิร์สเซอรี่ ประจำชุมชน (นำปู่ย่ามาเลี้ยงดู)

             สร้างศูนย์ฝึกวิชาชีพให้กับทุกวัยที่ต้องการเรียนรู้ พร้อมเพิ่มเติมหลักสูตรสำหรับเอสเอ็มอี

             ขยายหลักสูตร มหาวิทยาลัย กทม.

             ยกระดับโรงเรียน กทม. ให้เทียบเท่าโรงเรียนสพฐ.

             ถ่ายทอดสดการสอนของครูเก่ง ๆ โรงเรียนดัง

             ส่งเสริมการเรียนรู้ของคุณครูใน กทม.  

             เปิดหลักสูตรสอน 3 ภาษาไทย จีนแมนดารินและอังกฤษ

           7. กรุงเทพฯ สุขภาพดี 24 ชั่วโมง

           กรุงเทพมหานครต้องมีความพร้อมในการส่งเสริมพัฒนาสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อมให้กับคนกรุงเทพมหานคร เพื่อป้องกันการเกิดโรค ทั้งจะเพิ่มสถานพยาบาล 1 เขต 1 โรงพยาบาล เพื่อให้บริการด้านสุขภาพได้อย่างรวดเร็ว

           8. นโยบาย 50 เขต 50 ยุทธศาสตร์

           กรุงเทพมหานคร แบ่งการปกครองออกเป็น 50 เขต แต่ละเขตมีสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน ดังนั้นเพื่อให้การบริหารสอดคล้องรับกับสภาพความเป็นจริง และความต้องการของประชาชนในแต่ละพื้นที่ จึงต้องกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาของแต่ละเขต โดยเปิดโอกาสให้คนพื้นที่ได้แสดงความคิดเห็น เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์ที่เหมาะสมและสอดรับกับความต้องการที่แท้จริง

           9. นโยบายที่ปรึกษาผู้ว่าราชการจังหวัด ประจำเขต

           การบริหารกรุงเทพมหานครที่มีพื้นที่กว้างใหญ่ จึงต้องมีคณะที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ทั้ง 50 เขต เพื่อให้สามารถเข้าถึงประชาชนในพื้นที่ได้อย่างใกล้ชิด ทั้งให้บริการด้านต่าง ๆ ร่วมรับฟังปัญหาและข้อเสนอแนะในการพัฒนาเขตของตนเองได้อย่างทั่วถึงและเท่าทันอย่างแท้จริง พร้อมทั้งสนับสนุนการทำงานของข้าราชการในเขตนั้น ๆ ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ



เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส

หมายเลข 11 พล.ต.อ เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส สังกัดกลุ่มพลังกรุงเทพฯ

นโยบาย

           1. กรุงเทพฯ ปลอดภัย เดินทางสะดวก น่าอยู่อาศัย น่าท่องเที่ยว

           2. กรุงเทพฯ สะอาด เป็นระเบียบ เคารพกฎหมาย ปราศจากอิทธิพล

           3. คิดนอกกรอบ รอบคอบ กล้าทำ ขจัดคอร์รัปชั่น ตรวจสอบได้

           4. พัฒนาอาชีพ เพิ่มรายได้ สวัสดิการดี มีอนาคต

           5. เรียนเด่น เล่นดี มีพลานามัย ปลอดภัยโรค

           6. ไม่ทะเลาะไม่ขัดแย้ง ไม่แย่งผลงานใคร ไม่ฝักใฝ่พรรคการเมือง

           7. ดื่มน้ำพิพัฒน์สัตยา กล้าคิด กล้าทำ โปร่งใส ไม่โกงกิน

           8. คนกรุงเทพฯ ต้องมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น กรุงเทพฯ ต้องเป็นศูนย์ประชาคมอาเซียน

