x close

ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. โชว์ทีเด็ด! ประชันกึ๋น ชูนโยบายพื้นที่สีเขียว


ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. โชว์ทีเด็ด! ประชันกึ๋น ชูนโยบายพื้นที่สีเขียว

         ผู้สมัครผู้ว่าฯ โชว์ทีเด็ด! ประชันกึ๋น ชูนโยบายพื้นที่สีเขียว สุขุมพันธุ์ มั่นใจ ถนนพญาไท-สุขุมวิท สายไฟต้องลงดินแน่นอน ขณะที่ พงศพัศ ผุดโครงข่ายไร้รอยต่อที่เชื่อมกันต่อถึงหน้าบ้าน รับรองทำได้จริง

         วานนี้ (28 มกราคม) ผู้สื่อข่าวรายงานถึงการจัดเวทีประชันวิสัยทัศน์ระหว่างผู้สมัครชิงตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. ซึ่งจัดโดยสถานีโทรทัศน์เนชั่นแชนแนล ในหัวข้อ "การเพิ่มพื้นที่สาธารณะและพื้นที่ทางวัฒนธรรม" ที่สวนเบญจสิริ
 
         เริ่มต้นที่ผู้สมัครหมายเลข 16 ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ได้กล่าวว่า ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ตนได้เพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กรุงเทพฯ แล้ว จำนวน 4,052 ไร่ ที่บึงกุ่ม พญาไท และบางกอกน้อย และคาดว่าจะเพิ่มอีก 500 ไร่ โดยจะเน้นพื้นที่ขนาดใหญ่ แต่ถ้าถามว่า จะเปิดเป็นสวนสาธารณะ 24 ชั่วโมง เหมือนเซ็นทรัลพาร์ค นิวยอร์ก หรือไม่นั้น ตนยังสองจิตสองใจ เพราะยังไม่มีวิธีดูแลในเรื่องของอาชญากร และเรื่องความปลอดภัยได้เต็มร้อย 

         สำหรับการนำสายไฟฟ้าลงดินนั้น ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ระบุว่า ในเรื่องนี้มีความซับซ้อนหลายเรื่อง และค่าใช้จ่ายสูงมาก เนื่องจาก กทม. ไม่มีอำนาจไปบังคับการไฟฟ้านครหลวงในการนำสายไฟลงดิน ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือ แต่หากตนได้เป็นผู้ว่าฯ ตนตั้งใจว่า ทั้งถนนพญาไท ทั้งถนนสุขุมวิท จะต้องนำสายไฟลงดิน และมีเลนสำหรับจักรยานอย่างแน่นอน 

         ส่วนการจัดพื้นที่ค้าขาย ทาง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ระบุว่า จะให้คลองผดุงกรุงเกษมให้เป็นคลองประวัติศาสตร์ แต่ทั้งนี้ ก็จะต้องมีกลุ่มอนุรักษ์ที่ไม่เห็นด้วย ซึ่งอาจจะปิดถนนบางเส้นทางให้เป็นถนนคนเดิน เช่น ถนนคลองหลอด สีลม เป็นต้น 

         ขณะที่ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ผู้สมัครหมายเลข 9 กล่าวว่า พื้นที่สวนสาธารณะของ กทม. มีมากกว่า 25 ไร่ มีถึง 100 แห่ง ดังนั้นจะเน้นพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่ให้มากกว่า 100 ไร่ และจะไม่ยอมให้การไฟฟ้านครหลวงมาตัดต้นไม้อีก ตรงไหนมีสายไฟต้องนำขึ้นเหนือต้นไม้ หรือลงดิน ทั้งนี้ การนำสายไฟลงดินเป็นเรื่องจำเป็น และเป็นสิ่งที่รอไม่ได้ ซึ่ง กฟน. คงจะมีแพลนอยู่แล้วว่าจะเอาสายไหนลงก่อน โดย กฟน. จะต้องลงทุนเพื่อคน กทม. เพราะคน กทม. เป็นผู้จ่ายค่าไฟ ส่วนทางกระทรวงไอซีทีก็ต้องให้เงินมากพอในการนำสายโทรคมนาคมลงใต้ดิน 

         สำหรับปัญหาจราจรนั้น ผู้สมัครหมายเลข 9 เผยว่า หากได้เป็นผู้ว่าฯ กทม. จะทำโครงข่ายไร้รอยต่อที่เชื่อมกัน โดยรถสาธารณะจะออกจากท้องถนนไปส่งที่สถานีบีทีเอส หรือแอร์พอร์ตลิ้งค์ หรือจะลงมาขี่รถจักรยานก็ได้ รับรองว่าปลอดภัยแน่นอน ดังนั้น โครงข่ายไร้รอยต่อถึงหน้าบ้าน ต้องทำได้จริง การจัดระเบียบทางเท้าก็จำเป็น แต่ต้องจัดหาพื้นที่สำหรับค้าขายให้ด้วย  รวมถึงการขุดพื้นที่ลงใต้ดินสำหรับค้าขาย  ตนอยากให้กรุงเทพฯ เป็นมหานครแห่งเมืองยิ้ม และขออาสาฟื้นระบบรถรางรอบเกาะรัตนโกสินทร์  