           9. ให้บริการรถเมล์แอร์ฟรี

           10. ประสานรัฐบาลเพื่อสร้างรถไฟลอยฟ้า-ใต้ดิน

           11. สวนไปถึงบ้าน

           12. ตั้งโรงทานทุกวัด

           13. ติดตั้งกล้องวงจรปิดทั่วทุกพื้นที่

           14. จัดระเบียบการค้าบนทางเท้า ผู้บุกรุกคู-คลอง

           15. เปลี่ยนสายไฟฟ้า ฯลฯ ลงใต้ดิน

           16. เปลี่ยนขยะให้เป็นเงิน แปลงขยะให้เป็นพลังงาน

           17. ขจัดน้ำเน่าในคู-คลอง

           18. สร้างที่อยู่อาศัยให้ผู้มีรายได้น้อย

           19. พัฒนาอาชีพ สร้างรายได้ให้คนกรุงเทพฯ

           20. โรงเรียน 2 ภาษา

           21. ให้บริการเครื่องมือแพทย์ที่ทันสมัย




หมายเลข 12 น.ส.จงจิตร์ หิรัญลาภ ผู้สมัครอิสระ

นโยบาย "สวัสดีกรุงเทพเมืองใสสะอาด"

           1. พัฒนาคุณภาพชีวิตโดยใช้เทคโนโลยี

           2. สนับสนุนให้บริษัทเอกชนเลิกงานเหลื่อมเวลากับเวลาราชการ เพื่อแก้ปัญหารถติด

           3. เก็บค่าทางด่วนลดลงในช่วงเวลาที่ไม่ใช่ชั่วโมงเร่งด่วน

           4. สนับสนุนให้ใช้เรือ-รถไฟฟ้า-จักรยาน แทนการใช้รถ

           5. จัดพื้นที่ให้หาบเร่แผงลอยได้ขายของ

           6. ดูแลบำบัดน้ำเสียควบคู่การจัดทำพลังงานจากขยะ

           7. จัดการเรียนการสอนของนักเรียน กทม. ให้ได้เรียน 2-3 ภาษาขึ้นไป


วศิน ภิรมย์

หมายเลข 13 นายวศิน ภิรมย์ ผู้สมัครอิสระ

นโยบาย

           1. การบังคับใช้กฎระเบียบของ กทม. อย่างเคร่งครัด และรายงานผลสถิติทุกวันผ่านสื่อต่าง ๆ

           2. บริการรถสาธารณะ รถไฟฟ้า BTS, MRT ฟรีตอนเช้า ก่อน 7.00 น.

           3. จัดทำรถแท็กซี่ปลอดภัยร้อยเปอร์เซ็นต์ 10,000 คัน ให้มีที่กั้นระหว่างผู้ขับขี่และผู้โดยสาร

           4. กรุงเทพฯ ไร้เด็กขอทาน และคนเร่ร่อน เพื่อลดปัญหาอาชญากรรมและการค้ามนุษย์

           5. นำวิทยาการคอมพิวเตอร์ และ IT เข้ามาใช้ปรับปรุงบริการต่าง ๆ ของ กทม. ให้มีประสิทธิภาพ และประสิทธิผลที่ดีมากยิ่งขึ้น
 
           6. รถไฟฟ้าลดมลพิษรอบเกาะรัตนโกสินทร์




หมายเลข 14 นายประทีป วัชรโชคเกษม ผู้สมัครอิสระ

นโยบาย

           1. ลดปัญหาจราจรที่คับคั่ง ด้วยการเพิ่มช่องทางขึ้น-ลงจากทางยกระดับ 10 จุด

           2. ยุบโรงขยะอ่อนนุช ซึ่งจะช่วยลดปัญหาขยะได้ถึงร้อยละ 50 โดยใช้กระบวนการซื้อขาย

           3. ติดตั้งเครื่องฟอกอากาศให้คนกรุง ย่านเศรษฐกิจ ทั้งสีลม, สยาม, ประตูน้ำ และสุขุมวิท

           4. จัดสร้างหอพักให้กับอาจารย์ผู้สอนในโรงเรียนกรุงเทพมหานคร

           5. แก้ปัญหามลพิษในอากาศ ด้วยการปรับท่อไอเสียรถ





หมายเลข 15 นายจำรัส อินทุมาร สังกัดพรรคไทยพอเพียง

นโยบาย

          น้ำไม่ท่วม รถไม่ติด เศรษฐกิจดี

           1. เปิดให้พ่อค้าแม่ค้ากู้เงินไม่เกิน 2 แสนบาท โดยไม่ต้องมีผู้ค้ำประกันและดอกเบี้ย ส่วนนักธุรกิจจะให้กู้รายละไม่เกิน 5 ล้านบาท

           2. นำเงินของ กทม. ออกมาช่วยปลดหนี้นอกระบบให้ เพื่อตัดดอกเบี้ย แล้วให้ผู้เป็นหนี้นำเงินมาจ่ายคืนกับ กทม.

           3. เพิ่มเบี้ยยังชีพคนชราเป็นเดือนละ 5,000 บาท

           4. เรียนฟรีจนจบปริญญาตรี

           5. จัดรถรับส่งนักเรียนฟรีอย่างเป็นระบบ

           6. จัดโครงการทนายส่วนตัวให้ทุกคน ทุกครอบครัว ฟรี เพื่อปรึกษาปัญหากฎหมาย โดยทนายจะได้รับค่าตอบแทนเดือนละ 30,000 บาท
   




หมายเลข 16 ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร สังกัดพรรคประชาธิปัตย์

นโยบาย "รักกรุงเทพฯ...ร่วมสร้างกรุงเทพฯ"

           1.มหานครแห่งความปลอดภัย


             ติดกล้อง CCTV เพิ่มเติมทั่วทั้งเมือง พร้อมเชื่อมโยงเครือข่ายเอกชน 200,000 ตัว

             ระบบป้องกันพร้อมแจ้งเตือนอัคคีภัย อุทกภัย และแผ่นดินไหว

             อาสาสมัครชุมชนเฝ้าระวังภัย เสริมความปลอดภัยทุกชุมชน

           2.มหานครแห่งความสุข

             สร้างโรงพยาบาลให้ครบ 4 มุมเมือง ดูแลผู้สูงอายุครบวงจร และขยายการมีส่วนร่วมในการดูแลสุขภาพ

             การเชื่อมต่อระบบขนส่งมวลชนทุกประเภท

             สร้างอุโมงค์ลอดใต้ทางรถไฟ และปรับปรุงถนน ตรอก ซอย ทางลัด 100 สาย

           3.มหานครสีเขียวและสะอาด

             เพิ่มพื้นที่สีเขียว โดยเน้นสวนสาธารณะขนาดใหญ่

             ปรับภูมิทัศน์ถนนสายหลัก

             เพิ่มประสิทธิภาพในการบำบัดน้ำเสีย

             เพิ่มระบบจัดการขยะที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่จัดเก็บ ขนถ่าย จนถึงเปลี่ยนขยะ ให้เป็นพลังงานไฟฟ้า ด้วยเทคโนโลยีสะอาด

           4.มหานครแห่งการเรียนรู้

             ขยายการดูแลนักเรียนจากอิ่มท้อง สมองดี สู่มีวินัย

             เด็กกรุงเทพฯ ภาษาอังกฤษแข็งแรง พร้อมรับประชาคมอาเซียน

             ห้องสมุดแห่งการเรียนรู้ และศูนย์การเรียนรู้ในชุมชน

             ขยายโอกาสการเข้าถึงระบบการสื่อสารทางอิเล็กทรอนิกส์

           5.มหานครแห่งโอกาส

             ตลาดสำหรับคนรุ่นใหม่ รองรับการใช้ความรู้และทักษะที่จะผลิตสินค้าและบริการใหม่ ๆ

             ประชาชน พนักงานบริษัทเอกชน และราชการ มีรายได้เสริมเพิ่มความมั่นคงของชีวิต

             เพิ่มจุดบริการพิเศษงานทะเบียนราษฎร์ ในห้างสรรพสินค้า และขยายเวลาให้บริการถึง 22.00 น.