         ส่วนทางด้าน พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส ผู้สมัครหมายเลข 11 กล่าวว่า พื้นที่ใน กทม. ทั้งหมด ทั้งพื้นที่ราชพัสดุ พื้นที่เอกชน และรกร้างว่างเปล่า สามารถนำมาทำเป็นสวนสาธารณะเพื่อให้ประชาชนออกกำลังกายใกล้บ้านได้ และการจัดการพื้นที่ในโรงเรียน มาทำเป็นสวนสาธารณะขนาดย่อมให้เป็นพื้นที่สีเขียว และจัดให้มีสนามฟุตซอล โดยต้องเปิดโอกาสให้ชุมชุมไปออกกำลังกายได้เต็มที่ โดยที่ตนเล็ง ๆ ไว้ก็คือ โรงงานยาสูบ เนื่องจากมีเนื้อที่หลายร้อยไร่ และมีนโยบายจะย้ายไปที่อื่นอยู่แล้ว 

         นอกจากนี้ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ยังได้กล่าวถึงการเปิดสวนสาธารณะ 24 ชั่วโมง ว่า ทำได้แน่นอน ปัญหาอาชญากรรมถือเป็นเรื่องน่าห่วง แต่จะติดกล้องซีซีทีวีป้องกันเหตุร้าย

         สำหรับเรื่องความไม่เป็นระเบียบของทางเท้านั้น หากจะใช้กฎหมายบังคับทันทีคงทำไม่ได้ สำหรับที่เยาวราช ตนจะให้เวลา 1 เดือน โดยให้พ่อค้าแม่ค้าย้ายไปขายอยู่ในซอย และจัดเป็นโซนอาหาร ของใช้ ส่วนรอบนอกจะใช้เวลา 6 เดือน สร้างตลาดใหม่ เพื่อลดความแออัด 

         ขณะเดียวกัน นายสุหฤท สยามวาลา ผู้สมัครหมายเลข 17 ได้กล่าวถึงนโยบายแลกสวนสาธารณะว่า ความเขียวของ กทม. ไม่ได้อยู่ที่สวนสาธารณะอย่างเดียว ตนจะเปลี่ยนจากขยะ 1 หมื่นตันมาเป็นเงินทุน จากนั้นก็ทำเงินมาสร้างเป็นสวนสาธารณะ พร้อมกับมีการเปลี่ยนป้ายโฆษณาที่รก และเป็นมลภาวะทางสายตา โดยสามารถนำต้นไม้มาประดับเพิ่มความเขียว หรือเปลี่ยนป้ายโฆษณาเป็นสีเขียวเพื่อสร้างความสบายตา  ส่วนการนำสายไฟฟ้าลงดิน ปัญหาคือถนนเก่า ๆ และเป็นแหล่งธุรกิจ เมื่อจะนำลงดินก็มีท่อต่าง ๆ อีก การลงทุนครั้งนี้จึงจำเป็นต้องเลือกบางเส้นทาง 

         ส่วนทางด้าน นายโฆสิต สุวินิจจิต ผู้สมัครหมายเลข 10 กล่าวว่า พื้นที่สีเขียวใน กทม. เป็นสิ่งที่จำเป็นมาก ๆ และเห็นด้วยว่า จะต้องขอพื้นที่เอกชนเพื่อลงทุนทำพื้นที่สีเขียว แต่กว่าจะเวนคืนได้คงต้องใช้เวลานาน ดังนั้นระยะสั้นต้องปลูกต้นไม้ในใจคนกรุงเทพฯ สำหรับการนำสายไฟลงดินนั้น คิดว่าจะต้องเสียงบประมาณจำนวนมากในการตัดต้นไม้ ซึ่งเมื่อคำนวณดูทั้งความสวยงามและความปลอดภัย คิดว่าคุ้มค่ากับสิ่งที่ทำลงไป

         สุดท้ายกับผู้สมัครหมายเลข 4 นายโสภณ พรโชคชัย โดยกล่าวว่า ต้องเพิ่มพื้นที่สีเขียวใจกลางเมืองให้ครอบคลุมพื้นที่ 3 พันตารางเมตร อีกทั้งยังทำทางเท้า และจุดขายของคู่กัน


อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก 



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. โชว์ทีเด็ด! ประชันกึ๋น ชูนโยบายพื้นที่สีเขียว โพสต์เมื่อ 29 มกราคม 2556 เวลา 10:02:22
TOP