             ขยายปริมาณและมูลค่าเศรษฐกิจภาคกลางคืน

           6.มหานครของทุกคน

             อำนวยความสะดวกในการดำเนินชีวิต แก่ผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้มีความต้องการพิเศษ

             ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการสร้างกรุงเทพมหานครผ่านระบบ i-Bangkok

             ส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีบทบาทในการพัฒนาเด็กและเยาวชน และให้เด็กและเยาวชนมีส่วนร่วมสร้างกรุงเทพฯ

             ส่งเสริมชุมชนพัฒนาตนเองให้เข้มแข็งทางเศรษฐกิจ

           7.มหานครแห่งอาเซียน

             ศูนย์กลางการท่องเที่ยวของอาเซียนและของโลก

             ศูนย์กลางการบริการด้านการแพทย์ และการท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ

             ศูนย์กลางธุรกิจ การค้า การลงทุน โดยเน้น SME

             ศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนศิลปะและวัฒนธรรมอาเซียน


หมายเลข 17 สุหฤท สยามวาลา ผู้สมัครอิสระ

นโยบาย คนกรุง "ต้องกล้า" ลุกขึ้นมาเปลี่ยน

           1. ทุกชีวิตต้องปลอดภัยบนทางเท้า เราต้องกล้าจัดการทางเท้าให้ดีกว่าเดิม

           2. เริ่มแก้ปัญหาจราจรจากศูนย์ เราต้องกล้าที่จะดูแลระเบียบจราจรร่วมกัน

           3. ขยะแลกสวนสาธารณะ ขยะ 1 หมื่นตันช่วยกันเปลี่ยนให้เป็นเงินแล้วเอามาสร้างสวนกัน 3 ถุง เขียว เหลือง แดง

           4. 50 เขต 50 เสน่ห์ ใช้เสน่ห์ของคนในเขตสร้างชุมชนในฝันให้เด็ก ๆ เข้าใจชุมชนที่ตัวเองเกิดมา

           5. ดูแลโรงเรียนด้วยหัวใจ มาดูแลครูด้วยหัวใจแทนงบประมาณ ครูดีเด็กดีสร้างอนาคต พร้อมโรงเรียนทางเลือก

           6. โฆษณาสีเขียว เปลี่ยนโจทย์ให้นักทำโฆษณา อยากทำโฆษณาต้องกล้ามอบความเขียวคืนให้กรุงเทพฯ

           7. จักรยานไม่ใช่ลูกเมียน้อย ทำไมผู้ใช้จักรยานในเมืองใหญ่ทั่วโลกไม่ต้องเสี่ยงตายเท่าในกรุงเทพฯ

           8. เครือข่ายทางสาธารณะจะต้องเริ่มจากหน้าบ้าน เราจะประกาศแผนอย่างละเอียดใน 1 ปี เราต้องดูแลตั้งแต่หน้าบ้าน

           9. ยกระดับหน่วยกู้ภัยกรุงเทพฯ ให้ทัดเทียมนานาชาติ เขาจะเป็นผู้ช่วยเหลือที่ไว้ใจได้ที่สุดยามฉุกเฉิน

           10. เมืองที่ผู้หญิงอยู่อย่างมีความสุข เมื่อผู้หญิงมีความสุข ทุกคนในบ้านก็มีความสุข แปลว่าเขารู้สึก
ปลอดภัย สร้างโอกาสที่จะก้าวหน้า ส่งเสริมในสิ่งที่ชอบ

           11. สร้างสมดุลชีวิตคนกรุงเทพฯ เมืองต้องการศิลปะทั่วทุกหัวระแหง เมืองที่มีพื้นที่ออกกำลังกาย สนับสนุนชีวิตสองด้าน

           12. Bangkok-Emo-Meter กรุงเทพฯ เมืองแห่งความเชื่อมโยงแอพพลิเคชั่นเดียวสำหรับการใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ ได้ข้อมูลทันใจทุกเรื่อง


หมายเลข 18 นางนันท์นภัส โกไศยกานนท์

นโยบาย

           1. เน้นแก้ปัญหาจราจรเป็นนโยบายหลัก

           2. เพิ่มเงินเบี้ยเลี้ยงให้ตำรวจจราจร

           3. ผู้ว่าเดลิเวอรี่ เปิดรับฟังปัญหาของประชาชน ชาวกรุงเทพมหานคร ให้มาร้องเรียนกับผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้โดยตรงตลอด 1 วัน ทุก ๆ สัปดาห์ เพื่อเป็นการเข้าถึงประชาชนให้ได้มากที่สุด



นายสุขุม วงประสิทธิ

หมายเลข 19 นายสุขุม วงประสิทธิ พรรคยางพาราไทย

นโยบาย

          1. แยกธนบุรีออกจากกรุงเทพมหานคร เพื่อการพัฒนาอย่างรวดเร็วและเข้าถึง

          2. การแก้ไขปัญหาจราจร

          3. ส่งเสริมการมีส่วนร่วมภาคประชาชน




กฤษณ์ สุริยผล

หมายเลข 20 นายกฤษณ์ สุริยผล กลุ่มรักกรุงเทพฯ 

นโยบาย

          "3 ส 1 ป" หมายถึง สะดวกสบาย ต่อขยายรถไฟฟ้าทั่วสี่มุมเมือง จราจรไม่ติดขัด, สะอาด สะอ้าน ขยะเก็บทุกวัน ท่อน้ำไม่อุดตัน น้ำไม่ท้วมขัง, สว่างไสว ติดตั้งไฟฟ้าทุกซอก ตรอก ซอย (หมู่บ้าน), โปร่งใส ปลอดภัย คือ หยุดคอร์รัปชัน ปราบปรามยาเสพติดอย่างจริงจัง


ธรณี ฤทธีธรรมรงค์

หมายเลข 21 นางธรณี ฤทธีธรรมรงค์ สังกัดอิสระ

นโยบาย

          1. ยุบอำนาจนักการเมืองที่แข่งกันโยกย้ายข้าราชการ โดยอำนาจเหล่านี้จะต้องอยู่กับประชาชน
 
          2. การตั้งสภาราษฎร์ร่วมรัฐทุกเขตในกรุงเทพ รับฟังความคิดเห็นของประชาชน

          3. ส่งเสริมความเป็นไทยในด้านดนตรีและศิลปวัฒนธรรม

          4. ปรับปรุงสวัสดิการและระบบบำเหน็จบำนาญของข้าราชการและลูกจ้างของกรุงเทพมหานครให้เป็นธรรมที่สุด

          5. เปิดโครงการรณรงค์ให้องค์กรภาครัฐ องค์กรภาคเอกชน ประชาชนทั่วไปจอดรถไว้ที่บ้าน และใช้รถสาธารณะหรือเดินเป็นหลัก

          6. ประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด สร้างระบบรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในกรุงเทพมหานคร แบบบูรณาการ โดยงบประมาณกทม.โดยผ่านสภาราษฎร์ร่วมรัฐ

          7. ไม่สนับสนุนกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ บุหรี่ สุรา และอบายมุขทุกประเภท

          8. กำหนดให้สื่อโทรทัศน์ของกรุงเทพมหานคร มีรายการวาระสำหรับประชาชนหลังข่าวพระราชสำนักวันละ 1 ช่อง

          9. การสมัคร และหาเสียงเลือกตั้งของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในคราวต่อไปไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น และห้ามปิดป้ายโฆษณาตามสถานที่สาธารณะต่าง ๆ และต้องกำหนดแนวนโยบายบริหารราชการกรุงเทพมหานครให้ชัดเจนโดยให้ออกสื่อโทรทัศน์ของกรุงเทพมหานคร

          10. จัดทำระบบป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพมหานคร แบบบูรณาการ

          11. ยกเลิก สิทธิการเดินทางฟรี โดยเครื่องบินทั้งในและต่างประเทศทั้งหมดของข้าราชการและนักการเมืองท้องถิ่น

          12. ทำให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองสีเขียว (ปลูกต้นไม้เป็นหลัก)



ศุภชัย เขษมวงศ์

หมายเลข 22 นายศุภชัย เขษมวงศ์ สังกัดอิสระ

นโยบาย

          1.โครงการแก้ปัญหา 3 น้ำอย่างยั่งยืน (น้ำท่วม,น้ำแล้ง, น้ำใต้ดิน)

          2.โครงการแก้ไขปัญหาการจราจรในกรุงเทพฯ แนวใหม่

          3.โครงการสร้างงานอาชีพและชื่อเสียงให้กับคนไทยและประเทศไทย


นางสาวรวิวรรณ สุทธวิรีสรรค์

หมายเลข 23 นางสาวรวิวรรณ สุทธวิรีสรรค์ สังกัดอิสระ

นโยบาย

          ทำถังขยะแบบใช้ที่เหยียบเปิดฝาถังโดยไม่ต้องใช้มือจับ


นายวิทยา จังกอบพัฒนา

หมายเลข 24 นายวิทยา จังกอบพัฒนา สังกัดอิสระ

นโยบาย

          1. แก้ไขปัญหาการจราจร ด้วยการยกเลิกสี่แยกไฟแดง จะมีแต่สี่แยกเลี้ยวซ้ายและให้รถไปยูเทิร์นเท่านั้น

          2. จะช่วยรณรงค์ให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิเลือกตั้ง ให้ได้ 100 %

          3. ให้สภา กทม. ออกกฎหมายบ้านเรือนที่อยู่ใกล้กัน ไม่ให้มีการทะเลาะกัน ถ้าใครไม่ทำตามก็จะมีการเสียค่าปรับ



พ.ต.อ.ขจรศักดิ์ โกษะโยธิน

หมายเลข 25 พ.ต.อ.ขจรศักดิ์ โกษะโยธิน สังกัดอิสระ

นโยบาย

          "สามารถแก้ไขปัญหาเรื่องของเด็กแว้น และนโยบายจะเป็นสิ่งที่ทำได้จริง



อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
สำนักข่าวสปริงนิวส์ , สำนักข่าวแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์ , , ,



ขอขอบคุณภาพประกอบจาก เฟซบุ๊ก ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร, เฟซบุ๊ก พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ, เฟซบุ๊ก พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส, เฟซบุ๊ก สุหฤท สยามวาลา, เฟซบุ๊ก โฆสิต สุวินิจจิต, เฟซบุ๊ก ร.อ.เมตตา เต็มชำนาญ, เฟซบุ๊ก สัณหพจน์ สุขศรีเมือง, เฟซบุ๊ก โสภณ พรโชคชัย, เฟซบุ๊ก ณัฏฐ์ดนัย ภูเบศอรรถวิชญ์, เฟซบุ๊ก วศิน ภิรมย์, ครอบครัวข่าว 3, kmutt.ac.th, khonthai.com, @TonGlassHeart , สปริงนิวส์ , เฟซบุ๊ก สุขุม วงประสิทธิ เลขาธิการและโฆษกกลุ่มฯ , prbangkok.com


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ส่องนโยบายหาเสียงผู้สมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. แบบจัดเต็ม! โพสต์เมื่อ 23 มกราคม 2556 เวลา 15:01:10 11,958 อ่าน
TOP